ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน

ความเป็นมา

หากเรากล่าวถึงการพังทลายของหาดสมิหลาหลายๆคนอาจจะคิดว่าเกิดจากภาวะโลกร้อนบ้าง ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงบ้าง แต่จากสถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าหาดสมิหลา ตั้งแต่เก้าเส้งถึงชลาทัศน์รวมระยะทาง ๓ กิโลเมตร ถูกกัดเซาะและพังทลายลง ด้วยโครงสร้างแข็งที่เข้ามารุกล้ำพื้นที่ชายฝั่ง ความเข้าใจผิดเช่นนี้ของภาคประชาชนเอง หน่วยงาน องค์กรต่างๆ หรือ ผลประโยชน์ทับซ้อนของคนบางกลุ่ม ทำให้การพังทลายของหาดสมิหลายิ่งทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

กลุ่ม Beach for life ปีที่ ๑ พวกเราพยายามสร้างเครือข่ายและองค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพังทลายของหาดสมิหลาให้คนสงขลาได้เข้าใจ และตระหนักคุณค่าที่จะร่วมดูแลหาดสมิหลา แต่กระบวนการทำงานที่ผ่านมา ทำให้พวกเราต้องกลับมาทบทวนสิ่งที่เรียกว่า “การสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของคนสงขลา”  พวกเราได้เริ่มศึกษาการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้เราค้นพบแนวคิดกระบวนการจัดทำข้อตกลงร่วมกันของชุมชน หรือ ธรรมนูญชุมชน จากชุมชนชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการสร้างกระบวนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ในการกำหนดกฎ กติกา ข้อตกลงของคนในชุมชน เพื่อกำหนดทิศทางอนาคตของคนในชุมชน หลังจากที่เรียนพวกเราจึงเดินสายสร้างความรู้ การมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนข้อมูลและเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนเยาวชนทั้ง ๙ สถาบันการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา, โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา, โรงเรียนแจ้งวิทยา, โรงเรียนวชิรานุกุล,  โรงเรียนเทศบาล ๕ (วัดหัวป้อมนอก), มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนสงขลา เขต ๙  เพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันหรือที่เรียกว่า ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาสมิหลาอย่างยั่งยืน พวกเราหวังธรรมนูญเยาวชนฯ ของพวกเราจะเป็นเครื่องมือเป็นเสมือนกลไกที่เชื่อมร้อยคนสงขลาให้มีหัวใจที่เข้าใจและเห็นคุณค่าของหาดสมิหลา และร่วมกันดูแลหาดสมิหลาให้คงอยู่เป็นมรดกทางธรรมชาติของคนสงขลาอย่างยั่งยืน

ตัวเเทนเยาวชนสงขลาประกาศธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ณ ริมชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา โดยมีนายกเทศบาลนครสงขลา เเละตัวเเทนภาคประชาสังคม เเละพลเมืองเยาวชนสงขลาร่วมเป็นสักขีพยาน

ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน ฉบับที่ ๑ พุทธศักราช ๒๕๕๗

ข้อที่ ๑ ธรรมนูญฉบับนี้ เรียกว่า “ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน ฉบับที่ ๑ พุทธศักราช ๒๕๕๗”

ข้อที่ ๒ ธรรมนูญฉบับนี้ให้มีผลให้ใช้ ณ วันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ ตั้งแต่วันประกาศนี้ เป็นต้นไป

ข้อที่ ๓ ธรรมนูญฉบับนี้ มีผลให้ใช้กับพลเมืองเยาวชนสงขลา และกลุ่ม องค์กร หรือหน่วยงานภาครัฐอื่นๆที่เข้ามาดำเนินกิจกรรมภายในพื้นที่หาดสมิหลา

นิยามศัพท์

ข้อที่ ๔  ในธรรมนูญนี้

“หาดสมิหลา” หมายถึง  หาดทรายภายในเขตเทศบาลนครสงขลา จากหาดบริเวณแหลมสนอ่อนหาดสมิหลา โขดหินสมิหลา ถึงหาดเก้าเส้ง

“ระบบนิเวศหาดสมิหลา” หมายถึง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยริมหาดสมิหลา รวมถึงวิถีชีวิตของคนที่ผูกพัน สิ่งมีชีวิตที่อิงอาศัยกับท้องทะเล หาดทราย และป่าสนเมืองสงขลา

 “วิถีชีวิตคนสงขลา” คือ การดำเนินชีวิตของคนสงขลาที่เต็มไปด้วยความสุข ความอบอุ่น ภายใต้ความหลากหลายของวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติของเมืองสงขลา

