ในห้วงเวลาปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ หลายคนคงได้ยินกระแสการต่อสู้ของประชาชนในนาม Save หาดม่วงงาม ที่เป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลายว่า พวกเขาต่อสู้จากประเด็นชายหาดบ้านม่วงงามที่กำลังมีกำแพงกันคลื่น จากประเด็นการต่อสู้ของชุมชนเล็กๆ จนกลายเป็นกระแสสาธารณะที่มีการพูดถึงในวงกว้าง #Saveหาดม่วงงาม ได้ขึ้นติดเทรนทวิตเตอร์ในช่วงต้นสัปดาห์ของเดือนมิถุนายน 2563 และการต่อสู้ครั้งนี้ประชาชนได้รับชัยชนะ พวกเขาสามารถปกป้องชายหาดม่วงงามจากกำแพงกันคลื่นไว้ได้
กรณีการต่อสู้ ความเคลื่อนไหวของประชาชนม่วงงามถือเป็นบทเรียนการต่อสู้ของภาคประชาชนทาสำคัญ ถือเป็นหมุดหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงในประเด็นเรื่องชายหาด และเป็นภาพสะท้อนปัญหาเชิงโครงการในการดำเนินนโยบายของภาครัฐได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันการต่อสู้ของประชาชนม่วงงาม ได้สะท้อนการยืดหยัดของประชาชนอย่างหนักแน่นในการปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดีเช่นกัน หากจะเริ่มต้นทำความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับหาดม่วงงามและความเคลื่อนไหวของประชาชนชาวม่วงงามนั้น คงต้องเริ่มจากการรู้จักชายหาดม่วงงามเสียก่อน
หาดม่วงงาม : หาดสมบูรณ์ที่กำลังเปลี่ยนไป
ชายหาดม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ชายหาดสีขาว ทิวสนร่มรื่น หาดที่ไม่ห่างไม่ไกลจากตัวเมืองสงขลามากนัก หาดม่วงงามถือเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนและประชาชนละแวกใกล้เคียง ชายหาดม่วงงามในสายตาของคนทั่วไป คนต่างถิ่นอาจไม่ต่างอะไรกับหาดอื่นๆ และอาจไม่มีความหมายมากนัก แต่สำคัญคนม่วงงามที่เกิดและเติบโตบนผืนแผ่นดินม่วงงาม หาดม่วงงามคือพื้นที่ชีวิต และส่วนหนึ่งของความทรงจำของพวกเขา
หาดม่วงงาม ไม่ใช่เพียงแค่หาดทรายสีขาว และทิวสนสีเขียว แต่คือ พื้นที่แห่งชีวิตของชาวประมงม่วงงาม ทุกวันเราจะพบว่ามีการจับสัตว์น้ำ หาหอยเสียบ การวางอวนทับตลิ่ง รุนเคย การจอดเรือ การตากปลาและสัตว์น้ำต่างๆ วิถีชีวิตของชาวประมงเกิดขึ้นบนชายหาดแห่งนี้และหาดทรายผืนนี้หล่อเลี้ยงชีวิต สร้างรายได้กับคนม่วงงามมาช้านาน ไม่เพียงแต่การทำประมง หาดม่วงงามยังเป็นห้องสปาธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่ทุกเช้าๆ คนหนุ่มสาว และ ผู้สูงอายุของม่วงงามจะจูงมือกันมาพร้อมกับจอบ เสียม เพื่อขุดทรายและนอนฝั่งตัว ให้เม็ดทราย ผืนทรายดูดซับและบำบัดโรคภัยต่างๆในร่างกาย ผู้ใหญ่บางคนมีความทรงจำอันมีคุณค่าในช่วงฤดูวะแตก(ทางระบายจากน้ำแผ่นดินลงสู่ทะเลที่จะใกล้ลงสู่ทะเลเปิดออกในช่วงมรสุมด้วยแรงดันของน้ำฝนจากแผ่นดิน) วะแตก กับการก่อกองทราย แบบที่เรียกว่า หยอดเจ้าเย่ เป็นความทรงจำร่วมบนผืนทรายแห่งนี้ของผู้ใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเด็ก หาดม่วงงามจึงไม่ใช่แค่ผืนทรายสีขาวที่ไร้ชีวิต แต่เป็นผืนทรายแห่งชีวิตของคนม่วงงาม


