นิเวศนครสงขลา เป็นความปรารถนาที่พีระวาดฝันไว้แก่เมืองสงขลา
ย้อนกลับไปปี 2555 คุณพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา ได้ริเริ่มนโยบายที่เป็นความก้าวหน้าของเมืองสงขลาไว้ คือ นิเวศนครสงขลา ถึงแม้นิยามความหมายและแนวนโยบายนี้อาจไม่ชัดเจนไม่มากนัก แต่รูปธรรมที่ถูกทำให้เห็นและจับต้องขึ้นมาได้ในช่วงสมัยที่คุณพีระยังคงดำรงชีวิตอยู่ คือ การยุติกระสอบทรายริมหาดชลาทัศน์ การเติมทรายชายฝั่ง และ การปกป้องสวนสนผืนสุดท้ายของเมืองสงขลาจากโครงการกระเช้าลอยฟ้า
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2545 ที่หาดชลาทัศน์เริ้มมีการกัดเซาะชายฝั่งเพราะการวางโครงสร้างแข็งริมชายหาด เทศบาลนครสงขลาและกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการวางกระสอบทรายขนาดใหญ่ เพื่อเป็นกำแพงกันคลื่นป้องกันชายฝั่ง ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2545 ถึง ปี 2555 ชายหาดชลาทัศน์มีการวางกระสอบทรายกว่า 2.5 กิโลเมตร และเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการป้องกันชายฝั่ง กล่าวได้ว่า “ยิ่งสร้างยิ่งพัง ยิ่งวางยิ่งกัดเซาะ” ปี 2555 เป็นจุดเริ่มต้นที่ภาคประชาชนสงขลารณรงค์ร่วมกันเทศบาลนครสงขลายุติการวางกระสอบทรายริมชายหาดชลาทัศน์ ซึ่งจะมีการวางจากหน้ามหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย ถึง บริเวณหลังโรงแรมบีพีสมิหลาบีช ในช่วงนั้นมีการจัดเวทีประชาคมของประชาชนสงขลาเพื่อยุติกระสอบทรายและคุณพีระในฐานะนายกเทศบาลนครสงขลาได้ประกาศชัดเจนว่า “ต้องหยุดโครงสร้างแข็งริมชายหาด”
หลังจากการป้องกันชายฝั่งด้วยโครงสร้างแข็งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ และสร้างปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง และจากข้อเรียกร้องของภาคประชาชนและนักวิชาการในการฟื้นฟูชายหาดชลาทัศน์ ด้วยการเติมทราย ทำให้คุณพีระ ตันติเศรณี ได้ร่วมกับกรมเจ้าท่าเริ่มดำเนินการทดลองการเติมทรายชายฝั่งให้กับชายหาดชลาทัศน์ เป็นระยะทางประมาณ 600 เมตร การเติมทรายครั้งนั้น ถือเป็นการเติมทรายแห่งแรกในประเทศไทยและมีการติดตามตรวจสอบผลจากการเติมทรายอย่างต่อเนื่อง โดยเทศบาลนครสงขลา ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการป้องกันชายฝั่งในประเทศไทยที่ท้องถิ่นนั้นใช้ความกล้าหาญในการบุกเบิกมาตรการเติมทราย
เมืองสงขลา มีพื้นที่สวนสนอยู่ใจกลางเมือง ขนาดกว่า 500 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้นถือเป็นพื้นที่ธรรมชาติของเมือง ในช่วงเวลานั้นมีความพยายามในการผลักดันโครงการกระเช้าลอยฟ้า ซึ่งจะมีการพัฒนาพื้นที่ในสวนสน ทำให้กลายเป็นความขัดแย้งที่สำคัญ และคุณพีระ ได้ปกป้องพื้นที่นี้ไว้ด้วยชีวิต
นอกจากการนำร่องสงขลานิเวศนคร ด้วยการพยายามรักษาชายหาดและพื้นที่ธรรมชาติของเมืองไว้ คุณพีระ ได้เคยโพสถึงโครงการนำร่องภายใต้แนวคิดนิเวศนครสงขลาไว้หลายโครงการ เช่น ทุ่งดอกรัก ณ สงขลา หรือ โครงการวนอุทยานสวนสน การฟื้นฟูระบบนิเวศของเมืองสงขลา ซึ่งเป็นแนวคิดในการคงรักษาพื้นที่ธรรมชาติของเมืองสงขลาไว้ และใช้ประโยชน์ต่อยอดจากธรรมชาติที่มีอยู่เดิม
Author
Beach For Life
แหล่งรวบรวมความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับชายหาด
บทความวันที่ 10 พฤศจิกายน 2567
แบ่งปันสิ่งนี้
กำเเพงกันดินเเละทางเท้าบนเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ พังเสียหายรุนเเรงหลังมรสุมซัดฝั่งภายในคืนเดียว Beach for life ชวนทำความเข้าใจพฤติกรรมของคลื่นที่ส่งผลต่อชายหาดหลังจากมีกำเเพงกันคลื่น จากบทเรียนที่เกิดขึ้นบนเกาะพีพี
มกราคมของทุกปี เป็นช่วงที่ความกดอากาศสูงกำลังแรงปกคลุมประเทศไทย ทำให้ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานครมีอากาศหนาวเย็น และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ทะเลในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยแปรปรวนและคลื่นลมแรง ซึ่งนับเป็นธรรมชาติของชายหาดและฤดูกาลของทะเลในแถบนี้ ช่วงเวลานี้ อ่าวประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือ พื้นที่ที่ถูกกล่าวถึงเกี่ยวกับ “คลื่นคลั่ง” หรือ “คลื่นยักษ์” ซึ่งมีความสูงมากถึง 4-5 เมตร ที่ปะทะชายฝั่งและกระโจนข้ามถนนตลอดแนวอ่าวประจวบฯ เกิดอะไรขึ้นทำไมคลื่นจึงคลั่ง ชวนไขคำตอบไปด้วยกัน
โครงการท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด ท่าเรือขนาดใหญ่ที่มีการถมทะเล ทำให้เกิดการเปลี่ยนเเปลงของชายฝั่งตลอดเเนวชายหาดสุชาดา หาดเเสงจันทร์ ถึงหาดปากน้ำระยอง ชวนสำรวจผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นจากท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด