กำแพงกันคลื่น อ้างการท่องเที่ยว สุดท้ายพังเละ เที่ยวไม่ได้
การเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่นหาดแก้วมาพร้อมกับการกล่าวอ้างว่า หาดแก้วแห่งนี้เป็นชายหาดท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสงขลา กำลังเกิดการกัดเซาะชายฝั่งในระดับที่รุนแรงกว่า 5-6 เมตรต่อปี จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างกำแพงกันคลื่น
วันที่ 16 สิงหาคม 2561 เว็บไซต์สื่อท้องถิ่นอย่าง http://www.news.gimyong.com และ สยามรัฐ ต่างลงข้อมูลในลักษณะเดียวกัน เพื่อโปรโมทโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดแก้ว อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พร้อมบทสัมภาษณ์ของโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา ใจความบางช่วงระบุว่า “การก่อสร้างเขื่อนป้องกันฯ ดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบนิเวศและการทำอาชีพประมงของชาวบ้าน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ได้เป็นพื้นที่หลักในการประกอบอาชีพของชาวประมง สำหรับรูปแบบของการก่อสร้างเขื่อนป้องกันจะเป็นเขื่อนคอนกรีตแบบเสริมบันไดเสริมเหล็ก พร้อมกับออกแบบให้มีบันไดขึ้นลงชายหาด ทางลาดสำหรับผู้พิการและทางลาดสำหรับเรือขนาดเล็ก เพื่อความสะดวกของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว โดยแบ่งการดำเนินงานการก่อสร้างเขื่อนออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกมีความยาว 300 เมตร ระยะที่ 2 มีความยาว 460 เมตรและระยะที่ 3 มีความยาว 990 เมตร รวมทั้งสิ้น 1,750 เมตร ทั้งนี้โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล จะสามารถช่วยป้องกัน และบรรเทาปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี และกัดเซาะพื้นที่ชายหาดเข้ามาเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังจะช่วยป้องกันอาคารบ้านเรือนและส่วนราชการที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวและช่วยเสริมให้ทัศนียภาพของหาดมีความสวยงามมากขึ้น”
ที่มาภาพ http://www.beachlover.net
หลังจากโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดทรายแก้วแล้วเสร็จ สภาพชายหาดทรายแก้ว หายไปอย่างถาวร ชายหาดสีขาวกว้าง และทิวสนบางส่วนได้ถูกแทนที่ด้วยกำแพงกันคลื่นแบบลาดเอียงตลอดแนวชายหาด ไม่เพียงชายหาดที่หายไป เมื่อมรสุมลูกแรกมาถึง ทะเลปั่นป่วน คลื่นขนาดใหญ่กระโจนข้ามกำแพงกันคลื่นเข้ามาในแผ่นดิน กลายเป็นปรากฏการณ์คลื่นยักษ์ที่ปะทะกำแพงกันคลื่นต่อเนื่อง น้ำทะเลถูกซัดเข้ามาในแผ่นดิน สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ด้านหลังกำแพงกันคลื่นเกือบทั้งหมด รถไม่สามารถสัญจรได้ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ทได้รับความเสียหายจากน้ำทะเลที่ซัดข้ามกำแพงเข้ามา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ต่างอะไรกับอ่าวประจวบฯ ที่กำแพงกันคลื่นส่งผลให้ชายหาดหน้ากำแพงค่อยๆลดระดับต่ำลงและหายไปในที่สุด เมื่อคลื่นเข้ามาปะทะกำแพงจึงทำให้เกิดกระโจนข้ามสันกำแพงกันคลื่นเข้ามาพื้นที่ด้านในได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้น กำแพงกันคลื่นหาดแก้วยังทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ปรากฏการณ์คลื่นปะทะข้ามกำแพงกันคลื่นหาดแก้ว ที่ผ่านมากรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาออกเเบบโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ต่างๆ โดยให้มีการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น(Initial Environment Examination : IEE) และกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นจะต้องออกเเบบบนหลักวิชาการเพื่อความมั่นคงเเข็งแรงของโครงสร้าง และป้องกันความเสียหายจากการกัดเซาะชายฝั่งได้ โดยยอมให้ปริมาณน้ำที่กระโจนข้ามกำแพงกันคลื่นตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ของกรมฯ เพื่อไม่ให้น้ำที่กระโจนข้ามนั้นทำให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ด้านหลังกำแพงกันคลื่น
เเต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับกำแพงกันคลื่นหาดแก้ว จังหวัดสงขลา ได้สะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินการออกแบบก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดแก้วนั้น ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ตามหลักวิชาการ อาจทำให้ขาดการติดตามตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและอาจขาดความรอบคอบในการดำเนินโครงการ โครงสร้างบนหาดแก้วจึงกลายเป็นกำแพงกันคลื่นที่สร้าง พัง และทิ้งเศษซากปรักหักพังไว้เป็นอนุสรณ์ของความย่อยยับจวบจนทุกวันนี้
Author
Beach For Life
แหล่งรวบรวมความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับชายหาด
แบ่งปันสิ่งนี้
โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โครงการนี้ ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง
กรณีพิพาทโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดมหาราช จังหวัดสงขลา ซึ่งภาคประชาชนได้รวมกันฟ้องคดีตั้งแต่ปี 2564 เพื่อขอให้ศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษาเพิกถอนโครงการและคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากระแสการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่งนั้นมีมากขึ้น และหลังจากกรณีการเติมทรายชายฝั่งหาดพัทยาโดยกรมเจ้าท่าแล้วเสร็จ ทำให้ประชาชนเห็นว่ามาตรการเติมทรายนั้น อาจเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ และทำให้ได้ชายหาดกลับมา Beach for life ชวนสำรวจพื้นที่ชายหาดที่จะมีการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการเติมทรายชายฝั่ง