ชายหาดม่วงงามขาวสวย กว้างยาวในช่วงปลอดมรสุม และหดสั้น คลื่นกระหน่ำถาโถมฝั่ง ในยามมรุสม เมื่อครั้งผ่านมรสุมไปหาดม่วงงาม คลื่นเดิ่งหรือคลื่นแต่งหาดก็จะสภาพหาดกว้างยาว เม็ดทรายขาวดังเดิม หาดม่วงงามเป็นเช่นนี้มาช้านาน แม้ในยามมีพายุมรสุมรุนแรง
ในวันที่ 4 มกราคม 2561 พายุปาบึกพัดผ่านชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช สร้างความเสียงหายแก่งพื้นที่ชายฝั่งและบ้านเรือนของประชาชนจำนวนมาก แต่สำหรับชายหาดม่วงงาม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พายุพัดผ่านกลับไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ภาพเปรียบเทียบหาดม่วงงามในวันที่พายุเข้า และหลังพายุพัดผ่านไป ชายหาดยังคงเหมือนเดิม ไม่ใช่เพียงแค่ภาพถ่ายในช่วงพายุปาบึกพัดผ่านเท่านั้น ที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าหาดม่วงงามไร้การกัดเซาะชายฝั่ง ข้อมูลการศึกษาเส้นแนวชายฝั่ง โดย ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า พบการกัดเซาะและทับถมสลับกันไป โดยเกิดการกัดเซาะมากที่สุดด้วยอัตราการกัดเซาะ 1.946 เมตรต่อปี (การกัดเซาะน้อย 1-5 เมตรต่อปี) และพบการทับถมมากที่สุดในช่วง เม.ย.2558 ถึง ส.ค.2558 ในอัตรา 4.029 เมตรต่อปี ทั้งนี้พบว่าในภาพรวมตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2562 ชายหาดม่วงงามระยะทาง 630 เมตรในหมู่ที่ 7 นี้ ชายหาดเกิดเปลี่ยนแปลงสุทธิในลักษณะของการทับถมในอัตรา 1.929 เมตรต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับการรายงานสถานภาพชายฝั่งทะเลที่รายงานต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี 2561 (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2562) ที่ไม่พบข้อมูลการกัดเซาะชายหาดม่วงงามอยู่ในรายงาน จากหลักฐานทั้งหมด เป็นที่พิสูจน์ได้อย่างเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นทางวิชาการ หรือ ในสายตาของคนม่วงงามที่อยู่อาศัยกับชายหาดม่วงงาม หาดม่วงงาม ไร้การกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง หาดทรายเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ


ถึงแม้ว่าชายหาดม่วงงาม ที่เป็นพื้นที่แห่งชีวิต ความทรงจำของผู้คนม่วงงาม และสถานะไร้การกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง แต่หายนะกำลังจะเกิดขึ้นกับหาดม่วงงาม เมื่อ “กำแพงกันคลื่น” คืบคลานมาถึง……
กำแพงกันคลื่น หายนะชายหาดม่วงงาม
กำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม ถือเป็นหายนะของชายหาดม่วงงาม ก่อนที่จะรับรู้ว่าหายนะที่จะเกิดขึ้นคืออะไร เราควรทำความรู้จักและเข้าใจกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงามเสียก่อน “กำแพงกันคลื่น” เป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งรูปแบบหนึ่งกำแพงกันคลื่นมักสร้างติดประชิดชายฝั่ง มีหน้าที่ปกป้องแผ่นดินด้านหลังกำแพงกันคลื่นไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากอิทธิพลของคลื่น ถึงแม้กำแพงกันคลื่นจะป้องกันแผ่นดินด้านหลังไม่ให้เปลี่ยนแปลงก็จริงอยู่ แต่การสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมากเช่นกัน
กำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม หรือ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งม่วงงาม อำเภอสิงนคร จังหวัดสงขลา ดำเนินโครงการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยโครงการนี้มีทั้งหมด 3 เฟส ซึ่งเฟสที่ 1 ความยาว 710 เมตร(หมู่ที่ 7) เฟสที่ 2 ความยาว 910 เมตร (หมู่ที่ 8,9) เฟสที่ 3 ความยาว 1,000 เมตร(หมู่ที่ 9) โดยโครงสร้างกำแพงกันคลื่นชายหาดม่วงงามทั้ง 3 เฟสนั้น มีรูปแบบลักษณะเป็นกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได ความยาวโดยรวมของกำแพงกันคลื่น(จากฝั่งถึงทะเล) 21 เมตร มีรูปแบบแปลนดังภาพ


กำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม ถือเป็นหายนะของชายหาด เนื่องจากผลกระทบของกำแพงกันคลื่นที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งอย่างถาวร การทำงานวิชาการของกลุ่ม Beach for life ได้รวบรวมผลกระทบของกำแพงกันคลื่นโดยเทียบเคียงบทเรียนจากพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
- การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นชายหาดม่วงงามนั้น ตั้งอยู่บนชายหาด จากแบบแปลนโครงสร้างบ้างส่วนของกำแพงกันคลื่นยื่นล้ำลงไปในทะเล ซึ่งคลื่นสามารถขึ้นมาถึง ทำให้คลื่นปะทะกำแพงกันคลื่นและตะกรุยทรายหน้ากำแพงกันคลื่นออกไป จนทำให้ท้องน้ำหน้ากำแพงกันคลื่นลึกขึ้น ทำให้ชายหาดที่เคยมีหน้ากำแพงกันคลื่นหายไปอย่างถาวร ดังเช่น กรณีชายหาดปราณบุรี ชายหาดอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา


- ในช่วงมรสุม คลื่นที่ปะทะกำแพงกันคลื่นจะมีความรุนแรงมากขึ้น และคลื่นจะกระโจนข้ามกำแพงกันคลื่นเข้ามาในแผ่นดิน น้ำเค็ม ดิน และเศษขยะจากทะเลจะถูกคลื่นซัดข้ามกำแพงเข้ามา และไอน้ำเค็มที่ปะทะจากกำแพงกันคลื่นจะฟุ้งไปไกล ทำให้สาธารณูปโภค บ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหายจากไอน้ำเค็ม

- ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดคือ เมื่อก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงามระยะที่ 1 ความยาว 710 เมตรแล้วนั้น จะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงด้านท้ายน้ำของกำแพงกันคลื่น นั้นหมายความว่า ระยะที่ 711 เมตรเป็นต้นไปนั้นจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ซึ่งผลกระทบในประเด็นนี้นั้นกรมโยธาธิการและผังเมืองทราบดี และเพราะมีระบุอยู่ในการศึกษาโครงการดังกล่าว ว่า หากมีการก่อสร้างระยะที่ 1 เสร็จสิ้นอีก 25 ปีชายหาดบริเวณสนามฟุตบอล(สิ้นสุดกำแพงกันคลื่นระยะที่ 1) จะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ลึกเข้ามาในแผ่นดินกว่า 100 เมตร และเป็นเหตุให้ต้องทำโครงการระยะที่ 2 เพื่อป้องกันต่อไป


ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม ถือได้ว่าเป็นหายนะที่จะเกิดกับชายหาดม่วงงาม ชาวบ้านหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหว คัดค้านการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นชายหาดม่วงงาม ได้ตั้งคำถามกับกรมโยธาธิการและผังเมืองว่า “การันตีได้ไหมว่า สร้างกำแพงกันคลื่นแล้วชายหาดที่เขารักจะไม่หายไป ?” “สร้างกำแพงกันคลื่นแล้วชายหาดจะไม่กัดเซาะชายฝั่งไปจนถึงวัดจันทร์ซึ่งเป็นชุมชนถัดไปจากม่วงงาม ?” “สร้างแล้วจะไม่เป็นแบบหาดทรายแก้ว ที่คลื่นโถมข้ามกำแพงเข้ามาจนน้ำท่วมขังในช่วงมรสุม ?” คำถามเหล่านี้คือความห่วงกังวลของประชาชนที่มีต่อโครงการ แต่ไม่มีใครกล้าการันตีได้เลยว่า สิ่งที่พวกเขากังวลจะไม่เกิดขึ้นถ้าดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น เมื่อหลักฐานเชิงประจักษ์ของกำแพงกันคลื่นที่เกิดขึ้นกับชายหาดต่างๆ เช่น หาดทรายแก้ว หาดปราณบุรี หาดหัวหิน หาดอ่าวน้อย หาดเหล่านี้ล้วนมีกำแพงกันคลื่นและทุกๆหาดเกิดผลกระทบเหมือนกันหมด และความสงสัย กังวลใจของประชาชนที่มีต่อโครงการไม่ได้ถูกคลีคลายจากเจ้าของโครงการทำให้นำมาสู่การเคลื่อนไหวอย่างหนักแน่น เพื่อปกป้องชายหาดม่วงงามอันเป็นที่รักของพวกเขา ในนาม Save หาดม่วงงาม
ถอดรหัสบทเรียนการต่อสู้ของพลเมืองม่วงงาม
การต่อสู้เคลื่อนไหวของประชาชนชาวม่วงงามและก่อเกิดกลายเป็นกระแสสาธารณะ ในแฮ็กแท็กที่รู้จักกัน #Saveหาดม่วงงาม ซึ่งอาจะเรียกได้ว่า ขบวนการ Saveหาดม่วงงาม เริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2563 ในช่วงที่เสาเข็มและแท่งเหล็ก รถแบ็คโฮกำลังขุดตอกบนชายหาดม่วงงาม ประชาชนม่วงงามเริ่มต้นชูป้าย และเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ ยืนหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ริมชายหาด การจัดเสวนา ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ใช้กระบวนการทางการเมืองของรัฐสภา จนไปถึงการประท้วงปักหลักนอนหน้าศาลากลางจังหวัดสงขลาเป็นระยะ 4คืน 5วัน จนท้ายที่สุด โครงการดังกล่าวถูกชะลอไป และศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กรมโยธาธิการฯ ชะลอโครงการจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ตลอด 4 เดือน บนการต่อสู้ เคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นจนได้รับชนะ สามารถปกป้องชายหาดม่วงงามจากำแพงกันคลื่นได้ จากลองถอดรหัสออกมาจะพบว่าปัจจัยสำคัญๆ ของประชาชนม่วงงามที่ปกปักษ์รักษาหาดม่วงงามไว้ได้ในสายตาของผู้เขียนมี 4 ประการ
ประการที่ 1 : ประชาชนม่วงงามรู้จักสื่อสาร และสร้างพลังร่วมจากสาธารณะ จนประเด็นเล็กๆระดับชุมชนกลายเป็นระดับประเทศ สาธารณะรับรู้ ช่วยกันสื่อสารบนโลกออนไลน์ การสื่อสารของประชาชนม่วงงาม โดยการชูป้าย การทำคลิปความรู้ การเพจ โพส แชร์ ประกอบกับการเคลื่อนไหวในพื้นที่ ทำให้กระแสของชายหาดม่วงงามนั้นอยู่บนโลกออนไลน์ และให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ทำให้ความรู้เรื่องผลกระทบของกำแพงกันคลื่นนั้นถูกขยายต่อในสาธารณะ

