ชายหาดไทยหายไปแน่ หากปล่อยให้กรมโยธาฯ สร้างกำแพงกันคลื่น
Beach for life ได้ติดตามการระบาดของกำแพงกันคลื่นมาตลอด 9 ปีเต็ม หลังจากที่โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นไม่ถูกกำหนดให้เป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ในปี 2556 เป็นต้นมา เหตุผลของการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA คือ เพื่อให้เกิดความง่าย คล่องตัวของหน่วยงานราชการในการป้องกันชายฝั่ง ตามคำร้องขอของกรมเจ้าท่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธานจึงได้มีมติเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA
ภายหลังจากการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA เพื่อให้เกิดความง่ายของหน่วยงานราชการในการป้องกันชายฝั่ง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ การระบาดของกำแพงกันคลื่นบนชายหาดทั่วประเทศไทย กลุ่ม Beach for life ได้รวบรวมข้อมูลโครงการกำแพงกันคลื่นในช่วงปี 2550-2566 จากหน่วยงานหลักที่มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันชายฝั่ง ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง มีอำนาจหน้าที่ตาม มติ คณะรัฐมนตรี กรมเจ้าท่า มีอำนาจตามพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีอำนาจตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้ง 3 กรมที่มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและฟื้นฟูชายฝั่งทะเล พบว่า มี 2 หน่วยงานหลักที่ดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบนชายหาดระหว่างปี 2550-2566 คือ กรมเจ้าท่าและกรมโยธาธิการและผังเมือง
เมื่อนำข้อมูลการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของ 2 กรมหลัก คือ กรมเจ้าท่าและกรมโยธาธิการฯ เปรียเทียบกันก่อนและหลังการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นพบว่า ก่อนการเพิกถอนกำแพงกันคลื่น(ปีงบประมาณ 2550-2557) ทั้ง 2 หน่วยงานใช้งบประมาณ 1,992.679 ล้านบาท โดยกรมเจ้าท่า ดำเนินงาน 13 โครงการ 1,165 ล้านบาท คิดเป็น 58.5 % ส่วนกรมโยธาธิการฯ ดำเนินการ 32 โครงการ งบประมาณ 827.679 ล้านบาท คิดเป็น 41.5 % แต่เมื่อมีการถอนโครงการกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA กลับพบว่า งบประมาณและจำนวนโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งสองกรมหลักใช้งบประมาณทั้งสิ้น 8,487.071 ล้านบาท จำนวน 125 โครงการ โดยกรมเจ้าท่าใช้มีโครงการ 18 โครงการ ใช้งบประมาณ 1,792.171 ล้านบาท คิดเป็น 21.1 % ในขณะที่กรมโยธาธิการ ดำเนินโครงการ 107 โครงการ ใช้งบประมาณ 6,694.899 ล้านบาท คิดเป็น 78.9 % จากข้อมูลเปรียบเทียบสัดส่วนงบประมาณโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของหน่วยงานหลักทั้ง 2 หน่วยงานก่อนและหลังถอดกำแพงกันคลื่นออกจาก EIA จะพบว่า หลังการถอนกำแพงกันคลื่นออกจาก EIA กรมโยธาธิการฯ กลายเป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ และดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นมากที่สุด


เมื่อพิจารณาเฉพาะการได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเฉพาะของกรมโยธาธิการฯ จะพบว่า กรมโยธาธิการได้รับงบประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดดภายหลังจากการที่กำแพงกันคลื่นเพิกถอนออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA ดังนั้น จึงมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า กรมโยธาธิการฯ อาศัยช่องว่างที่โครงการกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA ดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อใช้จ่ายงบประมาณ และเป็นเหตุให้ชายหาดทั่วประเทศไทยถูกทำลายจากโครงการของกรมโยธาธิการฯ
กำแพงกันคลื่น : ความตายของชายหาด
นักวิชาการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ต่างออกมายอมรับว่า โครงสร้างกำแพงกันคลื่น หรือ Sea wall นั้น คือ THE DEAHT OF BEACH หรือ ความตายของชายหาด เพราะด้วยโครงสร้างกำแพงกันคลื่นนั้น มีขนาดใหญ่และวางทับบนชายหาด ทำให้กำแพงกันคลื่นนั้นปิดกั้นปฏิสัมพันธ์ของชายฝั่ง อีกทั้งเมื่อคลื่นมาปะทะกำแพงกันคลื่นยังตระกุยทรายหน้ากำแพงกันคลื่นออกไปจนหมด ทำให้พื้นทรายหน้ากำแพงกันคลื่นลึกขึ้น และเมื่อสิ้นสุดของกำแพงกันคลื่น บริเวณจุดท้ายน้ำจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ต้องสร้างกำแพงกันคลื่นป้องกันต่อไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น เหตุทั้งหมดนี้ กำแพงกันคลื่นจึงได้ชื่อว่า โครงสร้างที่อันตรายต่อชายหาด หรือ เป็นภัยความมั่นคงของชายหาดเลยก็ว่าได้
การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ชายหาดต่างๆทั่วประเทศไทย มีตัวอย่างบทเรียนของความล้มเหลวในการป้องกันชายฝั่ง ทำให้สูญเสียชายหาดไปอย่างถาวร เอย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี หาดปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หาดแก้ว หาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา หาดแหลมเสด็จ จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น ชายหาดเหล่านี้ล้วนถูกทำลายจากกำแพงกันคลื่น และสูญเสียชายหาดจนยากที่จะเยียวยาให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม

การเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่นไม่เพียงแต่จะทำให้ชายหาดหายไป แต่ยังกระทบต่อการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล และวิถีชีวิตของประชาชนริมชายฝั่งทะเลอีกด้วย อย่างที่ทราบกันดี ชายฝั่งทะเลในประเทศไทย เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น หาดหาดชะอำ หาดปราณบุรี เป็นต้น ชายหาดเหล่านี้ เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจในช่วงวันหยุดของคนกรุงเทพ และใกล้เคียง เมื่อชายหาดถูกทำลาย การท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลก็ลดลงไปด้วย ไม่เพียงแต่หาดท่องเที่ยวที่กระทบเมื่อกำแพงกันคลื่นมาถึงชายหาดตามพื้นที่ชุมชน ที่มีการประกอบอาชีพประมงริมชายฝั่ง อย่างเช่น บ้านหน้าสตน จ.นครศรีธรรมราช ปัจจุบันไม่เหลือสภาพชายหาด ไม่สามารถจอดเรือทำประมงริมชายฝั่งได้อีกต่อไป รวมถึงสัตว์น้ำริมชายฝั่งทะเล เช่น กุ้งเคย หอยเสีย ก็หายไปด้วย

กำแพงกันคลื่น จึงไม่เพียงเป็นความตายของชายหาด แต่คือ ความตายของชุมชีวิตที่อาศัยใช้ประโยชน์ชายหาด
เมื่อกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA หลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญก็หายไป
หลายคนคงเห็นว่าในบทความนี้กล่าวถึง “การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งเเวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment (EIA)” อยู่บ่อยครั้ง เเละคงมีข้อสงสัยว่า EIA นั้นคืออะไร เเละสำคัญอย่างไร ทำไมถึงกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเมื่อกำเเพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA
การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment เป็นการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบจากการดำเนินโครงการ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการพัฒนาโครงการหรือดำเนินการก่อสร้างโครงการ
ในทางกฎหมายนั้น EIA เป็นหลักพึงระวังไว้ก่อน เมื่อจะมีการดำเนินโครงการของภาครัฐหรือเอกชนซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึ่งจำเป็นต้องทำ EIA โดยการทำ EIA นั้น จะเป็นการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในมิติต่าง ๆ ได้แก่ มิติทางกายภาพ มิติด้านชีวภาพ มิติด้านคุณภาพชีวิต และมิติด้านการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และมีกระบวนการการมีส่วนร่วมโดยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่อโครงการที่จะสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่อยู่ในช่วงระหว่างการก่อสร้างโครงการหรือช่วงดำเนินงาน ขั้นตอนเหล่านี้จะทำให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นได้มีโอกาสในการรับรู้ข้อมูลรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบ มาตรการลดผลกระทบรวมไปถึงเเสดงความห่วงกังวลและข้อสงสัยต่อเรื่องนั้น ๆ ได้

ดังนั้น โครงการที่มีการจัดทำ EIA จึงเป็นเสมือนหลักประกันต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการในทุก ๆ ด้าน หรือทุก ๆ มิตินั้นจะได้รับการป้องกันเเก้ไขหรือมีมาตราการลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และเป็นหลักประกันว่า เจ้าของโครงการจะให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ และรับฟังความเห็น ข้อห่วงกังวลต่าง ๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างตรงไปตรงมาอย่างแท้จริง

ปัจจุบันเมื่อโครงการกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชุมชนไม่ได้รับทราบข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างตรงไปตรงมา หลายพื้นที่ที่มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น เช่น หาดแม่รำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการร้องขอรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นไป(IEE) แต่กว่าจะได้รับก็ช้ามาก บางพื้นที่ขอไปก็ไม่ได้ อีกทั้ง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน รายงานการศึกษานั้นก็มีกระบวนการพิจารณาภายในกรมที่จัดจ้าง ไม่มีผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่เข้ามาตรวจสอบ ทำให้เกิดความไม่รอบครอบของการดำเนินงาน และไม่เกิดกลไกการถ่วงดุลตรวจสอบ