เหตุการณ์นักท่องเที่ยวชาวไทยวัย 55 ปี ลื่นล้มศรีษะกระแทกบนกำแพงกันคลื่นที่ชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้กระดูกคอหัก จากการตรวจสอบบริเวณพื้นที่โครงการกำแพงกันคลื่นพบมีตะไคร่น้ำเกาะอยู่ตลอดแนวบันได และพื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่มีไฟส่องสว่าง และ ไม่มีป้ายเตือนอันตราย
ภรรยาของผู้ประสบเหตุได้ระบุว่า สามีเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนี้ ทำให้อนาคตของครอบครัวนั้นไม่รู้จะเป็นอย่างไรต่อ อีกทั้งจนถึงวันนี้ ยังไม่ได้รับการติดต่อเยียวยาจากหน่วยงานเจ้าของโครงการ ที่ทำให้สภาพแวดล้อมชายหาดชะอำเปลี่ยนไปเป็นกำแพงกันคลื่นที่เต็มไปด้วยตะไคร่น้ำและอันตราย จึงอยากให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนั้นแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุแบบนี้กับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆอีกโดยปัจจุบันสามีได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลราชบุรี อาการล่าสุดปลอดภัยแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถยกแขนหรืองอแขนได้
Beach for life ได้ร่วมพูดคุยกับ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ในรายการ “ Beach talk ” เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น รวมทั้งหาเเนวทางการเเก้ไขเเละมาตราการการป้องกันเพื่อไม่ให้มีเหตุการซ้ำรอย
จากกรณีที่เกิดขึ้น เป็นเหตุการณ์ร้ายเเรงไหม ?
จากข้อมูลที่เล่าให้ฟังผู้บาดเจ็บที่ประสบอุบัติเหตุ มีอาชีพเป็นพนักงานขับรถ และเป็นคนเดียวที่หารายได้หลักให้ครอบครัว ในอนาคตขับรถลำบากนะ คือต้องเข้าใจนะว่ามือกับขาไม่ใช่ง่ายๆ เราเดินทุกวัน
เราวิ่งทุกวันเราเลยคิดว่ามันทำงานง่าย แต่จริงๆไม่ใช่นะ ปลายนิ้วกับสมองกว่าจะเชื่อมกัน มันเชื่อมกันผ่านการรับรู้ของข้อผ่านเส้นใย เพราะงั้น การเดิน การวิ่ง การขับรถ หรือแม้แต่ การพูด ก็ถือเป็นทักษะขั้นสูง โอกาสที่จะกลับไปขับรถนั้นก็น่าจะได้ แต่อาจจะเป็นการขับรถส่วนตัวระยะทางสั้นๆ แต่ถ้าขับรถเป็นอาชีพระยะทางไกล ความเสี่ยงก็อาจจะเพิ่ม เพราะความว่องไวก็ไม่เหมือนเดิม การเหยียบเบรค เปลี่ยนเกียร์ ความรวดเร็วต่างๆเมื่อมีสถานการณ์เข้ามา ก็น่าจะไม่เหมือนเดิม อันนี้ตามความคาดการณ์
เมื่อเกิดเหตุการณ์หรืออุบัติเหตุแบบนี้ขึ้น ปัญหามันก็จะตกไปที่สาธารณะสุข หรือแม้กระทั่งไปตกอยู่ที่คนที่ได้รับอุบัติเหตุในครั้งนั้น
ถ้ามองในมุมของระบาทวิทยาทางการแพทย์ เคสนี้เราจะเรียกว่า ( Index Case ) กรณีที่คุณลุงล้มบาดเจ็บรุนแรงถูกนำส่งโรงพยาบาล แต่ว่าคุณลุงอยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่เราเห็น ที่โรงพยาบาลรับรู้ ที่เป็นข่าว แต่ก็ยังมีเคสอีกมาก ที่สังคมไม่รับรู้ ที่โรงพยาบาลไม่รับรู้ ลื่นล้มแผลถลอกกลับบ้านปฐมพยาบาลเอง ซึ่งแน่นอนเราไม่รู้ตัวเลขที่แท้จริงแต่ว่าโดยเฉลี่ยแล้ว 1 เหตุการณ์สำคัญที่อยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็งแปลว่าข้างล่างมีเป็น 100 เหตุการณ์ ไม่ถูกรับรู้
