ฟื้นฟูทะเลหน้าบ้านโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

เมื่อทะเลหน้าบ้านเสื่อมโทรมลง

การลุกขึ้นมามีส่วนร่วม ฟื้นฟูทะเลหน้าบ้านด้วยชุมชน

จึงมีความหมาย

เมื่อพวกเราใช้ทะเลจนไม่เหลือความสมบูรณ์เก้าเส้ง ชุมชนที่ติดทะเลใจกลางเมืองสงขลา ชาวบ้านในชุมชนใช้ทรัพยากรจากทะเลหน้าบ้านทำมาหากินเลี้ยงชีพคนครอบครัว อีกทั้ง เป็นเเหล่งหล่อเลี้ยงผู้คนในเมืองสงขลาเเละพื้นที่ใกล้เคียงมาอย่างยาวนาน เป็นเเหล่งอาหารสดใหม่เเละปลอดภัย ไม่ต้องออกไปหาไกลจากบ้าน เพียงเเค่ออกทะเลระยะทาง 300 – 500 เมตร ชายฝั่งในเขตเทศบาลนครสงขลาก็ได้ปูม้า ปลากระบอก ปลาอินทรีย์ ปลาทู กุ้งเเช่บ๊วย ฯลฯ มากเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงครอบครัว และส่งขายเป็นรายได้เพื่อส่งลูกหลานเรียนหนังสือ

เรือของชาวประมงที่จอดอยู่ริมชายหาดเก้าเส้ง

ทะเลหน้าบ้านเก้าเส้ง เป็นทะเลฝั่งอ่าวไทย จังหวัดสงขลา เป็นทะเลที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำนานาชนิด ถ้าย้อนกลับไประยะเวลา 20-30 ปีก่อน ชาวประมงในชุมชนเก้าเส้ง เล่าว่า ทะเลเเทบนี้สมบูรณ์ถึงขั้นเพื่อนๆ (คนจากต่างถิ่น) ต้องมาหากินบ้านเรา ถ้าหากเราจินตนาการถึงความสมบูรณ์ไม่ออก ลองนึกดูว่า เมื่อขับเรือออกไประยะทาง 300-500 เมตร นอกชายฝั่ง วางอวนเล็กๆ จำนวน 3 ผืนในระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง ก็ทำให้ได้ปลา กุ้ง ปู ไม่ต่ำกว่า 15-20 กิโลกรัม ถ้าคิดเป็นตัวเงิน ประมาณ 2,000 – 3,000 บาท หรือ หากช่วงจังหวะดี คลื่นลมไม่แรง ตรงตามฤดูกาลของสัตว์แต่ละชนิด ก็อาจจะได้ปลาทูฝูงใหญ่กลับมา

กุ้งเเซ่บ๊วยที่ชาวประมงชุมชนเก้าเส้งจับได้จากทะเลหน้าบ้าน
ปลาหลากชนิดที่ติดไซของชาวประมง

เเต่ถ้าเปรียบ ณ ตอนนี้ ทะเลหน้าบ้านเก้าเส้งไม่ได้เป็นเหมือนในเหมือนอดีตที่ผ่านมา ทะเลเริ่มเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทะเลนั้น ทำให้สัตว์น้ำลดน้อยลง ส่งผลต่ออาชีพเเละรายได้ของคนในชุมชนเก้าเส้ง สาเหตุหลักๆ มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย เช่น การใช้เครื่องมือขนาดเล็ก เรือปั่นไฟ เรืออวนลาก เป็นต้น รวมถึงการปล่อยน้ำเสียเเละสิ่งปฏิกูลจากกิจกรรมของพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำที่เป็นเมืองลงสู่ท้องทะเล ทำให้สัตว์น้ำค่อยๆ หายไป

