ภารกิจปกป้องชายหาดผืนสุดท้าย : หาดปราณบุรี จ.ประจวบฯ

ชายหาดปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชายหาดที่อาจเรียกได้ว่าเป็นไม่เหลือสภาพชายหาดอีกต่อไปเเล้ว เนื่องจากตลอดเเนวชายหาดปราณบุรีนั้น กลายเป็นกำเเพงกันคลื่นเเบบขั้นบันไดวางทับบนชายหาดตลอดเเนว 3 กิโลเมตรกว่า เพื่อป้องกันชายฝั่ง

หากคุณไปหาดปราณบุรี เเละอยากเห็นชายหาด คุณต้องรอน้ำลงต่ำสุดในช่วงฤดูร้อนถึงจะมีชายหาดส่วนเล็กหน้ากำเเพงกันคลื่นในยามน้ำลงให้ได้เล่น ก่อกองทรายกัน เเละคุณอาจลงเล่นน้ำลำบากหน่อยเพราะตะไคร่น้ำที่เกาะตลอดเเนวกำเเพงกันคลื่นหากไม่ระวังอาจลื่นล้มได้ !!

หรือหากคุณอยากเจอชายหาดจริงๆ ปราณบุรีก็มีชายหาดกว้าง ทรายสีเหลืองทองให้คุณเดินเล่นบนผืนทรายได้ ซึ่งอยู่บริเวณศาลกรมหลวงชุมพร ใกล้ๆกับเขื่อนกันทรายและคลื่นปากน้ำปราณบุรี เเละเป็นชายหาดผืนสุดท้ายเเห่งปราณบุรี ที่ยังคงมีสภาพเป็นชายหาด เเต่อีกไม่นาน กรมโยธาธิการเเละผังเมือง จะดำเนินการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น ความยาว 900 เมตร มาจนถึงบริเวณหน้าศาลกรมหลวงชุมพรพอดี นั้นหมายความว่า ชายหาดผืนสุดท้ายเเห่งนี้กำลังจะกลายเป็นกำเเพงกันคลื่นคอนกรีตเเบบขั้นบันได

ภาพ เเสดงพื้นที่โครงการ 3 ระยะ
สภาพชายหาดปราณบุรี ที่จะมีการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น

ชายหาดผืนสุดท้ายเเห่งปราณบุรีนี้ ไม่ใช่เพียงหาดทรายว่างเปล่า ไร้ชีวิต Beach for life ลงพื้นที่ชายหาดปราณบุรี คุยกับ คุณพิษณุพงษ์ เหล่าลาภผล : ฅนรักษ์ปากน้ำปราณบุรี ซึ่งทำงานอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งหาดปราณบุรี เล่าให้เราฟังว่า

“หาดปราณบุรีผืนสุดท้ายเเห่งนี้ไม่ใช่หาดรกร้างว่างเปล่า เเต่เป็นหาดที่มีสังคมพืชสันทรายที่กำลังเติบโต มีนกหัวโตมลายู นกนางนวล เเละอื่นๆกว่า 300 ตัว บริเวณหาดส่วนหนึ่งเป็นที่วางไข่ของนกตัวโตมลายู มองออกไปนอกทะเล มีดอนหอยหวานที่ทางกลุ่มประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์หอยหวานไว้ ดังนั้นพื้นที่ชายหาดปราณบุรีเเห่งนี้จึงไม่ใช่มีไว้เพื่อมนุษย์พักผ่อน เเต่มีไว้เพื่อสรรพสัตว์ เเละระบบนิเวศทางทะเลที่เกื้อกูลกัน”

นกหัวโตมลายูอาศัยบนหาดทราย เเละรังที่อาศัย รวมถึงพื้นที่ไข่อยู่บนชายหาด
ภาพ กำเเพงกันคลื่นหาดปราณบุรี ตลอดเเนวชายหาด 3 กิโลเมตร มีตะไคร่น้ำสีเขียวเกาะเต็มกำเเพง

