กำแพงกันคลื่น เป็นโครงสร้างที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะมีการระบาดตามชายหาดต่างๆ ซึ่งเป็นผลจากการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ในปี 2556 ทำให้หลังจากนั้นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งในประเทศไทย มีทิศทางหันมาใช้กำเเพงกันคลื่นมาขึ้น โดยในเเต่ละปีมีการตั้งงบประมาณส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างกำเเพงกันคลื่นเป็นหลัก
การระบาดของกำเเพงกันคลื่น นำมาซึ่งข้อพิพาททางคดี เเละเกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านจากชุมชนหลากหลายชุมชนในห้วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นับจากกรณี Saveหาดม่วงงาม ในปี 2563 หลายชุมชนเริ่มเห็นผลกระทบของกำเเพงกันคลื่นมากขึ้น
เเต่หลายคนคงสับสน ว่าเราจะจำเเนกอย่างไรอะไรคือ กำเเพงกันคลื่น เเบบนี้ใช้กำเเพงกันคลื่นหรือไม่ ? Beach for life จึงอยากชวนไปดูกำแพงกันคลื่นหน้าตาต่างๆที่เกิดขึ้นชายหาดทั่วประเทศไทย แต่ก่อนจะไปดูกำแพงกันคลื่นนั้นอาจต้องเข้าใจก่อนว่ากำแพงกันคลื่น คือ อะไร มีหน้าที่อะไร ผลกระทบเป็นอย่างไร ?
กำแพงกันคลื่น (Sea wall) เป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งรูปแบบหนึ่ง มักสร้างติดประชิดชายฝั่งและขนาดตามแนวชายฝั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ด้านหลังกำแพงกันคลื่นเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ในส่วนผลกระทบของกำแพงกันคลื่นนั้น คือ เกิดการสะท้อนกลับของคลื่น ทำให้คลื่นหน้ากำแพงกันคลื่นมีความรุนแรง การตะกุยทรายหน้ากำแพงกันคลื่นออกไป การกัดเซาะชายฝั่งด้านท้ายน้ำ หรือ จุดสิ้นสุดของกำแพงกันคลื่น และส่งผลต่อทัศนียภาพของชายหาดที่เปลี่ยนแปลงไป
กำแพงกันคลื่นในหลายชายหาดในประเทศไทยได้เปลี่ยนภูมิทัศน์หาดทรายให้กลายเป็นกองหิน หรือ คอนกรีตไปอย่างถาวร บางพื้นที่ในช่วงคลื่นลมสงบ อาจเรียกได้ว่าเป็นอ่างเก็บน้ำทะเลดีๆนั้นเอง!
กำแพงกันคลื่น มีหน้าตาหลากหลาย วัสดุที่นำมาใช้เพื่อป้องกัน อาจมีความแตกต่างกัน บางพื้นที่อาจใช้หินใหญ่เรียง บางพื้นที่ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กในการก่อสร้างอาจทำเป็นแบบขั้นบันได หรือ ลาดเอียง และบางพื้นที่ก็ใช้ตุ๊กตาญี่ปุ่น มาเป็นกำแพงกันคลื่น เพื่อป้องกันชายฝั่ง แต่ไม่ว่าหน้าตาของกำแพงกันคลื่นเป็นแบบใด หากมีหน้าที่ตรึงแผ่นดินไว้ ไม่ให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งและสร้างประชิดชายหาด เราก็เรียกว่า กำแพงกันคลื่น
กำเเพงกันคลื่นเเบบขั้นบันได เป็นกำเเพงกันคลื่นที่นิยมสร้างในเขตชุมชนเมือง เป็นกำเเพงคอนกรีตเสริมเหล็ก กำเเพงกันคลื่นเเบบขั้นบันได้ ปัจจุบันมีมูลค่าเฉลี่ยกิโลเมตรละ 120,000,000 บาท ตัวอย่างเช่น หาดชะอำใต้ จ.เพรชบุรี หาดปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ หาดปากน้ำเเขมหนู จ.ระยอง เกาะสุกร จ.ตรัง เป็นต้น
กำเเพงกันคลื่นเเบบหินเรียงใหญ่ เป็นกำเเพงกันคลื่นที่ก่อสร้างด้วยวิธีการเรียงหินขนาดใหญ่ตามเเนวชายฝั่ง มีมูลค่าการก่อสร้างเฉลี่ยกิโลเมตรละ 80,000,000 บาท ตัวอย่างเช่น หาดบ่ออิฐ-เกาะเเต้ว จ.สงขลา หาดหน้าสตน จ.นครศรีธรรมราช หาดสำเร็จ จ. สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