“คุกคาม แทรกแซง” หมายถึง  การกระทำของมนุษย์ที่ไม่ควรกระทำต่อหาดสมิหลา โดยการใช้โครงสร้างต่างๆ หรือการรุกล้ำพื้นที่หาดทราย ที่เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศน์หาดทรายและสมดุลชายฝั่งทะเล

“พลเมืองเยาวชนสงขลา” หมายถึง เยาวชนที่มีอายุระหว่าง ๑๔ – ๒๔ ปี อาศัยและศึกษาอยู่ในเขตจังหวัดสงขลา มีจิตสำนึกในการเข้ามามีส่วนร่วมอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน

“การมีส่วนร่วม” หมายถึง การแสดงออกถึงการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมนำเสนอ และร่วมรับผิดชอบในกิจกรรมต่างๆ เพื่อการปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟู และอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่าง สอดคล้องตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“วิสัยทัศน์” หมายถึง การมองภาพอนาคตหาดสมิหลาของพลเมืองเยาวชนสงขลา และร่วมกันกำหนดจุดหมายที่ต้องการไปด้วยกัน ให้ชัดเจน และมีความเป็นไปได้

“พันธกิจ” หมายถึง งาน ภารกิจ หรือหน้าที่ที่มีผลผูกพันกับพลเมืองเยาวชนสงขลาในการร่วมกันอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน

“ยุทธศาสตร์” หมายถึง การกำหนดทิศทางในการอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืนในปัจจุบันและอนาคต

 “ภาคีเครือข่าย” หมายถึง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา องค์กร กลุ่ม หรืออาสาสมัคร ที่ร่วมกันอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน

“สิทธิพลเมืองเยาวชนสงขลา” หมายถึง สิทธิของเยาวชนสงขลาที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาหาดสมิหลา และป่าสนเมืองสงขลา เพื่อให้มีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี

“หน้าที่พลเมืองเยาวชนสงขลา” หมายถึง เยาวชนสงขลามีหน้าที่อนุรักษ์หาดสมิหลา และป่าสนเมืองสงขลา

 “สภาพลเมืองเยาวชนสงขลา” หมายถึง การรวมกลุ่มพลเมืองเยาวชนที่มีอุดมการณ์ แนวคิด ความมุ่งมั่น ในการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืนตามธรรมนูญฉบับนี้

 “การเข้าถึงข้อมูล” หมายถึง การที่พลเมืองเยาวชนสงขลาหรือบุคคลทั่วไปสามารถรับรู้และใช้ประโยชน์จากข้อมูลหรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับหาดสมิหลา จากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้

“เขตพื้นที่อนุรักษ์” หมายถึง อาณาบริเวณของหาดสมิหลาที่พลเมืองเยาวชนสงขลาร่วมกันกำหนด มิให้รุกล้ำ คุกคาม แทรกแซง ทำลาย หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

“การเฝ้าระวัง” หมายถึง การสอดส่อง ดูแล ติดตาม และประเมินสถานการณ์ของหาดสมิหลา มิให้ผู้ใดกระทำการรุกล้ำ คุกคาม แทรกแซง ทำลาย หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

หมวดที่ ๑

ปรัชญาแนวคิดของธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน

ข้อที่ ๕ เยาวชนสงขลาทุกคนที่มีจิตสำนึก รัก เห็นคุณค่าและหวงแหนหาดสมิหลา ได้ใช้สิทธิและหน้าที่ที่มีในการเรียนรู้และมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในการร่วมกันบำรุงรักษาหาดสมิหลา เพื่อมิให้ถูกคุกคาม แทรกแซง ทำลายหรือให้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และเพื่อธำรงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความสุขตามวิถีชีวิตคนสงขลา โดยอาศัยสิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้มีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล เพื่ออนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติของคนสงขลาที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษให้คงอยู่คู่เมืองสงขลา หาดสมิหลาต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุขและเป็นมรดกทางธรรมชาติของคนสงขลาทุกคนที่ยังคงมีอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

หมวดที่ ๒

สภาพลเมืองเยาวชนสงขลา

ข้อที่ ๖ สมาชิกสภาพลเมืองเยาวชนสงขลาตามธรรมนูญฉบับนี้ ให้มีองค์ประกอบดังนี้

๖.๑. ตัวแทนแกนนำเยาวชนจากสถาบันการศึกษาที่ร่วมกันจัดทำธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งได้แก่ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา, โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา, โรงเรียนแจ้งวิทยา, โรงเรียนวชิรานุกุล,  โรงเรียนเทศบาล ๕ (วัดหัวป้อมนอก), มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนสงขลา เขต ๙  สถาบันละ ๓-๕ คน โดยมีคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกสภาพลเมืองเยาวชนตามธรรมนูญฉบับนี้

