ชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ชายหาดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นชายหาดที่ไม่ห่างไกลจากกรุงเทพฯมากนัก และเชื่อว่าหลายคนคงเคยแวะมาพักผ่อนริมชายหาดแห่งนี้
หาดชะอำ ในความคิดของใครหลายคน คิดว่าหาดแห่งนี้คงเป็นหาดทรายขาว กว้าง ลงเล่นน้ำทะเลได้อย่างสนุกและปลอดภัย แต่ในวันนี้ชายหาดชะอำใต้เปลี่ยนไป จากการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อป้องกันชายฝั่งของกรมโยธาธิการและผังเมือง ความยาว 3 กิโลเมตร ในรูปแบบกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได ตลอดแนวชายหาดชะอำใต้ ทำให้จากหาดทรายกลายเป็นกำแพงคอนกรีตตลอดแนวชายหาด
ย้อนกลับไปชายหาดชะอำใต้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง เพราะโครงสร้างลานอเนกประสงค์ที่แบ่งระหว่างหาดชะอำใต้และชะอำเหนือ ซึ่งยื่นล้ำลงไปในทะเล ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านชายหาดชะอำใต้อย่างรุนแรง กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงตัดสินใจดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง หาดชะอำใต้ ด้วยกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได ความยาว 3 กิโลเมตร โดยโครงการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดชะอำใต้ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดไปอย่างถาวร หาดทรายหน้ากำแพงกันคลื่นได้ค่อยๆหายไป จะมีชายหาดเฉพาะช่วงยามน้ำลง บริเวณกำแพงกันคลื่นตลอดทั้งแนวที่น้ำสัมผัสถึงเกิดตะไคร่น้ำและสาหร่ายในบางฤดูกาล ตลอดแนวกำแพงกันคลื่นไม่สามารถลงเล่นน้ำได้
จุดเด่นของหาดชะอำ คือ การมีเตียงผ้าใบที่วางตลอดแนวชายหาด หากเรานั่งอยู่บนเตียงผ้าใบใกล้สันกำแพงกันคลื่นยามน้ำขึ้น คลื่นจะกระเซ็นเข้ามาหาเราได้อย่างง่ายดาย นี่คือส่วนหนึ่งของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกำแพงกันคลื่นหาดชะอำ สำหรับผู้ที่ไม่เคยมาเยี่ยมเยียนหาดชะอำ เมื่อสัก 5-6 ปีก่อน จะแทบนึกภาพไม่ออกเลยว่า ชายหาดชะอำใต้ ที่กว้างยาว ลงเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัยนั้น เป็นอย่างไร เพราะในวันนี้หาดชะอำมีสภาพไม่ต่างอะไรกับอ่างเก็บน้ำทะเลดีๆนั่นเอง
สภาพชายหาดชะอำที่กลายเป็นกำแพงกันคลื่น น้ำทะเลสัมผัสกำแพงกันคลื่นเกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคม ต่อเนื่องมาจนถึงเมษายนของทุกปี ทำให้ตะไคร่น้ำและสาหร่ายเกาะขึ้นตลอดแนว 3 กิโลเมตรของกำแพงกันคลื่นหาดชะอำใต้ ในช่วงเวลาที่ตะไคร่น้ำเกาะกำแพงกันคลื่นชะอำ คือ ช่วงเทศกาลที่ผู้คนเริ่มท่องเที่ยวชายหาดชะอำ แน่นอนว่า เมื่อเป็นช่วงที่มีผู้คนมากมายมาเที่ยวชายหาด มาเล่นน้ำ พักผ่อนหย่อนใจ ทานอาหาร ตลอดจนมีกิจกรรมทางน้ำต่างๆอย่างหลากหลาย
วันที่ 19 มีนาคม 2566 มีรายงานข่าว นักท่องเที่ยวชายวัย 55 ปี ประสบอุบัติเหตุลื่นล้มบนกำแพงกันคลื่นหาดชะอำใต้ในช่วงค่ำ เนื่องจากบริเวณกำแพงกันคลื่นมีตะไคร่น้ำเกาะหนาทึบ ไม่มีไฟส่องสว่างเพียงพอ และไม่มีป้ายเตือนความปลอดภัย ทำให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำและลื่นล้มศีรษะกระแทกกับกำแพงกันคลื่น บาดเจ็บสาหัส ภายหลังจากผู้ประสบอุบัติเหตุรักษาตัวที่โรงพยาบาลผ่านไป 2 เดือนเต็ม แพทย์โรงพยาบาลชะอำได้ลงความเห็นให้ผู้ประสบอุบัติเหตุนั้นกลายเป็นผู้พิการ เนื่องจากการลื่นล้ม ทำให้กระดูกคอหักส่งผลต่อระบบประสาทและการเคลื่อนไหว