ชาวประมงพื้นบ้านเล่าว่า ช่วงระยะเวลาทะเลเสื่อมโทรมสุดๆ เมื่อ 8-5 ปีที่เเล้ว ทะเลเสื่อมโทรมจนไม่มีสัตว์น้ำให้จับไปขาย ทำให้รายได้ที่ได้จากการทำประมงจากเมื่อก่อน เรือจำนวน 1 ลำจะได้รายได้จำนวน 2000 – 3000 บาทต่อครั้ง ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 400-800 บาทต่อครั้ง เเละต้องออกทะเลไปไกลกว่าเดิมเพื่อหาสัตว์น้ำ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการทำประมงพื้นบ้านเพิ่มขึ้น ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลก็ยิ่งมากขึ้น ทำให้คนในชุมชนเก้าเส้ง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงริมชายฝั่ง เริ่มหยุดทำอาชีพประมง บางคนขายเรือไปทำงานรับจ้าง เพราะเเบกรับค่าใช้จ่ายในการทำประมงไม่ไหว

จนท้ายที่สุด เมื่อทะเลหน้าบ้านเสื่อมโทรมลง กลายเป็นจุดเริ่มต้น เเละเเรงบันดาลใจทำให้คนในชุมชนเริ่มลุกขึ้นมาฟื้นฟูทะเลหน้าบ้านตัวเอง เพื่อฟื้นฟูทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เป็นเเหล่งอาหาร และเเหล่งทำมาหากินเพื่อสร้างรายได้กับคนในชุมชน

เมื่อคนรุ่นใหม่กลับบ้าน

ลงมือทำให้เป็นตัวอย่าง

สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน

ช่วยกันฟื้นฟูทะเล

เริ่มต้นฟื้นฟูทะเลอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน : เมื่อคนรุ่นใหม่กลับบ้าน

จุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูทะเลหน้าบ้านเก้าเส้ง เริ่มจากคนรุ่นใหม่ หันกลับมาบ้านเเละปักหลักลงฐาน ลงเเรง ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนเพื่อหันกลับมาฟื้นฟูทะเลหน้าบ้านตัวเอง โดยมีพี่สมพล หรือ คุณสมพล ดีเย๊าะประธานสหกรณ์ประมงพื้นบ้านชุมชนบาลาเซาะเก้าเเสน พี่สมพลเกิดเเละโตที่ชุมชนเก้าเส้ง เรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย เคยเป็นนักออกด้านสถาปัตยกรรมในโรงงาน เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่หันกลับมาบ้าน มาทำอาชีพประมงพื้นบ้านเหมือนพ่อ เเล้วคิดที่จะลงมือฟื้นฟูทะเลหน้าบ้านด้วยความมุ่งมั่น และตั้งใจที่จะให้ทะเลหน้าบ้านกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนอดีต ลงมือทำไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูอาชีพประมงพื้นบ้านที่มีอยู่ใจกลางเมืองสงขลาไม่ให้สูญหายไป

คุณสมพล ดีเย๊าะห์ คนรุ่นใหม่ในชุมชนเก้าเส้ง

พี่สมพล ถือว่าเป็นคนริเริ่มในการฟื้นฟูทะเลเก้าเส้งของชุมชน โดยการทำธนาคารปูม้า เเละการประกาศเเนวเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง (Beach Zoning) ของชุมชนหน้าบ้านตัวเอง ด้วยที่พ่ี่สมพล เป็นคนเก้าเส้งโดยกำเนิด เกิดเเละเติบโตกับทะเล เเละรู้วิถีชาวประมงริมชายฝั่ง ผ่านการรับรู้ในยุคที่ท้องทะเลอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด เเละยุคที่ทะเลเสื่อมโทรมจนเเทบจะไม่มีสัตว์น้ำให้จับ

พี่สมพลเล่าว่า “ชาวบ้านในชุมชนเก้าเส้งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านครอบครัวผมประกอบอาชีพประมงเช่นกัน รายได้ของครอบครัวส่วนใหญ่มาจากประมงพื้นบ้าน การทำประมงพื้นบ้านของครอบครัวผม ส่งผมเรียนจบปริญญาตรี ผมจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย ผมเลือกเรียนคณะนี้เพราะอยากนำความรู้ ทางด้านสถาปัตยกรรมมาพัฒนาชุมชนเก้าเส้งที่พบอยู่

