เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนโครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 2 พื้นที่ชายฝั่งบริเวณบ้านเสาเภา – หาดบางดี อำเภอสิชล ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 คลุกกรุ่นด้วยการอภิปรายเชิงวิชาการของประชาชนที่พยายามยืนยันว่า การกำหนดแนวทางของกรมโยธาธิการและผังเมืองในการสร้างกำแพงกันคลื่นนั้น ไม่มีมีความเหมาะสมและไม่สอดคล้องกับบริบทพื้น และหลักเกณฑ์แนวทางโครงการกป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำหนดไว้ ให้เป็นหาดสมดุล ใช้มาตรการปรับสมดุลชายฝั่งตามธรรมชาติ
ที่มาที่ไป
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ คือ การที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินโครงการ ศึกษาและออกแบบเพื่อกำหนดแนว ทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 2 พื้นที่ชายฝั่งบริเวณบ้านเสาเภา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยว่าจ้างบริษัท ได้ว่าจ้างบริษัท แมคโครคอรซัลแตนท์ จำกัดและบริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาออกแบบ และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน

โดยมีการกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชน 3 แนวทาง คือ (1) การสร้างกำแพงกันคลื่นแบบเรียงหินใหญ่ (2)การถ่ายเททราย (3) การปักไม้ ระยะทางความยาวโครงการรวม 1,800 เมตร จากบริเวณจุดสิ้นสุดของโครงสร้างเขื่อนกันคลื่น ถึง ชายหาดบางดี อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมเวทีไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยมีเหตุผลสำคัญ คือ ชายหาดเสาเภา ถึงหาดบางดี ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง และการก่อสร้างโครงการกำแพงกันคลื่นนั้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชายหาด และแนวทางที่กรมโยธาฯ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาออกแบบนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์แนวทางในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่คณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเห็นชอบให้หาดเสาเภา ถึง หาดบางดี ในพื้นที่โครงการ 1,800 เมตรนั้น ใช้มาตรการปรับสมดุลชายฝั่ง คือ ไม่ให้กระทบการก่อสร้างโครงสร้างแข็งที่รบกวนสมดุลชายฝั่ง

พื้นที่ใช้มาตรการปรับสมดุลชายฝั่ง คืออะไร
การกำหนดพื้นที่ให้มีการใช้มาตรการและแนวทางต่างๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้เป็นไปตามหลักวิชาการ โดยมุ่งเน้นการดำเนินการเป็นระบบหาด ซึ่งต้องคำนึงถึงพลวัตของการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งและสมดุลตะกอน สภาพเศรษฐกิจสังคม ศักยภาพการพัฒนาของพื้นที่ สิ่งแวดล้อม และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการมีความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
หลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่กล่าวมานั้น คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งหมายความว่า หลังจากนี้ในการของบประมาณดำเนินโครงการต่างๆนั้น จำเป็นต้องยึดถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว
ชายหาดเสาเภา ถึง หาดบางดี จังหวัดนครศรีธรรมราช นั้นอยู่ในระบบหาดหาดเสาเภา-ท่าศาลา รหัส T6A149 กำหนดให้พื้นที่ชายหาดในตำบลเสาเภา ซึ่งอยู่ในพื้นที่ศึกษาโครงการของกรมโยธาธิการฯ ให้ใช้มาตรการสีขาว กำหนดแนวทางให้ใช้การปรับสมดุลชายฝั่งตามธรรมชาติ

การปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติ คือ การคงไว้ซึ่งสภาวะสมดุลพลวัตหรือกระบวนการชายฝั่งตามธรรมชาติ เพื่อปล่อยให้ชายฝั่งที่เกิดการกัดเซาะได้มีการปรับสมดุลและฟื้นคืนสภาพธรรมชาติด้วยตนเอง มีรูปแบบวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสม คือ การกำหนดพื้นที่ถอยร่น การปลูกป่า และการฟื้นฟูชายหาด

ความสอดคล้องของทางเลือกกับหลักเกณฑ์ฯ
เมื่อพิจารณาทางเลือกที่บริษัทที่ปรึกษาโดยกรมโยธาธิการฯ มานำเสนอต่อประชาชน ได้แก่ 1) การสร้างกำแพงกันคลื่นแบบเรียงหินใหญ่ 2)การถ่ายเททราย 3) การปักไม้ ระยะทางความยาวโครงการรวม 1,800 เมตร จากบริเวณจุดสิ้นสุดของโครงสร้างเขื่อนกันคลื่น ถึง ชายหาดบางดี อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช กับ หลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่กำหนดแนวทางให้ใช้การปรับสมดุลชายฝั่งตามธรรมชาติ ซึ่งหมายถึง การคงไว้ซึ่งสภาวะสมดุลพลวัตหรือกระบวนการชายฝั่งตามธรรมชาติ เพื่อปล่อยให้ชายฝั่งที่เกิดการกัดเซาะได้มีการปรับสมดุลและฟื้นคืนสภาพธรรมชาติด้วยตนเอง นำแนวทางและหลักเกณฑ์ที่กำหนดมาเปรียบเทียบมาตรการที่จะใช้กับพื้นที่ชายหาดเสาเภา หาดบางดี แนวนั้นพบ ว่า แนวทางเลือกที่ 1 การใช้กำแพงกันคลื่นแบบหินเรียง นั้นขัดแย้งกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ใช้ปรับสมดุลชายฝั่งตามธรรมชาติอย่างชัดเจน

ในส่วนประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ แนวทางเลือกที่ 2 คือ ถ่ายเททรายข้ามปากร่องน้ำ และแนวทางเลือกที่ 3 คือ การปักไม้ ซึ่งสองแนวทางเป็นแนวทางที่ไม่ใช้การก่อสร้างโครงสร้างแข็งป้องกันอย่างถาวร แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดแนวทางปรับสมดุลชายฝั่งตามธรรมชาติ คือ การคงไว้ซึ่งสภาวะสมดุลพลวัตของชายหาด และให้ชายหาดฟื้นฟูสภาพกลับมาได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นแนวทางการถ่ายเททราย และการปักไม้ จึงอาจไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ใช้มาตรการปรับสมดุลชายฝั่งตามธรรมชาติเช่นกัน

หากกล่าวโดยสรุปนั้น เมื่อพิจารณาแนวทางที่กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยบริษัทที่ปรึกษามานำเสนอต่อประชาชน 3 แนวทาง ได้แก่ การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียง การถ่ายเททราย การปักไม้ บริเวณชายหาดเสาเภา-หาดบางดี อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเป็นมาตรการและแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับ หลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่กำหนดให้ใช้มาตรการสีขาว และแนวทางการปรับสมดุลชายฝั่งตามธรรมชาติ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้นคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ และให้หน่วยงานต่างๆนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งต่อไป
ข้อสังเกตต่อจากนี้ไป คือ โครงการศึกษาและออกแบบ เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 2 พื้นที่ชายฝั่งบริเวณบ้านเสาเภา – หาดบางดี โดยกรมโยธาธิการฯ นี้ นั้น กำหนดแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์แนว และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไปเสร็จสิ้นทั้ง 3 ครั้งแล้วนั้น ผลการศึกษานั้นจะนำไปสู่การดำเนินการโครงการได้หรือไม่ เพราะขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีที่รับทราบหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปแล้ว และมีผลให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตามให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว
