การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นภัยที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติเเละฝีมือของมนุษย์ ประเทศไทยมีชายฝั่ง 3,151 กิโลเมตร เเต่เราไม่เคยรู้เลยว่า ตรงไหนมีความเสี่ยวต่อการกัดเซาะชายฝั่ง บทความนี้จะชวนทุกคนไปทำความเข้าใจ เเผนที่เสี่ยงภัย เเละ การทำเเผนที่เสี่ยงภัยการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสงขลา ที่ริเริ่มด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
โครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองเสริมพลังชุมชนชายฝั่งสงขลา ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิชุมชนสงขลา ร่วมกับ กลุ่ม Beach for life โดยการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก(GEF) ที่กำลังจะนำเสนอในวันนี้ เป็นโครงการแรกๆในประเทศไทยที่มีการจัดทำ แผนที่ความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่ง โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศเรา อาจเคยมีการทำแผนที่ความเสี่ยงน้ำท่วมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในบางพื้นที่ แต่สำหรับการกัดเซาะชายฝั่งนั้น โครงการนี้ถือเป็นครั้งแรก !
โครงการนี้เพิ่งเริ่มต้นมาได้เพียงสองถึงสามเดือน ดังนั้นสิ่งที่นำเสนอในวันนี้จะเป็นแนวคิดหลักของโครงการมากกว่าผลลัพธ์สุดท้าย
แผนที่ความเสี่ยงที่เรากำลังพัฒนา อาจยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ในปัจจุบันทันที เนื่องจากแผนที่นี้เกี่ยวข้องกับประเด็นของ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งอาจแสดงผลกระทบในอีก 25 ปี หรือ 50 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่า ผลงานในครั้งนี้อาจไม่ทันใช้ในรุ่นของเรา แต่เราหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนรุ่นต่อไป ลูกหลานของเราในอนาคต ทั้งนี้ จุดประสงค์ของแผนที่ความเสี่ยงไม่ใช่เพื่อให้เกิดการใช้ทันที แต่เพื่อเตรียมความพร้อม และหวังว่าเราจะไม่จำเป็นต้องใช้งานมันจริง ๆ เพราะการเตรียมรับมือภัยพิบัติ ก็คือการลดความสูญเสียก่อนที่ภัยจะมาถึง
สำหรับพื้นที่ในการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงการกัดเซาะชายฝั่งนี้ จัดทำในพื้นที่จังหวัดสงขลาโดยมีความยาวชายฝั่ง 157 กิโลเมตร ครอบคลุม 6 อำเภอ 29 ตำบล ซึ่งจะมีการจัดทำแผนที่โดยใช้ระยะจากชายฝั่งเข้าไปในแผ่นดินไม่เกิน 100 เมตร โดยพื้นที่ในระยะนี้จะถูกประเมินความเสี่ยงและแสดงผลในรูปแบบของสีตามระดับความเสี่ยง
แนวคิดหลักของแผนที่ความเสี่ยง ประกอบด้วยการประเมิน 3 องค์ประกอบ ได้แก่
ภัย : เช่น การประเมินการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น การกัดเซาะจากอดีตถึงปัจจุบัน และความรุนแรงของพายุในอนาคต ซึ่งใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ในการจำลองสถานการณ์
ความเปิดรับภัย : หมายถึง เมื่อเกิดภัยแล้ว พื้นที่นั้นมีบ้านเรือน ถนน โรงพยาบาล วัด หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบหรือไม่
ความเปราะบาง : เป็นการประเมินว่าเมื่อเกิดภัยแล้ว พื้นที่นั้นมีศักยภาพในการฟื้นตัวมากน้อยเพียงใด เช่น มีผู้ป่วยติดเตียง มีประชากรกลุ่มเปราะบาง หรือมีความหนาแน่นประชากรสูงหรือไม่
ทั้งสามองค์ประกอบนี้จะนำมาประมวลผลเพื่อจัดทำเป็นแผนที่แสดงความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการดำเนินงานครั้งนี้ จะต้องมีการอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยแผนที่ที่จัดทำขึ้นจะได้รับการอัปเดตทุก ๆ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุด ตัวแผนที่นี้ถือเป็น “แนวคิด” ซึ่งแสดงถึงความหมายของแต่ละองค์ประกอบอย่างชัดเจน
สำหรับการประเมินการกัดเซาะชายฝั่ง จะดำเนินการแยกเป็นประเด็นย่อย โดยในกรณีนี้มีทั้งหมด 3 ประเด็น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณาได้ว่า ควรเพิ่มหรือลดองค์ประกอบใดบ้าง เช่น หากมีข้อมูลบางส่วนที่เคยทำแล้วพบว่าไม่มีผลกระทบ ก็อาจตัดออกไป หรือหากมีข้อมูลใหม่ที่มีประโยชน์ ก็ควรเพิ่มเข้ามา เราจะพิจารณากันทีละหัวข้อ