กรณีผู้ประสบอุบัติเหตุบนกำแพงกันคลื่นหาดชะอำ เนื่องจากตะไคร่น้ำที่เกาะหนาแน่นนั้น นำมาสู่การวิพากวิจารณ์ของสาธารณะถึงความบกพร่องของกรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะเจ้าของโครงการ และความเหมาะสมของกำแพงกันคลื่นในลักษณะขั้นบันไดซึ่งก่อให้เกิดตะไคร่น้ำเกาะกระทบต่อความปลอดภัยในการการท่องเที่ยวริมชายฝั่งทะเล นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ผู้ที่ติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดได้ให้ความเห็นในทางการแพทย์ต่อกรณีดังกล่าวว่า “ถ้ามองในมุมของระบาดวิทยาทางการแพทย์ เราเรียกกรณีแบบนี้ว่า Index Case กรณีนักท่องเที่ยวลื่นล้มบนกำแพงกันคลื่นบาดเจ็บสาหัสจนนำส่งโรงพยาบาล เป็นปรากฏการณ์บนยอดภูเขาน้ำแข็งที่เราเห็น ที่โรงพยาบาลรับรู้ ที่เป็นข่าวต่อสาธารณะ แต่ยังมีเคสอีกมากที่สังคม สาธารณะไม่รับรู้ โรงพยาบาลไม่รับทราบเพราะไม่ไปโรงพยาบาล เช่น บาดเจ็บเล็กน้อยแล้วปฐมพยาบาลเอง ซึ่งแน่นอนว่า เราไม่รู้ตัวเลขที่แท้จริง แต่ว่าโดยเฉลี่ยแล้ว หนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่อยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็ง แปลว่าข้างล่างใต้ภูเขาน้ำแข็งที่มองไม่เห็น มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นร้อยเคส”
ปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวลื่นล้มบาดเจ็บสาหัส จนพิการ สะท้อนให้เห็นว่า กำแพงกันคลื่นนั้นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชายหาดในเชิงกายภาพและนิเวศวิทยาเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนที่เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาด และจากกรณีชายหาดชะอำ ทำให้เรามีคำถามสำคัญต่อแนวทางการป้องกันชายฝั่งว่า “รัฐไม่มีมาตรการอื่นใดแล้วหรือ ที่จะฟื้นฟูสภาพชายหาดชะอำให้กลับมาเหมือนเดิม แทนที่จะดำเนินการสร้างกำแพงกันคลื่น”
Author
Beach For Life
แหล่งรวบรวมความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับชายหาด
แบ่งปันสิ่งนี้
โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โครงการนี้ ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง
กรณีพิพาทโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดมหาราช จังหวัดสงขลา ซึ่งภาคประชาชนได้รวมกันฟ้องคดีตั้งแต่ปี 2564 เพื่อขอให้ศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษาเพิกถอนโครงการและคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากระแสการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่งนั้นมีมากขึ้น และหลังจากกรณีการเติมทรายชายฝั่งหาดพัทยาโดยกรมเจ้าท่าแล้วเสร็จ ทำให้ประชาชนเห็นว่ามาตรการเติมทรายนั้น อาจเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ และทำให้ได้ชายหาดกลับมา Beach for life ชวนสำรวจพื้นที่ชายหาดที่จะมีการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่ง