นอกจากนั้น ข้อมูลจากกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ส่วนวิศวกรรมชายฝั่ง กรมทรัพยากรกรทางทะเลและชายฝั่ง เรื่อง ขอติดตามสอบถามแนวทางการปฏิบัติประเด็นเรื่องโครงการเขื่อนกันคลื่น 900 เมตร ที่ ตำบลปราณบุรี ที่ ทส.0404/84 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 ระบุ “สถานภาพชายฝั่งประจำปี 2563 ความยาวชายฝั่ง 230 เมตร (พื้นที่โครงการช่วงที่ 3) พบการกัดเซาชายฝั่งเล็กน้อยระยะทางประมาณ 90 เมตร และบางตำแหน่งพบการสะสมทรายระยะทาง 140 เมตร โดยส่วนใหญ่การกัดเซาะชายฝั่งจะบในช่าวงมรสุมตะวันตกเฉลรียงใต้ และเกิดการสะสมของตะกอนทรายในช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และช่วงปลอดมรสุม การกัดเซาะชายฝั่งบริเวณนี้ไม่กระทบต่อทรัพย์สินสาธารณะ” นอกจากนั้น ในเอกสารยังระบุต่อไปว่า “บริเวณโครงการระยะที่ 3 ไม่มีความเสี่ยงต่อการกัดเซาะชายฝั่งอย่างถาวร เนื่องจากบริเวณทิศเหนือโครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปาร่องน้ำทำหน้าที่ในการดักตะกอนทรายที่เคลื่นตัวจากใต้ไปยังทิศเหนือ ทำให้ความกว้างของหาดมากขึ้น จึงมาควรดำเนินการใช่โครงสร้างทางวิศวกรรม เนื่องจากอาจมีการเหนี่ยวนำให้เกิดผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณท้ายโครงการ และอาจกระทบต่อการท่องเที่ยวและการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณดังกล่าว”

ภาพมุมสูง บริเวณหาดผืนสุดท้ายปราณบุรี

ภารกิจสำคัญที่คนไทยทุกคนที่รักชายหาดควรร่วมกันคือ ส่งเสียงเพื่อปกป้องชายหาดผืนสุดท้าย หาดปราณบุรี จากกำเเพงกันคลื่น ไม่ใช่เเค่เพื่อมนุษย์เเต่เพื่อระบบนิเวศชายฝั่ง

พิษณุพงษ์เหล่าลาภผล
กลุ่มฅนรักษ์ปากน้ำปราณบุรี


เเละในวันนี้ทางกรมโยธาฯ กำลังเดินหน้าโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดปราณบุรี ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะดำเนินการก่อสร้าง โดยมีความยาว 900 เมตรซึ่งจะทับพื้นที่ชายหาดที่สมบูรณ์เเห่งนี้ ท่ามกลางการผลักดันโครงการกำเเพงกันคลื่นนี้ ทำให้เกิดคำถามสำคัญๆ 3 ประการใหญ่ๆ คือ

  • ชายหาดส่วนหนึ่งของโครงการ ตั้งอยู่ในพื้นที่สะสมตะกอนทราย อันเนื่องจากเขื่อนกันทรายเเละคลื่นปากร่องน้ำปราณบุรี จากข้อมูลของกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ระบุว่า ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งถาวร และไม่กระทบต่อทรัพย์สินของประชาชน และแนะนำให้ใช้มาตรการที่ไม่ใช่โครงสร้างทางวิศวกรรมนั้น  ทำให้มีคำถามว่าทำไมกรมโยธาถึงเลือกการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบริเวณนี้ ?
ภาพชายหาดปราณบุรีจุดก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น ช่วงที่ 3
  • การก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดปราณบุรีนั้น ที่ผ่านมามีบทเรียนให้เห็นเเล้วว่าชายหาดหายไปเเละเกิดการกัดเซาะชายฝั่งต่อเนื่อง ทำไมกรมโยธาถึงยังคงเลือกมาตรการเดิม วิธีการเดิม เเสดงว่า กรมไม่ติดตามผลกระทบของโครงสร้างเดิมเลยใช่หรือไม่ ?
ภาพ มาสเตอร์เเพลนกำเเพงกันคลื่นขั้นบันได เเละการปรับปรุงภูมิทัศน์หาดปราณบุรีช่วงที่ 3
  • พื้นที่โครงการในระยะนี้นั้นมีสัตว์สำคัญ คือ นกหัวโตมลายูอาศัยอยู่ จำนวนมาก ซึ่งการสร้างกำเเพงกันคลื่นอาจกระทบที่อยู่อาศัยของนกหัวโตมลายูเหล่านี้

นี่คือ คำถามเเละข้อห่วงกังวลสำคัญที่เกิดขึ้นกับหาดปราณบุรี ภารกิจสำคัญที่คนไทยทุกคนที่รักชายหาดควรร่วมกันคือ ส่งเสียงเพื่อปกป้องชายหาดผืนสุดท้าย หาดปราณบุรี จากกำเเพงกันคลื่น ไม่ใช่เเค่เพื่อมนุษย์เเต่เพื่อระบบนิเวศชายฝั่ง

Published by Beach for life

บรรณาธิการกลุ่ม Beach for life

ใส่ความเห็น