๖.๒. ที่ปรึกษาสภาพลเมืองเยาวชน  ได้แก่ ผู้แทนเทศบาลนครสงขลา ๒ คน ผู้แทนองค์กรภาค ประชาสังคม ๒ คน นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ๒ คน  ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ๒ คน

ข้อที่ ๗ สภาพลเมืองเยาวชนมี สิทธิ อำนาจ และบทบาทหน้าที่ ดังนี้

๗.๑ ให้สภาพลเมืองเยาวชนเป็นกลไกประสานงานและดำเนินกิจกรรมต่างๆที่เป็นการขับเคลื่อนธรรมนูญฉบับนี้

๗.๒ ออกระเบียบ ข้อบังคับ ต่างๆ เพื่อกำกับดูแล และบริหารจัดการสภาพลเมืองเยาวชน

๗.๓ การบริหารจัดการสภาพลเมืองเยาวชนสงขลา ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสภาพลเมืองเยาวชนสงขลา

๗.๔ มีอำนาจปรับปรุงแก้ไขธรรมนูญฉบับนี้  ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในหมวดที่ ๕ ของธรรมนูญฉบับนี้

๗.๕. ระดมทุนหรือจัดหางบประมาณสนับสนุน จากองค์กร หน่วยงานภาครัฐ เอกชนองค์ภาคประชาสังคม หรืออื่นๆตามความเหมาะสม เพื่อใช้ในการดำเนินงานภายใต้ธรรมนูญฉบับนี้

ข้อที่ ๘ สมาชิกสภาพลเมืองเยาวชนต้องมีคุณลักษณะไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองเยาวชนที่มีต่อหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลาตามหมวด ๓ ของธรรมนูญฉบับนี้

หมวดที่ ๓

หน้าที่พลเมืองเยาวชนสงขลาที่มีต่อหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

          ข้อที่ ๙ พลเมืองเยาวชนสงขลาต้องเห็นคุณค่า หวงแหน และตระหนักถึงความสำคัญของหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๐ พลเมืองเยาวชนสงขลาต้องตื่นตัว มุ่งมั่น และอดทนที่จะมีส่วนร่วมเพื่อแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ในการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลาอย่างยั่งยืน

ข้อที่ ๑๑ พลเมืองเยาวชนสงขลาต้องร่วมกันศึกษา วิจัย และจัดทำฐานข้อมูลระบบนิเวศหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๒ พลเมืองเยาวชนสงขลาต้องมีความรู้ ความเข้าใจและสนใจในกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศของหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๓ พลเมืองเยาวชนสงขลาต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการคุกคาม แทรกแซง ทำลายหรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๔  พลเมืองเยาวชนสงขลามีหน้าที่ในการแบ่งเขตความรับผิดชอบเพื่อดูแลรักษาทัศนียภาพ ฟื้นฟู ปกป้อง และอนุรักษ์เขตพื้นที่อนุรักษ์ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของ  หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา เช่น การรักษาความสะอาด ควบคุมสิ่งปฏิกูล เพิ่มพื้นที่ป่า ฯลฯ เป็นต้น 

หมวดที่ ๔

สิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เพื่อดำรงชีพอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

ข้อที่ ๑๕  สิทธิในการมีส่วนร่วมกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลาอย่างยั่งยืน

ข้อที่ ๑๕.๑  พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิในการร่วมกันกำหนดและดูแลเขตพื้นที่อนุรักษ์ของหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๕.๒ พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิร่วมกับรัฐและชุมชนในการยื่นข้อเสนออันเกี่ยวข้องกับระเบียบ ข้อบังคับต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้บังคับหรือดำเนินการกับเขตพื้นที่อนุรักษ์สมิหลาและป่าสนในเขตเทศบาลนครสงขลา  รวมถึงการประสานและติดตามให้หน่วยงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการออกประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์หาดสมิหลาและป่าสนในเขตเทศบาลนครสงขลา และประกาศที่ว่าด้วยระเบียบและข้อบังคับอันเกี่ยวเนื่องกับเขตอนุรักษ์หาดสมิหลาและป่าสนในเขตเทศบาลนครสงขลา

