แหลมสนอ่อน ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ป่าสนชายหาดที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง มีเนื้อที่ประมาณ 700 ไร่ แหลมสนอ่อนมีลักษณะเป็นแหลม มีอาณาเขตทิศเหนือจรดกับปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลา ทิศใต้ติดต่อกับเขาตังกวนและแหลมสนอ่อน ทิศตะวันตกติดต่อกับทะเลสาบสงขลาและทิศตะวันออกติดต่อกับทะเลอ่าวไทย แหลมสนอ่อนได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม โดยที่อาจมีพายุจรพายุช่วงเปลี่ยนฤดูกาลในปลายเดือนตุลาคมและกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมซึ่งจะทำให้คลื่นลมในทะเลมีกำลังแรง
กำเนิดเเหลมสนอ่อนที่กว้างใหญ่
แหลมสนอ่อนได้ถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและนันทนาการของคนสงขลาและนักท่องเที่ยว มีสถานที่ท่องเที่ยวได้แก่ อควาเลี่ยม และ Samila Camping รวมถึงการเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการต่างๆ เช่น สำนักงานอัยการ สำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาค แต่กว่าแหลมสนอ่อนจะกลายเป็นป่าสนชายหาด ที่มีต้นสนทะเลปกคลุมพื้นที่กว่า 500 ไร่นั้น เดิมทีแหลมสนอ่อนสภาพพื้นที่กว้างน้อยกว่าในปัจจุบันมาก ตามหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2510 พัฒนาการแหลมสนอ่อนเริ่มต้นจากการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำเดินเรือของทะเลสาบ ในปี พ.ศ.2511 ความยาวประมาณ 700 เมตร ส่งผลให้ทรายที่เคลื่อนที่จากทิศใต้มาทับถมทางด้านใต้โครงสร้างนี้ แหลมสนอ่อนเริ่มขยายพื้นที่เนื่องจากการสะสมตัวของตะกอนทราย ต่อมาได้มีการต่อขยายความยาวของเขื่อนกันทรายและคลื่นออกไปอีก 200 เมตร ทำให้มีความกว้างของแหลมสนเพิ่มขึ้น จนพบว่ามีพื้นที่งอกประมาณ 497.42 ไร่ (ปี 2510-2555) (อ้างอิงเอกสารบทความของ ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ในเอกสารประกอบกิจกรรม กอดสนรับขวัญปีใหม่ 2556)


การสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลา ทำให้ตะกอนทรายที่เคลื่อนตัวขนาดตามแนวชายฝั่งติดสะสมในฝั่งด้านใต้โครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น แผ่นดินบริเวณแหลมสนอ่อนที่ค่อยๆงอกขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี ตะกอนทรายหลายล้านเม็ดได้รวมกันเป็นชายหาด เม็ดทรายหน้าหาดที่ถูกตากจนแห้งจะถูกลมพัดพาทับถมจนเกิดเป็นเนินทรายลูกเล็กๆทอดตัวขนานกับแนวชายฝั่ง การเกิดขึ้นของเนินทรายลูกอ่อน(Embryo dune) ทำให้กลุ่มพืชบุกเบิก หรือ Pioneer species ซึ่งเป็นพืชกลุ่มแรกที่เข้ามายึดครองโดยมีผักบุ้งทะเล ถั่วคล้าทะเล คนทีสอทะเล หญ้าลอยลม และกกลำซ้อนใบ เป็นกลุ่มพืชชนิดแรกเข้ายึดครองพื้นที่เกิดใหม่ เเละปัจจุบันกลายเป็นสวนสน เเหลมสนอ่อน ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 500 ไร่
พันธุ์ไม้ในเเหลมสนอ่อน
การสำรวจบัญชีรายชื่อพันธุ์ไม้ในสังคมพืช(Species list of The Plant Community) ของสวนสน เเหลมสนอ่อน พบว่ามีชนิดพืช 64 ชนิด ดังรูป และยังมีพืชที่ไม่สามารถระบุชนิดได้อีก จำนวน 41 ชนิด ดังนี้





นกในเเหลมสนอ่อน
การสำรวจนกในสวนสนเเหลมสนอ่อน ทำให้พบนกจำนวน 24 ชนิด เป็นนกที่มีความสำคัญเช่น นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกเหยี่ยวแดง นกชมพูสวน นกตีทอง นกแซงแซว นกจาบคาหัวสีส้ม เป็นต้น ซึ่งนกเหล่านี้ได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของป่าสนชายหาด บริเวณแหลมสนอ่อน บางตัวสร้างถิ่นที่อยู่ประจำ บางตัวอพยพไปมา นกตัวเล็กๆเหล่านี้ได้รักษาสมดุลทางธรรมชาติไว้ให้สมบูรณ์ (ภาพ โดยประทักษ์ เเก่งกระจ่าง เเละอภิศักดิ์ ทัศนี)


อ้างอิงข้อมูล
- บทความของ ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ในเอกสารประกอบกิจกรรม กอดสนรับขวัญปีใหม่ 2556
- หนังสือ คู่มือเรียนรู้สวนสน โดยกลุ่ม กอดสน เเละกลุ่ม Beach for life, 2564
