ชายหาดของใคร ? พื้นที่สาธารณะ หรือ ที่ส่วนบุคคล
ชวนกันหาคำตอบจากบทสัมภาษณ์ทนายความอธิวัฒน์ เส้งคุ่ย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ ท่ามกลางประเด็นปัญหาคำถามจากสังคมถึง สถานะของชายหาดว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ทำไมช่วงหลังมานี้จึงปรากฏข่าวว่ามีการหวงกันพื้นที่ หรือ อ้างสิทธิในการเข้าถึงใช้ประโยชน์ชายหาดของพลเมือง ทั้งกรณีชายหาดในจังหวัดภูเก็ต หรือ หาดปากบารา จังหวัดสตูลที่กำลังมีประเด็นพิพาทกันในปัจจุบัน
Beach for life ชวนทนายอธิวัฒน์ เส้งคุ่ย คุยถึงสถานะชายหาด และมุมมองทางกฎหมายต่อสถานนะชายหาดร่วมกันเพื่อไขข้องใจ “ชายหาด ยังคงเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือไม่” ก่อนจะลงรายละเอียดว่าชายหาดมีสถานะทางกฎหมายเป็นอย่างไร ?
คงต้องนิยามชายหาดกันก่อนว่าคืออะไร “ชายหาด” หมายถึง ที่ดินที่น้ำทะเลขึ้นและลง ท่วมถึงจรดแค่แนวพันธุ์พืช และพันธุ์ไม้ของแผ่นดิน จากจุดนี้ลงไปสุดทะเล เป็นชายหาด ชายหาดนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะห้ามครอบครอง
ชายหาด และหาดทราย โดยสภาพแล้วนั้นเป็นสถานที่ผู้คนมากมายใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ การประกอบอาชีพ การสันทนาการ และอีกมากมาย ลักษณะสภาพพื้นที่ และการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน เพื่อประโยชน์สาธารณะ นั้น ชายหาด และหาดทรายจึงมีลักษณะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตามมาตรา 1304 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดินอีกด้วย
เมื่อชายหาด และหาดทราย จัดว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐอีกประเภทหนึ่งแล้วนั้น ย่อมมีผลให้ที่ดินลักษณะดังกล่าวไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ ตามมาตรา 1305 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงหากมีการเอกสารสิทธิในที่ดินลักษณะดังกล่าว ก็อาจจะมีการถูกเพิกถอนเอกสารดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทำให้ผู้ขอออกเอกสารสิทธิ์ไม่ได้มีสิทธิความเป็นเจ้าของในที่ดินนั้นได้ ผู้ที่ครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ก็มิอาจยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับอายุความกับรัฐไม่ได้ ตามมาตรา 1306 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และท้ายที่สุดแล้วแม้ว่า ชายหาด และหาดทราย ต่อมาประชาชนหรือพลเมืองจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันก็ตาม ชายหาด และหาดทราย ก็ยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตราบเท่าที่ไม่มีการออกกฎหมายหรือพระราชกฤษฎีกาให้ถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน
ดังนั้นแล้วชายหาดโดยทั่วไป หาดไม่มีการออกกฎกหมายหรือพระราชกฤษฎีกา ให้ถอนสภาพจากการเป็นสาธารณะสมบัติแผ่นดินที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ชายหาดก็ยังคงเป็นพื้นที่สาธารณะที่พลเมืองทุกคนร่วมใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ มิสามารถครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลใดได้
Author
อภิศักดิ์ ทัศนี
รักทะเล เเต่ชอบภูเขา เรื่องสิ่งเเวดล้อม คือ การเมือง
บทความวันที่ 25 กรกฎาคม 2567
แบ่งปันสิ่งนี้
ถอดบทเรียนปัญหาสิ่งเเวดล้อมภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.บ. EEC ก่อนจะถูกโคลนนิ่งมาเป็น พ.ร.บ. SEC ร่าง พ.ร.บ. SEC ที่ถูกเสนอเข้าไป และคาดว่าร่างของรัฐบาลที่กำลังจะมีมติ ครม. มอบให้ สนข.เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. SEC Beach for life ชวนถอดบทเรียนดูปัญหาสิ่งแวดล้อมเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นภายใต้การบังคับใช้กฎหมาย EEC ที่เป็นร่างโคลนนิ่งของ พ.ร.บ. SEC
การเดินทางไปเกาะสุกร เพื่อดูชายหาดเเตงโม ก่อนที่จะสิ้นชื่อชายหาดเเตงโม เพราะการมาถึงของกำเเพงกันคลื่น ที่จะทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นเเค่ไร่เเตงโม
Beach for life เคยได้นำเสนอเรื่องราว “กำแพงกันคลื่นบนชายหาดแตงโม” บนเกาะสุกร จังหวัดตรังไปแล้วครั้งหนึ่ง เรื่องราวของชายหาดที่ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง แต่กรมโยธาธิการและผังเมืองกลับไปสร้างกำแพงกันคลื่นจำนวน 3 ระยะ ความยาวรวม 1,703 เมตร มูลค่าโครงการกว่า 135.17 ล้านบาท การเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่นทั้ง 3 ระยะ ทำให้เจ้าของที่ดินริมชายหาด ซึ่งปัจจุบันคือไร่แตงโมริมชายหาดที่มีชื่อเสียงของเกาะสุกร ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องชายหาดผืนนั้นจากกำแพงกันคลื่น