ตามทฤษฎี หากเราพบเคสรุนแรง 1 ราย นั่นหมายความว่า มีเคสที่เกือบรุนแรงอีกจำนวนมาก ( near-miss case) คือลื่นอาจล้ม ข้อเท้าพลิก มีแผลถลอก หรือเอาแขนยันไว้ทัน แต่ไม่ได้โรงพยาบาล นับร้อยๆราย จึงเกิดรายที่รุนแรง 1 ราย อุบัติเหตุที่รุนแรงคือยอดภูเขาน้ำแข็งของผู้ที่ประสบเหตุการณ์ทั้งหมด
นี่คืออีกกรณีที่สะท้อนจุดจบการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของชายหาดไทย

แล้วมันเป็นความรับผิดชอบของใคร ? ในเมื่อโครงการนี้กรมโยธาฯอ้างมาจากท้องถิ่น รับฟังความคิดเห็นมาเเล้ว
ตอนนี้ถ้ายังไม่มีการส่งมอบ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าของโครงการที่ยังไม่ส่งมอบ ถ้าส่งมอบแล้วก็ถือว่าเป็นหน้าที่ท้องถิ่น ทุกอย่างเมื่อมีประโยชน์ก็ต้องมีโทษ เพราะงั้นประโยชน์ของกำแพงกันคลื่นถ้ากรมโยธาธิการบอกว่าป้องกันคลื่นได้แต่ว่ามันก็มีผลข้างเคียงก็คือ ตะไคร้น้ำแล้วมันลื่น แสงไฟไม่พอ ป้ายเตือนไม่มีซึ่งถ้าถามว่าป้ายเตือนมีพอไหมก็ไม่พอหรอกป้ายเตือนมันก็เป็นแค่เครื่องมือที่ใช้อ้างเพื่อปัดความรับผิดชอบ เพราะงั้นก็อาจจะต้องหาคนไปขัด และรูปแบบกำเเพงกันคลื่นนี้อาจต้องทบทวนว่ายังเหมาะสมหรือไม่ สำหรับการป้องกันชายฝั่ง ผมคิดว่าเราต้องยอมรับความจริงนะว่ามันมีการกัดเซาะชายฝั่ง เเล้วป้องกันเเบบนี้ไม่เวิร์คเราก็ถอยเสีย หรือหาทางใหม่ที่ดีกว่ากำเเพงกันคลื่น
ความย้อนแย้งกับแนวคิดเดิมที่ว่า รูปแบบกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดมีความเหมาะสมสอดคล้องกับการท่องเที่ยว
กรณีนี้สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงเเล้วว่า กำเเพงกันคลื่นเเบบขั้นบันได้ไม่เหมาะสมเเล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนมากมาย ยิ่งที่ชะอำซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวคนไปเที่ยวช่วงเทศกาลเป็นหมื่น จะป้องกันยังไง
การป้องกันนี่สำคัญมากโดยเฉพาะเมื่อมี ( Index Case ) แบบนี้แล้ว คำถามคือหลังจากนี้จะป้องกันอย่างไร จะแค่ติดป้ายพอไหมต้องติดป้ายถี่ขนาดไหน หรือจะต้องใช้แนวกั้นแบบตำรวจ หรือจะต้องรีบเอาคนไปขัดไปถูตะไคร้น้ำออกก่อนเทศกาลแล้วจะต้องขัดทุกกี่เดือน หรือกี่สัปดาห์ถึงจะชัวร์ต่อนักท่องเที่ยว คือมันต้องมีหลายมาตราการนะปัจจุบันนี้ เมื่อเกิดเคสขึ้นแล้วเหตุการณ์ผ่านไป 2-3 สัปดาห์แล้วมีมาตราการเชิงป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำไหม
