จากเขากะโหลก ไล่ขึ้นมาทางด้านทิศเหนือจรดเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำปราณบุรี คือ แนวชายหาดปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร ในจินตนาการของนักท่องเที่ยว ชายหาดปราณบุรี ควรมีสภาพชายหาดที่เป็นผืนทราย กว้างยาว แต่วันนี้ชายหาด 5 กิโลเมตรของปราณบุรี ไม่เหลือสภาพชายหาดที่เป็นผืนทรายกว้างอีกต่อไป
กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได คือ โครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่เข้ามาแทนที่ชายหาดปราณบุรีตลอดแนวชายฝั่ง 5 กิโลเมตร หากต้องการไปชายหาดปราณบุรี เพื่อจะเห็นชายหาด ต้องเดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนและรอให้น้ำทะเลลดระดับลงต่ำสุด ถึงจะปรากฏชายหาดส่วนเล็กๆ หน้ากำแพงกันคลื่นในยามน้ำลงให้เดินเล่น ก่อกองทราย โดยอาจไม่สะดวก และไม่ปลอดภัยในการเดินลงบนชายหาดเพราะตะไคร่น้ำที่เกาะแน่นตามแนวกำแพงกันคลื่น ซึ่งหากไม่ระมัดระวังในการเดินบนกำแพงกันคลื่นอาจทำให้ลื่นล้มบาดเจ็บได้
ชายหาดปากน้ำปราณถูกกัดเซาะรุนแรงมากขึ้นหลัง การเกิดขึ้นของเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ(Jetty) แม้ตะกอนชายฝั่งจะมีทิศทางหลักไปทางทิศเหนือก็จริง แต่ในบางฤดูกาล ก็นำพาให้เกิดปัญหากัดเซาะทางทิศใต้ของปากร่องน้ำได้เช่นกัน หลังจากนั้นจึงเกิดโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทางทิศใต้ของปากร่องน้ำทั้งกำแพงกันคลื่นแบบตั้งตรง แบบขั้นบันได และแบบหินทิ้ง พร้อมการปรับภูมิทัศน์โดยการถมพื้นที่ลงบนชายหาดและในทะเลเพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะด้านหลังกำแพง พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมทะเล จากทั้งท้องถิ่นและกรมโยธาธิการและผังเมือง เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2554, 2557 และ 2559 รวมระยะทางยาวกว่า 2.9 กิโลเมตร โดยหลังจากนั้นชายหาดปากน้ำปราณก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ชายหาดด้านหน้ากำแพงตัดลึกและชันขึ้นเนื่องจากผลกระทบของกำแพงกันคลื่น ทำให้แม้ยามน้ำลงในบางฤดูกาล ไม่สามารถลงเดินเล่นบริเวณชายหาดด้านหน้ากำแพงได้อีกเลย การลงเล่นน้ำด้านหน้ากำแพงนั้นยิ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากยิ่งเนื่องจากมีความไม่ปลอดภัยจากคลื่นที่วิ่งเข้าปะทะกำแพงและสะท้อนกลับออกไปนอกฝั่ง
ภาพเปรียบเทียบชายหาดปราณบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2559 และ ปี พ.ศ. 2562 เป็นหลักฐานชั้นดีที่ยืนยันว่ากำแพงกันคลื่นทำให้ชายหาดปราณบุรีหายไปอย่างถาวร
หาดปราณบุรี ยังไม่สิ้นชื่อชายหาด เพราะยังคงเหลือชายหาดผืนสุดท้าย ที่มีสภาพกว้างยาว เป็นหาดทรายเนื้อสีทองอยู่บริเวณศาลกรมหลวงชุมพรใกล้กับปากแม่น้ำปราณบุรี หาดผืนสุดท้ายแห่งนี้ คือ หนึ่งกิโลเมตรสุดท้ายของชายหาดปราณบุรี ที่ยังคงสภาพเป็นชายหาดกว้าง ให้สามารถเดินเล่นบนผืนทรายได้ เเต่อีกไม่นาน กรมโยธาธิการและผังเมือง จะดำเนินการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น ความยาว 900 เมตร มาจนถึงบริเวณหน้าศาลกรมหลวงชุมพร นั้นหมายความว่า ชายหาดผืนสุดท้ายเเห่งนี้กำลังจะกลายเป็นกำแพงกันคลื่นคอนกรีตเเบบขั้นบันได
หาดปราณบุรีผืนสุดท้ายเเห่งนี้ไม่ใช่หาดรกร้างว่างเปล่าไร้ชีวิต เเต่เป็นหาดที่มีสังคมพืชชายหาดที่กำลังเจริญเติบโตมีนกหัวโตมลายู นกนางนวล และนกทะเลอื่นๆกว่า 300 ตัวอาศัยอยู่ ชายหาดผืนสุดท้ายนี้ คือ แหล่งวางไข่และถิ่นอาศัยของนกหัวโตมลายู ที่กำลังจะหายากขึ้นทุกทีในคาบสมุทรมลายู เพราะการรุกรานพื้นที่ชายหาดและกิจกรรมพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล ทำให้ที่อยู่ของนกหัวโตมลายูลดน้อยลง
หากหันมองออกไปในทะเล ที่แนวคลื่นกำลังแตกตัวเป็นฟองขาว จุดนั้นคือ ดอนหอยหวานที่ทางกลุ่มฅนรักทะเลและชายหาดปากน้ำปราณ ประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ไว้ สันดอนทรายแห่งนี้เชื่อมโยงกับชายหาดเพราะเป็นพื้นที่ที่ตะกอนจะพัดไปมาระหว่างหาดกับสันดอนทรายตามฤดูกาล ดังนั้น พื้นที่ชายหาดปราณบุรีเเห่งนี้จึงไม่ใช่มีไว้เพื่อมนุษย์พักผ่อนเพียงเท่านั้น เเต่มีไว้เพื่อสรรพสัตว์ และระบบนิเวศทางทะเลที่ใช้ร่วมกันอย่างเกื้อกูล
ข้อมูลจากกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุ “สถานภาพชายฝั่งประจำปี 2563 ความยาวชายฝั่ง 240 เมตร (พื้นที่โครงการช่วงที่ 3) พบการกัดเซาะชายฝั่งเล็กน้อยระยะทางประมาณ 90 เมตร และบางตำแหน่งพบการสะสมทรายระยะทาง 140 เมตร โดยส่วนใหญ่การกัดเซาะชายฝั่งจะพบในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และเกิดการสะสมของตะกอนทรายในช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และช่วงปลอดมรสุม การกัดเซาะชายฝั่งบริเวณนี้ไม่กระทบต่อทรัพย์สินสาธารณะ” นอกจากนั้น ในเอกสารยังระบุต่อไปว่า “บริเวณโครงการระยะที่ 3 ไม่มีความเสี่ยงต่อการกัดเซาะชายฝั่งอย่างถาวร เนื่องจากบริเวณทิศเหนือโครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำทำหน้าที่ในการดักตะกอนทรายที่เคลื่อนที่จากทิศใต้ไปยังทิศเหนือ ทำให้ความกว้างของหาดมากขึ้น จึงไม่ควรดำเนินการโดยใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมเพื่อป้องกันชายฝั่ง เนื่องจากอาจมีการเหนี่ยวนำให้เกิดผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณท้ายโครงการ และอาจกระทบต่อการท่องเที่ยวและการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณดังกล่าว
การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดปราณบุรี ทำให้เกิดคำถามจากสาธารณะ และกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ถึงความเหมาะสมของโครงการ จนนำมาสู่การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชายหาดผืนสุดท้ายและในท้ายที่สุดกรมโยธาธิการและผังเมือง ยอมเจรจาเพื่อปรับรูปแบบโครงการกำแพงกันคลื่น ตามข้อเสนอของกลุ่มฅนรักทะเลและชายหาดปากน้ำปราณ คือ กรมโยธาธิการและผังเมือง ต้องไม่ใช้รูปแบบกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได โครงสร้างต้องไม่ยื่นล้ำลงไปในเขตอิทธิพลของทะเล เพื่อให้โครงสร้างนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อชายหาด และปลูกพืชชายหาด เช่น ต้นรักทะเลด้านหน้าเพื่อ ดักตะกอนทราย การเจรจาต่อรองระหว่างกรมโยธาธิการและผังเมืองกับกลุ่มอนุรักษ์ฯ เป็นผลทำให้แบบการก่อสร้างในพื้นที่ชายหาดสุดท้าย ความยาว 240 เมตร ถูกปรับไปตามข้อเรียกร้อง ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงสภาพชายหาดธรรมชาติไว้ได้
Author
Beach For Life
แหล่งรวบรวมความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับชายหาด
บทความวันที่ 23 สิงหาคม 2567
แบ่งปันสิ่งนี้
การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นภัยที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติเเละฝีมือของมนุษย์ ประเทศไทยมีชายฝั่ง 3,151 กิโลเมตร เเต่เราไม่เคยรู้เลยว่า ตรงไหนมีความเสี่ยวต่อการกัดเซาะชายฝั่ง บทความนี้จะชวนทุกคนไปทำความเข้าใจ เเผนที่เสี่ยงภัย เเละ การทำเเผนที่เสี่ยงภัยการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสงขลา ที่ริเริ่มด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ชายหาดจอมเทียนกลับมากว้างอีกครั้ง ท่ามกลางคำถามว่าการเติมทรายชายหาดจอมเทียนเเบบนี้จะได้ผลหรือไม่ Beach for life ชวนไปรู้จักโครงการเติมทรายชายหาดจอมเทียนร่วมกัน
ท่ามกลางห้วงเวลาที่มีการอภิปรายพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่กำลังอยู่ในสภาผู้เเทนราษฎรนั้น Beach for life ชวนคลี่เเละส่องงบประมาณเพื่อการป้องกันชายฝั่งในร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 งบกำเเพงกันคลื่นเยอะเเค่ไหนในปีงบประมาณนี้ ?