ลองคิดและลองทำด้วยตัวเอง

“ช่วงผมเรียนปี 4 กำลังจะจบมหาวิทยาลัย ผมได้มีโอกาสในการไปเรียนรู้การทำธนาคารปูม้า ซึ่งเป็นการฟื้นฟูทะเลที่ชุมชนสามารถทำได้ ผมเรียนรู้ ได้ไอเดีย เลยเอากลับมาทำที่บ้าน เริ่มจากสูบน้ำในทะเลมาใส่ถัง เอาปูม้าไข่แก่ที่พ่อได้มาเพาะไว้ จนฝัก แล้วอนุบาลจนลูกปูม้าแข็งแรงแล้วปล่อยกลับลงสู่ทะเล ผมทำแบบนี้อยู่คนเดียว ทำมา 4-5 เดือน ช่วงปลอดมรสุม”

พี่สมพล กำลังเขี่ยไข่ปู้ม้าออกจากกระดอง เเล้วนำไปเพาะต่อในถังอนุบาลก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล

ผมเริ่มชวนคนในชุมชนมาทำธนาคารปู โดยการสมัครสมาชิก เเละมีกฎกติกาง่ายๆ คือ ทุกคนในสมาชิกเมื่ออกทะเลได้ปูม้าไข่นอกกระดองมา จะต้องนำปูม้าไข่นั้นมาฝากที่ธนาคาร ธนาคารจะทำการรับเลี้ยง อนุบาลไว้ 2-3 วัน เเล้วจะส่งคืนเเม่ปูที่สลัดไข่เเล้วกลับคืนสู่ชาวประมงที่นำมาฝาก ผมเริ่มทำเเบบนี้ ตอนเเรกมีคนนำเอาปูม้ามาฝาก 2-3 ตัวต่อวัน เมื่อผ่านไป ปูในทะเลมากขึ้น คนก็มาฝากปูม้ามากขึ้น จาก 2-3 ตัวต่อวัน กลายเป็น 10-20 ตัว(จากชาวประมงหลายคน) จนบางครั้งถังเลี้ยงปูของธนาคารไม่เพียงพอต่อการฝักไข่ปูม้า

ปูม้าไข่นอกกระดอง ที่ชาวประมงจับได้จะถูกนำมาฝากที่ธนาคารปูม้าในชุมชน เพื่อให้เเม่ปูสลัดไข่ก่อนเเล้วนำเเม่ปูมาที่สลัดไข่เเล้วคืนกลับสู่ชาวประมง ส่วนลูกปูม้าจะถูกอนุบาลไว้ 2-3 วันเเล้วปล่อยคืนสู่ทะเล
ทุกๆวัน พี่สมพลเเละชาวบ้านจะนำลูกปูม้าอายุ 2 วัน ปล่อยลงสู่ทะเล

เขาว่าผมบ้า

“ช่วงแรกๆ ที่ทำ คนแถวบ้านว่าผมบ้า เอาปูที่ไข่ปล่อยลงน้ำเดี๋ยวปูก็ตาย แต่ผมก็ไม่ได้สนใจ เราก็ยังคงเอาปูม้าไข่นอกกระดองมาฝักตัว เเล้วปล่อย ทำเเบบนี้ไปเรื่อยๆ จนประมาณเดือนที่ 6 หลังจากที่เริ่มปล่อยปู ชาวประมงที่เขาทอดเเหริมชายหาด วิ่งหน้าตาตื่นเต้นดีใจ มาบอกว่า เขาเจอลูกปูขนาด 3 นิ้วฝั่งตัวใต้ทรายตลอดเเนวชายหาดเก้าเส้ง ผมเลยรีบวิ่งไปดู เรารับรู้ได้ ณ เวลานั้นเลย สิ่งที่เราทำอยู่สามารถช่วยฟื้นฟูทะเลหน้าบ้านให้กลับมาสมบูรณ์ได้”

