ชายหาดคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นชายหาดท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่ไม่ไกลจากเมืองประจวบคีรีขันธ์ต่อเนื่องกับอ่าวมะนาว ชายหาดคลองวาฬเป็นที่ตั้งของชุมชนคลองวาฬ ซึ่งประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง มีร้านอาหาร และที่พักริมทะเลตลอดแนวชายหาดคลองวาฬ
การเปลี่ยนแปลงชายหาดคลองวาฬเกิดขึ้นช่วงประมาณปี 2547 ชายหาดคลองวาฬเริ่มปรากฏโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง โดยมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ความยาวประมาณ 300 เมตร และสวนสาธารณะบนชายหาด ซึ่งก่อสร้างโดยเทศบาลตำบลคลองวาฬ ต่อมาปี 2548 มีการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งแบบหินทิ้ง จำนวน 12 ตัว ความยาวตัวละ 50 เมตร จำนวน 6 ตัว และ ความยาว 100 เมตร จำนวน 6 ตัว ตลอดแนวชายหาดระยะทางประมาณ 1.3 กิโลเมตร โดยกรมเจ้าท่า (จันทจิรา เอี่ยมทยุราและคณะ, 2562)
ต่อมาปี 2549-2551 มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นและท่าเทียบเรือที่ร่องน้ำคลองวาฬ(กรมเจ้าท่า,2567) ทำให้สภาพชายหาดตลอดแนวชายหาดคลองวาฬนั้นเต็มไปด้วยโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง
ชายหาดคลองวาฬ ค่อยๆเปลี่ยนสภาพไปหลังจากที่มีโครงสร้างมากมายเกิดขึ้นบริเวณชายหาด ถึงแม้ชายหาดคลองวาฬจะมีเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่ง ที่สร้างซ้อนทับสองชั้นมาตั้งแต่ปี 2548 แต่อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่สำรวจสภาพชายฝั่งในปัจจุบันพบว่า ด้านชายหาดหลังของเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งซึ่งต่อเนื่องกับที่ดินของเอกชนนั้นเกิดการกัดเซาะ พบว่ามีความพยายามของเอกชนในการนำเศษวัสดุต่างๆเข้ามาถมเพื่อป้องกันที่ดินของตนเอง และ พบว่า มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันชายฝั่ง ทำให้เราเห็นว่าชายหาดคลองวาฬนั้นมีโครงสร้างสามชั้นป้องกันอยู่ ได้แก่ เขื่อนกันคลื่นจำนวน 2 ชั้น และ กำแพงกันคลื่นที่ถูกสร้างขึ้นจากทั้งเอกชน ท้องถิ่นตลอดช่วงเวลาหลังจากมีการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่ง และล่าสุด Beach for life ได้พบว่ามีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นตลอดแนวชายฝั่ง ซึ่งดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ภายใต้งบประมาณปี 2564 ความยาว 1,200 เมตร มูลค่ารวม 87,000,000 บาท ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน
สภาพชายหาดคลองวาฬหลังที่เต็มไปด้วยโครงสร้างชายฝั่งทะเลนั้น มีสภาพเป็นเป็นทรายปนโคลนจะพบชายหาดสั้นได้ในยามน้ำลง และมีเลนโคลนตลอดแนวชายหาด มีกลิ่นเหม็น โครงสร้างป้องกันชายฝั่งนานาชนิดที่ส่งผลต่อกระแสน้ำชายฝั่งทำให้ไหลช้าและยังกีดขวางการไหลของกระแสน้ำ จึงไม่แปลกใจที่ทำให้สภาพชายหาดคลองวาฬมีสภาพเป็นหาดเลนและไม่สามารถลงเล่นน้ำได้ ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่รวมถึงการท่องเที่ยว ดังที่ปรากฏเป็นข่าวไทยรัฐ “คนประจวบฯ โวยหาดคลองวาฬ เน่า! ทิ้งน้ำเสีย-กั้นเขื่อน เละเป็นขี้เลน” (ไทยรัฐออนไลน์, 14 พ.ค. 2559)
ไม่เพียงแค่ชายหาดคลองวาฬจะมีโครงสร้างต่างๆนานาตลอดแนวชายหาดให้เราได้ศึกษาเรียนรู้แล้วนั้น การเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่น และสวนสาธารณะในปี 2547 และ เขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งทั้ง 12 ตัว ยังถูกภาคประชาชนในพื้นที่ฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับข้อพิพาทการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ในพื้นที่ชายหาดคลองวาฬอำเภอเมือง จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งฟ้องว่าการดำเนินการโครงการดังกล่าวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้ “เพิกถอนใบอนุญาตถูกฟ้องคดีที่ 1 (เทศบาลตำบลคลองวาฬ) ที่อนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำประเภทเขื่อนกันน้ำกัดเซาะเพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งและปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดคลองวาฬ และให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยืนขออนุญาตเจ้าท่าอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่พิพากษาถึงที่สุด และให้กรเมจ้าท่า ยื่นคำขออนุญาตต่อเจ้าท่าอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ ภายใน 30 วันนับตั้งแต่คำพิพากษาถึงที่สุด ส่วนคำขอนอกจานี้ให้ยกฟ้อง”
ต่อมาภาคประชาชนที่รวมตัวฟ้องคดีต่อศาลได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ทำให้ปัจจุบันสถานะคดีดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
การลงสำรวจชายหาดคลองวาฬในพื้นที่เพียงแค่ประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะทำให้พบการเปลี่ยนแปลงไปของชายหาดที่มีโครงสร้างต่างๆนานาเกิดขึ้นมากมาย และ เห็นสภาพชายหาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังจากมีการก่อสร้าง และล่าสุดพบว่ากรมเจ้าท่ามีการปรับปรุงท่าเรือคลองวาฬ ซึ่งมีการประกวดราคาไปเมื่อปี 2565 การสร้างกำแพงกันคลื่นในปัจจุบันโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง คงต้องจับตาติดตามอย่างใกล้ชิดในพื้นที่ดังกล่าวว่าสภาพชายหาดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และผลการพิจารณาคดีชายหาดคลองวาฬ ซึ่งเป็นหนึ่งในคดีชายหาดที่น่าสนใจจะมีผลเป็นอย่างไร
อ้างอิงข้อมูล
[1] จันทจิรา เอี่ยมมยุราและคณะ, การฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับการกระทำของหน่วยงานของรัฐที่ก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย, โครงการ 10 ปี คดีสะกอมถึงคดีอ่าวน้อย สังคมไทยเรียนรู้อะไร, 2562.
[2] คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขเเดงที่ ส.784/2559 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2559
Author
อภิศักดิ์ ทัศนี
รักทะเล เเต่ชอบภูเขา เรื่องสิ่งเเวดล้อม คือ การเมือง
แบ่งปันสิ่งนี้
โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โครงการนี้ ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง
กรณีพิพาทโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดมหาราช จังหวัดสงขลา ซึ่งภาคประชาชนได้รวมกันฟ้องคดีตั้งแต่ปี 2564 เพื่อขอให้ศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษาเพิกถอนโครงการและคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากระแสการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่งนั้นมีมากขึ้น และหลังจากกรณีการเติมทรายชายฝั่งหาดพัทยาโดยกรมเจ้าท่าแล้วเสร็จ ทำให้ประชาชนเห็นว่ามาตรการเติมทรายนั้น อาจเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ และทำให้ได้ชายหาดกลับมา Beach for life ชวนสำรวจพื้นที่ชายหาดที่จะมีการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่ง