STREET VIEW ช่วยตอบ หาดปากบาราเคยถูกครอบครอง หรือไม่ ?

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่เอกชนอ้างสิทธิ์ครอบครองที่ดินบนชายหาดปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยทำการปักเสาปูน ปลูกต้นไม้บนชายหาด ความยาว 90-100 เมตร บริเวณหาดปากบาราฝั่งท่ามาลัยนั้น ทำให้สาธารณะตั้งคำถามถึงการกระทำดังกล่าวว่าทำได้หรือไม่ ?

ในขณะที่ภาคประชาชนสตูล ร้องเรียนให้มีการตรวจสอบกรณีดังกล่าวจากหน่วยงานต่างๆ ปรากฏพบข้อมูล สำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาคสาขาสตูล ว่า “…จากการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินเชื่อได้ว่า เจ้าของที่ดินไม่ได้ปล่อยทิ้งให้เป็นทางน้ำสาธารณะ อันเป็นไปตามระเบียบเจ้าท่า สำหรับที่ดินที่ถูกกัดเซาะยังไม่ถือว่าเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา 1034 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การก่อสร้างผนังกันตลิ่งหรืออาคารโรงเรือนลงที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ จึงไม่ใช่สิ่งล่วงล้ำลำน้ำแต่อย่างใดและไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าท่า”

และ องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ ได้รับรองว่าเจ้าของที่ดินได้มีที่ดินตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) โดยได้ครอบครองทำประโยชน์ และปักแนวเขตแสดงการหวงแหนในกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนตลอดมา ปัจจุบันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ พร้อมได้ชำระบำรุงท้องที่เป็นประจำทุกปีตลอดจนถึงปัจจุบัน และได้ลงชื่อรับรองแนวเขตด้านจดทะเลอันดามันแล้ว

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น พื้นที่ดินดังกล่าวนั้นเป็นที่ดินซึ่งเอกชนมีกรรมสิทธิ์ ยังไม่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากมีการหวงกันและทำประโยชน์โดยตลอด

ในขณะที่ข้อมูลดังกล่าวปรากฏต่อสังคม และสาธารณะ ทำให้ประชาชนทั่วไป และสังคม มีข้อสังเกตถึงความชอบธรรมในการตรวจสอบของหน่วยงานระดับจังหวัด ว่า ได้มีการดำเนินการอย่างถูกต้องตรงไปตรงมาหรือไม่ อย่างไร เนื่องจาก สาธารณะ และประชาชนนั้นต่างยืนยันว่าที่ดินดังกล่าวมีสภาพเป็นหาดทรายที่ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ไม่เคยเป็นที่ดินของเอกชนรายใดมาก่อน รวมทั้งไม่เคยมีการหวงกันมาก่อน

แต่อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน Beach for life ได้ทำการตรวจสอบที่ดินดังกล่าวเช่นกัน โดยใช้โปรแกรม Google Street View พบว่า Google Street View ได้บันทึกภาพตลอดแนวชายหาดปากบารา ในพื้นที่ดังกล่าวไว้ในช่วงเดือน พฤษภาคม 2559 ได้การสำรวจในมุมมองต่างๆแล้ว ไม่พบการหวงกันโดยใช้เสา หรือการปักแนวเขตแสดงเขตที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด

นอกจากนั้น Street view กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีการบันทึกไว้ ในมุมมองเดียวกับปี 2559 พบว่า ไม่ปรากฎการครอบครองหรือมีหลักฐานการเเสดงการหวงกันเเต่อย่างใด อีกทั้งการสำรวจภาพจาก Google ที่ได้ประชาชน Check in ไว้ ในช่วงปี 2559-2564 ที่ผ่านมาก็ไม่พบการหวงกันแต่อย่างใด

กฎหมายเจ้าท่า ว่าด้วยที่ดินถูกกัดเซาะชายฝั่ง

กรณีที่ดินติดชายฝั่งทะเล และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งที่ดินนั้นกลายเป็นเขตทะเลนั้น กรมเจ้าท่า ได้ชี้แจงต่อกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน และได้มีหนังสือประชาสัมพันธ์และชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการพิสูจน์แนวกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินริมทางน้ำสาธารณะที่ถูกน้ำกัดเซาะที่ประชาชนยังครอบครองอยู่ โดยกรมเจ้าท่าระบุว่า “หลักเกณฑ์และแนวทางในการพิสูจน์แนวเขตริมน้ำสาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่านั้น หากปรากฏว่า ที่ดินถูกกัดเซาะ การพิสูจน์สิทธิในแนวเขตที่ดินต้องพิจารณาเอกสารหลักฐานในการแสดงสิทธิหวงกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการหวงกันนั้นกระทำได้หลายวิธี ได้แก่ การปักเสาปูน เสาไม้ หรือวัสดุใดๆ แสดงอาณาเขตไว้โดยไม่ประสงค์ให้เป็นที่สาธารณะ การถมดิน และหิน การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง การติดตั้งป้ายแสดงแนวเขตการนำเสนอการสิทธิ์ไปแสดงต่อหน่วยงานรัฐ เป็นต้น

หากปรากฏว่า เจ้าของที่ดินมิได้ครอบครองหรือแสดงสิทธิในการหวงกันที่ดินดังกล่าวโดยปล่อยให้เป็นที่ดินที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ให้เจ้าหน้าที่ระวังชี้ และลงชื่อรังรองแนวเจรที่ดินตามแนวเขตที่ที่ที่ถูกน้ำเซาะ โดยพิจารณาจากสภาพชายฝั่ง สภาพของตลิ่งที่ดินข้างเคียง และทางน้ำของแต่ละพื้นที่ประกอบด้วย ”

นี้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการพิจารณากรณีที่ดินที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล และมีสภาพเป็นชายหาด ซึ่งท้ายที่สุด การพิสูจน์ข้อเท็จจริง ทำความจริงให้ปรากฏคงต้องอาศัยการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

Published by Beach for life

บรรณาธิการกลุ่ม Beach for life

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s