Beach for life เคยได้นำเสนอเรื่องราว “กำแพงกันคลื่นบนชายหาดแตงโม” บนเกาะสุกร จังหวัดตรังไปแล้วครั้งหนึ่ง(https://beachforlife.org/blog/27) เรื่องราวของชายหาดที่ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง แต่กรมโยธาธิการและผังเมืองกลับไปสร้างกำแพงกันคลื่นจำนวน 3 ระยะ ความยาวรวม 1,703 เมตร มูลค่าโครงการกว่า 135.17 ล้านบาท การเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่นทั้ง 3 ระยะ ทำให้เจ้าของที่ดินริมชายหาด ซึ่งปัจจุบันคือไร่แตงโมริมชายหาดที่มีชื่อเสียงของเกาะสุกร ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องชายหาดผืนนั้นจากกำแพงกันคลื่น
ชายหาดแตงโม คือ ส่วนหนึ่งของเกาะสุกร เป็นชายหาดที่เชื่อมต่อกับสวนแตงโม ชาวสวนในเกาะสุกรจะปลูกแตงโมบนชายหาด เพราะจะมีรสชาติที่หวานและอร่อย จนกลายเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของเกาะสุกร และจังหวัดตรัง
ชายหาดแตงโมที่อยู่ท้ายเกาะ เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับการเพาะปลูกแตงโมกำลังจะกลายเป็นกำแพงกันคลื่นตลอดแนวชายหาด เพราะโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมือง ระยะที่ 3 กำลังรุกคืบเข้าสู่พื้นที่ชายหาดแตงโม หลังจากที่โครงการกำแพงกันคลื่นระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 กำลังดำเนินการแล้วเสร็จ
ข้อมูลการกัดเซาะชายฝั่ง ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ตรวจสอบเส้นแนวชายฝั่ง จากภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth ปี พ.ศ. 2549 เทียบเคียงกับเส้นแนวชายฝั่งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2561 และจากการสำรวจเส้นแนวชายฝั่ง ปี พ.ศ. 2562 ในปัจจุบันชายหาดบริเวณหาดแตงโม มีทรายสะสมเป็นชายหาดงอก ถ้านับจากเส้นแนวชายฝั่งปี พ.ศ. 2549 อกไปในทะเล ถึงปีปัจจุบันระยะทางความกว้างของหน้าหาดที่มีทรายสะสมประมาณ 50 เมตร โดยเฉลี่ยตามความยาวของชายหาด ซึ่งแสดงว่าชายหาดไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง ในบริเวณพื้นที่ชายหาดที่กำลังจะมีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นระยะที่ 3 การเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่นบนชายหาดแตงโม ที่ไร้ร่องรอยการกัดเซาะชายฝั่ง และเป็นชายหาดที่สำคัญเนื่องจากเป็นพื้นที่เพาะปลูกแตงโมที่มีชื่อเสียงของเกาะสุกร กำลังจะมีกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้น
การต่อสู้เพื่อปกป้องชายหาดแตงโม จากกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นหลังจาก ปี 2563 ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล บริเวณชายหาดแตงโม ระยะที่ 3 ความยาว 603 เมตรอย่างชัดเจน และในขณะนั้น โครงการกำแพงกันคลื่นหาดแตงโม ระยะที่ 2 กำลังเตรียมดำเนินการก่อสร้าง
โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแตงโม ระยะที่ 3 นั้น จะต่อเนื่องจากระยะที่ 2 ยาวตลอดแนวที่ดินของเจ้าของที่ดินบนชายหาดแตงโม ทำให้พื้นที่เพาะปลูกแตงโม ชายหาด และทะเล ถูกปิดกั้นด้วยกำแพงกันคลื่นคอนกรีตขนาดใหญ่
