กำแพงกันคลื่น โรคระบาดบนหาดทรายไทย

Beach for life ได้ศึกษาสถานการณ์ปัญหาเรื่องกำเเพงกันคลื่นในประเทศไทย พร้อมกับเปิดประเด็นนี้ต่อสาธารณะมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว  

เราได้ชักชวนบุคคลต่างๆที่ทำงานติดตามเรื่องกำเเพงกันคลื่นจากหลากหลายสาขา ทั้ง วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ทางทะเล นักการเมือง NGO นักกฎหมาย เเละอาสาสมัครภาคพลเมืองบุคคลทั่วไปที่สนใจประเด็นนี้มานั่งพูดคุยกันถึงสถานการณ์เเละข้อห่วงกังวลต่อการเพิกถอนกำเเพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม (EIA)

          การพูดคุยกันมาระยะหนึ่ง เราได้ข้อสรุปสำคัญหลายประการว่า หากสถานการณ์ที่รัฐยังคงปล่อยให้โครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม สิ่งที่เกิดขึ้นอาจไม่พ้นหายนะ ที่อาจจะเกิดกับหาดทรายของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องแบบไม่รู้จบ

“อนาคตหาดทรายไทย

ถูกขลิบด้วยกำเเพงกันคลื่น

คนไทยจะไม่มีหาดต่อไป”

          Beach for life ได้รวบรวมสถานการณ์ เเละข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับกำเเพงกันคลื่น เป็นประเด็นๆไว้ดังนี้

เราอาจต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า กำเเพงกันคลื่น คืออะไร ?

          ในทางวิศวกรรมชายฝั่งนั้น ถือว่ากำเเพงกันคลื่นเป็นโครงสร้างทางวิศวกรรมป้องกันชายฝั่งรูปเเบบ หนึ่ง ซึ่งมักสร้างติดประชิดชายฝั่ง โดยมีหน้าที่เพื่อป้องกันพื้นที่ด้านหลังกำเเพงกันคลื่นให้มีความมั่นคง ปลอดภัยจากคลื่นมรสุมต่างๆ ซึ่งกำเเพงกันคลื่นนั้นอาจก่อสร้างได้หลายรูปเเบบ ตามการออกเเบบของพื้นที่นั้นๆ เช่น หินทิ้ง กำแพงคอนกรีต ไม้ กระสอบทราย หรือ ตุ๊กตาญี่ปุ่น เป็นต้น

ภาพ กำแพงกันคลื่นรูปแบบต่างๆ

กำเเพงกันคลื่น เป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ที่มีหน้าที่ตรึงเเผ่นดินด้านหลังกำเพงไม่ให้มีการเปลี่ยนเเปลงจากอิทธิพลของคลื่นที่เข้ามาปะทะ ถึงเเม้จะมีหน้าที่ป้องกันชายฝั่ง เเต่กำเเพงกันคลื่นก็มีผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งใกล้เคียง เเละผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อคลื่นวิ่งเข้ามาปะทะชายหาด อย่าลืมว่า การก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นลงบนชายหาด เป็นการเปลี่ยนเเปลงสภาพของหาดทราย โดยวัสดุอื่นๆ ที่ไม่ใช่เม็ดทราย เพราะคุณสมบัติเม็ดทรายที่รวมกันเป็นหาดทรายนั้น ทำให้หาดทรายมีความเป็นวัตถุกึ่งเเข็งกึ่งเหลว ยึดหยุ่นเเละปรับเปลี่ยนตัวเองได้ตามปัจจัยแวดล้อม เเต่เมื่อหาดทรายกีดขว้างโดยกำเเพงกันคลื่น แรงคลื่นที่วิ่งเข้ามาปะทะกำเเพงกันคลื่นก็จะเปลี่ยนระดับความแรงไปจากเดิม  คลื่นจะตะกรุยทรายด้านหน้าของกำแพงกันคลื่นออกไปนอกชายฝั่งมากขึ้นจากปกติ  และปลายสุดของกำแพงกันคลื่นจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งเป็นผลจากการเลี้ยวเบนของคลื่นที่ปะทะกับกำเเพงกันคลื่น ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ด้านท้ายน้ำของกำเเพงกันคลื่น

ภาพ อธิบายผลกระทบของกำแพงกันคลื่น

กำเเพงกันคลื่น มีผลกระทบต่อชายหาดเเละวิถีชีวิตของชุมชนริมชายฝั่ง ทำให้กำเเพงกันคลื่นนั้น (เคย) เป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม (EIA) เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจก่อให้เกิดขึ้นจากการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น

EIA คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ ?

          หลายคนคงเห็นว่าในบทความนี้กล่าวถึง “การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งเเวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment (EIA)” อยู่บ่อยครั้ง เเละคงมีข้อสงสัยว่า EIA นั้นคืออะไร เเละสำคัญอย่างไร ทำไมถึงกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเมื่อกำเเพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA

          การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment  เป็นการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบจากการดำเนินโครงการ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการพัฒนาโครงการหรือดำเนินการก่อสร้างโครงการ

          ในทางกฎหมายนั้น EIA เป็นหลักพึงระวังไว้ก่อน เมื่อจะมีการดำเนินโครงการของภาครัฐหรือเอกชนซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึ่งจำเป็นต้องทำ EIA โดยการทำ EIA นั้น จะเป็นการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในมิติต่าง ๆ ได้แก่ มิติทางกายภาพ มิติด้านชีวภาพ มิติด้านคุณภาพชีวิต และมิติด้านการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และมีกระบวนการการมีส่วนร่วมโดยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่อโครงการที่จะสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่อยู่ในช่วงระหว่างการก่อสร้างโครงการหรือช่วงดำเนินงาน ขั้นตอนเหล่านี้จะทำให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นได้มีโอกาสในการรับรู้ข้อมูลรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบ มาตรการลดผลกระทบรวมไปถึงเเสดงความห่วงกังวลและข้อสงสัยต่อเรื่องนั้น ๆ ได้

          ดังนั้น โครงการที่มีการจัดทำ EIA จึงเป็นเสมือนหลักประกันต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการในทุก ๆ ด้าน หรือทุก ๆ มิตินั้นจะได้รับการป้องกันเเก้ไขหรือมีมาตราการลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และเป็นหลักประกันว่า เจ้าของโครงการจะให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ และรับฟังความเห็น ข้อห่วงกังวลต่าง ๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างตรงไปตรงมาอย่างแท้จริง

เมื่อ “รัฐ” ยกเว้นกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA

                สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ระบุว่าโครงการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ทาง สผ.ได้กำหนดรายชื่อโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ประกาศแนบท้ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นที่รับรู้กันว่า กำแพงกันคลื่น เป็นหนึ่งในโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะดำเนินการโครงการก่อสร้างโครงการ

                แต่เมื่อวันที่ 22  ธันวาคม 2556 สำนักงานนโยบายและแผนฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ถอดถอน “กำแพงกันคลื่น” ออกจากโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม นั้นหมายความว่า การดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้น สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องจัดทำการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

ภาพ ประกาศแนบท้ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2555 แสดงโครงการก่อสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ความยาว 2000 เมตรขึ้นไปต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)
ภาพ ประกาศแนบท้ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ความยาว 2000 เมตรขึ้น

ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ได้ให้เหตุผลการถอดถอนกำเเพงกันคลื่น กับ กลุ่ม Beach for life จากการทำหนังสือทวงถามเหตุผลในการถอดถอนกำเเพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งเเวดล้อม ว่า “การเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สำนักนโยบายฯ ส่วนใหญ่เป็นโครงการของรัฐ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กรมเจ้าท่า เป็นต้น โดยการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐดังกล่าวเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาการตกตะกอนปากร่องน้ำ การปิดร่องน้ำหลักในการเดินเรือเล็กเข้า-ออกจากฝั่ง โดยหน่วยงานดังกล่าวมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา มิให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งลุกลาม ตลอดจนให้เหตุผลว่าหน่วยงานที่รับผิดได้รับงบประมาณในการดำเนินการแล้ว แต่มีอุปสรรคเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขั้นตอนการพิจารณาจนกว่าจะแล้วเสร็จ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในคราวการประชุมครั้งที่ 6 /2556 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เห็นชอบยกเลิกโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมลงวันที่ 24 เมษายน 2561 ลำดับที่ 21 การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล : กำแพงกันคลื่นริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ความยาว 200 เมตรขึ้นไป”

 “การประกาศเพิกถอนกำเเพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำ EIA นั้น เป็นการทำลายหลักพึ่งระวังไว้ก่อนในทางกฎหมาย เเละ เป็นการทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองสิทธิชุมชน เพราะ  การประกาศเพิกถอนกำเเพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA เป็นการทำลายหลักพึ่งระวังไว้ก่อนที่อาจก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทางกฎหมายอย่างไร้เหตุผล”

กำแพงกันคลื่นโรคระบาดทำลายหาดทรายไทย

              เมื่อ กำแพงกันคลื่น ถูกเพิกถอนออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุผลว่า ท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเเก้ไขปัญหาได้อย่าทันท่วงทีทำให้การดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นได้ง่าย

          ผลที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัด คือ ตลอดช่วงปี 2557 ถึง 2562 มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นบนชายหาดในประเทศไทย จำนวน 74 โครงการ รวมระยะทางกว่า 34,875 เมตร ตลอดแนวชายฝั่ง งบประมาณรวม 6,967,853,620  บาท (รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ประกาศจัดซื้อจัดจ้างกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า ปี 2557-2562)

          * การรวบรวมข้อมูลโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจากเว็บไซต์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่านั้น รวบรวมข้อมูลปี 2557 -2562 ที่มีข้อมูลในเว็บไซต์ โดยอาศัยข้อมูลจากการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งในรายละเอียดโครงการบางโครงการไม่มีการระบุระยะทาง ทำให้ข้อมูลระยะทางรวมนั้นอาจคาดเคลื่อนกับความเป็นจริง

ภาพ แสดงตัวอย่างโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายฝั่งทะเลในประเทศไทย

การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหลังจากการประกาศเพิกถอนออกจากกิจการ/โครงการที่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ เช่น ความไม่จำเป็นในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง งบประมาณในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่เพิ่มขึ้นทุกปี และ การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นส่งผลทำให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง ซึ่ง Beach for life จะขยายประเด็นเหล่านี้ให้ชัดเจนขึ้นมากยิ่งขึ้น

ความไม่จำเป็นในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น

การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่ผ่านมานั้น พบว่า หลายพื้นที่ที่มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นชายหาดบริเวณนั้นไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้ต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ตัวอย่างเช่น หาดอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือ หาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา 

กรณีที่ 1 กรณีชายหาดอ่าวน้อย ข้อมูลจาก www. Beachlover.net พบว่า อ่าวน้อยมีลักษณะเป็นหาดกระเปาะ (pocket beach) ขนาดเล็กยาวประมาณ 1.1 กิโลเมตร วางแนวเหนือใต้อยู่ระหว่างเขาคั่นกระไดและเขาตาม่องล่าย ซึ่งมีหน้าที่เป็นปราการป้องกันคลื่นลมตามธรรมชาติได้ส่วนหนึ่ง ชายหาดค่อนข้างมีความสมดุลในตัวเอง หากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพจะเป็นไปเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในฤดูมรสุมเท่านั้น หลังจากนั้นจะกลับเข้าสู่สมดุลเดิมตราบเท่าที่ไม่มีการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก และจากรายงานการศึกษาของกรมโยธาธิการ และผังเมือง ซึ่งจะมีการดำเนินโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดอ่าวน้อยนั้น พบว่า แม้ไม่มีโครงการนี้ในอีก 25 ปี ชายหาดทางตอนใต้ที่เป็นชุมชนนั้นจะไม่มีการกัดเซาะใด ๆ ส่วนทางทิศเหนือติดกับวัดอ่าวน้อยนั้นจะมีการกัดเซาะเพียง 0.8 ม./ปี เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากจัดเป็นชายหาดที่ยังคงมีเสถียรภาพ (ที่มา: ข้อมูลจาก https://beachlover.net/คดีอ่าวน้อย)

กรณีที่ 2  การเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียมชายหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา  เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงชายหาด พบว่า ชายหาดมหาราชไม่พบว่ามีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง จนมีนัยสำคัญที่เป็นเหตุผล หรือมีความจำเป็นต้องสร้างกำแพงกันคลื่นความยาว 1,102 เมตร เพื่อป้องกันชายฝั่งแต่อย่างใด การเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดดังกล่าวที่เกิดขึ้นในช่วงมรสุม ซึ่งการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดในช่วงมรสุมเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เมื่อมรสุมผ่านพ้นไปชายหาดจะฟื้นคืนสภาพกลับมาสวยงามดังเดิม

ภาพแสดง สภาพชายหาดจากภาพถ่ายดาวเทียม แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงชายหาด ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงแต่อย่างใด ภาพจาก www. beachlover.net

จากการกรณีอ่าวน้อย และกรณีชายหาดมหาราช และหาดอื่น ๆอีกหลายพื้นที่นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จำเป็นของโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันชายฝั่ง เนื่องจากชายหาดในหลายพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง จนมีความจำเป็นต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันชายฝั่ง 

งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูล สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ในบทความ “แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลไทย ยิ่งแก้-ยิ่งพัง?” เผยแพร่ใน www.tcijthai.com เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562  พบว่าการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายฝั่งทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยการรวบรวม ประกาศการจัดซื้อจัดจ้างของกรมโยธาธิการและผังเมือง ในเว็บไซต์ของกรมโยธาฯ พบว่าช่วงเกือบ 10 ปีหลัง การสร้างกำแพงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยต้องใช้งบประมาณต่อ 1 กิโลเมตร สูงถึง 117 ล้านบาท

ที่มา: http://www.beachlover.net

และล่าสุด พบว่าโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นมีราคาขยับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กิโลเมตรละ 151.72 ล้านบาท ซึ่งโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่มีราคาแพงที่สุดในประเทศไทยนั้น ตั้งอยู่ที่ชายหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา  

คำถามสำคัญ คือ ประเทศไทย

มีงบประมาณมหาศาล

ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งขนาดนั้นเลยหรือ ?!?

ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้กัดเซาะอีกพื้นที่หนึ่ง และต้องตั้งงบประมาณก่อสร้างไปเรื่อยๆ

เป็นที่ทราบกันในทางวิชาการถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ด้านท้ายน้ำจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ในหลายพื้นที่ของจังหวัดสงขลา และพื้นที่ชายหาดในจังหวัดอื่น ๆ ต่างมีบทเรียน และบทสรุปร่วมกันว่า การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่หนึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดอย่างรุนแรงอีกพื้นที่หนึ่ง และเป็นตัวเร่งทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งแบบลูกโซ่ ดังภาพ

ภาพ ผลกระทบจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น บริเวณชายหาดบ้านบ่อโซน อำเภอสะกอม จังหวัดสงขลา
ภาพ ผลกระทบจากการสร้างกำแพงกันคลื่นบริเวณหาดดาโต๊ะ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
ภาพการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดทรายแก้ว ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
ภาพผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่งจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นชายหาดบ้านเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

และเมื่อเกิดการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ด้านท้ายน้ำ หลังจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้น พื้นที่ท้ายน้ำนั้นจะเกิดโครงการการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง ดังกรณีตัวอย่าง ชายหาดเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา  และชายหาดชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ที่มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นอย่างต่อเนื่อง

กรณีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบริเวณหาดทรายแก้ว ตำบลชิงโค อำเภอเมือง จังหวัดสงขลานั้น เป็นการดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นความยาว 990 เมตร ระยะที่ 3 จากการสำรวจนั้นพบว่าบริเวณชายหาดจากภาพ Google Street view ภาพถ่ายเมื่อ เดือนกรกฎาคม 2016 พบว่า ในส่วนระยะที่ 3 นั้นพบว่าชายหาดมีสภาพสมบูรณ์ มีทิวสนทะเลตลอดแนวชายหาด

ภาพจาก Google street view แสดงสภาพชายหาดทรายแก้ว ตำบลชิงโค ภาพถ่ายเมื่อ กรกฎาคม 2016 มุมมองทางด้านเหนือ
ภาพจาก Google street view แสดงสภาพชายหาดทรายแก้ว ตำบลชิงโค ภาพถ่ายเมื่อ กรกฎาคม 2016 มุมมองทางด้านใต้

ต่อมามีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายหาดทรายแก้ว โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กลุ่ม Beach for life ได้ลงพื้นที่ถ่ายภาพในพื้นที่โครงการ

ภาพป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ
ภาพ ปลายสุดของกำแพงกันคลื่น