ลูกปูม้าขนา 2 นิ้ว ที่พบบริเวณชายหาด หลังจากมีการฟื้นฟูทะเลโดยการทำธนาคารปูม้า

ชวนคนในชุมชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมมันไม่ง่าย

“ผมเริ่มชวนคนในชุมชนมาทำธนาคารปู โดยการสมัครสมาชิก เเละมีกฎกติกาง่ายๆ คือ ทุกคนที่เป็นสมาชิก เมื่ออกทะเลได้ปูม้าไข่นอกกระดองมา จะต้องนำปูม้าไข่นั้นมาฝากที่ธนาคาร ธนาคารจะทำการรับเลี้ยง อนุบาลไว้ 2-3 วัน เเล้วจะส่งคืนเเม่ปูที่สลัดไข่เเล้วกลับคืนให้ชาวประมงที่นำมาฝาก ผมเริ่มทำเเบบนี้ ตอนเเรกมีคนนำเอาปูม้ามาฝาก 2-3 ตัวต่อวัน เมื่อผ่านไป ปูในทะเลมากขึ้น คนก็มาฝากปูม้ามากขึ้น จาก 2-3 ตัวต่อวัน กลายเป็น 10-20 ตัว (จากชาวประมงหลายคน) จนบางครั้งถังเลี้ยงปูของธนาคารไม่เพียงพอต่อการฝักไข่ปูม้า”

การประชุมของชาวประมง เพื่อเเลกเปลี่ยน พูดคุยถึงเเนวทางการฟื้นฟูทะเลโดยชุมชน
คุณอารี ชาวประมงพื้นบ้านที่นำปูม้าไข่นอกกระดองมาฝากธนาคารปูม้าทุกครั้ง

ธนาคารปูอย่างเดียวไม่พอกับวิกฤตทะเลเสื่อมโทรม

นอกจากเรื่องการทำธนาคารปูม้าแล้ว เรายังขยับทำเรื่องเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำชุมชนเก้าเส้ง โดยจัดทำ Beach Zoning กับกลุ่ม Beach For life การประกาศ Beach Zoning เขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ (เขตสีชมพู) มีความสำคัญกับชุมชนเก้าเส้งและการอนุรักษ์สัตว์น้ำเป็นอย่างมาก การปล่อยปูไปในแต่ละครั้งลูกปูม้าและสัตว์น้ำเหล่านั้น จะอาศัยพื้นที่สันดอนทรายไม่ไกลจากชายฝั่งเป็นแหล่งหลบซ่อนและอนุบาลตัวเองจนโตก่อนออกสู่ทะเลลึก ซึ่งการพูดคุยของชาวประมง และการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของชุมชน ทำให้ชุมชนมองว่าการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์สัตว์น้ำหน้าชุมชนบาลาเซาะห์เก้าแสน โดยมีพื้นที่ยาวตามแนวชายฝั่งจากโขดหินหัวนายแรงระยะ 1,000 เมตร ห่างจากชายฝั่งระยะ 500 เมตร ทำเป็นพื้นที่อนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยห้ามชาวประมงและผู้ใด กระทำการจับสัตว์น้ำโดยวิธีการต่างๆ ยกเว้นการทอดแหและหาหอยหรือจับสัตว์น้ำด้วยมือ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สัตว์น้ำวัยอ่อนที่ต้องการพื้นที่ชายฝั่ง จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้สัตว์น้ำได้มีแหล่งหลบภัย ที่ฟักตัวที่ปลอดภัยก่อนเติบโตเต็มที่และลงไปสู่ทะเลลึก ในการประกาศเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำดังกล่าว ชุมชนยังใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการทำบ้านปลา หรือ อูยัม ที่ทำด้วยวัสดุในท้องถิ่น เช่น ทางมะพร้าว กระสอบทราย และเชือก ประกอบกัน แล้วนำไปวางในทะเลบริเวณเขตอนุรักษ์เพื่อเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ ซึ่งจะทำให้สัตว์น้ำตัวอ่อนหลบซ่อนตัวตามอูยัมที่วางไว้ และเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนในการบ่งบอกแนวเขตอนุรักษ์อีกด้วย

เขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ ซึ่งประกาศโดยชาวประมงชุมชนบาลาเซาะเก้าเส้ง เป็นกติการ่วมกันของชุมชนในการห้ามจับสัตว์น้ำในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด เพื่ออนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน
ภาพ ชาวชุมชนกำลังทำซั้งกอ หรือ บ้านปลาเพื่อเตรียมวางเป็นเเนวเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ
การวางซั้งกอ เพื่อเป็นเเนวเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำของชุมชนประมงเก้าเส้ง

