มกราคมของทุกปี เป็นช่วงที่ความกดอากาศสูงกำลังแรงปกคลุมประเทศไทย ทำให้ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานครมีอากาศหนาวเย็น และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ทะเลในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยแปรปรวนและคลื่นลมแรง ซึ่งนับเป็นธรรมชาติของชายหาดและฤดูกาลของทะเลในแถบนี้
ช่วงเวลานี้ อ่าวประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือ พื้นที่ที่ถูกกล่าวถึงเกี่ยวกับ “คลื่นคลั่ง” หรือ “คลื่นยักษ์” ซึ่งมีความสูงมากถึง 4-5 เมตร ที่ปะทะชายฝั่งและกระโจนข้ามถนนตลอดแนวอ่าวประจวบฯ
อ่าวประจวบฯ เคยมีชายหาดกว้าง แต่เมื่อมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแนวดิ่ง เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตลอดแนวอ่าวประจวบฯ ความยาว 2.429 กิโลเมตร โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2549 ทำให้ชายหาดค่อยๆ ถูกคลื่นตะกุยทรายด้านหน้ากำแพงกันคลื่นออกไป โดยปกติเมื่อคลื่นเคลื่อนที่จากเขตน้ำลึกเข้าสู่เขตน้ำตื้น คลื่นจะสูญเสียพลังงานไประหว่างการเคลื่อนที่ เนื่องจากแรงเสียดทานของพื้นทราย คลื่นจึงยกตัวขึ้นก่อนจะสลายตัวบริเวณชายหาด แต่เมื่อมีโครงสร้างที่แข็งและสูงชันมาขวางกั้น คลื่นที่ซัดเข้ากับโครงสร้างทึบจะเกิดการสะท้อนกลับ ทำให้ตะกอนที่ฐานของโครงสร้างนั้นถูกกัดเซาะออกไป (Toe scoring) รวมถึงหาดทรายด้านหน้าโครงสร้างด้วย โดยจะส่งผลให้คลื่นไม่สามารถสลายพลังงานได้ดีพอ เป็นเหตุให้คลื่นบริเวณหน้าโครงสร้างหรือกำแพงกันคลื่นนั้นรุนแรงมากขึ้น และเมื่อคลื่นปะทะกับกำแพง คลื่นที่ยังคงมีพลังงานเหลืออยู่จะสะท้อนออกไปรวมกับคลื่นที่วิ่งเข้ามาใหม่ และซัดเข้าปะทะอย่างรุนแรงกับกำแพงซ้ำอีก ทำให้เราได้เห็นคลื่นยักษ์ซัดข้ามกำแพงเข้ามาในแผ่นดิน ยิ่งเป็นกำแพงแนวดิ่งที่มีลักษณะตั้งตรงทำให้คลื่นยิ่งปะทะรุนแรงขึ้น ดังที่ปรากฏว่ามีคลื่นยักษ์เกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่อ่าวประจวบฯ เป็นเพราะสาเหตุดังที่กล่าวมา ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจากน้ำแข็งขั้วโลกละลายหรือระดับน้ำทะเลสูงขึ้นแต่อย่างใดมที่มีการกล่าวอ้างกัน แต่เป็นเพราะกำแพงกันคลื่นที่ทำให้พฤติกรรมของคลื่นนั้นเปลี่ยนแปลงไป
แต่ใช่ว่า ทุกพื้นที่ของอ่าวประจวบฯ จะมีคลื่นยักษ์ที่เกิดขึ้น บริเวณสุดถนนเลียบชายฝั่งทะเลไปทางกองบิน 5 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดกำแพงกันคลื่นแนวดิ่ง บริเวณดังกล่าวนั้นยังคงเป็นชายหาด กลับไม่ปรากฏเหตุการณ์คลื่นปะทะกำแพงจนกลายเป็นคลื่นยักษ์อย่างบริเวณชายหาดที่มีกำแพงกันคลื่นแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่อยู่ในอ่าวเดียวกัน ต่างกันเพียงแค่มีชายหาดและไม่มีชายหาด ชายหาดผืนเล็กๆตรงนี้ยังคงคอยดูดซับพลังงานของคลื่นที่เข้ามาสู่ชายหาดได้ดี และจะเป็นเช่นนี้ตราบที่บริเวณนี้ยังคงสภาพเป็นหาดทราย
Author
Beach For Life
แหล่งรวบรวมความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับชายหาด
บทความวันที่ 29 กรกฎาคม 2567
แบ่งปันสิ่งนี้
การเกิดขึ้นของกำเเพงกันคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเเละส่งเสริมการท่องเที่ยวชายหาดชะอำใต้ เป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ชายหาดชะอำ เหลือเพียงชื่อ เพราะทุกวันนี้หากไปเที่ยวชะอำใต้ เเทบจะไม่มีหาดทรายให้เห็น เว้นเเต่ช่วงน้ำลง มิเพียงเเค่ชายหาดที่หายไป เเต่การท่องเที่ยวของชะอำใต้ก็จบลงไปด้วย
ตลอดห้วงเวลา 10 ปีที่สังคมไทยรับรู้เเละถกเถียงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงปรากฎการณ์กำเเพงกันคลื่นที่ระบาดอย่างรุนเเรงจนหลายพื้นที่กลายเป็นกระเเสทางสังคมที่ถูกพูดถึง จวบจนการเรียกร้องให้กำเเพงกันคลื่นกลับมาทำเป็นโครงการที่ต้องทำ EIA จนสำเร็จ Beach for life ชวนคุณอภิศักดิ์ ทัศนี มาสนทนาเกี่ยวกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เเละ สิ่งที่ซ้อนอยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง
ถอดบทเรียนปัญหาสิ่งเเวดล้อมภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.บ. EEC ก่อนจะถูกโคลนนิ่งมาเป็น พ.ร.บ. SEC ร่าง พ.ร.บ. SEC ที่ถูกเสนอเข้าไป และคาดว่าร่างของรัฐบาลที่กำลังจะมีมติ ครม. มอบให้ สนข.เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. SEC Beach for life ชวนถอดบทเรียนดูปัญหาสิ่งแวดล้อมเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นภายใต้การบังคับใช้กฎหมาย EEC ที่เป็นร่างโคลนนิ่งของ พ.ร.บ. SEC