Beach for life ชวนไปดูแนวคิดการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล ของรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งนำเอามาตรการ Beach Zoning หรือ การแบ่งเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาด มาปรับใช้เพื่อการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล
Beach Zoning หรือ การแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ เป็นแนวคิดการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล ที่จัดสรรการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ชายหาด ให้มีความเหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากร หรือหมายถึง การจัดการพื้นที่เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และการสงวนรักษา Beach Zoning เป็นมาตรการที่ไม่ซับซ้อน และเป็นมาตรการที่สุดเพื่อการจัดการพื้นที่ชายหาด
โดยการ Beach Zoning ที่ชายหาด Batu Ferringhi มีวัตถุประสงค์เพื่อการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ของกิจกรรมกีฬาทางน้ำของผู้ประกอบการแต่ละกิจการให้ไม่ขัดแย้งกัน และแบ่งโซนนิ่งในการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดเพื่อให้กิจกรรมกีฬาทางน้ำไม่กระทบผู้ใช้ประโยชน์ริมชายหาดคนอื่นๆ

ตลอดแนวชายหาด Batu Ferringhi มีการแบ่ง Zone ไว้ทั้งหมด 8 โซน จาก A-H ตลอดแนวชายหาด ในแต่ละโซนจะมีป้ายบอกภาพรวมตลอดแนวชายหาด และรายละเอียดของแต่ละโซน


ในป้ายของโซนต่างๆจะมีรายละเอียดบอกดังนี้
- ชื่อโซน
- ร้านค้าที่ประกอบกิจกรรมกีฬาทางน้ำ
- ประเภทพร้อมราคากิจกรรมกีฬาทางน้ำในแต่ละโซน
- พื้นที่ความกว้างโซน
- การแบ่งโซนนิ่งระหว่างกิจกรรมแต่ละประเภทในโซนนั้นๆ เช่น เขตเล่นน้ำ เขตขึ้นลงของกีฬาทางน้ำ และเจตสกี เป็นต้น
- รายละเอียดด้านความปลอดภัยกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น เบอร์ติดต่อ เป็นต้น

โดยทั้ง 8 โซนจะมีป้ายโซนชี้แจงอยู่บนชายหาด พร้อมกับป้ายความปลอดภัยอื่นๆ เช่น การปฐมพยาบาลกรณีโดนแมงกระพรุน มีเสาติดกล้องวงจรปิดพร้อมลำโพงแจ้งเตือนภัย และยังมีจุดตรวจตราประจำตลอดแนวชายหาดอีกด้วย

ชายหาด Batu Ferringhi ถือเป็นชายหาดที่มีกิจกรรมกีฬาทางน้ำและมีการใช้ประโยชน์ชายหาดที่สูงและมีความหลากหลาย ทำให้การนำเอามาตรการ Beach Zoning มาประยุกต์ใช้เพื่อการจัดการพื้นที่ชายหาด จึงมีความจำเป็นและช่วยให้การใช้ประโยชน์ชายหาดของประชาชนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆนั้นเป็นไปด้วยความสะดวก ปลอดภัย และลดความขัดแย้งระหว่างการใช้ประโยชน์ได้
สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีชายหาดใดที่นำเอามาตรการ Beach Zoning มาประยุกต์ใช้เพื่อการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลอย่างจริงจัง
