การติดตามสภาพหาดสมิหลาทั้งระบบ โดยการมีส่วนร่วมของพลเมืองสงขลา เป็นกระบวนการติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพหาดสมิหลาตั้งแต่เมษายน 2558 เป็นต้นมาอย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะของหาดทราย โดยใช้เครื่องมือ Pin Hole Rodติดตามการเปลี่ยนแปลงลักษณะชายหาดในช่วงเดือนเมษายน 2558 – สิงหาคม 2558 และใช้เครื่องมือ Water Level ติดตามการเปลี่ยนแปลงของชายหาด เดือนตุลาคม 2558 – เมษายน 2559 โดยมีจุดสำรวจจำนวน 12 จุด ดังภาพ ตลอดเเนวชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ผลการศึกษาการติดตามสภาพชายหาดในบทความครั้งนี้ ผู้เขียนหยิบยกข้อมูลในจุดสำรวจบางจุดที่มีสถานการณ์ เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนเเปลงชายหาด

กรณีที่ 1 การเปลี่ยนแปลงชายหาดตามธรรมชาติ
ผลการศึกษาติดตามสภาพชายหาดในตำแหน่งที่ไม่มีโครงสร้างแข็ง บริเวณตำแหน่งที่ 8 บริเวณหน้าราชมงคลศรีวิชัย และ 9 บริเวณประติมากรรมหางพญานาค การติดตามลักษณะการเปลี่ยนแปลงสัณฐานชายฝั่ง พบว่า จากการติดตามชายหาดในตำแหน่ง B 8 และ B9 ซึ่งไม่มีการรบกวนสมดุลของหาดทรายด้วยโครงสร้างแข็ง พบว่า ทุกเดือนชายหาดมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลจากคลื่นและกระแสน้ำชายฝั่ง เมื่อเข้าสู่ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนประมาณเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึง กุมภาพันธ์ 2559 ชายหาดเกิดการกัดเซาะตามปกติของช่วงมรสุม ต่อมามีความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาที่ประเทศไทย ส่งผลให้ทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยระดับน้ำยกตัวสูงขึ้นและมีคลื่นสูง ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นสองช่วงเวลา คือ วันที่ 25-26 มกราคม 2559 และ วันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2559 ทำให้หาดมีการกัดเซาะ ในตำแหน่ง B8 และ B9 และเมื่อช่วงผ่านพ้นช่วงมรสุมไปชายหาดกลับเข้าสู่สภาพปกติมีการเปลี่ยนแปลงไม่แตกต่างไปจากเดิม และมีปริมาณตะกอนเพิ่มขึ้นบนหาดมากขึ้นกว่าเดิม(สังเกตได้จากกราฟเส้นสีส้มในตำแหน่ง B9) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะชายหาดมีการปรับตัว เยียวยาตัวเองได้หลังจากช่วงมรสุมผ่านพ้นไป

รูปตัดชายหาดในตำแหน่ง B8 บริเวณหน้าราชมงคลศรีวิชัย มีปริมาณทรายเพิ่มขึ้นมีการก่อตัวเป็นเนินทรายบริเวณหน้าหาด ในเดือนมกราคม 2559 (เส้นสีเขียว) และช่วงมรสุมกำลังแรงในช่วงกุมภาพันธ์ 2559 เทียบกับหลังผ่านมรสุมไปในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน 2559 ชายหาดมีการเปลี่ยนแปลงน้อย(อ่านเพิ่มเติมจากบทความ การมีส่วนร่วมของเยาวชนสงขลาเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของชายหาด กรณีศึกษา: การกัดเซาะชายหาดช่วงมรสุม ในหนังสือที่ระลึกงาน The World Beach Day แลเล แลหาด ครั้งที่ ๖)



