นักศึกษา องค์กรนักศึกษา เเละประชาชนปาตานี
ร่วมกันจัดเวทีวิพากษ์การเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง “กำเเพงกันคลื่นคือภัยความมั่นคงชายฝั่งทะเลปาตานี” เพื่อวิพากษ์การทำงานของกรมโยธาธิการในการป้องกันชายฝั่งที่สร้างความเสียหายต่อชายหาดที่ผ่านมา
กรมโยธาธิการต้องยุติบทบาทในการป้องกันชายฝั่งอีกต่อไปเเละให้กำเเพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำ EIA โดยเร็ว
ภายหลังจากเวทีกลุ่มนักศึกษาเเละองค์กรชุมชนได้ร่วมกันประกาศวาระ เพื่อร่วมขบวนประชาชนทวงคืนชายหาด เรียกร้องรัฐบาลดำเนินการตาม 3 ข้อเรียกร้องภายในระยะเวลาที่กลุ่ม Beach for life ยื่นไว้หากไม่เป็นไปตามนั้น เตรียมเคลื่อนไหวพร้อมกันที่ กรุงเทพมหานคร
เเถลงการณ์
ตามที่กลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด 93 องค์กร ได้ยื่นข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ข้อต่อรัฐบาล เพื่อการคุ้มครองปกป้องหาดทรายจากการถูกทำลายด้วยกำแพงกันคลื่นและกรมโยธาธิการและผังเมือง ดังต่อไปนี้
- ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งแก้ไขมติคณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมืองในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมโยธาธิการฯไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า กรมโยธาธิการฯ ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อทำลายชายหาด
- ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเอาโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังเดิม เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิให้แก่ประชาชนและชุมชน รวมถึงเพื่อให้เกิดกระบวนการและกลไกในการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนก่อนดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น
- ขอให้คณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้มีการฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาดังเดิม
กลุ่มองค์กรนักศึกษา และ องค์กรชุมชนในพื้นที่ปาตานี ขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบเร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ของกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด
ที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของรัฐบาลมีความล้มเหลว และขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลจากการปล่อยให้กรมโยธาธิการและผังเมือง มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยที่ได้รับงบประมาณในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมากที่สุด แต่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืนได้ อีกทั้งการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เป็นช่องวางที่ทำให้กรมโยธาธิการอาศัยประโยชน์จากการที่กำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA ดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นทั่วทุกชายฝั่งในประเทศไทย 107 โครงการจาก 125 โครงการหลังถอดกำแพงกันคลื่นออกจาก EIA ใช้งบประมาณ 6,694,899,400 บาท แต่กลับสร้างความเสียหายต่อชายฝั่งทำให้ชายหาดหายไป ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาแล้วประสบความสำเร็จ มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ใหม่ แต่กลับสร้างปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ใหม่อย่างต่อเนื่อง และต้องถลุงงบประมาณเพื่อป้องกันชายฝั่งต่ออย่างไม่จบสิ้น นอกจากนั้น กรมโยธาธิการฯ ยังกลายเป็นกรมต้นเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน และ ประชาชนกับรัฐในการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น และมีการฟ้องร้องคดีต่อศาลอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า กรมโยธาธิการฯไม่มีความเหมาะสมในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะนโยบายในการแก้ปัญหาไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ องค์ความรู้ทางวิชาการในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือไม่เป็นผลดีต่อชุมชน ทำลายวิถีวัฒนธรรม และปากท้องของประชาชนที่ใช้ชีวิตพึ่งพาหาดทรายในการดำรงวิถี
การเพิกถอดกำแพงกันคลื่นออกจาก EIA เป็นการเปิดช่องให้กรมโยธาฯมีพฤติการณ์กระเหี้ยนกระหือรือใช้งบประมาณทำลายชายหาด โดยไม่เลือกสรรวิธีการอื่นๆที่ดีกว่าในการแก้ปัญหาป้องกันชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงของรัฐ และด้วยเหตุผลประการทั้งปวงจึงไม่ควรปล่อยให้กำแพงกันคลื่นดำเนินโครงการไปโดยปราศจากการทำ EIA สำคัญกว่านั้นคือไม่ควรให้กรมโยธาธิการฯ ดำเนินการแก้ปัญหาป้องกันชายฝั่งอีกต่อไป
กลุ่มองค์กรนักศึกษา องค์กรชุมชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ปาตานี ที่ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลให้กรมโยธาธิการฯ ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโดยไม่ทำ EIA ขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบเร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ของกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาดโดยด่วน และพวกเราขอส่งเสียงเตือนไปยังรัฐบาลว่า หากข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ไม่เป็นไปตามที่ทางกลุ่ม Beach for life เสนอตามกรอบเวลา 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป พวกเราเครือข่ายในพื้นที่ปาตานีจะร่วมสมทบขึ้นไปทวงถามสัญญาที่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนหาดชายหาดอย่างแน่นอน
เราจักไม่ยอมปล่อยให้ชายหาดถูกทำลายย้ำยีอีกต่อไป เราขอส่งเสียงพูดแทนชายหาด และทวงคืนชายหาดของประชาชน กลับสู่ประชาชน
แถลงวันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน 2565
เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาดปาตานี