หาดเเตงโมจะไม่เป็นหาดเเตงโมอีกต่อไป จะกลายเป็นกองทรายเสื่อมโทรมหลังเขื่อนขั้นบันได”
ข้อความบนหน้าเฟสบุ๊คของเจ้าของที่ดิน ที่กำแพงกันคลื่นกำลังจะวางทับบนชายหาดกั้นระหว่างทะเลและพื้นที่ปลูกแตงโม บนชายหาดที่มีชื่อเสียงที่สุดของเกาะสุกร จังหวัดตรัง
การระบาดของกำแพงกันคลื่นที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมายในช่วงที่โครงการประเภทกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ทำให้ หาดแตงโม อำเภอปะเหรียน จังหวัดตรัง ถูกตกเป็นเป้าหมายในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 3 ระยะโครงการ ความยาวกว่า 1,700 เมตร มูลค่าโครงการกว่า 135.17 ล้านบาท
การเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่นหาดแตงโมทำให้เจ้าของที่ดินรายหนึ่งซึ่งกำแพงกันคลื่นในระยะที่ 3 จะปิดกั้นพื้นที่ดินของเขาทั้งหมด เป็นความยาวกว่า 600 เมตร หายนะของกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไทยและผลกระทบที่ตำตาจากกำแพงกันคลื่นใกล้เคียงที่ห่างไปไม่ถึงกิโลเมตร ซึ่งเคยสร้างไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือ ภาพสะท้อนที่ชัดเจนของความล้มเหลวในการป้องกันชายฝั่งด้วยกำแพงกันคลื่น ประกอบกับชายหาดแตงโมแห่งนี้ไม่เคยมีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง ทำให้เจ้าของที่ดินบนชายหาดแตงโมรายหนึ่งลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องชายหาดแตงโม ก่อนจะเหลือเพียงชื่อ
ผมมีนัดกับเจ้าของที่ดินที่กำเเพงกันคลื่นกำลังจะเกิดขี้นบนหาดเเตงโม เกาะสุกร การเดินทางครั้งนี้เพื่อสัมผัสและเห็นสภาพกำแพงกันคลื่นระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งสร้างเสร็จไปแล้ว รวมถึงสภาพชายหาดแตงโมส่วนที่เหลือที่ได้รับการปกป้องไว้จากการต่อสู้ของเจ้าของที่ดิน เรามีโอกาสได้สนทนากันพร้อมกับปั่นจักรยานคนละคันในขณะที่กระเป๋าเป้ของพี่เขานั้น เต็มไปด้วย ผลของต้นตาลโตนดที่พร้อมจะนำไปปลูก ผมถามพี่เขาว่าเอาไปปลูกทำไม เขาตอบผมว่าจะได้เป็นแนวเขตว่าชายหาดตรงนี้มันงอกไปเรื่อยๆ
เจ้าของที่ดินเล่าให้ผมฟังว่า “ชายหาดแตงโม มันไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง มันมีแต่งอกออกไปเรื่อยๆ ผมเอาต้นตาลมาปลูกเพื่อจะได้เห็นว่าชายหาดในวันนี้อยู่ตรงไหน ถ้าหาดมันงอกไปเรื่อยๆเราก้จะได้ใช้แนวต้นตาลเป็นจุดอ้างอิง”
ข้อมูลการกัดเซาะชายฝั่ง ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตรวจสอบเส้นแนวชายฝั่ง จากภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth ปี พ.ศ. 2549 เทียบเคียงกับเส้นแนวชายฝั่งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2561 และจากการสำรวจเส้นแนวชายฝั่ง ปี พ.ศ. 2562 ในปัจจุบันชายหาดบริเวณหาดแตงโม มีทรายสะสมเป็นชายหาดงอก ถ้านับจากเส้นแนวชายฝั่งปี พ.ศ. 2549 อกไปในทะเล ถึงปีปัจจุบันระยะทางความกว้างของหน้าหาดที่มีทรายสะสมประมาณ 50 เมตร โดยเฉลี่ยตามความยาวของชายหาด ซึ่งแสดงว่าชายหาดไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง ในบริเวณพื้นที่ชายหาดที่กำลังจะมีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นระยะที่ 3
ข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กับ คำบอกเล่าของเจ้าของที่ดินสอดคล้องกันว่า พื้นที่ชายหาดแตงโมนั้นเป็นหาดงอก ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง คำถามสำคัญ คือ ทำไมถึงมีการผลักดันโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นในพื้นที่ชายหาดแห่งนี้
“การเปิดช่องว่างทางกฎหมายให้โครงการประเภทกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) คือ ต้นตอสำคัญที่ทำให้โครงการกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นได้ง่ายๆ และกลายเป็นช่องทางผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม ทุกระดับ พวกเขาไม่ฟังคำคัดค้านของผู้ไม่เห็นด้วยเสียด้วยซ้ำ ขนาดผมเป็นเจ้าของที่ดินเขาก็ยังไม่ฟัง อ้างกัดเซาะ มันกัดเซาะตรงไหนหาดที่นี่มันงอก” เจ้าของที่ดินอธิบายให้ผมฟัง ซึ่งในมุมมองของผมก็ไม่ต่างกันการเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่นในประเทศไทยมาจากการเปิดช่องว่างให้กำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA และผลประโยชน์ต่างๆในการผลักดันโครงการเหล่านี้