อย่างกรณีที่ปราณบุรีมีกำแพงกันคลื่นความยาว 5 กิโล อันนี้มีป้ายเตือนตลอดแนวเลยว่า ระวังตะไคร้ ลื่น คือบางหาดมันก็ยังไม่มีตะไคร้ขึ้นเพราะน้ำยังมาไม่ถึงทรายยังเยอะอยู่ ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 4-5 จังหวัดที่กำแพงกันคลื่นมีตะไคร้น้ำขึ้น หากกำเเพงกันคลื่นยาว 3 กิโลเมตร หรือ 5 กิโลเมตร นึกไม่ออกเลยครับ ว่าจะป้องกันอุบัติเหตุยังไง คือ ถ้าจะเอาปลอดภัยสุดคงต้องประกาศห้ามลงเล่นน้ำในพื้นที่นั้นไปโดยปริยาย คือไม่งั้นก็ต้องระดมคนมาขัด ท้องถิ่นก็จำเป็นต้องยอมจ้างคนนึงขัดสัก 100 เมตร 3,000 เมตรก็ต้องจ้างสัก 30 คน และต้องขัดทุกๆสองสัปดาห์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ไม่งั้นก็ต้องรื้อทิ้งหรือไม่งั้นก็ถ้าเกิดมีกรณีที่คนล้มอีกจะต้องไปแจ้งที่ไหน

ส่วนตัวผม ผมเชื่อว่าเหตุการณ์มีเยอะแต่เพียงแค่มันยังไม่มีจุดรวมข้อมูลในการแจ้ง พอมันไม่มีคนก็นึกว่ามันไม่มีเหตุการณ์หน่วยงานรัฐก็ไม่รู้เรื่อง ท้องถิ่นก็คิดว่ามไม่มีปัญหา โรงพยาบาลก็ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลที่เป็นเรื่องเป็นราวขนาดนั้น คืออย่างกรณีมีรถชนเราก็ยังมีฐานข้อมูล ชนที่ไหน เพื่อมาลงในแผนที่ว่าจุดนี้มีอุบัติเหตุบ่อยแต่ถ้าเป็นอุบัติเหตุอื่นรายังไม่ได้มีการเก็บข้อมูลที่ละเอียด คืออย่างกรณีนี้มันก็อาจจะมีในประวัติว่าล้มที่หาดชะอำ จากกำแพงกันคลื่น แต่ว่ามันก็อยู่ในประวัติ นานๆก็มาคนนึง ดังนั้นการรวบรวมข้อมูลเป็นรายปีมันก็จะไม่เกิด ดังนั้นการไปทะเลที่ปลอดภัยคือการไปทะเลที่มีหาดทรายและต้องเป็นทรายละเอียด
เรื่องนี้ถือเป็นภัยสุขภาพไหม ?
เป็นครับ ถึงขั้นกระดูกคอแตกนะ ดังนั้นการป้องกันชีวิตของผู้คนหรือแม้แต่ของสัตว์นี่มีความสำคัญมากนะ
โปรเจกต์นี้ยังไม่เสร็จ หรือถึงแม้ถ้าเสร็จก็ยังถือว่าเป็นของกรมโยธาอยู่ดีเพราะคุณเป็นคนออกแบบ ถึงแม้ว่าท้องถิ่นจะร้องขอแต่ว่ากรมก็เป็นหน่วยงานทางวิชาการที่ให้ความเห็นที่ให้ความเห็นและแน่นอนท้องถิ่นก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยเช่นกัน
หลายคนอาจมองว่าเป็นความประมาทของนักท่องเที่ยว ?
คือประมาทไม่ประมาทไม่รู้นะ แต่เหตุเป็นเพราะว่าโครงการของรัฐดูแลไม่ดีพอ ยกตัวอย่างเช่น โครงการซ่อมถนน มีการขุดหลุมถนนไว้นิดหน่อยแต่ไว้รอปักในวันรุ่งขึ้นเพราะตอนนี้เย็นแล้ว แต่ไม่ได้มีการปักหรือติดป้ายสัญญาณให้ดี หรือไม่ได้ติดไฟ รถมอเตอร์ไซค์ขับมาไม่เห็นก็ตกหลุมล้มหัวแตก อาจจะบาดเจ็บสาหัสหรือกระทั่งเสียชีวิต เป็นความประมาทของเขารึปล่าวก็ไม่รู้แต่ที่แน่ๆ คือ รัฐปฏิเสธความรับผิดชอบไม่พ้น
ซึ่งมันก็เหมือนกับกรณีนี้คือโครงการกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และมีผลข้างเคียงยังไงก็ต้องรับผิดชอบ และความรับผิดชอบไม่จำเป็นต้องลาออกแต่ต้องมีการเยียวยาและหามาตราการป้องกันในระยะยาวว่าเราจะทำยังไงไม่ให้เกิดเหตุการซ้ำ
อย่างกำแพงกันคลื่น ณ ตอนนี้มันไม่ได้ทำ EIA มันเลยไม่ได้คิดถึงเรื่องพวกนี้ แต่ ณ วันนี้กำแพงกันคลื่นต้อง EIA แล้วมันจะสามารถคิดเรื่องพวกนี้ได้ไหม ?
จริงๆบริษัทที่รับจ้างทำ EIA กำแพงกันคลื่นต้องมีความชำนาญ ถ้าเรื่องตะไคร้น้ำเกาะบนกำแพงแล้วไม่มีมาตรการเขียน ก็ถือว่าสอบตก กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดถ้าอยากจะจัดการตะไคร่ คุณก็ต้องออกมาตรการที่ท้องถิ่นหรือที่เจ้าของโครงการต้องทำ เช่นในมาตรการเขียนว่าต้องขัดทุก 1 เดือนคุณก็จำเป็นต้องหาคนมาขัด ถ้ามาตรการเขียนว่าต้องเติมทรายเพื่อให้น้ำขึ้นไม่ถึงเจ้าของโครงการก็ต้องทำตามมาตราการที่ EIA กำหนด ถ้า EIA เขียนไม่ครบก็ต้องมีการเพิ่ม
EIA เราสามารถใส่มาตรการเพิ่มได้ มาตรการบางอย่างมันเก่าแล้วไม่มีประโยชน์ทำต่อไปก็เปลืองเงินเจ้าของโครงการก็ลดได้ มาตรการใหม่ที่ดีกว่าก็เพิ่มได้ ให้ EIA เป็นเครื่องมือในการติดตามผลกระทบสิ่งเเวดล้อมได้ ผมคิดว่ามันยืดหยุ่นได้
ถ้าโดยสรุปจากเคสนี้และในเบื้องต้นจากกรณีรายเคส และในภาพรวมที่เรามีกำแพงกันคลื่นแบบนี้หลายที่ เราควรมีการวางมาตราการอย่างไร?
ในระยะสั้นก็คือทำยังไงก็ได้ อย่าให้มีคนหกล้ม แล้วบาดเจ็บรุนแรงอีก ! อันนี้เป็นเป้าหมาย
ถ้าหกล้มเล็กๆน้อยๆอันนี้เราพอเข้าใจได้ ส่วนถ้าเป็นมาตราการชั่วคราวก็อาจจะต้องมี เช่น ป้ายเตือนอุบัติเหตุที่ชัดเจนและเพียงพอ มีแสงไฟที่เพียงพอ มีคนดูแลรักษาความปลอดภัย ( Lifeguard ) มีการจ้างแรงงานมาขัดเพื่อลดการเกิดตะไคร้น้ำในระยะเวลาที่เหมาะสม
และถ้าเป็นมาตรการระยะยาว คือก็ต้องประเมินถึงความเหมาะสมของรูปแบบบันไดนี่เหมาะสมในพื้นที่ไหน พื้นที่ไหนไม่เหมาะสม พื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันนี้น่าจะไม่เหมาะสมแล้ว พื้นที่ที่น้ำทะเลซัดถึงรูปเเบบกำเเพงกันคลื่นเเบบขั้นบันไดอาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไปแล้ว อันนี้กรมโยธาธิการฯ ต้องทบทวนรูปเเบบในระยะยาว

คำถามสุดท้าย อย่างกรณีนี้ถ้ารัฐจำเป็นจะต้องดูแลอย่างไร ?
ผมขอเอาจากบทเรียนจากโรงพยาบาลแล้วกัน โรงพยาบาลความผิดพลาดในการรักษามันก็มีอยู่แล้วนะและปกติเพราะเรารักษาคนหมู่มาก เมื่อผิดพลาดสิ่งที่เราทำคือการเยียวยาหมาความว่าเราก็จ่ายเงิน เพื่อชดเชยความสูญเสีย บางกรณีก็บาดเจ็บถึงขั้นทำงานไม่ได้ ถ้าเรามีเงินกองทุนเราก็ใช้เงินกองทุนแต่บางกรณีเงินกองทุนไม่พอ เราก็ต้องใช้เงินตามส่วนของโรงพยาบาล ไปจนกระทั่งเงินส่วนตัวของบุคคลากรที่เป็นคนทำผิดพลาด
ผมคิดว่ากรมโยธาธิการฯต้องรับผิดชอบในกรณีนี้ เเละต้องกล้าหาญที่จะยอมรับความจริง ค้นหาวิธีใหม่ในการป้องกันชายฝั่ง ซึ่งผมเชื่อว่ามีอีกมากมาย เช่น เติมทราย ใช้ไม้ปัก หรือ ถอยร่น เเละเเต่เราต้องกล้าที่จะหยุดใช้กำเเพงกันคลื่น เหมือนกับเราอยากเลิกดูดบุหรี่ ค่อยๆเลิกไม่ได้ผลหรอกครับ เราต้องเลิกไปเลยหักดิบเลย มันถึงจะเลิกได้ เช่นเดียวกัน เราต้องหยุดสร้างกำเเพงกันคลื่น เเล้ววิธีใหม่ๆในการป้องกันชายฝั่งที่หลากหลายเเละมีมากหลายจะตามมา
เเละเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องช่วยกันกดดัน เเละนำเสนอความจริง “การสร้างสังคมที่ดีขึ้นเป็นหน้าที่ของทุกคน“
