ท่ามกลางการอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 อย่างดุเดือดในสภาผู้เเทนราษฎร Beach for life อยากชวนเพื่อนๆที่รักชายหาด จับตางบประมาณที่จะลงมาเพื่อกการดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งไปด้วยกัน ในปีนี้อาจเรียกได้ว่า งบประมาณที่ลงมานั้นถล่มชายหาด เลยก็ว่าได้
ก่อนหน้านี้ ร่างรายจ่ายงบประมาณประจำปี 2566 (ขาวคาดเเดง) ได้ถูกเผยเเพร่ออกมาในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ของทุกปี เเละในช่วงเดือนสิงหาคมนั้นจะมีการอภิปรายเพื่อผ่านร่างงบประมาณฉบับนี้ ทาง http://www.Beachlover.net ได้เผยข้อมูลงบประมาณโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากเล่มงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2566 (ขาวคาดแดง) ซึ่งพบว่า ในปี 2566 มีหน่วยงาน 3 กรมหลัก คือ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมโยธาธิการและผังเมือง และกลุ่มจังหวัด เสนองบประมาณในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทั้งงบศึกษาและงบดำเนินงาน รวมทั้งสิ้น 1,779.900 ล้านบาท ใน 79 โครงการ

ใน 79 โครงการนี้ แบ่งออกเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจำนวน 55 โครงการ โดยถือเป็นสัดส่วนมากที่สุดคือ 65% ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาคือกรมเจ้าท่าจำนวน 13 โครงการ นับเป็น 27% ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาคืองบกลุ่มจังหวัดจำนวน 5 โครงการ คิดเป็น 8% ของงบประมาณทั้งหมด และหน่วยงานหลักที่มีภารกิจกำกับดูแลเรื่องงานแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สัดส่วนงบประมาณไปน้อยที่สุดคือ 2% ของงบประมาณทั้งหมดใน 6 โครงการ

โครงการป้องกันชายฝั่งในปีงบประมาณ 2566 จาก 3 กรมหลัก เเละ กลุ่มจังหวัด มีโครงการที่ตั้งใหม่ในปีนี้จำนวน 26 โครงการ ทั้งโครงการศึกษาและโครงการก่อสร้างใน 16 จังหวัดชายฝั่งทะเล โดยในปีนี้จังหวัดที่ได้โครงการมากที่สุด 9 โครงการได้แก่ จ.ชลบุรี รองลงมาจำนวน 8 โครงการคือ จ.สงขลา และ 7 โครงการใน จ.ชุมพร

งบประมาณกำเเพงกันคลื่นของกรมโยธาฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างมีนัยยะสำคัญ หลังการที่ สผ.เพิกถอนกำเเพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA
หากพิจารณางบประมาณเฉพาะกรมโยธาธิการและผังเมือง พบว่า ภายหลังจากการที่โครงการกำแพงกันคลื่นนั้นไม่ต้องจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิกถอนออกไปเมื่อปลายปี 2556 ทำให้การเสนอโครงการของกรมโยธาฯ ในการของบประมาณเพื่อก่อสร้างกำแพงกันคลื่น สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างมีนัยยะสำคัญ และมากสุดในปี 2564 จำนวน 1,261.72 ล้านบาท และกรมโยธาธิการฯ กลายเป็นกรมที่ได้ขอรับงบประมาณมากที่สุด ในปี 2566 คิดเป็น 65% ของงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานและศึกษาเพื่อป้องกันการกันชายฝั่งทะเล ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

นอกจากนั้นในปี 2566 กรมเจ้าท่ายังขอตั้งงบประมาณในการรื้อถอนโครงสร้างรอดักทรายบริเวณหน้าพระราชนิเวศมฤคทายวัน จำนวน 3 ตัว ตามมติคณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 ที่มีมติให้รื้อรอดักทรายจำนวน 3 ตัว ของกรมเจ้าท่า หากงบประมาณผ่านการพิจารณานั้น ถือ ว่า เป็นกรณีเเรกในประเทศไทยที่มีการรื้อโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่หมดสภาพ และก่อให้เกิดการทำลายชายฝั่ง

งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันชายฝั่งนี้ กำลังอยู่ในการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีความเห็นชอบในการผ่านร่างบประมาณทั้งหมดนี้ และในช่วง 2 วันที่ผ่านมามีการอภิปรายจากสมาชิกสภาฯ เพื่อขอตัดลดลงกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า เพราะตั้งงบประมาณที่ก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน
ต้องช่วยกันจับตาดูว่า งบประมาณทั้งหมดจะถูกตัด ปรับลด หรือผ่านไปทั้งหมด และกลายเป็นการเอางบประมาณภาษีประชาชนมาทำลายชายหาดของประชาชนอีกหรือไม่ ต้องช่วยกันติดตาม !
อ้างอิงข้อมูล
[1] เปิดร่างงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลปี 2566
[2] รื้อรอดักทราย พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ
