ในสังคมไทยเราพูดถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมานาน เเละหลายครั้งที่เราเผชิญการกัดเซาะชายฝั่ง มันเป็นปรากฎการณ์ในระยะสั้นที่กัดเซาะเเล้วกระทบต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชน เมื่อผ่านไปชายหาดก็ฟื้นฟูกลับมา เเละในหลายครั้งปรากฎการณ์การกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นเเบบชั่วครั้ง ชั่วคราวนั้น ได้นำมาซึ่งโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ใหญ่โต เเละกลับกลายเป็นตัวการทำให้เกิดการกัดเซาะอย่างถาวร
บทความชิ้นนี้ ถอดการบรรยายของ ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เเละคุณอภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach for life ในหัวข้อ “กัดเซาะชายฝั่งควรถือเป็นสาธารณภัย” เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมการกัดเซาะชายฝั่งถึงควรต้องเป็นสาธารณภัย เเละตัวอย่างพื้นที่ชายหาดที่จัดการภัยการกัดเซาะชายฝั่งด้วยการใช้มาตรการชั่วคราว
ทำไมการกัดเซาะชายฝั่งต้องเป็นสาธารณภัย
ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง : ยิงหมัดตรง เข้าประเด็นเลยว่า “ทำไมเราต้องให้เรื่องของการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นหนึ่งในนิยาม ของ ภัยพิบัติในพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่กำลังขอแก้ไข ?” เหตุผลสำคัญๆด้วยกัน 3 ประการ เหตุผลประการแรก คือ พฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งเข้าไปพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ในบริเวณรอบชายฝั่งมากจนล้ำเกินความพอดีทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง การที่มนุษย์เข้าไปแทรกแซงธรรมชาติทำให้ในระดับแรกที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติสู่ธรรมชาติกลายเป็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติ และ ด้วยน้ำมือมนุษย์
ประการที่ 2 คือ เป็นเรื่องของความเร่งด่วนฉุกเฉิน ซึ่งการจัดการแบบนี้เป็นลักษณะของการจัดการกับภัยพิบัติซึ่งเป็นสาธารณภัยที่เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้วจะรออยู่ต่อไปไม่ได้ หากเรารอจะทำให้เกิดความเสียหายที่ลุกลามบานปลาย การกัดเซาะชายฝั่งเป็นเรื่องที่เกิดแล้วต้องจัดการอย่างเร่งด่วน
ประการที่ 3 ความเสียหายนั้นคาดเดาได้ยาก เพราะบริบทของแต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกัน ความรุนแรงของพายุที่พัดเข้าในพื้นที่ ๆ หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นหาดฝั่งตะวันตกหรือตะวันออกหรืออยู่ในพื้นที่ชายฝั่งใดของประเทศไทย ก็มีความรุนแรงที่ไม่เท่ากัน หรือเแม้แต่การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่แตกต่างกัน อย่างบางพื้นที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว บางที่เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ฯ ล ฯ
ดังนั้น เราควรจะยกนิยามการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นหนึ่งในนิยามของภัยพิบัติเพื่อที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าไปช่วยเหลือได้เร็วกว่า เพราะมันคือชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อให้การช่วยเหลือนั้นช่วยได้อย่างทันท่วงที
บทเรียนเมื่อการกัดเซาะชายฝั่งไม่เป็นสาธารณภัย
ปัจจุบันรัฐใช้กลไกที่ใช้ในการจัดการกับการกัดเซาะชายฝั่งในช่วงที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ คือ การสร้างโครงสร้างแข็งลงไปบนชายหาด ซึ่งเราเสียงบประมาณจำนวนมหาศาลไปกับสิ่งเหล่านี้ ในปี 2565 รัฐใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 1,400,000,000 บาท จาก 3 กรมหลัก ที่มีอำนาจหน้าที่ คือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการแลผังเมือง ซึ่งมีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นกำแพงกันคลื่นโครงสร้างแข็ง โดยเฉพา การก่อร้างกำเเพงกันคลื่น เช่น หินทิ้ง หินเรียงใหญ่ เกเบี้ยน เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง ฯ ล ฯ นี่คือสิ่งที่หน่วยงานรัฐทำมาตลอด

เมื่อการกัดเซาะชายฝั่งไม่เป็นสาธารณภัย หลายครั้งปัญหา ความจำเป็น เร่งด่วน ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นมันจบไปเเล้ว เเละเรากลับได้กำเเพงกันคลื่น ที่เกิดขึ้นหลังหมดความจำเป็น เร่งด่วนมาเเทน
ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ประเด็นสำคัญ คือ ถ้าหากเราไม่กำหนดให้การกัดเซาะชายฝั่งเป็นหนึ่งในนิยามของภัยพิบัติ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เมื่อการกัดเซาะชายฝั่ง ไม่ได้อยู่ในนิยามของภัยพิบัติ จะไม่เป็นเรื่องของความจำเป็นเร่งด่วนที่หน่วยงานจะต้องเร่งเข้ามาแก้ปัญหา ทำให้ภาระตกไปอยู่กับท้องถิ่นและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ที่จะต้องร้องเรียนไปยังหน่วยงานส่วนกลาง เช่น กรมโยธาธิการ หรือ กรมเจ้าท่า เมื่อหน่วยงานส่วนกลางรับเรื่องแล้วด้วยความปรารถนาดี ก็ไปจ้างศึกษาออกแบบใช้เวลาประมาณ 1 ปี ตั้งงบประมาณอีกอย่างน้อย 1 ปี ใช้เวลาก่อสร้างส่วนใหญ่ก็จะใช้เวลาประมาณเกือบ 2 ปี รวมแล้ว 4 ปี ถ้าบ้านเรือนกำลังจะไหลลงทะเลมันก็คงไหลลงไปแล้ว ถนนที่กำลังจะถูกกัดเซาะ ก็คงจะถูกกัดเซาะจนพังไปแล้ว หรือหากถ้าใช้วิธีการที่ท้องถิ่นที่ใดกัดเซาะแล้วสร้าง กัดเซาะแล้วสร้าง ก็คงจะสร้างไปหลายรอบแล้ว
เพราะฉะนั้นเอาเข้าจริงความเสียหายที่เกิดขึ้น ความจำเป็น เร่งด่วน ฉุกเฉิน มันหมดไปแล้ว พื้นที่อาจเปลี่ยนแปลงสภาพไปแล้ว เช่น บ้านหลังนี้ที่ประจวบคีรีขันธ์ หลังจากผ่านพ้นมรสุมไปกลับมีทรายมากองอยู่ข้างหน้า เมื่อผ่านพ้นอีกมรสุมหนึ่งไปทะเลในช่วงมรสุมก็ไม่เหมือนกันแล้วมรสุมปีที่แล้วกับปีนี้ก็แตกต่างกัน กรณีหาดม่วงงาม หน่วยงานรัฐบอกว่า จะเกิดการกัดเซาะถนนเลียบชายฝั่งที่หาดม่วงงาม จังหวัดสงขลา ในตอนที่มีมรสุม มีการกัดเซาะชายฝั่งก็จริง แต่เมื่อผ่านไปอีกมรสุมหนึ่ง หาดคืนมาก็ไม่เกิดการกัดเซาะใด ๆ
ที่ผ่าน ๆ มา ภาพเหล่านี้คือเหตุแห่งการขอโครงการป้องกันชายฝั่ง หากดูจากรูปภาพจะเห็นได้ว่าถนนเกิดการกัดเซาะเป็นจุด ๆ ไม่ได้กัดเซาะตลอดทั้งแนวถนน คำถามคือทำไม อบต. ถึงไม่ซ่อมแซมหรือสร้างถนนใหม่ การสร้างถนนใหม่ใช้งบประมาณโดยประมาณ 80 ล้านบาท แต่สร้างกำแพงกันคลื่นกิโลเมตรละ 100,000,000 บาท ดังเช่นที่ หาดมหาราช จังหวัดสงขลา ได้โครงสร้างแข็งนี้ตลอดแนวชายฝั่ง ในราคร้อยกว่าล้านบาท ซึ่งมันเกินจำเป็นไปมากกับความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการกัดเซาะถนนเพียงครึ่งเลนและกัดเซาะเป็นจุด ๆ

เมื่อได้โครงสร้างที่แข็งแรงแบบนี้ มาลงบนชายหาดทำให้เกิดการแทรกแซงกระบวนการของชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อชาวประมงและชาวบ้านในพื้นที่ เช่น ชาวประมงจะจอดเรือยังไงหากมีโครงสร้างขั้นบันไดแทรกแซงบนชายฝั่ง ในอีกด้านหนึ่งกับโครงสร้างที่ใหญ่โตขนาดนี้ ทำให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ชายฝั่งถัดไปที่อยู่ท้ายสุดของกำแพงกันคลื่นนั้นทำให้เกิดการกัดเซาะอันเป็นผลมาจากการก่อสร้างกำแพงดังกล่าว แล้วหน่วยงานทำอย่างไรต่อการกัดเซาะในพื้นที่ถัดไปนี้ ก็สร้างต่อตามภาพนี้ ซึ่งเป็นเคสที่จังหวัดสงขลา ที่สะท้อนแนวคิดของการสร้างต่อไปเรื่อย ๆ

เพราะฉะนั้น กลไกนี้มันจะเป็นวนลูปที่สร้างต่อไปเรื่อย ๆ ที่ยิ่งสร้างก็ยิ่งกัดเซาะในพื้นที่ถัดไป แล้วหน่วยงานท้องถิ่นก็จะร้องขอไปยังส่วนกลาง ส่วนกลางก็จะนำโครงสร้างที่ใหญ่โตเกินความจำเป็นมาลงในเวลาที่ไม่มีความจำเป็น เร่งด่วน หลงเหลืออยู่อีกแล้ว และเมื่อสร้างเสร็จพื้นที่ถัดไปก็ถูกกัดเซาะอีก เป็นวงจรอุบาทว์แบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจะต้อง ให้ การกัดเซาะชายฝั่งอยู่ในนิยามของ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย. พ.ศ. 2550 เพื่อที่จะได้หยุดกลไกของวงจรอุบาทว์นี้ลง
มาตรการชั่วคราวสำคัญต่อการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งชั่วคราว
คุณอภิศักดิ์ ทัศนี : อย่างที่ ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง เล่าให้เห็นถึงว่า การกัดเซาะชายฝั่งในหลายพื้นที่นั้น เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เเละกระทบกับชีวิตทรัพย์สินของประชาชนที่เป็นลักษณะชั่วคราว คือ เกิดขึ้นในไม่กี่วันเเล้วผ่านไป หลังจากนั้นชายหาดก็ฟื้นฟูสภาพตนเองกลับมาหากไม่มีการรบกวนสมดุลของชายฝั่งด้วยการไปสร้างโครงสร้างต่างๆ

คราวนี้เมื่อลักษณะของการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงชั่วคราวที่เกิดขึ้นไม่กี่วัน เเละชายหาดก็จะฟื้นฟูสภาพกลับขึ้นมาได้ในระยะเวลาอันสั้น ในส่วนของผมกล่าวต่อไปคือ เมื่อการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นในขณะชั่วคราว เเต่ที่ผ่านมารัฐใช้มาตรการชั่วโคตรอย่างที่อาจารย์สมปรารถนา ได้อธิบายให้เห็นเเล้ว เเละไม่ทันเเก่เหตุ กล่าวคือ เหตุผ่านไปเเล้ว ปัญหาหมดไปเเล้ว เราพึ่งเริ่มต้นป้องกัน ซึ่งที่ผ่านมาการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นอย่างที่กล่าวไป คราวนี้ที่ชายหาดม่วงงาม จังหวัดสงขลา เขาใช้มาตรการชั่วคราวเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยท้องถิ่นและชุมชนซึ่งก็จะเป็นตัวอย่างจากพื้นที่ที่มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ที่ยกมาคือ เป็นกรณีของหาดม่วงงาม จังหวัดสงขลา


ภาพนี้เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของชายฝั่งในแต่ละช่วง ก็จะมีทั้งในช่วงของมรสุม ช่วงเปลี่ยนผ่านมรสุม ช่วงก่อนมรสุม เป็นต้น ซึ่งช่วงมรสุมมันก็จะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นในเวลาที่มันเกิด และช่วงที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ของชุมชนก็จะมีอยู่เพียงไม่กี่วันเท่านั้นที่จะส่งผล ซึ่งหลัก ๆ ก็จะส่งผลต่อทรัพย์สิน บ้านเรือน ถนนที่อยู่ติดกับชายหาดมากเกินไป เช่นที่หาดม่วงงามก็จะเป็นถนนที่เลียบติดชายหาด ที่เก้าเส้ง เป็นชายหาดที่ถูกกัดเซาะค่อนข้างบ่อย แต่เมื่อพ้นมรสุมชายหาดก็กลับมา
ภาพนี้ที่หาดม่วงงาม ในช่วงที่มีพายุปาบึกเข้ามาทำให้ในพื้นที่บางพื้นที่ถูกกัดเซาะ บางพื้นที่ก็ไม่ได้ถูกกัดเซาะ เป็นการกัดเซาะเป็นจุด ๆ อย่างที่อาจารย์สมปรารถนาได้กล่าวไป ซึ่งผู้ที่จะรู้ดีที่สุดก็คือคนในชุมชนว่าบ้านของฉันถูกกัดเซาะ บ้านของฉันไม่กัดเซาะ ซึ่งเมื่อดูข้อมูลใน Beach Lover ก็จะเห็นได้ว่าบางปีชายหาดก็ถูกกัดเซาะและบางปีก็ไม่ถูกกัดเซาะ (ข้อมูลแสดงในพื้นที่ของหาดม่วงงาม)


พื้นที่ที่มีการกัดเซาะชายฝั่งจริงแต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของโครงการซึ่งชาวบ้านก็ได้มีการแก้ปัญหาการกัดเซาะในบริเวณของพื้นที่นี้แบบชั่วคราว ซึ่งวิธีการที่ท้องถิ่นตั้งงบประมาณที่จะใช้ในการแก้ปัญหาแบบชั่วคราวตรงนี้โดยการนำกระสอบมาบรรจุทรายจากชายฝั่งตรงนั้นที่จะมีการกัดเซาะและปักไม้ในพื้นที่ถัดจากวางกระสอบทรายไปด้วย โดยใช้งบประมาณไปประมาณ 50,000-200,000 บาท ซึ่งกลุ่มชาวบ้านเหล่านี้ ก็จะเตรียมการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนมกราคม ใช้เวลาประมาณเกือบ 4 เดือน ในการที่จะป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแบบชั่วคราว เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนพื้นที่ตรงนี้ไม่ต้องการกำแพงกันคลื่นเพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการที่ชาวบ้านจะจอดเรือในช่วงมรสุม แต่เมื่อพ้นช่วงมรสุมชาวบ้านก็นำทรายกลับที่เดิมและถัดไปจากจุดนั้นที่ใช้วิธีการปักไม้ก็จะรื้อเก็บไว้ ซึ่งอันที่จริงเราไม่รู้หรอกว่าได้ผลหรือไม่ได้ผล ซึ่งมันอาจจะมีความผิดพลาดนิดนึงที่การจัดการแบบชั่วคราวแบบนี้ ต้องอาศัยการทำแล้วต้องรื้อออกด้วย ทำให้ท้องถิ่นรู้สึกว่าต้องมานั่งสร้างก็ต้องสร้างทุกปี เลยทำให้การขอโครงการจากกรมโยธาธิการฯ แทนเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า



และนี่คือภาพมาสเตอร์แปลนและภาพของโครงการที่กำลังจะก่อสร้าง เมื่อแล้วเสร็จมูลค่าการก่อสร้างทั้ง 3 ระยะใช้งบประมาณประมาณ 200 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกันถ้าเราใช้วิธีการทำตามมาตรการชั่วคราวแบบที่ชาวบ้านทำจะพบว่าในจำนวน 200 ล้านบาทนี้จะทำให้เราสามารถใช้วิธีแบบการป้องกันชั่วคราวได้ถึง 400 ปี เทียบจากงบประมาณสูงสุดปีละ 500,000 บาท ต่ำสุด 50,000 บาทต่อปี

ซึ่งในความเห็นของผม เห็นว่าการใช้มาตรการชั่วคราวมีความยั่งยืนมากกว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า ทำให้ประชาชนในชุมชน พี่น้องในพื้นยังมีชายหาดที่จะคงอยู่ สามารถจอดเรือบนชายหาดได้ สามารถที่จะบริหารจัดการความต้องการของชุมชนได้ ซึ่งเหล่านี้มันมีความยั่งยืนมากกว่าที่จะไปสร้าง กำแพงกันคลื่นซึ่งท้ายสุดมันเปลี่ยนภูมิภาคของชายหาดไปโดยสิ้นเชิง ก็คือเราจะไม่หลงเหลือชายหาดให้ได้เหยียบย่ำหรือจัดกิจกรรมบนชายหาดได้อีกเลย ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงสนับสนุนให้การกัดเซาะชายฝั่งควรจะเป็นหนึ่งในนิยามของคำว่าภัยพิบัติ เพราะเราจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ให้ดูว่าสิ่งเหล่านี้ประชาชนคนในชุมชนสามารถทำกันเองได้
สมมติถ้าในอนาคตเราสามารถทำให้การกัดเซาะชายฝั่งเป็นหนึ่งในนิยามของภัยพิบัติที่สามารถจัดการได้ สิ่งที่เราจะต้องมุ่งเน้นไว้ก็เป็นอย่างแรก คือ จะต้องทำความเข้าใจ ระบบของชุมชนกับระบบของท้องถิ่นว่านี่เป็นภัยชั่วคราว ไม่ใช่ภัยถาวรที่จะต้องใช้โครงสร้างแบบถาวร ความเข้าใจนี้จะต้องให้ชัด สอง คือ การลงโครงสร้างจะต้องลงโครงสร้างแบบชั่วคราวไม่ใช่ลงโครงสร้างถาวร ถ้าลงโครงสร้างถาวรแล้วชายหาดก็จะถูกกัดแล้วกัดเลยไม่สามารถที่จะฟื้นฟูกลับมาได้หรือการวางกระสอบซึ่งเป็นโครงสร้างชั่วคราวแต่กลับไม่เอาออก ทำให้กลายเป็นโครงสร้างถาวรก็จะทำให้ชายหาดถูกกัดเซาะได้เช่นกัน และสุดท้ายคือ สมมติท้องถิ่นมีอำนาจแล้วแต่ชุมชนไม่เข้มแข็ง ไม่แข็งแรง ไม่มีการร่วมมือกันในการที่จะออกแบบและเข้าไปติดตามการทำงานของภาครัฐ โครงสร้างชั่วคราวก็จะกลายเป็นโครงสร้างชั่วโคตร

ถ้าเราจะกำหนดมาตรการชั่วคราวเราควรจะทำอย่างไร อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องของการป้องกันภัยบนชายฝั่ง แต่อยากให้เห็นโมเดลการตั้งต้นว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้าง ผมว่าเรื่องแรกที่สำคัญเลยคือเรื่องข้อมูล การที่เราจะเข้าไปทำอะไรสักอย่างเราควรต้องมีข้อมูล การเก็บข้อมูลจะทำให้เราสามารถกำหนด Beach zoning ได้ว่าพื้นที่ชายหาดตรงไหนเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยความรู้และข้อมูลเพื่อที่จะมาออกแบบต่อไปว่าพื้นที่ไหนต้องจัดการแบบไหน เหล่านี้จะเกิดได้จากการที่ชุมชนร่วมกันออกแบบบนพื้นฐานของข้อมูลที่ชุมชนมีเท่านั้น ชุมชนจึงต้องมีการร่วมมือกับนักวิชาการ มหาวิทยาลัย ฯ ล ฯ เพื่อที่จะช่วยกันเก็บข้อมูล จัดการข้อมูลและร่วมกันออกแบบ

อันนี้ ยกตัวอย่างการออกแบบ Beach zoning ที่หาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ที่เราทำให้ดูว่าชุมชนจะต้องมี ข้อมูลในมิติต่าง ๆ ดังสไลด์ที่ขึ้นให้ดูนี้ เช่น ข้อมูลที่จะรวบรวม ต้องตอบให้ได้ว่าการกัดเซาะเป็นอย่างไร ชั่วคราวหรือชั่วโครต พื้นที่เป็นอย่างไร ใครเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ซึ่งต้องแยกเรื่องนี้ให้ได้ รวมไปถึงเรื่องของการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน นักวิชาการ มหาวิทยาลัย ฯ ล ฯ ซึ่งเป็นไปเพื่อการออกแบบมาตรการชั่วคราวและการติดตามผลต่อไป และสุดท้ายคือต้องออกแบบกลไกในการตรวจสอบอำนาจ เช่น อาจจะมีการทำ MOU ระหว่างหน่วยงานหรือให้สภาท้องถิ่นเป็นผู้ร่วมดูแล ซึ่งถ้าขาดข้อนี้ไปจะกลายเป็นปัญหาแน่นอนโครงสร้างชั่วคราวจะกลายเป็นโครงสร้างชั่วโคตร เพราะอย่างนั้นจะต้องให้มีครบวงจรแบบนี้ จึงจะทำให้การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบชั่วคราวสามารถเกิดขึ้นได้
ผศ.ดร.สมปรารถ ฤทธิ์พริ้ง : ก่อนที่จะไปถึงสรุปทำไมเราต้องผลักดันให้การกัดเซาะชายฝั่งอยู่ในนิยามของภัยพิบัติในพรบ. ปภ. อยากเล่าเชื่อมไปก่อนหน้านี้ว่าถ้าเราแก้แล้ว อำนาจและงบไปอยู่ที่ท้องถิ่น อย่างน้อยปีละ 1 ล้านบาท อยากให้ดูอย่างนี้ค่ะ 23 จังหวัด 3191 กม. เรามี 320 ตำบลชายฝั่ง ซึ่งหากตีตัวเลขกลม ๆ สมมุติว่าตำบลละ 1 ล้านบาท เท่ากับว่างบที่ต้องใช้ในแต่ละปี 320 ล้านบาท ให้เทียบกับสไลด์ที่ 4 ที่ขึ้นให้ดูว่า ปีนี้ที่รัฐส่วนกลางได้ตั้งงบประมาณจัดสรร 1,400 ล้านบาท เมื่อเทียบกันแล้วเราจะใช้งบประมาณ จำนวนนี้ป้องกันได้ถึง 4 ปี กับอีก 4 เดือน ถามว่า 1,400 ล้านบาท รวมปีเดียวแล้วจบไหม ไม่! ปีที่แล้ว 1,700 ล้านบาท แล้วก็รวมพันกว่าล้านบาทในงบประมาณต่อไปเรื่อย ๆ
ถ้าท้องถิ่นทุกที่สามารถมีอำนาจและใช้เงินได้เองในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งไม่ถึงปีละเป็นล้าน ๆ แน่ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ที่ 320 ตำบลหรือพื้นที่ชายหาดตลอดแนวชายฝั่งจะใช้เงินได้ถึงปีละ 1 ล้านบาท เพราะหาดไม่ได้กัดทุกปีและแต่ละปีก็กัดไม่เท่ากัน อย่างกรณีที่ม่วงงาม จังหวัดสงขลา ใช้เงินไป 500,000 บาท ตีเป็นตัวเลขกลม ๆ ในช่วงที่วิกฤตที่สุด นี่คือกำลังเทียบให้ดูว่าถ้าเราจัดการแบบนี้ งบประมาณขนาดนี้ (ปีละพันกว่าล้านบาท) เราจะใช้งบประมาณที่รัฐส่วนกลางจัดสรรได้ถึง 4 ปี 4 เดือน แปลว่าการจัดการแบบง่าย ๆ ที่ไม่ซับซ้อนแบบนี้ จะใช้งบประมาณน้อยกว่ารัฐส่วนกลางถึง 4 เท่า ถ้าตีเป็นตัวเลขกลม ๆ
แบบนี้ยังไม่พออีกหรือที่เราจะให้นิยามของการกัดเซาะชายฝั่งไปอยู่ในนิยามของภัยพิบัติในพระราชบัญญัติป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัย สิ่งสำคัญคือเราต้องแยกให้ได้ว่าการกัดเซาะชายฝั่งนั้นเป็นภัยพิบัติหรือสาธารณภัย เป็นการกัดชั่วโครตหรือกัดชั่วคราว ถ้าเป็นกัดแบบชั่วคราวให้จัดการแบบที่คุณอภิศักดิ์ได้กล่าวไปว่า ควรจะมีโครงสร้างอะไรบ้าง ต้องวางอย่างไร วางเมื่อไหร่และต้องรื้อถอนเมื่อไหร่ ต้องมีหลักวิชาการในการจัดการ ไม่ใช่สะเปะสะปะ หากเป็นการกัดแบบชั่วโคตร กัดแล้วไม่คืน อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องใช้อีกโครงสร้างหนึ่งในการป้องกัน แต่ถ้าเรากลับไปใช้วิธีการแบบเดิม ๆ เราก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม ๆ แล้วถ้ายังทำแบบเดิมไปเรื่อย ๆ เราก็จะได้ชายหาดที่เป็นคอนกรีตตลอดแนว 3,000 กว่ากิโล และชายหาดธรรมชาติก็จะหายไปอย่างถาวร
เราจะปล่อยให้นโยบายแบบนี้ดำเนินต่อไปหรือเราจะหาลู่ทางใหม่ ๆ ด้วยการแก้ไขกฎหมายนี้ เพื่อที่จะให้เป็นหนึ่งในกลไกในการจัดการกับการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อจะเป็นทางหนึ่งที่เราจะยังสามารถรักษาชายหาดไว้เพื่อลูกหลานของเราหรือเราจะเปิดยูทูปให้ลูกหลานดูว่าเมื่อก่อนชายหาดบ้านเราเคยเป็นแบบนี้แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เราจะเลือกแบบไหน?