ประการที่ 2 : การยืนหยัดด้วยความรู้ และความจริง การต่อสู้ของประชาชนม่วงงามนั้นหนักแน่นเพราะยืนหยัดอยู่บนความรู้และความจริง พวกเขาใช้ข้อมูลทางวิชาการ ภาพถ่าย และความจริงเชิงประจักษ์ในการต่อสู้ โดยยืนหยัดว่า หาดม่วงงามไร้การกัดเซาะชายฝั่ง จึงไม่จำเป็นต้องมีกำแพงกันคลื่น การใช้ภาพถ่ายหาดต่างๆที่เกิดกำแพงกันคลื่นแล้วทำให้เกิดผลกระทบต่างๆมาจัดแสดง โพสลงโซเชี่ยลมีเดีย การทำเช่นนี้ทำให้การต่อสู้มีน้ำหนัก มีเหตุผล จนรัฐไม่สามารถปฏิเสธความจริงที่ชุมชนร่วมกันยืนหยัดได้

ประการที่ 3 : การถูกกดทับจากภาครัฐ : การต่อสู้ เคลื่อนไหวของประชาชนม่วงงามนั้นอยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้รัฐประกาศ พรก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรค มีการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามรวมตัวกัน ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวในพื้นที่ของประชาชนทำได้ยากมาก แต่ประชาชนม่วงงามก็ใช้สถานการณ์ช่วงนี้เคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ รวมถึงการทำป้ายติดตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อสื่อสารเจตนารมณ์ และการรวมตัวของประชาชนบริเวณชายหาดเพื่อแสดงพลังของประชาชนต่อโครงการ ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ถูกกดดันจากรัฐโดยมีการนำกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 100 นายมาตรึงบริเวณชายหาดและมีการถกเถียงกันระหว่างประชาชนกับรองผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้อารมณ์ ความรู้สึกของประชาชนนั้นปะทุขึ้น ประกอบกับการขุดเจาะชายหาดที่ไม่หยุด การเคลื่อนไหวก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น จนนำไปสู่การปักหลักนอนค้างคืนให้ชะลอโครงการหน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา จนท้ายที่สุดโครงการดังกล่าวถูกชะลอออกไป