การวางซั้งกอ หรือ บ้านปลาเป็นการประกาศเเละกำหนดพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ของชุมชนในการห้ามจับสัตว์น้ำ ซึ่งซั้งกอนี้จะถูกวางทุกปีในช่วงปลอดมรสุม เเละจะเก็บกลับขึ้นฝั่งก่อนมรสุม ซั้งกอ มีประโยชน์ในเเง่การเป็นที่หลบภัย เเละอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ

ในต่างประเทศการอนุรักษ์เเละฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง โดยการกำหนดพื้นที่การใช้ประโยชน์หรือ Beach Zoning เป็นมาตรการที่ได้ผลอย่างยิ่งในการจัดการพื้นที่เพื่อการนุรักษ์เเละใช้ประโยชน์ไปด้วยในพื้นที่เดียวกัน เช่น การกำหนดพื้นที่การใช้ประโยชน์ทางทะเล Great Barrier Reef ประเทศออสเตเรีย ซึ่งมีการกำหนด Zoning โดยละเอียด เเละมีความเข้มงวดสูง เพื่อจัดการการใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยไม่ให้การใช้ประโยชน์นั้นๆ กระทบต่อระบบนิเวศ หรือ สร้างผลกระทบเชิงลบต่อพื้นที่เเละทรัพยากรทางทะเล

Beach Zoning Great Barrier Reef ประเทศออสเตเรีย
ข้อกำหนดกิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้ภายในโซนต่างๆ ณ Great barrier reef ประเทศออสเตรเลีย (ที่มา : http://www.gbrmpa.gov.au)

การกำหนดพื้นที่การใช้ประโยชน์ริมชายหาดเก้าเส้ง เป็นการอาศัยหลักการเดียวกันกับการกำหนดเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์ริมชายฝั่ง ซึ่งหากท้องถิ่นหรือชุมชนสามารถออกเเบบกำหนดพื้นที่ชายฝั่งตนเองได้ สามารถระบุ หรือกำหนดให้มีกิจจกรรมใด หรืองดเว้นกิจกรรมใดนั้น จะทำให้การใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของชุมชน เเละกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน เเละทรัพยากรน้อยที่สุด

เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ “อนุรักษ์ที่กินใช้ได้”

พี่สมพล มองว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง ให้มีความยั่งยืนอยู่ต่อไปชั่วลูกชั่วหลานนั้น ไม่สามารถใช้วิธีการคิดในการอนุรักษ์เเบบเก่าได้ การอนุรักษ์เเบบเก่า คือ การเก็บไว้ไม่ต้องใช้ประโยชน์ ห้ามเเตะต้อง ถ้าเราใช้วิธีคิดเเบบนี้ทรัพยากรไม่สามารถที่จะฟื้นฟูได้อย่างยั่งยืน อย่าลืมว่า ทรัพยากรในทะเลเกี่ยวข้องกับชีวิตของชุมชน ชุมชนเขาใช้ประโยชน์ จับปลา ทำมาหากิน เราจะเก็บห้ามเข้าไม่ให้เขามาใช้ประโยชน์ทรัยากรเลยไม่ได้ ทางที่จะเป็นไปได้คือการให้คนในชุมชน หรือ คนที่เข้าใช้ทรัพยากรนั้นรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของทรัพยากรนั้น เข้ามีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์เเละดูเเลรักษาทรัพยากรนั้นไว้ ดังนั้นการฟื้นฟูทะเลหน้าบ้านเก้าเส้ง จึงไม่ห้าม ไม่หวงให้จับ เราให้ทุกคนจับปลาอย่างเต็มที่ เเต่การจับนั้นอยู่บนความเข้าใจร่วมกันว่า “ทรัพยากรมีอยู่จำกัด เเละมีวันหมดไป เราต้องใช้ประโยชน์อย่างระมัดระวัง เเละต้องฟื้นฟูอยู่ตลอดเวลา” ดังนั้นการทำธนาคารปูม้า การกำหนดเขตอนุรักษ์ทรัพยากร เเละการตั้งข้อกำหนดชุมชนในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเล จึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ ป้องกัน ดูแลและรักษาทรัพยากรเหล่านั้นไปด้วย

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s