กำเเพงกันคลื่นเเบบลาดเอียง เป็นกำเเพงกันคลื่นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำในลักษณะลาดเอียง มูลค่าการก่อสร้างเฉลี่ย 120,000,000 บาท ตัวอย่างเช่น หาดเเก้ว จ.สงขลา หาดเเม่รำพึง จังหวัดประจวบฯ(อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ)
กำเเพงกันคลื่นเเบบหินทิ้ง เป็นกำเเพงกันคลื่นที่ใช้หินขนาดเล็ก ทิ้งลงบริเวณชายหาด ไม่ได้ถูกจัดวางเเละออกเเบบความลาดชัน ตัวอย่างเช่น หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา
กำเเพงกันคลื่นเเบบกระสอบทราย เป็นการนำเอาทรายใส่ถุง Geotextile ขนาดใหญ่ วางเรียงซ้อนกัน เพื่อให้เป็นกำเเพงกันคลื่น พบเห็นได้ที่ ชายหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา ในงานเติมทรายชายหาดพัทยามีการวางกระสอบทรายเพื่อเป็นเเนวกันชนด้วยเช่นกัน
กำเเพงกันคลื่นเเบบตุ๊กตาญี่ปุ่น(Tetrapod) เป็นกำเเพงกันคลื่นที่ใช้คอนกรีตที่มีรูปทรงคล้ายตัวต่อวางต่อกันเพื่อให้เกิดความเเข็งเเรงของโครงสร้างป้องกัน พบเห็นได้บริเวณชายหาด หาดทรายรี จ.ชุมพร หาดบางตาวา จ.ปัตตานี เเละ หาดปากบารา จ.สตูล เป็นต้น
กำเเพงกันคลื่นเเบบเกเบี้ยน เป็นการนำเอาหินบรรจุในตะเเกรง เพื่อให้มวลเเละน้ำหนักของเกเบี้ยนนั้นเทียบเท่ากับหินขนาดใหญ่ เกเบี้ยนพบได้บริเวณ ชายหาดม่วงงาม เเละ หาดสมิหลา-ชลาทัศน์ จ.สงขลา
กำเเพงกันคลื่นเเบบเเนวดิ่ง เป็นกำเเพงกันคลื่นที่ตั้งตรงบนชายหาด ซึ่งปัจจุบันกำเเพงกันคลื่นเเนวดิ่งนั้นไม่เป็นโครงสร้างที่นิยมใช้ในการป้องกันชายฝั่ง เพราะทำให้เกิดผลกระทบที่มากกว่ากำเเพงกันคลื่นลักษณะอื่นๆ เช่น การสะท้อนทรายหน้ากำเเพงกันคลื่น การปะทะของคลื่นรุนเเรงขึ้น ตัวอย่างกำเเพงกันคลื่นเเนวดิ่ง เช่น หาดบ้านหน้าศาล จ.นครศรีธรรมราช หาดบ้านฉาง จ.ระยอง เป็นต้น
ปัจจุบันกำแพงกันคลื่นที่มักพบได้บ่อยขึ้นในหลายชายหาด เเละเป็นกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได ซึ่งมีมูลค่าเฉลี่ยต่อกิโลเมตรละ 100,000,000 – 120,000,000 บาท และอีกรูปแบบคือกำแพงกันคลื่นแบบเรียงหินใหญ่ มูลค่าต่อกิโลเมตรละ 80,000,000 บาท ส่วนกำแพงกันคลื่นแบบแนวดิ่งนั้น หน่วยงานอย่างกรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ประกาศไม่สร้างรูปแบบแนวดิ่งแล้ว เพราะมีผลกระทบมากกว่ารูปแบบอื่นๆ
Author
Beach For Life
แหล่งรวบรวมความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับชายหาด
แบ่งปันสิ่งนี้
โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โครงการนี้ ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง
กรณีพิพาทโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดมหาราช จังหวัดสงขลา ซึ่งภาคประชาชนได้รวมกันฟ้องคดีตั้งแต่ปี 2564 เพื่อขอให้ศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษาเพิกถอนโครงการและคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากระแสการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่งนั้นมีมากขึ้น และหลังจากกรณีการเติมทรายชายฝั่งหาดพัทยาโดยกรมเจ้าท่าแล้วเสร็จ ทำให้ประชาชนเห็นว่ามาตรการเติมทรายนั้น อาจเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ และทำให้ได้ชายหาดกลับมา Beach for life ชวนสำรวจพื้นที่ชายหาดที่จะมีการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่ง