ข้อที่ ๑๕.๓ พลเมืองเยาวชนมีสิทธิร่วมกับรัฐและชุมชนในการยื่นข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาประกาศและข้อบังคับต่างๆอันเกี่ยวเนื่องกับเขตพื้นที่อนุรักษ์หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๖  สิทธิในการมีส่วนร่วมจัดการหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๖.๑  พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิในการร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ รวมถึงร่วมกันดำเนินการเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๖.๒  พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิในการร่วมกันแบ่งเขตความรับผิดชอบเพื่อดูแลรักษาทัศนียภาพ ฟื้นฟู ปกป้อง และอนุรักษ์เขตพื้นที่อนุรักษ์ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา เช่น การรักษาความสะอาด ควบคุมสิ่งปฏิกูล เพิ่มพื้นที่ป่า ฯลฯ เป็นต้น 

ข้อที่ ๑๖.๓  พลเมืองเยาวชนมีสิทธิในการร่วมกันแสดงออกหรือดำเนินการเฝ้าระวัง ยับยั้ง การกระทำใดๆอันเป็นการคุกคาม แทรกแซง ทำลายระบบนิเวศน์ของหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา เช่น เฝ้าระวังการแทรกแซงระบบนิเวศหาดสมิหลาจากโครงสร้างต่างๆที่จะส่งผลเชิงลบต่อระบบนิเวศน์หาดสมิหลาทุกรูปแบบ ฯลฯ เป็นต้น

ข้อที่ ๑๖.๔  พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิในการร่วมกันจัดตั้งชมรม จัดตั้งกลุ่มองค์กร  เครือข่ายอาสาสมัคร เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามและฟื้นฟูอนุรักษ์หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๖.๕  พลเมืองเยาวชนสงขลาสิทธิในการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดำเนินการต่างๆเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศหาดสมิหลาให้สอดคล้องกับหลักวิชาการ เช่น การเติมทราย การรื้อถอนโครงสร้างแข็ง เป็นต้น

ข้อที่ ๑๗ พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิในการเข้าถึงและได้รับบริการข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลาจากหน่วยงานของรัฐ

ข้อที่ ๑๘ พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิในการร่วมกันกับภาคีเครือข่ายพลเมืองเยาวชน หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนในการจัดตั้งศูนย์กลางเพื่อการสร้างสื่อ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูอนุรักษ์ระบบนิเวศน์หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลาสู่สาธารณะ

ข้อที่ ๑๙ พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิในการร่วมกันจัดกิจกรรมหรือกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทัศนคติ หรือข้อเสนอแนะ เพื่อเผยแพร่ความรู้ ปลูกจิตสำนึกและสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลาอย่างยั่งยืน

ข้อที่ ๒๐  พลเมืองเยาวชนมีสิทธิในการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์และกล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อเจ้าพนักงาน ในกรณีที่มีการพบเห็นการกระทำใดๆ อันเป็นการละเมิดบทบัญญัติของกฎหมายหรือการกระทำอันเป็นการทุจริตคอรัปชั่น ในโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๒๑ พลเมืองเยาวชนสงขลาย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อน                 การอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา และพลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

หมวดที่ ๕

การแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญเยาวชนปกป้องหาดสมิหลา

ข้อที่ ๒๒ การแก้ไขธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๗ ให้กระทำโดยขั้นตอนเดียวกันกับกระบวนการจัดทำธรรมนูญ หรือ กระทำโดยผ่านสภาพลเมืองเยาวชน ที่จัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญฉบับนี้ โดยต้องเสนอหลักการและเหตุผลประกอบที่ชัดเจน และแจ้งวาระดังกล่าวแก่สาธารณะก่อนจัดกระบวนการแก้ไขธรรมนูญเยาวชนปกป้องหาดสมิหลาฉบับนี้ ไม่น้อยกว่า ๔๐ วัน มติการแก้ไขเพิ่มเติมต้องมีผู้เห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมประชุม

กลุ่ม Beach for life เเละตัวเเทนเยาวชนสงขลา 9 สถานบันการศึกษา ได้ลงนามร่วมกับนายกเทศบาลนครสงขลา เเละภาคประชาสังคมในจังหวัดสงขลา เพื่อรับรองธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน

นางสาวภัฏฏินี คงประดิษฐ์ ตัวเเทนกลุ่ม Beach for life เเละพลเมืองเยาวชนสงขลาจาก 9 สถานบันการศึกษาลงนาม MOU ในธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน
นายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศบาลเมืองสงขลา ลงนาม MOU รับรองธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน
ตัวเเทนเยาวชน ภาคประชาสังคม เเละนักวิชาการ ร่วมเป็นสักขีพยานการประกาศธรรมนูญเยาวชนฯ เเละรับรองการลงนาม MOU ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน

Published by Beach for life

บรรณาธิการกลุ่ม Beach for life

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s