ที่ผ่านมามีข่าวกำแพงกันคลื่นระบาดไปตามชายหาดต่างๆ
เหมือนจะหมดหวัง กับการฟื้นฟูชายหาดของประเทศไทย เพราะกำแพงกันคลื่นระบาดหนักเหลือเกิน
แต่คอนเทนต์นี้น่าจะช่วยทำให้คนที่รักชายหาด รักทะเลได้ใจชื้นขึ้นมาหน่อย
กับการรื้อรอดักทรายหน้าพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี
การรื้อรอดักทรายนี้จะเป็นตัวอย่างของการรื้อโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง เพื่อฟื้นคืนสมดุลชายฝั่ง ถือเป็นที่เเรกๆที่มีการใช้มาตรการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เเทนการสร้างต่อไปเรื่อยๆ
ก่อนจะเข้าเรื่องการรื้อรอดักทราย ต้องอธิบายลักษณะชายหาดแถบนี้กันหน่อย ชายหาดบริเวณนี้มีการเคลื่อนที่ของตะกอนทรายโดยสุทธิจากด้านใต้ไปทางด้านเหนือ(คลองบังตราใหญ่ ไป คลองบังตราน้อย) บริเวณปากคลองบังตราใหญ่มีการสร้างเขื่อนกันทรายปากคลองบังตราใหญ่ ทำให้ตะกอนทรายที่เคลื่อนจากด้านใต้ไปเหนือ ทับถมฝั่งด้านใต้ของเขื่อนกันทรายปากคลองบังตราใหญ่ ส่วนด้านเหนือเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้มีการก่อสร้างรอดักทรายเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จำนวน 8 ตัว ต่อเนื่องจนถึง ปากคลองบังตราน้อย ซึ่งมีเขื่อนกันทรายและคลื่นปากคลองบังตราน้อยตั้งอยู่ โครงสร้างทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก่อสร้างโดยกรมเจ้าท่า และยังมีโครงสร้างอื่นๆด้วย ซึ่งทำให้ชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงไป
การมีมติให้รื้อรอดักทราย หน้าพระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 คณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ได้ประชุม และมีมติที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดในพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ ให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ โดยรื้อรอดักทรายจำนวน 3 ตัว คือ ตัวที่ 3 ตัวที่ 4 และ ตัวที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ ร่วมกับใช้มาตรการเสริมอื่นๆที่จำเป็น
ก่อนหน้านี้ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดในพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยได้มีข้อเสนอให้รื้อรอดักทรายตั้งแต่คลองบังตราน้อยลงไปทางใต้จนถึงคลองบังตราใหญ่ จำนวน 8 ตัวของกรมเจ้าท่า ให้มีการถ่ายเททรายจากด้านใต้ของเขื่อนกันทรายปากร่องคลองบังตราใหญ่ เพื่อให้ตะกอนทรายสามารถไหลได้ตามสมดุลชายหาด และยังมีมาตรการอื่นๆอีกในรายการศึกษา แต่อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 ได้มีมติให้รื้อรอดักทรายจำนวน 3 ตัว ของกรมเจ้าท่า และได้มีการตั้งบประมาณในการรื้อรอดักทรายตามมติตั้งกล่าว ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระการพิจารณางบประมาณรายงานประจำปี 2566
การมีมติให้รื้อโครงสร้างรอดักทรายที่บริเวณหน้าพระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ นั้น นับได้ว่าเป็นการรื้อถอนโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่แรกๆ ของประเทศไทย
ที่ผ่านมาทางเครือข่ายที่ติดตามปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ได้เรียกร้องต่อหน่วยงานให้รื้อถอนโครงสร้างที่ไม่จำเป็น ไม่มีประสิทธิภาพบริเวณชายฝั่งทะเล เช่น สะพานปลา รอดักทราย หรือ กำแพงกันคลื่นที่ชำรุด เพื่อคืนสมดุลชายฝั่ง แต่มาตรการการรื้อถอนโครงสร้างเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น การรื้อถอนรอดักทรายครั้งนี้จะเป็นกรณีแรกที่สำคัญและน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
Author
อภิศักดิ์ ทัศนี
รักทะเล เเต่ชอบภูเขา เรื่องสิ่งเเวดล้อม คือ การเมือง
บทความวันที่ 26 พฤษภาคม 2567
แบ่งปันสิ่งนี้
โครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ที่มีหน้าตาคล้ายๆกับรากโกงกาง ปรากฏหลายพื้นที่ของชายหาด เช่น หาดเเสงจันทร์ หาดสามร้อยยอด ซึ่งเป็นการทอดลองป้องกันชายฝั่งด้วยนวัตกรรมใหม่ Beach for life ชวนทำความรู้จักสิ่งนี้เเละข้อสังเกตในการป้องกันชายฝั่ง
ตลอดห้วงเวลา 10 ปีที่สังคมไทยรับรู้เเละถกเถียงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงปรากฎการณ์กำเเพงกันคลื่นที่ระบาดอย่างรุนเเรงจนหลายพื้นที่กลายเป็นกระเเสทางสังคมที่ถูกพูดถึง จวบจนการเรียกร้องให้กำเเพงกันคลื่นกลับมาทำเป็นโครงการที่ต้องทำ EIA จนสำเร็จ Beach for life ชวนคุณอภิศักดิ์ ทัศนี มาสนทนาเกี่ยวกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เเละ สิ่งที่ซ้อนอยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง
Land bridge ชุมพร - ระนอง กำลังกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งท่ามกลางความเคลื่อนไหวของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ที่ได้มีการผลักดันโครงการ รับฟังความคิดเห็นประชาชน และเตรียมผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้(SEC)