30 มีนาคม ปี 2564 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ ลงพื้นที่ชายหาดแตงโม เจ้าของที่ดินบริเวณพื้นที่โครงการระยะที่ 3 ได้ร่วมรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ได้ยืนยันต่อกรรมาธิการฯ ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแตงโม เพราะพื้นที่ชายหาดไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง และกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพื้นที่ชายหาด แต่ก็ไม่สามารถที่จะหยุดโครงการได้
ต่อมาเจ้าของที่ดิน ได้ยืนหนังสือถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อขอให้ระงับโครงการและมีหนังสือไม่ประสงค์ให้มีการดำเนินโครงการเพื่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ชายหาดซึ่งต่อเนื่องกับที่ดินของตนเอง ต่อมาเจ้าของที่ดินและ Beach for life ได้รับการยืนยันจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ทำให้กรมโยธาธิการและผังเมืองยุติการดำเนินโครงการดังกล่าวไป
ภายหลังการต่อสู้เพื่อปกป้องหาดแตงโมสำเร็จ Beach for life ได้ลงพื้นที่กับเจ้าของที่ดินในพื้นที่โครงการระยะที่ 3 เราเดินผ่านกำแพงกันคลื่นระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 ที่สร้างแล้วเสร็จ และเห็นด้วยตาว่าชายหาดหน้ากำแพงกันคลื่นหายไป เมื่อเดินมาจนจุดสิ้นสุดของกำแพงกันคลื่นเจ้าของที่ดินก็พูดกับเราว่า “ตรงนี้เกือบกลายเป็นกำแพงกันคลื่นไปตลอดแนวแล้ว ผมคิดว่าถ้าเขาทำระยะที่ 3 เสร็จคงมีระยะที่ 4 ต่อจนสุดชายหาด สุดท้ายก็เหลือแค่ชื่อ(หาด)แตงโม”
เราเดินผ่านพื้นที่ชายหาดที่ครั้งหนึ่งเกือบจะกลายเป็นกำแพงกันคลื่น เราได้เห็น ชายหาดแตงโมช่วงสุดท้าย ที่ถูกปกป้องไว้ ยังคงหลงเหลือชายหาดธรรมชาติที่ทอดยาวเกือบกิโลเมตร เป็นพื้นที่ปลูกแตงโมของชุมชนบนเกาะสุกร
“ผมก็ไม่รู้ในอนาคต ตรงนี้จะกลายเป็นกำแพงกันคลื่น จะมีโครงการใหม่มาไหม แต่ผมอยากให้มันเป็นแบบนี้ต่อไป” ---เจ้าของที่ดินกล่าว
Beach for life เราได้เดินทางมาเกาะสุกร เพื่อเปิดเผยความจริงว่า “กำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่มีความจำเป็น ไร้ซึ่งการกัดเซาะชายฝั่งเยอะมากไม่ใช่เพียงแค่เกาะสุกร” และเพื่อมาชื่นชมการยืนหยัดปกป้องชายหาดของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ตระหนักเห็นคุณค่าของชายหาด และหวังเช่นกันว่าชายหาดแห่งนี้จะได้รับการปกป้องจากกำแพงกันคลื่นต่อไป
Author
Beach For Life
แหล่งรวบรวมความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับชายหาด
บทความวันที่ 26 กรกฎาคม 2567
แบ่งปันสิ่งนี้
ย้อนไปเมื่อปี 2537 เรือ Genar-II เกยหาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา การเกยตื้นของเรือในครั้งนั้นทำให้ชายหาดชลาทัศน์เปลี่ยนเเปลงไปอย่างน่าสนใจ เพราะเรือทำตัวเป็นเหมือน "รอดักทราย" ชายหาดที่มีเรือมาเกยตื้นกว่า 2 ปีจะเป็นอย่างไร ชวนติดตามอ่านด้วยกัน
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งเเรก ในคดีชายหาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา ตุลาการผู้เเถลงคดีได้อ่านคำเเถลงของตน ก่อนที่องค์คณะของตุลาการ ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษา
การเติมทรายชายหาด Beach Nourishment ใครต่อใครก็บอกว่าเป็นมาตรการที่เป็นมิตรกับชายหาดมากที่สุดในบรรดาโครงสร้างทางวิศวกรรมป้องกันชายฝั่ง Beach for life ชวนมารู้จักมาตรการเติมทรายไปด้วยกัน