การประเมินการกัดเซาะชายฝั่ง มี 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งในอดีตถึงปัจจุบัน (2) ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น เเละ (3)ความถี่ของพายุ
ทั้งสามปัจจัยนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ใช้ในการประเมินภัยพิบัติ เช่น หากเปลี่ยนจากประเด็นการกัดเซาะมาเป็นการประเมินภัยจากพายุซัดฝั่ง ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นโดยตรงกับจังหวัดสงขลา แต่อาจเคยเกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น นครศรีธรรมราช หากมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นกับสงขลาในอนาคต เราสามารถเปลี่ยนแบบจำลองจากการกัดเซาะชายฝั่งมาเป็นพายุซัดฝั่งได้
แม้ตัวแปรภายในอาจต้องมีการปรับเปลี่ยน เช่น ความสูงของคลื่นหรือแรงลมที่สัมพันธ์กับระดับอากาศ แต่โดยรวมสามารถประยุกต์ใช้แนวคิดเดิมได้ อย่างไรก็ตาม หากเปลี่ยนไปเป็นภัยอื่น เช่น น้ำท่วมเมือง จะไม่สามารถใช้โมเดลเดิมได้ เนื่องจากปัจจัยที่เราประเมินไว้นั้นเป็นปัจจัยเฉพาะทางทะเล ซึ่งไม่สอดคล้องกับภัยทางบก
หัวข้อนี้ถือว่าสำคัญและเกี่ยวข้องกับชุมชนอย่างมาก โดยองค์ประกอบที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่
• ระดับความสูงของพื้นที่: ยิ่งต่ำยิ่งเสี่ยง เช่น พื้นที่ในอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีความสูงเพียง 0.1 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่งผลให้น้ำทะเลขึ้นปกติก็สามารถท่วมพื้นที่ได้แล้ว
• โครงสร้างธรรมชาติและสิ่งปลูกสร้าง: อาทิ สันดอน ป่าชายหาด แนวปะการัง หรือโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ซึ่งจะช่วยลดแรงคลื่น แต่โครงสร้างบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ป้องกันพื้นที่หนึ่งไว้ได้ แต่ทำให้พื้นที่ข้างเคียงเสี่ยงมากขึ้น
• โครงสร้างพื้นฐานและความเปราะบางทางสังคม: เช่น รายได้ของประชาชน ระดับการศึกษา จำนวนผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ ยิ่งสังคมเปราะบาง ยิ่งมีความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
• การมีแผนจัดการ: หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือท้องถิ่นเเละชุมชนมีเเผนการจัดการหรือไม่ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีแผนรับมือหรือแผนฟื้นฟูในพื้นที่หรือไม่ ถ้ามี แสดงว่าในอนาคตอาจลดความเสี่ยงลงได้
ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้จะนำมาประมวลผลเพื่อประเมินระดับความเปราะบางและจัดทำเป็นแผนที่ความเสี่ยง โดยตัวอย่างจากจังหวัดปัตตานี แสดงให้เห็นว่าบางพื้นที่มีชุมชนน้อยแต่กลับเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งแสดงถึงความเสี่ยงสูง สาเหตุคือพื้นที่มีระดับต่ำมากและชุมชนมีความหนาแน่นสูง
แผนที่ระดับประเทศหรือระดับจังหวัดอาจไม่มีประโยชน์ในทางปฏิบัติมากนัก เพราะพื้นที่หนึ่งอาจได้รับการประเมินสีเดียวทั้งพื้นที่ ทั้งที่ความเสี่ยงจริงอาจแตกต่างกัน เช่น ตำบลม่วงงาม หมู่ 3 มีความเสี่ยงสูง ต้องวางกระสอบทราย ในขณะที่พื้นที่ติดกันไม่มีความเสี่ยงมากนัก
ดังนั้น แผนที่ที่มีความละเอียดระดับชุมชนจึงมีประโยชน์มากกว่าในการนำไปใช้จริง ทั้งในแง่การวางแผนรับมือ และการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนเอง
จากงานวิจัยนี้ ชาวบ้านจะสามารถมีระบบติดตามชายหาดและระบบเก็บข้อมูลสังคม โดยใช้ความรู้ท้องถิ่นที่มีอยู่ ชุมชนสามารถมีส่วนร่วมเก็บข้อมูล และสร้างแผนที่ความเสี่ยงของตนเองได้ ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนจัดการที่สอดคล้องกับสภาพจริงของพื้นที่