“โครงการนี้ถูกผลักดันอย่างยิ่งโดยนักการเมืองท้องถิ่น และ นักการเมืองระดับชาติในพื้นที่ จึงไม่แปลกที่ไม่มีคนค้านโครงการ คนที่เขาไม่เห็นด้วยกับโครงการ โครงสร้างพวกนี้มีแต่เขาไม่ออกหน้า ไม่มาแสดงความคิดเห็นหรอก มีแค่ผมกับพวกไม่กี่คน และหลายครั้งมักถูกกล่าวหาว่าเป็นคนนอกบ้าง ขัดขวางความเจริญบาง เพราะกำแพงกันคลื่นนี่ไม่เพียงแค่กันคลื่น แต่เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างความเจริญให้กับชุมชน”
“กรรมาธิการลงพื้นที่มารับฟังปัญหา ผมก็พูดไปเยอะมากแต่กรมโยธาธิการและผังเมือง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงนักการเมืองต่างก็จะผลักดันโครงการนี้ให้จนได้ ทั้งๆที่มาดูในพื้นที่แล้ว เห็นแล้วว่าชายหาดไม่กัดเซาะ ไม่มีอะไรให้ต้องป้องกันมีเพียงแค่ไร่แตงโม ที่ต้องอาศัยอิทธิพลของทะเลที่ทำให้มันพิเศษกว่าแตงโมที่อื่นๆ”
“หลังจากกรรมาธิการลงพื้นที่ สักประมาณปี 2564 ผมทำจดหมายฉบับหนึ่งไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง ยืนยันว่าไม่ให้ดำเนินการป้องกันชายฝั่งพื้นที่ชายหาดแตงโม ซึ่งต่อเนื่องกับที่ดินของผมในระยะที่ 3 และหากการดำเนินโครงการกำแพงกันคลื่นก่อให้เกิดความเสียหายต่อที่ดิน ทรัพย์สินของผมจะดำเนินการตามกฎหมาย ต่อมาผมได้รับการยืนยันว่ากรมโยธาธิการและผังเมือง หยุดดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่นหาดแตงโมระยะที่ 3 แล้ว”
“ตรงนี้เกือบกลายเป็นกำแพงกันคลื่นไปตลอดแนวแล้ว ผมคิดว่าถ้าเขาทำระยะที่ 3 เสร็จ คงมีระยะที่ 4 จนสุดชายหาด สุดท้ายก็เหลือแค่ชื่อ(หาด)แตงโม” เจ้าของที่ดินเล่าให้ผมฟังขณะที่เดินลัดเลาะชายหาดผ่านไร่แตงโมที่ซึ่งครั้งหนึ่งเกือบจะกลายเป็นกำแพงกันคลื่น
ก่อนจะกลับผมได้แวะทานอาหารร่วมกันกับพี่เจ้าของที่ดินและคุณลุงที่ปลูกแตงโมบนเกาะสุกร ความกังวลใจต่อการเกิดขึ้นของโครงการกำแพงกันคลื่นระยะที่ 3 บนหาดแตงโมยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากท้องถิ่นและนักการเมืองมีความพยามอย่างยิ่งในการผลักดันโครงการนี้ ดังนั้นคงภารกิจในการป้องป้องหาดแตงโมคงยังไม่จบ และเราต้องช่วยกันต่อ
ตลอดการเดินทางปั่นจักรยาน ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชายหาดแตงโม ได้เห็นสภาพพื้นที่จริงๆทำให้เห็นว่าข้อความที่พี่เจ้าของที่ดินโพสในเฟสบุ๊คส่วนตัว และพูดกับผมว่า “หาดแตงโมจะไม่เป็นหาดแตงโมอีกต่อไป จะกลายเป็นกองทรายเสื่อมโทรมหลังโครงสร้างเขื่อนขั้นบันได” คำพูดนี้คงไม่เกินจากความจริง เสน่ห์ของชายหาดแตงโม เกาะสุกร คือ ชายหาดที่เป็นพื้นที่ปลูกแตงโมที่เป็นหาดธรรมชาติ บางช่วงฤดูมีน้ำทะเลท่วมถึงในบางเวลา พื้นที่ปลูกแตงโมที่ยังคงได้รับอิทธิพลจากทะเล ทำให้แตงโมในแปลงนี้มีเสน่ห์และพิเศษมากถือว่าเป็นจุดขายกว่าที่อื่นๆ ในขณะที่ด้านข้างนั้นกำแพงคอนกรีตปิดกั้นทะเลและไร่แตงโม เสน่ห์เหล่านั้นได้หายไปจนหมด และประเด็นที่สำคัญยิ่งไปกว่า “แตงโม” คือ ชายหาดแห่งนี้ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง การที่กรมโยธาธิการและผังเมือง พยายามผลักดันโครงการกำแพงกันคลื่นที่มีเป้าหมายคือการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แต่หาดที่นี่ไร้การกัดเซาะชายฝั่ง จึงเป็นความพยายามผลักดันโครงการที่ไร้เหตุผลอย่างยิ่ง และส่อให้เห็นว่า “การกัดเซาะชายฝั่ง” ถูกอ้างเป็นเครื่องมือของการผลักดันโครงการเพื่อใช้งบประมาณเพียงอย่างเดียว
Author
อภิศักดิ์ ทัศนี
รักทะเล เเต่ชอบภูเขา เรื่องสิ่งเเวดล้อม คือ การเมือง
แบ่งปันสิ่งนี้
โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โครงการนี้ ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง
กรณีพิพาทโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดมหาราช จังหวัดสงขลา ซึ่งภาคประชาชนได้รวมกันฟ้องคดีตั้งแต่ปี 2564 เพื่อขอให้ศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษาเพิกถอนโครงการและคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากระแสการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่งนั้นมีมากขึ้น และหลังจากกรณีการเติมทรายชายฝั่งหาดพัทยาโดยกรมเจ้าท่าแล้วเสร็จ ทำให้ประชาชนเห็นว่ามาตรการเติมทรายนั้น อาจเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ และทำให้ได้ชายหาดกลับมา Beach for life ชวนสำรวจพื้นที่ชายหาดที่จะมีการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่ง