หลังจากกรมโยธาธิการและผังเมืองก่อการสร้างกำแพงกันคลื่นไปได้ระยะหนึ่ง Beach for life ได้ลงพื้นที่สำรวจชายหาดทรายแก้ว ในวันที่ 22 มิถุนายน 2562 พบว่า ด้านท้ายน้ำของกำแพงกันคลื่นเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงจนทำให้ถนนพังเสียหายกว่าครึ่งเลน ระยะทางยาวตามแนวชายฝั่งกว่า 250 เมตร ดังภาพ

ภาพชายหาดทรายแก้วจาก Google Strret viwe ถ่ายเมื่อ กรกฎาคม 2016
ภาพชายหาดทรายแก้วเกิดการกัดเซาะชายฝั่งหลังจากก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ภาพถ่ายเมื่อ 22 มิถุนายน 2562

ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2562 Beach for life ได้ลงพื้นที่หาดทรายแก้ว พบว่ามีการกัดเซาะชายฝั่งตลอดแนวชายหาดประมาณ 1,000 เมตร จากปลายกำแพงกันคลื่น และมีการถมหินทิ้งเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณถนนในตำแหน่งที่เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มเติมดังภาพ

ภาพรวมการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดทรายแก้ว ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา (ภาพจาก www.Beachlover.net)

การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่หนึ่งส่งผลทำให้พื้นที่ใกล้เคียงหรือด้านท้ายน้ำเกิดการกัดเซาะชายฝั่งนั้น เป็นคำถามสำคัญถึงความสำเร็จของโครงการว่าสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้หรือไม่ เนื่องจากการก่อสร้างนั้นได้สร้างผลกระทบทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งนั้นพื้นที่ใกล้เคียง ดังนั้นการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น จึงไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่เป็นการซ้ำเติม และเร่งการกัดเซาะชายฝั่งให้เกิดขึ้นในพื้นที่ถัดไป

          ทั้งนี้ การตั้งคำถามถึง ความจำเป็น งบประมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการดำเนินการก่อสร้างแล้วไม่บรรลุวัตถุประสงค์นั้น เป็นประเด็นคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในขณะที่เรากำลังตั้งคำถามนี้อยู่ เมื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทำให้พบว่า ในปี งบประมาณ 2563 มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหลายโครงการ และมีรายการที่ต่อเนื่องผูกพันงบประมาณปีต่อปี จากปี 2563-2565 และสถานะปัจจุบันคือร่างงบประมาณรายจ่ายได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว  

          ในอนาคตเราอาจได้เห็นโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นอีกหลายโครงการเกิดขึ้นบนพื้นที่ชายหาดของประเทศไทยที่ไม่มีความจำเป็นในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง มีราคาแพงหูฉี่ และสร้างผลกระทบแบบต่อเนื่องในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย

คดีพิพาทเกี่ยวกับการสร้างกำเเพงกันคลื่น

          ในประเทศไทยมีการฟ้องคดีทางปกครองที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น เพื่อป้องกันชายฝั่งอย่างน้อย 2 คดี หลังจากที่กำเเพงกันคลื่นถูกประกาศเพิกถอนไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) คือ คดีชลาทัศน์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เเละ คดีอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  

          คดีพิพาททางปกครองเกี่ยวกับการสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ใน 2 คดีที่กล่าวมานั้น มีรายละเอียดที่ต่างกัน คดีแรก คดีชลาทัศน์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ปี 2558 ในคดีนี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น คือ การอ้างว่าโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ดำเนินการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสงขลา นั้นมีรูปแบบเป็นการก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง และเสริมทรายชายหาด ซึ่งการกล่าวอ้างว่าโครงการก่อสร้างนี้ เป็นรูปแบบการก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง ทำให้โครงการนี้ เมื่อสอบถามไปยังสำนักงานนโยบายและแผนฯ ทำให้โครงการนี้ไม่ต้องดำเนินการทำ EIA ตามกฎหมาย เนื่องจากการก่อสร้างกำแพงกันป้องกันตลิ่งไม่เข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ตามประกาศแนบท้ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          แต่เมื่อพิจารณาแบบก่อสร้างโครงการตามแบบแปลนที่ได้ออกแบบไว้นั้น พบว่า โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ นั้น เป็นการก่อสร้างรอดักทราย และเสริมทรายชายฝั่ง ไม่ใช่การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นตามที่มีการติดประกาศประชาสัมพันธ์โครงการแต่อย่างใด

