สภาผู้แทนราษฎร ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2568 วาระหนึ่งเมื่อวานที่ผ่านมา Beach for life ชวนสำรวจงบประมาณสำหรับโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่หน่วยงานต่างๆขอรับการสนับสนุนงบประมาณในปีนี้กันว่า จะมีเยอะแค่ไหน และจะกลายเป็นงบประมาณสร้างกำแพงกันคลื่นถล่มชายหาดเหมือนปีที่ผ่านๆมาหรือไม่
จากการตรวจสอบการขอรับงบประมาณในรายการโครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2568 พบว่ามี 3 หน่วยงานหลักที่ชอรับงบประมารณในโครงการป้องกันชายฝั่ง ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 682,031,900 บาท จำนวน 44 โครงการ
การวิเคราะห์งบประมาณแต่ละหน่วยงานที่มีการขอรับงบเพื่อการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการป้องกันชายฝั่ง พบว่า
- กรมโยธาธิการและผังเมือง ขอรับงบประมาณสำหรับการป้องกันชายฝั่ง จำนวน 345,744,400 บาท โดยแบ่งเป็นงบสำหรับดำเนินงาน จำนวน 263,384,000 บาท และ งบศึกษา จำนวน 82,360,400 บาท
- กรมเจ้าท่า ขอรับงบประมาณสำหรับการป้องกันชายฝั่ง จำนวน 74,827,700 บาท โดยแบ่งเป็นงบสำหรับดำเนินงาน จำนวน 55,511,500 บาท และงบศึกษา 19,316,200 บาท
- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอรับงบประมาณสำหรับการป้องกันชายฝั่ง จำนวน 64,243,000 บาท แบ่งเป็นงบดำเนินงาน จำนวน 54,311,500 บาท และ งบศึกษา 9,931,500 บาท
เมื่อพิจารณาการขอรับงบประมาณในร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ของทั้ง 3 กรมหลักที่มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง กรมโยธาธิการและผังเมือง ยังคงเป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการป้องกันชายฝั่งมากที่สุด
ภาพรวมงบประมาณจากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2568 พบว่าเพิ่มขึ้นจาก พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ประกาศใช้เมื่อเมษายนที่ผ่านมา จำนวน 3,278,400 บาท (สรุปงยประมาณประจำปี 2567 https://beachforlife.org/blog/14)
จากการพิจารณากิจกรรมและโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จากทั้ง 3 หน่วยงานที่มีการขอรับงบประมาณ พบว่า ไม่พบโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่เป็นโครงการตั้งใหม่ในงบประมาณปี 2568 มีเพียงโครงการที่ขอรับงบประมาณต่อเนื่องผูกพันของกรมโยธาธิการและผังเมือง และ โครงการซ่อมแซมเขื่อนกันคลื่นเดิมที่ชำรุดของกรมเจ้าท่าเพียงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม Beach for life ได้สำรวจงบประมาณในกลุ่มงานพัฒนาพื้นที่เฉพาะเมือง ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีลักษณะโครงการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายหาด 3 โครงการ ได้แก่
(1) โครงการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณชายหาดหลังสอด อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ งบประมาณ 80,000,000 บาท
(2) โครงการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณหาดน้ำริน ตำาบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง งบประมาณ 75,000,000 บาท
(3) โครงการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงภมิทัศน์บริเวณหาดสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ งบประมาณ 140,000,000 บาท
ที่ผ่านมาพบว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่เฉพาะเมืองบางแสน จ.ชลบุรี แต่มีรูปแบบโครงการเป็นการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งทำให้มีข้อสงสัยว่า โครงการพัฒนาพื้นที่เมืองทั้ง 3 โครงการที่มีการขอรับงบประมาณในปี 2568 นั้น ในรายละเอียดโครงการมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหรือไม่ หากมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นอยู่ในรายละเอียดโครงการอาจเป็นการสอดไส้ และหมกเม็ดไม่ต้องผ่านกระบวนการขอความเห็นจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกระบวการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ตามขั้นตอนทางกฎหมายที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติก่อนการดำเนินโครงการหรือไม่
งบประมาณโครงการป้องกันชายฝั่งประจำปี 2568 เป็นงบประมาณปีแรกที่พบว่าไม่มีการตั้งโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น(หากตรวจพบว่า 3 โครงการในกลุ่มงานพัฒนาเมือง ไม่ใช่การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแฝงอยู่ในโครงการ) หลังจากที่กำแพงกันคลื่นถอดออกจากโครงการที่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปี 2556 และภาคประชาชนเรียกร้องให้นำกลับมาทำ EIA อีกครั้งในปี 2567
หลังจากนี้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อการตั้งกรรมาธิการงบประมาณ เเละ การอภิปรายงบประมาณในวาระต่อไปของสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎร
Author
Beach For Life
แหล่งรวบรวมความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับชายหาด
แบ่งปันสิ่งนี้
โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โครงการนี้ ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง
กรณีพิพาทโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดมหาราช จังหวัดสงขลา ซึ่งภาคประชาชนได้รวมกันฟ้องคดีตั้งแต่ปี 2564 เพื่อขอให้ศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษาเพิกถอนโครงการและคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากระแสการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่งนั้นมีมากขึ้น และหลังจากกรณีการเติมทรายชายฝั่งหาดพัทยาโดยกรมเจ้าท่าแล้วเสร็จ ทำให้ประชาชนเห็นว่ามาตรการเติมทรายนั้น อาจเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ และทำให้ได้ชายหาดกลับมา Beach for life ชวนสำรวจพื้นที่ชายหาดที่จะมีการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่ง