ไม่มีใครรู้จักชายหาดหน้าบ้านได้ดีไปกว่าชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ แม้แต่นักวิชาการที่ทำงานมานานก็ไม่สามารถเทียบได้ ชาวบ้านจึงเป็นกำลังสำคัญในการทำให้งานนี้สำเร็จ และได้แผนที่ที่ใช้ได้จริงในระดับชุมชน
จากการศึกษาข้อมูลชายฝั่งในอดีตถึงปัจจุบัน เช่น ที่ตำบลวัดสน อำเภอระโนด พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งอย่างชัดเจน ข้อมูลจากปี 2556 ถึงปี 2564 (รวม 8 จุดข้อมูลใน 9 ปี) แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บางจุดมีการกัดเซาะสูง (สีแดง) ในขณะที่บางจุดมีการทับถม (สีเขียว)
หากพิจารณาเฉพาะข้อมูลนี้ หน่วยงานก็สามารถนำไปใช้งานได้เลย โดยไม่ต้องประเมินความเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น หากพบว่าพื้นที่กัดเซาะรุนแรงแต่ไม่มีบ้านเรือนอยู่ ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณไปดำเนินการ แต่หากพื้นที่ที่กัดเซาะมีชุมชนอยู่ด้านหลัง ก็อาจต้องให้ความสำคัญมากกว่า
แสดงให้เห็นว่าการประเมินเฉพาะอัตราการกัดเซาะไม่เพียงพอ ต้องประเมินองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย เช่น ความเปราะบาง และความเปิดรับภัย เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด
จากการศึกษาพบว่า ในอนาคตอันใกล้อาจมีเพียงเด็กคนนี้เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หากเราย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน จะเห็นได้ว่าความแตกต่างระหว่าง “ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด” กับ “ผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุด” นั้น มีเพียงเล็กน้อยในระดับมิลลิเมตรหรือเซนติเมตร แต่เมื่อพิจารณาถึงปรากฏการณ์การกัดเซาะชายฝั่งแล้ว ความแตกต่างนั้นมีนัยสำคัญมากขึ้น
ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นในแนวดิ่งแม้เพียงเล็กน้อย หากบริเวณชายหาดมีลักษณะราบหรือลาดเอียง การกัดเซาะจะรุกล้ำเข้าฝั่งเป็นระยะทางไกลมากขึ้น กล่าวคือ หากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย การกัดเซาะสามารถลุกลามเข้าไปถึง 10–13 เมตรภายในระยะเวลา 25 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำหรับการคาดการณ์ในกรณีที่ดีที่สุดและแย่ที่สุด
เมื่อขยายการคาดการณ์ออกไปอีก 75 ปีจากปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.46 เมตร ซึ่งเราหวังว่าจะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเกิดขึ้นในอัตราเร็วที่สุด ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มขึ้นถึง 79 เซนติเมตร หรือเกือบ 1 เมตร ซึ่งอาจทำให้ชายฝั่งถูกกัดเซาะเข้าไปถึง 25–44 เมตร
ในแผนที่ที่แสดงให้เห็นแนวชายฝั่งบริเวณตั้งแต่นางเงือกถึงหัวนายแรง เส้นสีฟ้าและสีแดงแสดงแนวชายฝั่งในอีก 75 ปีข้างหน้า เส้นแนวชายฝั่งดังกล่าวรุกล้ำเข้ามาถึงแนวถนน ซึ่งถือเป็นจุดวิกฤต โดยเฉพาะจุดที่เคยมีการกัดเซาะรุนแรงในอดีต เช่น บริเวณโค้งที่ติดกับแนวชายหาด ซึ่งเคยมีเรือปานามาติดบริเวณรอดักทรายรูปตัว T มาแล้ว
ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ถือเป็น “ผลกระทบขั้นต่ำ” ซึ่งยังไม่ได้รวมผลกระทบเพิ่มเติมจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การก่อสร้างล้ำลงไปในทะเล หากมีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ จะช่วยให้การประเมินผลกระทบมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
สำหรับพื้นที่นำร่องในการวิเคราะห์ครั้งนี้คือ “หาดชลาทัศน์” ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่มีการดำเนินงานอย่างละเอียด โดยในเบื้องต้นได้ทำการวิเคราะห์แบบง่ายๆ โดยยังไม่ได้ใส่ข้อมูลทั้งหมดลงในระบบจำลองคอมพิวเตอร์อย่างเต็มรูปแบบ การวิเคราะห์คร่าวๆนี้ช่วยให้สามารถประมาณระยะทางของชายฝั่งที่อาจหายไปในอีก 25 ปีข้างหน้าในแต่ละตำบลได้ เช่น:
• วัดสน: ชายฝั่งอาจหายไป 1 – 3.3 เมตร
• บ่อตรุ: 1.9 – 4.69 เมตร
• ชุมพล: 1.5 – 6.36 เมตร
• ม่วงงาม: 2.3 – 5.6 เมตร
