เมื่อช่วงสองวันที่ผ่านมามีภาพคลื่นซัดกำแพงกันดินและทางเท้าของเกาะพีพีพังเสียหายอย่างรุนแรงตลอดแนว หลายคนแสดงความคิดเห็นว่าในช่วงหลังที่ผ่านมามรสุมมีความรุนแรงกว่าปกติ
Beach for life ได้รับคลิปวีดีโอจากแฟนเพจในช่วงค่ำที่คลื่นซัดโครงสร้างจนเสียหาย ทำให้ว่ามีปรากฎการณ์หนึ่งเกิดขึ้น คือ คลื่นบริเวณที่มีโครงสร้างนั้นมีความรุนแรงกว่าบริเวณอีกด้านในจุดที่ยังคงมีสภาพเป็นชายหาด ซึ่งปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นหลายแห่งบนชายหาดที่มีโครงสร้างกำแพงกันคลื่นหรือกำแพงกันดินที่คลื่นสามารถเข้ามาปะทะได้ คลื่นจะมีความรุนแรงและกระโจนข้ามสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างด้านหลัง ชวนมาทำความเข้าใจพฤติกรรมของคลื่นที่ส่งผลต่อชายหาดหลังจากมีกำแพงกันคลื่นร่วมกัน
ชายหาด เป็นรอยต่อทางธรรมชาติที่มีปฏิสัมพันธ์กันของแผ่นดิน ทะเล และอากาศ เป็นพื้นที่รอยต่อเปราะบางและมีความเป็นพลวัตสูงมาก กล่าวคือ ชายหาดเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามกระบวนการทางธรรมชาติของชายฝั่งทะเล ชายหาดนั้นมีคุณสมบัติในการสลายพลังงานของคลื่นที่เข้ามาสู่ชายฝั่ง ชายหาดจะมีการปรับตัว ปรับรูปร่างให้เหมาะสมในการรับแรงคลื่นในช่วงมรสุม และมีคุณสมบัติในการฟื้นฟูสภาพตัวเองหลังจากผ่านมรสุม
เมื่อกำแพงกันคลื่น มาถึงชายหาด เมื่อคลื่นเข้ามาถึงโครงสร้างกำแพงกันคลื่น คลื่นจะค่อยปะทะ และตะกุยทรายด้านหน้ากำแพงหรือโครงสร้างออกไป โดยปกติเมื่อคลื่นเคลื่อนที่จากเขตน้ำลึกเข้าสู่เขตน้ำตื้น คลื่นจะสูญเสียพลังงานไประหว่างการเคลื่อนที่ เนื่องจากแรงเสียดทานของพื้นทราย คลื่นจึงยกตัวขึ้นก่อนจะสลายตัวบริเวณชายหาด แต่เมื่อมีโครงสร้างที่แข็งและสูงชันมาขวางกั้น คลื่นที่ซัดเข้ากับโครงสร้างทึบจะเกิดการสะท้อนกลับ ทำให้ตะกอนที่ฐานของโครงสร้างนั้นถูกกัดเซาะออกไป (Toe scoring) รวมถึงหาดทรายด้านหน้าโครงสร้างด้วย โดยจะส่งผลให้คลื่นไม่สามารถสลายพลังงานได้ดีพอ เป็นเหตุให้คลื่นบริเวณหน้าโครงสร้างหรือกำแพงกันคลื่นนั้นรุนแรงมากขึ้น และเมื่อคลื่นปะทะกับกำแพง คลื่นที่ยังคงมีพลังงานเหลืออยู่จะสะท้อนออกไปรวมกับคลื่นที่วิ่งเข้ามาใหม่ และซัดเข้าปะทะอย่างรุนแรงกับกำแพงซ้ำอีก ทำให้เราได้เห็นคลื่นขนาดใหญ่ซัดข้ามกำแพงเข้ามาในแผ่นดิน
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเห็นว่า เมื่อมีกำแพงกันคลื่นตั้งอยู่บนชายหาดแล้วคลื่นเข้ามาถึงชายหาดหน้ากำแพงกันคลื่นจะค่อยๆหายไป ท้องน้ำหน้ากำแพงกันคลื่นจะลึกขึ้นเนื่องจากการตะกรุยทรายออกไปของคลื่น จนท้ายที่สุดเมื่อไม่มีชายหาดหน้ากำแพงกันคลื่นทำให้คลื่นไม่ถูกสลายพลังงานและเข้าปะทะกำแพงกันคลื่นอย่างรุนแรง จึงเกิดคลื่นขนาดใหญ่เกิดขึ้น
เมื่อเวลาผ่านไป การถูกกัดเซาะฐานรากของโครงสร้างนานเข้า ทำให้โครงสร้างนั้นพังทรุดลง และรวมถึง มวลน้ำที่กระเซ็นหรือกระโจนข้ามกำแพงกันคลื่นทำให้สร้างความเสียหายกับพื้นที่ด้านหลังกำแพงกันคลื่นอีกด้วยเช่นกัน
ปรากฎการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชายหาดที่เกาะพีพี ที่มีโครงสร้างกำแพงกันดิน ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนกับกำแพงกันคลื่น ที่คลื่นเข้ามาปะทะแล้วค่อยๆตะกรุยทรายออกไปจนท้องน้ำลึก ไม่เหลือชายหาด และในที่สุดโครงสร้างก็ถูกกัดเซาะพังเสียหาย แน่นอนว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างกำแพงกันดินและทางเดินในเกาะพีพีพังเสียหายอย่างรุนแรง แต่อย่างไรก็ตามยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ เช่น ความรุนแรงของมรสุมในช่วงเวลานั้น ความแข็งแรงของโครงสร้าง หรืออื่นๆที่เป็นปัจจัยร่วมทำให้เกิดความเสียหายอย่างที่เราเห็นโดยทั่วกัน แต่อย่างน้อยที่สุดปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เรียนรู้พฤติกรรมของคลื่นที่ปะทะกำแพงหรือโครงสร้างและทำให้คลื่นนั้นเปลี่ยนแปลงไป
Author
อภิศักดิ์ ทัศนี
รักทะเล เเต่ชอบภูเขา เรื่องสิ่งเเวดล้อม คือ การเมือง
แบ่งปันสิ่งนี้
โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โครงการนี้ ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง
กรณีพิพาทโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดมหาราช จังหวัดสงขลา ซึ่งภาคประชาชนได้รวมกันฟ้องคดีตั้งแต่ปี 2564 เพื่อขอให้ศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษาเพิกถอนโครงการและคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากระแสการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่งนั้นมีมากขึ้น และหลังจากกรณีการเติมทรายชายฝั่งหาดพัทยาโดยกรมเจ้าท่าแล้วเสร็จ ทำให้ประชาชนเห็นว่ามาตรการเติมทรายนั้น อาจเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ และทำให้ได้ชายหาดกลับมา Beach for life ชวนสำรวจพื้นที่ชายหาดที่จะมีการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่ง