          ทำให้โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งนั้นต้องทำ EIA เนื่องจากการก่อสร้างรอดักทราย เข้าข่ายโครงการที่ต้องทำ EIA การอ้างว่าเป็นการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้น จึงเป็นการกล่าวอ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

          เมื่อประชาชนนำคดีไปสู่ชั้นศาลปกครองสงขลาให้พิจารณา และพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า โครงการนี้ไม่ใช่การก่อสร้างกำแพงกันคลื่น แต่เป็นการก่อสร้างรอดักทราย ทำให้ศาลพิจารณาคดี จึงมีความเห็นว่าโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งนั้นมีรูปแบบโครงการที่เข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่ต้องทำ EIA

          กรณีโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา – ชลาทัศน์ ทำให้เห็นว่าเจ้าของโครงการมีความพยายามในการเลี่ยงไม่ทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยการใช้ อ้างการสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อให้โครงการดังกล่าวนี้ไม่เข้าข่ายโครงการที่ต้องทำ EIA แต่เมื่อพิจารณาแบบก่อสร้างโครงการแล้วนั้น ทำให้พบว่าเป็นการก่อสร้าง รอดักทราย จึงต้องทำ EIA

          กรณีชายหาดอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นการก่อสร้างกำแพงกันริมชายหาดอ่าวน้อย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างนั้นประชาชนในพื้นที่ และนักวิชาการ มีความเห็นว่าโครงการดังกล่าวนั้นอาจสร้างความเสียหายแก่ชายหาดอ่าวน้อย แทนที่จะเป็นการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องชายหาดอ่าวน้อยนั้นเป็นอ่าวสมดุล ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง  ประกอบกับกระบวนการในการดำเนินโครงการนั้นมีความไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่ที่ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงโครงการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชายหาดอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนนำคดีไปสู่ชั้นศาลปกครอง

ความพยามสร้างมาตรการใหม่ทดแทน EIA กำแพงกันคลื่น

          หลังจากกำเเพงกันคลื่น กลายเป็นโครงการที่ไม่ต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกำแพงกันคลื่น เริ่มระบาดบนชายหาดเรื่อยๆ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาชน นักวิชาการ ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA ทำให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เริ่มพูดคุย และดำเนินการผลักดัน Environment checklist เพื่อทดแทนการทำ EIA กำแพงกันคลื่น และโครงการหรือกิจการอื่นๆ ที่ดำเนินการในพื้นที่ชายฝั่งทะเล แต่อย่างไรก็ตาม การจัดทำ Environment checklist นั้น มีข้อสังเกตและประเด็นห่วงกังวลจากนักวิชาการ และ ภาคประชาชน หลายประการ อาทิ

          1. Environment checklist นั้น เป็นมาตรการที่อ่อนกว่าการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในแง่ข้อมูลที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ รวมถึงกระบวนการในการทำ Environment checklist ของโครงการกำแพงกันคลื่นแต่ละโครงการ เมื่อพิจารณาขั้นตอนการทำ EIA นั้นจะพบว่า มีขั้นตอนในการดำเนินการที่มีรายละเอียดในทางวิชาการในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียในโครงการเพื่อประกอบการจัดทำ EIA ในโครงการนั้นๆ และขั้นตอนในการพิจารณาของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ(คชก.) ซึ่งทำให้การจัดทำ EIA นั้นมีรายละเอียดและความเข้มข้นทางวิชาการ ในขณะที่กระบวนการดำเนินการจัดทำ Environment checklist นั้น อาจไม่มีกระบวนการเหล่านี้ จึงทำให้ Environment checklist ไม่สามารถทดแทนการจัดทำ EIA ได้

          2. Environment checklist นั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นผู้ดำเนินการจัดทำ และคาดว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาจต้องทำหน้าที่ในการพิจารณาและตัดสินใจโครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโดยใช้ Environment checklist ที่ออกแบบไว้เป็นกรอบแนวทางในการพิจารณาและตัดสินใจอนุญาตการก่อสร้างต่างๆ ข้อห่วงกังวลและคำถามสำคัญที่มีต่อบทบาทของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หากต้องทำเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจอนุญาตให้มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกำแพงกันคลื่นโดยใช้ Environment checklist เป็นเครื่องมือในการพิจารณาการอนุญาต คือ           ประการแรก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีบทบาทในการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ด้วยในหลายพื้นที่โครงการ ดังนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนในการดำเนินการกิจกรรมหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น หากต้องมาเป็นผู้พิจารณาและอนุญาตให้ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเองด้วยนั้น อาจไม่มีความชอบธรรมในการพิจารณาตัดสินใจในเรื่องนี้

