แถลงการณ์กรมโยธาธิการฯต้องรับผิดชอบและคุ้มครองสวัสดิ์ภาพของประชาชน จากกรณีนักท่องเที่ยวลื่นล้มบนกำแพงกันคลื่น หาดชะอำใต้ จ.เพชรบุรี

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าผู้บาดเจ็บประสบอุบัติเหตุจากการลื่นล้มบนกำแพงกันคลื่น ซึ่งมีตะไคร่น้ำเกาะอยู่ตลอดแนวบันไดของกำแพงกันคลื่น และบริเวณพื้นที่ดังกล่าวพบว่า ไม่มีป้ายเตือนนักท่องเที่ยว อีกทั้งไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดของประชาชน โดยโครงการกำแพงกันคลื่นในพื้นที่เกิดเหตุนั้น เป็นการดำเนินการป้องกันชายฝั่ง ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ในรูปแบบกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได จำนวน 3 ระยะ ตลอดแนวชายหาดชะอำใต้ จังหวัดเพชรบุรี

การดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในลักษณะขั้นบันไดของกรมโยธาฯ มักเกิดตะไคร่น้ำเกาะตามแนวกำแพงกันคลื่น เนื่องจากน้ำทะเลท่วมถึงขั้นบันไดของกำแพงกันคลื่น ก่อให้เกิดความอันตรายต่อการใช้ประโยชน์ชายหาด โดยเฉพาะสวัสดิภาพเเละความปลอดภัยของประชาชนในการเข้าถึงพื้นที่ชายหาดได้อย่างปลอดภัย ซึ่งถือเป็นการละเลยต่อการคุ้มครองสวัสดิภาพ ความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงขัดต่อหลักการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน” ตามที่กรมโยธาธิการฯกล่าวอ้างถือปฏิบัติมา Beach for life เล็งเห็นว่า กรมโยธาธิการต้องทบทวนแนวทางในการป้องกันชายฝั่ง และเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกรมโยธาธิการที่ต้องดำเนินการ เพื่อไม้ให้เป็นที่ครหาว่ากรมโยธาฯเป็นกรมที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมและสารทุกข์สุขของประชาชน

กลุ่ม Beach for life ขอเรียกร้องไปยังกรมโยธาธิการฯ ดังนี้

  1. กรมโยธาธิการฯต้องออกมายอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เเละเเสดงรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อันเป็นผลสืบเนื่องจากโครงการของกรม รวมถึงผลกระทบในมิติอื่นๆที่เกิดขึ้นจากการที่กรมโยธาฯไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดให้กลายสภาพเป็นกำแพงกันคลื่น
  2. กรมโยธาธิการฯต้องเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับอุบัติเหตุจากการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการอย่างเป็นธรรม และครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกมิติโดยไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ
  3. กรมโยธาธิการฯ ต้องมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายซ้ำรอยกรณีดังกล่าวนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ชายหาด
  4. กรมโยธาธิการฯ ต้องปรับรูปแบบโครงการหรือแสวงหามาตรการเพื่อลดผลกระทบด้านอื่นๆที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการของกรมโยธาธิการฯ
  5. กรมโยธาธิการฯ ต้องไม่ผลักภาระความรับผิดชอบโดยการส่งมอบโครงการให้กับท้องถิ่นรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากบางท้องถิ่นนั้น มิอาจมีศักยภาพ งบประมาณ บุคลากร หรือ ความรู้ในการบริหารจัดการโครงสร้างที่กรมโยธาธิการก่อสร้างไว้ได้แต่เพียงฝ่ายเดียว

Beach for life หวังว่ากรมโยธาธิการฯจะนำเอาเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ชายหาดในครั้งนี้เป็นบทเรียนตอกย้ำความล้มเหลวในการดูแลโครงสร้างป้องกันชายฝั่งของกรม และตระหนักถึงผลกระทบของกำแพงกันคลื่นในมิติต่างๆที่เกิดขึ้นต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะนำไปสู่การแสวงหาแนวทางในการป้องกันชายฝั่งที่จะสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และคงรักษาสภาพแวดล้อมชายหาดไว้ มากกว่าการป้องกันด้วยแนวคิดวิศวกรรมที่มุ่งเน้นความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างชายฝั่ง โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิต สวัสดิ์ภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อมดังเดิม

กลุ่ม Beach for life
วันที่ 9 เมษายน 2566

Published by Beach for life

บรรณาธิการกลุ่ม Beach for life

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s