ในอนาคต การวิเคราะห์แบบนี้จะถูกนำไปใช้ในอีก 29 ตำบล ครอบคลุม 6 อำเภอ ตลอดแนวชายฝั่งยาว 157 กิโลเมตร โดยจะดำเนินการทีละตำบลจนครบถ้วน
เมื่อผลลัพธ์ออกมาในรูปของ “แผนที่เสี่ยงภัยเชิงพื้นที่” ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับชาติ จังหวัด และท้องถิ่น เช่น กรมทรัพยากรทางทะเล กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการ สำนักงานป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงเทศบาลต่างๆ ที่สามารถนำข้อมูลไปประกอบการวางแผนพัฒนาได้
ตัวอย่างเช่น หากสร้างฐานข้อมูลแผนที่เสี่ยงในระดับตำบล และสามารถเชื่อมโยงกับ “แผนผังเมือง” ซึ่งระบุว่า พื้นที่ใดควรอนุรักษ์ พัฒนา หรือไม่ควรพัฒนา ก็จะช่วยให้การวางแผนในระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ประกอบการวางแผนจัดการภัยพิบัติ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแผนที่เสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งโดยเฉพาะ
แม้ว่าการกัดเซาะชายฝั่งจะยังไม่ถูกจัดเป็น “ภัยพิบัติ” ตามนิยามของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แต่ข้อมูลวิทยาศาสตร์เหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการจัดทำแผนรับมือได้ เพราะถึงแม้พื้นที่บางแห่งจะถูกกัดเซาะน้อย แต่หากเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนหนาแน่น ความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะสูงกว่า
แผนที่เสี่ยงภัยนี้ยังสามารถใช้สื่อสารกับชุมชน ช่วยให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์และสามารถวางแผนรับมือได้ดีขึ้น อีกทั้งสามารถนำไปประกอบการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชาติได้อีกด้วย
หากผนวกข้อมูลนี้เข้าไปในระบบวางแผนงบประมาณ จะสามารถจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ได้ โดยพิจารณาว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงสูง ปานกลาง หรือต่ำ ซึ่งจะช่วยให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สุดท้าย ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์นี้สามารถนำไปใช้ในการพิจารณาโครงการพัฒนาในอนาคต เช่น ถนนเลียบชายฝั่งหรือท่าเรือ หากพื้นที่นั้นมีความเสี่ยงสูง ก็ควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนดำเนินการ
Author
Beach For Life
แหล่งรวบรวมความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับชายหาด
บทความวันที่ 22 เมษายน 2568
แบ่งปันสิ่งนี้
มกราคมของทุกปี เป็นช่วงที่ความกดอากาศสูงกำลังแรงปกคลุมประเทศไทย ทำให้ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานครมีอากาศหนาวเย็น และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ทะเลในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยแปรปรวนและคลื่นลมแรง ซึ่งนับเป็นธรรมชาติของชายหาดและฤดูกาลของทะเลในแถบนี้ ช่วงเวลานี้ อ่าวประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือ พื้นที่ที่ถูกกล่าวถึงเกี่ยวกับ “คลื่นคลั่ง” หรือ “คลื่นยักษ์” ซึ่งมีความสูงมากถึง 4-5 เมตร ที่ปะทะชายฝั่งและกระโจนข้ามถนนตลอดแนวอ่าวประจวบฯ เกิดอะไรขึ้นทำไมคลื่นจึงคลั่ง ชวนไขคำตอบไปด้วยกัน
ชายหาดคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งหลากหลายชนิด นับตั้งเเต่ปี 2547 เป็นต้นมา เเละ สภาพชายหาดคลองวาฬปัจจุบันไม่เหลือความเป็นชายหาด เต็มไปด้วยเขื่อนต่างๆ ชายหากลายเป็นโคลน ส่งผลกระทบต่อชุมชนเเละการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
การเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่นหาดแก้วมาพร้อมกับการกล่าวอ้างว่า หาดแก้วแห่งนี้เป็นชายหาดท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสงขลา กำลังเกิดการกัดเซาะชายฝั่งในระดับที่รุนแรงกว่า 5-6 เมตรต่อปี จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างกำแพงกันคลื่น เเต่ท้ายที่สุดหาดเเก้วกลับพังไม่เหลือสภาพชายหาด