          ประการที่สอง คือ ในการพิจารณาและอนุญาตโครงการที่เกี่ยวข้องกับกำแพงกันคลื่น ตาม Environment checklist ซึ่งอาจต้องมี คณะกรรมการที่ตัดสินใจเรื่องนี้ ที่มีความเชี่ยวชาญในทุกด้าน คำถามสำคัญคือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะให้ใครเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ รวมถึงขั้นตอนในการคัดเลือก แต่งตั้งบุคคลผู้ที่จะมาเป็นผู้พิจารณาตัดสินโครงการเหล่านี้จะได้มาอย่างไร ประเด็นนี้คงมีความสำคัญมาก

          3. สถานะในทางกฎหมาย Environment checklist นั้น จะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร รวมไปถึงนิยามของคำศัพท์ต่างๆใน Environment checklist เช่น นิยามคำว่าชายฝั่งทะเล หาดทราย หรือแม้แต่ การให้คำว่า Revetment ออกจาก กำแพงกันคลื่น ซึ่งในทางวิชาการวิศวกรรม Revetment เป็นหนึ่งในรูปแบบของกำแพงกันคลื่น เป็นต้น หากนิยามศัพท์เหล่านี้ไม่ถูกคลีคลายให้มีความชัดเจน การนำ Environment checklist จะมีปัญหาได้ในภายหลัง

          4. คำถามสำคัญร่าง Environment checklist  ฉบับนี้ คือ ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากอยู่ในส่วนไหนของ Environment checklist ในแต่ละกระบวนการตัดสินใจโครงการ ซึ่ง ทรัพยากรหาดทรายและชายฝั่งนั้น ประชาชนมีสิทธิมีส่วนร่วมกับรัฐในการใช้ประโยชน์ บำรุงรักษา ใช้ประโยชน์ทรัพยากรหาดทรายและชายฝั่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หาก Environment checklist ที่กำลังจะประกาศออกมานั้น ไร้ซึ่งประชาชนในกระบวนการตัดสินใจโครงการแต่ละโครงการนั้นหมายความว่า Environment checklist นั้นไม่อาจสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ทางออกคืออะไร                                                                                                  

          ณ เวลานี้ Beach for life เครือข่ายนักวิชาการ เเละภาคประชาชนที่มีหัวใจรักชายหาด เรายังยืนยันว่า “หาดทรายมีการเปลี่ยนเเปลงตามสภาพธรรมชติ การสร้างกำเเพงกันคลื่นทุกชายหาด คือ การขลิบชายหาดให้หายไป ” ทางออกของวิกฤติปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ณ เวลานี้มีเรื่องที่ต้องทำเร่งด่วนคือ

          1. ยุติโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่กำลังจะเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ชายหาดไว้ก่อน  

          2. การให้กำแพงกันคลื่นต้องกลับไปดำเนินการ EIA ตามกฎหมาย พร้อมกับยกระดับวิธีการ กฎเกณฑ์ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากชายหาดมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน การพิจารณา EIA รายโครงการ โดยไม่มองแบบภาพรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง และครอบคลุมทุกมิติ อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้    

          3. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA)  เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมภาพรวมตลอดแนวชายหาดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งควบคู่กับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รายโครงการเพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ

          4. การประกาศเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนทำให้กำแพงกันคลื่นระบาดทั่วพื้นที่ชายหาดของประเทศไทย และสร้างความเสียหายแก่ชายหาด ชุมชนชายฝั่ง ถือเป็นบทเรียนสำคัญของการกำหนดตามอำเภอใจ โดยไร้เหตุผลและการประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น จึงเป็นบทเรียนสำคัญของภาครัฐที่จะต้อง ศึกษาผลกระทบจากการประกาศเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออจาการโครงการที่ต้องทำ EIA ในทุกมิติ เพื่อเป็นบทเรียนสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์หาดทราย และเพื่อประเมินความเสียหายจากการเพิกถอนครั้งนี้ รวมถึงการกำหนดมาตรการเพื่อฟื้นฟูชายหาด 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s