เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ที่ส่อให้เห็นพิรุธ “ชี้นำและหมกเหม็ดข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อม”
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา กำหนดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนว ทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 2 พื้นที่ชายฝั่งบริเวณบ้านเสาเภา ตำบลเสาเภา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ว่าจ้างบริษัท แมคโครคอรซัลแตนท์ จำกัดและบริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด
คุณกรรณิการ์ แพแก้ว มูลนิธิภาคใต้สีเขียว ได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่กรมโยธาธิการฯ จัดขึ้น และได้ตั้งข้อสังเกตต่อการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ที่ส่อให้เห็นพิรุธ “ชี้นำและหมกเหม็ดข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อม” โดยมี 3 ประเด็นดังนี้

- [1] การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 นี้ มีเป้าหมายเพื่อชี้แจงแนวทางแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งและผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนได้รับทราบ แต่บริษัทที่ปรึกษากลับชี้แจงข้อมูลด้านเดียว เช่น การให้ข้อมูลถึงผลจากการดำเนินการทำกำแพงกันคลื่นแล้วจะส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว มีลานกิจกรรม มีพื้นที่นันทนาการพักผ่อนหย่อนใจด้านหลังกำแพงกันคลื่น โดยไม่อธิบายถึงผลกระทบของกำแพงกันคลื่น ซึ่งในหลายพื้นที่ที่กรมโยธาธิการฯ ดำเนินการแล้วเสร็จนั้น กำแพงกันคลื่นเหล่านั้นส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อชายหาด และ เศรษฐกิจการท่องเที่ยว เช่นชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี หาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา ที่ช่วงมรสุมคลื่นปะทะข้ามกำแพงกันคลื่นเข้ามาจนเกิดน้ำท่วมขัง เป็นต้น รวมถึงการนำภาพพื้นที่โครงการที่แล้วเสร็จในช่วงคลื่นลมสงบมานำเสนอ ทำให้ดูสวยงาม แต่ในช่วงมรสุมนั้นไม่นำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบ การให้ข้อมูลเช่นนี้เป็นการจงใจให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้นเข้าใจว่า การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในลักษณะหินทิ้ง ของกรมโยธาธิการฯ คือ มาตรการที่ดีที่สุด และแนวทางอื่นๆนั้นไม่มีมีความเหมาะสม

- นอกจากนั้น ยังมีการนำเสนอ มาตรการในการบรรเทาผลกระทบด้านท้ายน้ำของการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นด้วยการปักไม้ โดยมีการยกตัวอย่างพื้นที่หาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา ที่กรมโยธาธิการฯได้ดำเนินการ โดยอ้างว่ามาตรการดังกล่าวนั้นสามารถลดผลกระทบด้านท้ายน้ำได้นั้น ในข้อเท็จจริงของพื้นที่ที่ได้มีการติดตามข้อมูลกลับพบว่า การปักไม้บริเวณหาดทรายแก้วนั้น ไม่ได้ผล และยังเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงอีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากรมโยธาธิการนั้น ยังไม่มีมาตรการที่สามารถลดผลกระทบด้านท้ายน้ำของโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- [2] ในเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน มีการนำเสนอแนวทางและมาตรการที่นำมาใช้ในพื้นที่หาดเสาเภา-หาดบางดี อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีการดำเนินการ 3 แนวทาง คือ การสร้างกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียง การปักไม้ และการถ่ายเททราย โดยมีความยาวโครงการ 1,800 เมตร ซึ่ง เมื่อพิจารณาแนวทางดังกล่าว กับ มาตรการที่กรมทรัพยากรทางทะและชายฝั่ง กำหนดให้ไว้ในการหลักเกณฑ์แนวทางโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง กำหนดให้เป็นพื้นที่สีฟ้า คือ ปรับสมดุลชายฝั่ง ซึ่งทำให้เห็นว่ามาตรการที่บริษัทที่ปรึกษาออกแบบและนำมาให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นนั้น ไม่สอดคล้องกับมาตรการที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำหนดไว้ ซึ่งประเด็นนี้ เชื่อมโยงกับประเด็นแรกที่กล่าวมาคือ เมื่อมีความพยายามในการนำเสนอข้อมูลผลดีของกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียง โดยให้ข้อมูลด้านเดียว ทำให้ประชาชนเลือก นั้นยิ่งตอกย้ำความเข้าใจผิด และทำให้ประชาชนเข้าใจว่า ต้องเลือกโครงสร้างแข็งป้องกัน ยิ่งขัดแย้งกับแนวทางที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำหนดให้พเป้นพื้นที่ใช้มาตรการปรับสมดุลชายฝั่ง

- 3] การรับฟังความคิดเห็นในเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งที่ผ่านมา รวมถึงครั้งนี้ มีจำนวนประชาชนที่เข้าร่วมเวทีและคัดค้านการดำเนินโครงการจำนวนมา และได้มีการลุกขึ้นแสดงความห่วงกังวล และไม่เห็นกับแนวทางการดำเนินโครงการของกรมโยธาธิการฯ แต่เมื่อมีการสรุปผลการผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการกลับพบว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อีกทั้งวิธีการในการนับคะแนน กรมโยธาธิการฯ ใช้วิธีการให้ประชาชนตอบแบบสอบถามเพื่อนับคะแนน โดยไม่มีการที่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบว่า ผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้นผลเป็นอย่างไร ซึ่งวิธีการดังกล่าวนั้น อาจทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมได้ ซึ่งจริงๆแล้วควรนำความเห็นของประชาชนที่ได้แสดงความเห็นมาเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจโครงการมากกว่า การนับคะแนนแบบรายหัวตามแบบสอบถาม ซึ่งประชาชนไม่สามารถเข้าร่วมตรวจสอบแบสอบถามนั้นได้

ทั้งสามประเด็นที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาออกแบบมาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งกำลังเป็นภาพสะท้อนของการ “ชี้นำและหมกเหม็ดข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” ซึ่งหากกระบวนการดำเนินโครงการยังคงเป็นเช่นที่กล่าวมา นั้นย่อมทำให้การดำเนินโครงการนั้นไม่สามารถที่จะสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง ไม่สามารถคลายข้อกังวลสงสัยของประชาชนได้ เพราะผู้ศึกษาตั้งใจให้ข้อมูลด้านเดียวแก่ประชาชน และยังอาจส่งผลให้โครงการนั้นไม่มีความรอบครอบในการดำเนินโครงการ จนท้ายที่สุดสร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อชุมชนไว้ในพื้นที่โครงการ กลายเป็น มรดกบาป ที่ชุมชนจะต้องเผชิญตราบนานเท่านั้น