การติดตามสภาพหาดสมิหลาในตำแหน่ง B8 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย และตำแหน่ง B9 บริเวณหางพญานาค เป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงลักษณะของหาดทราย อันเป็นกระบวนการทางธรรมชาติของหาดทรายที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 1 ปี และกระบวนการนี้จะดำรงต่อไปตราบเท่าที่ไม่มีการแทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาตินี้
กรณีที่ 2 การขุดเเละถมทรายชายหาดโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์
โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ดำเนินการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ได้ดำเนินการถมทรายบริเวณริมหาดชลาทัศน์ ระยะทางประมาณ 600 เมตร(ตั้งแต่บริเวณปลายเขื่อนรูปตัวที ถึง หน้าสนามยิงปืน) โดยดูดทรายในทะเล ร่วมกับการนำทรายมาจากแหลมสนอ่อน จากการเฝ้าติดตามสภาพหาดสมิหลาทั้งระบบ พบว่า ก่อนที่จะมีโครงการ ชายฝั่งบริเวณปลายเขื่อนตัวที (B2) เป็นตำแหน่งที่มีการกัดเซาะชายฝั่งสูงสุด ซึ่งเป็นผลจากอิทธิพลของเขื่อนตัวที จากกราฟรูปตัดชายหาดจะพบว่าลักษณะของชายหาดจะเป็นพื้นดิน ต่อด้วยกำแพงหิน ต่อด้วยหาดลงไปในทะเล (ดังกราฟเส้นสีน้ำเงิน) ต่อมาในเดือนตุลาคม เริ่มมีโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา- ชลาทัศน์ ชายหาดบริเวณนี้จะเป็นหาดยาวประมาณ 32 เมตร เนื่องจากมีการถมทรายหน้าหาด (เส้นกราฟสีส้ม) แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งเข้าสู่ช่วงมรสุม ปรากฏว่า ปริมาณทรายที่ถมลงไปนั้นลดลงอย่างรวดเร็ว และชายหาดหดสั้นเรื่อยๆ จนกลับเข้าสู่สภาพเดิมในช่วงเดือนมกราคม 2559


การติดตามสภาพหาดสมิหลาทั้งระบบ สามารถสรุปผลได้ว่า การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยวิธีการถมทรายในตำแหน่งทิศเหนือรอดักทราย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงที่สุด ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ เนื่องจากอิทธิพลของรอดักทรายที่ขัดขวางการเคลื่อนตัวของตะกอนทรายและประกอบกับการดำเนินงานที่ไม่ถูกหลักวิชาการ การถมทรายครั้งนี้จึงไม่มีประสิทธิภาพ

โครงการป้องการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ได้นำทรายมาจากแหลมสนอ่อนมาถมบริเวณริมหาดเก้าเส้ง ระยะทางประมาณ 600 เมตร ทำให้ลักษณะชายหาดบริเวณแหลมสนอ่อน ซึ่งเป็นจุดที่มีการติดตามสภาพหาดสมิหลาทั้งระบบ ตำแหน่งตรวจวัด B11 มีการเปลี่ยนแปลงสภาพลักษณะชายหาดจากเดิมไป(กราฟเส้นสีฟ้า) โดยมีการขุดทรายในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 ทำให้ชายหาดมีสภาพเป็นหลุมทราย ความลึกประมาณ เกือบ 3 เมตร (กราฟเส้นสีแดง) และมีการนำดินลูกรังมาถมบนชายหาด เพื่อทำถนนสำหรับรถบรรทุกขนทราย เมื่อเข้าสู่ช่วงมรสุมผิดปกติในช่วงวันที่ 25-26 มกราคม 2559 และวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2559 มีระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงและคลื่นลมแรงกว่าปกติ ทำให้น้ำทะเลและน้ำฝนขังในหลุมทรายที่ถูกขุดไว้ รวมถึงคลื่นที่เข้ามาในช่วงมรสุมได้นำตะกอนทรายมาถมในหลุมที่ถูกขุดไว้ ทำให้หลุมทรายมีตื้นขึ้น สังเกตได้จากกราฟเส้นสีฟ้าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ซึ่งมีการขุดทรายบริเวณหน้าหาด

กรณีการขุดทรายบริเวณแหลมสนอ่อน ทำให้เห็นว่าเมื่อเวลาผ่านไปธรรมชาติของหาดทรายก็จะพยายามฟื้นฟูปรับตัวเอง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นไม่ว่าจะเป็น ถนนดินลูกรังที่ปะปนกับทรายบนชายหาด น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือหลุมที่ถูกขุดไว้ ปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว
