ในหลายประเทศที่เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง หาดสำคัญๆมักจะถูกนำมาตรการเติมทรายชายหาดมาใช้ เนื่องจากเป็นมาตรการที่จะทำให้ชายหาดกลับคืนมา และ เหมาะกับการท่องเที่ยว ในประเทศไทย การเติมทรายชายหาดถูกนำมาใช้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีชายหาดสำคัญๆ อย่างเช่น หาดพัทยา หาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี หรือแม้แต่หาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา ที่ใช้มาตรการเติมทราย Beach for life ชวนทุกคนมารู้จักมาตรการเติมทรายไปด้วยกัน
การเติมทราย หรือ Beach Nourishment เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันชายฝั่ง เป็นมาตรการที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และถูกยอมรับว่าเป็นมาตรการที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมาที่สุด การเติมทรายชายหาด เป็นการเติมมวลทรายให้กับชายหาด ทำให้ชายหาดมีความกว้างมากขึ้น สามารถรับแรงของคลื่นได้ และเป็นมาตรการรักษาสภาพชายหาดชายหาดไว้ไม่เหมือนกับมาตรการที่เป็นโครงสร้างแข็งที่รบกวนชายหาดมากกว่า
การเติมทรายมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก เช่น แหล่งทรายที่นำมาเติมทราย คุณภาพของทรายที่นำมาใช้เติมทรายต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมกับชายหาดเติม เช่น ขนาดที่มีความใกล้เคียงกัน สีทรายที่เหมือนกัน เป็นต้น การเติมทรายต้องมีการออกแบบรูปตัดของชายหาดให้สามารถรองรับแรงคลื่นได้ตามอายุการใช้งาน การบดอัดที่เหมาะสม วิธีการถมทรายหรือแม้แต่การขนส่งทราย รวมถึงการควบคุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและชุมชน แน่นอนว่าการเติมทรายถึงแม้จะเป็นมาตรการที่เป็นมิตรกับชายหาดกว่าโครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบแข็งอื่นๆ แต่การเติมทรายย่อมมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น จึงต้องมีมาตรการในการควบคุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน
ข้อดีของการเติมทรายชายหาด คือ การเพิ่มมวลทรายให้กับชายหาดทำให้ชายหาดนั้นสามารถที่จะรับแรงของคลื่นได้ เพิ่มพื้นที่ชายหาดทำให้สามารถใช้ในการนันทนาการต่างๆได้ เป็นมาตรการที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ส่งเสริมการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลเนื่องจากมีพื้นที่ชายหาด
ข้อเสียของการเติมทรายชายหาด คือ การเติมทรายชายหาดเป็นมาตรการที่มีรายละเอียดสูงทำให้การดำเนินการต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ การเติมทรายมีต้นทุนที่สูงกว่าโครงสร้างป้องกันชายฝั่งอื่นๆเมื่อเทียบกัน การเติมทรายอาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในช่วงต้นของการก่อสร้าง เช่น อาจมีตะกอนฟุ้งกระจาย กระทบกับคุณภาพน้ำ เป็นต้น ซึ่งอาจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีการก่อสร้าง
การเติมทราย เป็นมิตรกับชายหาดมากกว่า กำเเพงกันคลื่นและโครงสร้างป้องกันชายฝั่งอื่นๆ ถ้าอย่างนั้นก็เติมทรายทุกชายหาดเลยได้หรือไม่ ?
ถึงเเม้การเติมทรายจะเป็นมิตรกับชายหาด เเต่การเติมทราย เป็นมาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ดังนั้นการเติมทรายจึงเหมาะสมสำหรับชายหาดที่มีการกัดเซาะชายฝั่ง และเป็นชายหาดท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจ หรือมีความสำคัญในเชิงคุณค่าต่อพื้นที่หรือวัฒนธรรมนั้น เนื่องจากการเติมทรายชายหาดนั้นมีต้นทุนสูง และ มีรายละเอียดในการดำเนินการหลายประการ เช่น แหล่งทราย คุณภาพของทรายที่นำมาเติม การออกแบบการเติมทราย เป็นต้น ดังนั้น ไม่ใช่ทุกชายหาดที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจะเหมาะสมต่อการเติมทรายชายหาด จำเป็นต้นพิจารณาความสำคัญของชายหาด และ ความคุ้มค่าของโครงการด้วยเช่นกัน
ชายหาดพัทยา เป็นหนึ่งชายหาดที่มีการนำมาตรการเติมทรายมาใช้ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า โดยก่อนหน้าเติมทรายชายหาดพัทยามีหน้าหาดกว้างเพียง 10 เมตรจากขอบฟุตบาทของถนน แต่ภายหลังการเติมทรายมีการเติมทรายและออกแบบหน้าตัดชายหาดให้มีความกว้างประมาณ 35 เมตร(ไม่รวมความลาดชัน) เพื่อให้รองรับแรงคลื่นได้ในช่วงอายุโครงการที่ออกแบบไว้ ปัจจุบันชายหาดพัทยาเติมทรายผ่านมาแล้ว 5 ปี นับตั้งแต่กรมเจ้าท่าส่งมอบงานในปี เดือนกุมภาพันธ์ 2562 สภาพชายหาดโดยรวมยังเหมือนแรกครั้งที่เริ่มเติมทราย หลังจากนี้ต้องจับตาต่อไปว่าชายหาดพัทยาในอนาคตเป็นอย่างไร
บทความวันที่ 17 กรกฎาคม 2567
แบ่งปันสิ่งนี้
เปิดข้อเท็จจริงใหม่ที่ทำให้การอ้างสิทธิ์บนชายหาดปากบารา จังหวัดสตูลของเอกชนรายหนึ่งนั้นอาจทำไม่ได้ เเละกรมที่ดินไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินได้ ข้อเท็จจริงใหม่นั้นคืออะไร ชวนหาคำตอบกับ Beach for life
ชายหาดคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งหลากหลายชนิด นับตั้งเเต่ปี 2547 เป็นต้นมา เเละ สภาพชายหาดคลองวาฬปัจจุบันไม่เหลือความเป็นชายหาด เต็มไปด้วยเขื่อนต่างๆ ชายหากลายเป็นโคลน ส่งผลกระทบต่อชุมชนเเละการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
การเกิดขึ้นของกำเเพงกันคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเเละส่งเสริมการท่องเที่ยวชายหาดชะอำใต้ เป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ชายหาดชะอำ เหลือเพียงชื่อ เพราะทุกวันนี้หากไปเที่ยวชะอำใต้ เเทบจะไม่มีหาดทรายให้เห็น เว้นเเต่ช่วงน้ำลง มิเพียงเเค่ชายหาดที่หายไป เเต่การท่องเที่ยวของชะอำใต้ก็จบลงไปด้วย