ประการที่ 4 : เล่นทุกกระบวนการ ทำให้องคาพยพของขบวนใหญ่ขึ้น : การเคลื่อนไหวของประชาชนม่วงงามตลอด 4 เดือน อาจเรียกได้ว่า สู้ทุกทางที่มี ต่อยทุกลีลา การต่อสู้ เคลื่อนไหวของประชาชนม่วงงามมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การสื่อสารกับสาธารณะจนกลายเป็นกระแสสาธารณะดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง การเข้าสู่กลไกทางการเมืองโดยใช้กลไกกรรมมาธิการของรัฐสภา เป็นพื้นที่ในการพูดคุย การนอนปักหลักหน้าศาลากลาง การใช้ศิลปะทั้ง การแต่งเพลง วาดภาพ เป็นต้น การเคลื่อนไหวด้วยวิธีที่หลากหลาย เสมือนการต่อยมวยที่มีทุกหมัด ทุกลีลา มันทำให้การต่อสู้ของประชาชนม่วงงามมันหลากหลาย องคาพยพของการเคลื่อนไหวมันใหญ่ขึ้น ทำให้รัฐเองรับมือลำบาก ในขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวเช่นนี้ได้ถ่ายโอนความรู้และเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อความคิด ความรู้ และโครงสร้างในระบบการเมือง ระบบราชการ และศาล เป็นอย่างมาก

ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนม่วงงาม ในนาม Saveหาดม่วงงาม เป็นการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังที่สุดในประเด็นเรื่องชายหาดในห้วง 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการฟ้องคดีชายหาดสะกอม การเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชนเพื่อปกป้องหาดม่วงงามได้กลายเป็นแรงกระเพื่อมทางสังคม ทำให้ความรู้เรื่องชายหาด สิทธิชุมชน ขยายไปสู่สาธารณะได้กว้างขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนต่างๆลุกขึ้นมาใช้สิทธิเพื่อปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม ภาพสะท้อนปัญหาเชิงนโยบายและกฎหมายของไทย
- กำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA
การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นชายหาดม่วงงามและการต่อสู้ของประชาชนชาวม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ไม่ใช่ปัญหาของประชาชนในชุมชนม่วงงามที่ไม่เอากำแพงกันคลื่นเพียงโดดๆ แต่เป็นปัญหาเชิงนโยบายและกฎหมายของประเทศไทยที่มีช่องว่างทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “การระบาดของกำแพงกันคลื่น”
กำแพงกันคลื่นชายหาดม่วงงาม คือ ผลของการระบาดของกำแพงกันคลื่น คำถามคือทำไมกำแพงกันคลื่นถึงระบาด กฎหมายที่เป็นช่องวางทำให้กำแพงกันคลื่นระบาด คืออะไร ? ย้อนกลับไปปี 2556 สำนักงานโนบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เพิกถอนโครงสร้างกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการ/กิจการที่ต้องจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) หลังจากการประกาศเพิกถอนกำแพงกันคลื่นในปี 2556 ทำให้กำแพงกันคลื่นระบาดบนชายหาดในประเทศไทย
ระหว่างปี 2556 – 2562 กลุ่ม Beach for life ได้รวบรวมข้อมูลการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นพบว่า จากกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจำนวน 74 โครงการ งบประมาณรวมกว่า 6,400,000,000 บาท ระยะทางรวม 34 กิโลเมตร ตลอดแนวชายฝั่งของประเทศไทย นอกจากนั้นยังพบว่า หลังการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นจำนวนโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น และมูลค่าการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อกิโลเมตรนั้นสูงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ


2. การรับฟังความคิดเห็นเพียงพิธีกรรม
กรณีม่วงงามนั้น จะเห็นว่าหน่วยงานของรัฐนั้นได้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งประชาชนในการรับฟังความคิดเห็นนั้น เห็นด้วยกับโครงการ แต่ท้ายสุดเมื่อมีการก่อสร้างประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่นั้นกลับกังวลใจต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น และออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ประชาชนส่วนหนึ่งที่เคยได้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น บอกว่า หน่วยงานที่ดำเนินโครงการไม่ได้บอกว่าผลกระทบต่อชายหาดเป็นอย่างไร มีการท้วงติงจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการแต่มีการปิดไมค์ ไม่ให้เขาแสดงภาพผลกระทบต่อที่ประชุม นอกจากนั้นแล้วการรับฟังความคิดเห็นของโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้น ไม่มีหน่วยงานทางวิชาการ สถาบันทางการศึกษา นักวิชาการที่มีความรู้ ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชายฝั่งทะเลเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบโครงการนั้นเป็นเพียงการทำตามระเบียบวิธีที่กฎหมายกำหนดเพียงเท่านั้น

One thought on “Save หาดม่วงงาม : การต่อสู้ บทเรียน และชัยชนะภาคพลเมือง”