ข้อเสนอภาคประชาชนภาคใต้ ต่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

ตัวเเทนภาคประชาชนในจังหวัดภาคใต้ นักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง เเละองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งภาคใต้ เเละจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา การรับฟังความคิดเห็นคณะทำงานเครือข่ายประชาชนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน ได้รวบรวมเเละจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้

สืบเนื่องจากสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งทะเลในประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างเนื่อง โดยมีสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ภัยทางธรรมชาติ และ การคุกคามจากมนุษย์ การกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ปัจจุบันสาเหตุหลักมาจากการแทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาติของหาดทราย ด้วยโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล และ การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ไม่คำนึงถึงระบบธรรมชาติของทะเล ส่งผลให้หาดทรายเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาแล้ว ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่กล่าวมานั้น มีต้นตอของปัญหาจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีปัญหาเชิงนโยบายที่เห็นได้อย่างประจักษ์ชัดเจน ดังนี้

            1. การเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ทำให้เกิดการระบาดของกำแพงกันคลื่นในหลายพื้นที่ชายหาด จากข้อมูลที่มีการรวบรวมมาพบว่า ตั้งแต่ปี 2556 – 2562 หลังการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA มีโครงการกำแพงกันคลื่นทั้งหมด 74 โครงการระยะทางรวม 34.875 กิโลเมตรตลอดแนวชายฝั่ง งบประมาณรวม 6,967,853,620 บาท ประกอบกับการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA เป็นการทำลายหลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และทำให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจนเป็นคดีความ ไม่น้อยกว่า 3 คดี ได้แก่ คดีอ่าวน้อย คดีหาดม่วงงาม และคดีหาด มหาราช ซึ่งคดีเหล่านี้ล้วนมีมูลเหตุสำคัญมาจากการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

            2. การที่รัฐไม่ส่งเสริมความรู้ในการจัดการชายฝั่ง และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการทรัพยากรชายหาด เพื่อให้ชุมชนได้มีความรู้ และร่วมกำหนดเจตจำนงของตนในการจัดการทรัพยากรชายหาดอย่างแท้จริง

            3. การกำหนดมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ เช่น การกัดเซาะชายฝั่งเพียงชั่วคราว ในช่วงมรสุม แต่รัฐเลือกดำเนินมาตรการถาวร เช่น กำแพงกันคลื่น ในพื้นที่ชายหาดที่มีการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะสั้น

            4. การที่รัฐไม่สนับสนุนและผลักดัน มาตรการอื่น ๆ ซึ่งเป็นมาตรการในการฟื้นฟูชายฝั่ง ปรับสมดุลให้แก่ธรรมชาติ เช่น การเติมทราย การถ่ายเททรายข้ามร่องน้ำ การกำหนดแนวถอยร่น การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์เพื่อคุ้มครองชายฝั่ง เป็นต้น รวมถึงการรื้อถอนโครงสร้างที่ไม่จำเป็นเพื่อให้ชายฝั่งได้ฟื้นฟูสภาพ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และมีการติดตามผลของมาตรการเหล่านี้อย่างชัดเจน 

            5.  ปัญหาอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่ทับซ้อนกันในการแก้ไขปัญหา ทำให้หลายพื้นที่ชายหาดมีมาตรการป้องกันชายฝั่งที่ทับซ้อนกัน เกิดความไม่เป็นเอกภาพ และไม่มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน        

            6. การที่รัฐไม่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทำให้ ท้องถิ่นซึ่งมีความยึดโยงกับประชาชนมากกว่ารัฐส่วนกลาง และเข้าใจสถานการณ์ปัญหาของพื้นที่ได้ดีกว่านั้น ไม่สามารถแก้ไข หรือจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ เพราะไม่มีอำนาจและงบประมาณในการบริหารจัดการ

            7. ปัญหาการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในปัจจุบันการตัดสินใจดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนั้น ประชาชนกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็นที่หน่วยงานล็อกรูปแบบโครงการมาให้ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสในการเลือกแนวทางในการป้องกันและแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งได้ อีกทั้งการรับฟังความเห็นของประชาชนในปัจจุบันมีการชัดจูง ให้ข้อมูลด้านเดียวทำให้ประชาชนขาดความรู้ในการตัดสินใจเลือกวิธีการในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

            8. กระบวนการการพิจารณากำหนดการอนุมัติโครงการกำแพง/เขื่อนกันเคลื่อน ที่ใช้เพียงกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดเและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล Environmental Checklist For Seawall and Revetment เท่านั้น ทำให้โครงการขาดความรอบคอบ และขาดความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังการก่อสร้างโครงสร้างแข็งจามแนวชายหาด

            ปัญหาเชิงโครงสร้างและนโยบายที่กล่าวมานี้ คือ ต้นตอของปัญหาที่ก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทย สภาประชาชนภาคใต้ซึ่งได้ดำเนินการจัดเวทีระดมความเห็นและเสนอแนะแนวทางเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อการจัดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน  มีความเห็นร่วมกันว่า เพื่อการฟื้นฟู แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศไทยอย่างยั่งยืน รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการดังนี้

            1. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาทบทวนการนำโครงการหรือกิจการประเภทกำแพงกันคลื่น กลับเข้าไปเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนชายฝั่ง

            2. ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระงับการดำเนินการเพื่อทบทวนโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ชายหาดทั่วประเทศไทย ที่กำลังมีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อป้องการทำลายชายหาดด้วยโครงสร้างป้องกันชายฝั่งของรัฐ และไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ได้เกิดประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่เป็นการซ้ำเติมเพิ่มปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

            3.รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดการใช้มาตรการชั่วคราว ที่สามารถรื้อถอนได้เมื่อผ่านมรสุมไปแล้ว อย่างที่ปรากฏชัดเจนในหลายพื้นที่ชายหาดของประเทศไทยว่า การกัดเซาะชายฝั่งในหลายพื้นที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว การใช้มาตรการชั่วคราว ที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมเพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งชั่วคราวในช่วงมรสุม

            4. รัฐบาลต้องส่งเสริม และผลักดันให้มีการใช้มาตรการที่เป็นมิตรกับชายหาด เช่น การเติมทราย การกำหนดแนวถอยร่น การรื้อถอนโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ไม่จำเป็น และการป้องกันการกัดเซาะตามวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อให้ชายฝั่งได้ฟื้นคืนและเกิดความสมดุล โดยที่มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง

            5. รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนชายฝั่งสามารถกำหนดเจตจำนงของตนเอง ในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายหาดอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมให้ความรู้และรับรองสิทธิชุมชน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดการ ใช้ประโยชน์ และบำรุงรักษาทรัพยากรชายหาด

            6. คณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่ง ต้องจัดให้มีคณะอนุกรรมการกัดเซาะชายฝั่ง โดยกำหนดให้มีสัดส่วนจากภาคประชาชนที่มาจากพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร่วมเป็นอนุกรรมการดังกล่าว

            7. รัฐบาลควรเร่งตั้งคณะกรรมการศึกษาสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อรวบรวมการใช้ประโยชน์ และจำแนกประเภทการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งการการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกัน แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

ทั้ง 7 ข้อเรียกร้องนี้ เป็นทางออกเพื่อการหยุดยั้งวิกฤตการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ สภาประชาชนภาคใต้ และสภาองค์กรชุมชน ขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับร่วมกันหารือ และพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวโดยด่วน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s