ในช่วงเวลา 2 วันที่ผ่านมา ในรัฐสภามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกันอย่างเข้มข้น มีคณะรัฐมนตรีหลายท่านถูกอภิปรายในสภาฯ Beach for life ซึ่งติดตามเรื่องชายหาดอย่างต่อเนื่อง จึงขออภิปรายนอกสภา ถึง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในประเด็น “แตะถ่วง ไม่ยอมนำกำแพงกันคลื่นกลับมาทำ EIA ปล่อยให้ชายหาดถูกทำลายอย่างต่อเนื่องเรื่อยไป”
การเขียนอภิปรายครั้งนี้ เป็นการอภิปรายนอกสภา ในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอภิปรายนอกสภาครั้งนี้ คือ การย้ำเตือนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด และไม่ปล่อยปะละเลยให้ชายหาดถูกทำลายต่อไปด้วยการเปิดช่องวางทางกฎหมายให้กำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA
[1] ปล่อยให้เกิดการระบาดของ “กำแพงกันคลื่น”

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมา โครงสร้างป้องกันชายฝั่งประเภทกำแพงกันคลื่นนั้น ได้ระบาดบนชายหาดทั่วประเทศไทย โดยเกิดขึ้นเพราะ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) นั้น เพิกถอนโครงการประเภทกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ตามประกาศในวันที่ 11 พฤษจิกายน 2565 ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้เหตุผลต่อกลุ่ม Beach for life ว่า การเพิกถอนนั้นเกิดขึ้นจากการที่กรมเจ้าท่านั้นได้ร้องขอให้มีการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และการตื่นเขินของปากร่องน้ำ จึงขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติให้กำแพงกันคลื่นนั้นไม่ต้องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ภายหลังจากการที่กำแพงกันคลื่น กลายเป็นโครงการที่ไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ทำให้โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นอย่ารวดเร็วในทุกพื้นที่ชายหาดของประเทศไทย จนเกิดกรณีพิพาทที่มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองในหลายกรณี อาทิ เช่น โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดมหาราช เป็นต้น และมีกระแสการต่อต้านคัดด้านการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การปล่อยให้กำแพงกันคลื่นสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)
ข้อมูลของกลุ่ม Beach for life ที่ได้รวบรวมจากเว็บไซต์การจัดซื้อจัดจ้างของกรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็น 2 หน่วยงานหลักที่ดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบริเวณชายฝั่งทะเล ภายหลังจากการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA นั้น ในปี 2556-2562 พบว่า มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจำนวน 74 โครงการ มีระยะทางการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นรวม 34.875 กิโลเมตรตลอดแนวชายฝั่งทั่วประเทศไทย และได้ใช้งบประมาณรวม 6,967,853,620 บาท ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง นอกจากนั้น ข้อมูลจาก http://www.Beachlover.net ได้มีการรวบรวมงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรมโยธาธิการและผังเมือง ในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ในปี 2554 – 2565 พบว่า ภายหลังจากการที่โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น กรมโยธาธิการได้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากปี 2556 ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น 163,930,000 บาท ปี 2562 ใช้งบประมาณ 774,640,000 บาท และปี 2564 ใช้งบประมาณ 1,261,720,000 บาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นการใช้งบประมาณที่สูงขึ้นเรื่อยอย่างก้าวกระโดด และเห็นได้ว่าการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นนั้นย่อมสะท้อนว่าการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ได้ลดลงแต่อย่างไร และสะท้อนปรากฎการณ์การระบาดของกำแพงกันคลื่นบนชายหาดจากตัวเลขงบประมาณที่นำมาใช้เพื่อการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นได้อย่างชัดเจน
ในทางวิชาการนั้น เป็นที่ยอมรับกันดีว่ากำแพงกันคลื่น คือ “The Death of Beach” กำแพงกันคลื่น นับว่าเป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่มีผลกระทบต่อชายหาดอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณด้านท้ายน้ำของกำแพงกันคลื่นทำให้ต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ และยังทำให้สภาพชายหาดนั้นหายไป รวมถึง กำแพงกันคลื่นยังกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ตัดวงจรการแลกเปลี่ยนสารอาหาร พืชพันธุ์ริมชายฝั่งทะเล และกระทบต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาด เช่น การทำประมงริมชายฝั่ง การจอดเรือ การทำอวนทับตลิ่ง ซึ่งวิถีชีวิตเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น
การที่รัฐเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ถือ เป็นการทำลายหลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่คุ้มครองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีหลักประกันสิทธิไว้ว่า “โครงการหรือกิจการใดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน ต้องทำการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินโครงการ” และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการนั้น แต่เมื่อกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) จึงเท่ากับว่า หลักประกันสิทธิในรัฐธรรมนูญที่กล่าวมาได้ถูกทำให้หายไป เพราะโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน และ ยังทำให้ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินโครงการของรัฐอีกด้วย
ตลอดช่วงเวลาที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ได้รับทราบปัญหาและข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดมาโดยตลอด และ ในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมาได้ประกาศให้วาระการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนั้น เป็นวาระแห่งชาติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการดำรงตำแหน่งของนายวราวุธ ศิลปอาชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอำนาจโดยตรงในการพิจารณาให้โครงการหรือกิจการประเภทใดต้องจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น รัฐมนตรีวราวุธ ศิลปะอาชา กลับนิ่งเฉย ไม่ยอมทบทวนนำโครงการประเภทกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำ EIA ทั้งๆที่ผ่านมานั้น ต้นตอสำคัญของการทำให้กำแพงกันคลื่นระบาดบนชายหาดในประเทศไทยและเกิดการทำลายชายหาด เปลี่ยนหาดทรายให้การเป็นกำแพงหิน และกำแพงคอนกรีตนั้นเกิดการจากเปิดช่องวางทางกฎหมายนั้น คือ การเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA
[2] ประกาศวาระ “การกัดเซาะชายฝั่งเป็นวาระชาติ” แต่ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน !!

ในเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐมนตรีวราวุธ ศิลปอาชา ได้ประกาศให้การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินการ ประกาศพื้นที่ใช้มาตรการตามมาตรา 21 แห่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 แต่จนถึงเวลานี้ ยังพบว่า ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน โดยเฉพาะประเด็นที่สำคัญ คือ การประกาศให้โครงสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นต้องทำ Environmental Checklist For Seawall and Revetment แต่กลับพบว่า ไม่สามารถดำเนินการได้จนถึงปัจจุบัน
[3] Environment checklist Sea wall and Revetment ที่แท้งก่อนคลอด
ที่ผ่านมาภาคประชาชน ได้รวมกันทวงถาม ทำหนังสือถือสำนักงานนโยบายและแผนฯ และผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องในขอให้มีการทบทวนนำเอาโครงการประเภทกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำ EIA ดังเดิม แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้น กำลังดำเนินการหามาตรการในการทดแทน EIA กำแพงกันคลื่น นั้นคือ การทำ Environmental Checklist For Seawall and Revetment โดยใช้อำนาจมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 เพื่อทดแทนการทำให้กำแพงกันคลื่นนั้นต้องกลับไปทำ EIA
แต่อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้เกิดการจัดทำ Environmental Checklist For Seawall and Revetment กลับพบว่า ไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว และ ล่าสุด Environmental Checklist For Seawall and Revetment นั้นไม่สามารถประกาศใช้ได้เนื่องจาก ไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมถึงการเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบนั้นแก่ประชาชนและนำผลนั้นมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ตามแนวทางปฏิบัติของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนดให้หน่วยงานรัฐที่จะเสนอร่างกฎหมายปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎหมายที่ต้องจัดทำการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 ซึ่งการจัดทำ Environmental Checklist For Seawall and Revetment ไม่ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงที่กล่าวมาทำให้ ต้องกลับไปดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายที่กำหนดก่อน จึงเสมือนว่า การดำเนินการที่พยามจะประกาศ Environmental Checklist For Seawall and Revetment ถูกทำแท้งก่อนที่จะคลอดออกมา ซึ่งทำให้หลังจากนี้ประชาชนต้องรอต่อไป เพื่อให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายจนกว่าจะแล้วเสร็จ ครบถ้วน ซึ่งคาดว่าคงใช้ระยะเวลาอีกนาน
ในขณะที่โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในปัจจุบัน มีการรุกคืบเกิดขึ้นเรื่อยๆบนทรัพยากรหาดทรายของประเทศไทย มีการของบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นอย่างต่อเนื่อง และมีความขัดแย้ง กระแสต่อต้านจากประชาชนเป็นระยะๆในหลายพื้นที่โครงการ รวมถึงการที่โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นไม่ได้กำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที้เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น จึงไม่ได้ถูกศึกษาและเยียวยาผลกระทบภายหลังจากการก่อสร้าง ในหลายพื้นที่ที่เกิดการก่อสร้างไปแล้วและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หน่วยงานเจ้าของโครงการก็ไม่ได้ดำเนินใดๆเพื่อบรรเทาหรือจัดการผลกระทบเหล่านั้น แต่หากมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมภายใต้การจัดทำ EIA ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อชุมชน ย่อมได้รับการระบุอยู่ในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และสามารถที่จะบังคับให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนั้น แก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลกระทบเหล่านั้นได้
สิ่งที่ได้อภิปรายมาทั้ง 3 ประเด็นนั้น เป็นสิ่งที่กลุ่ม Beach for life ที่ได้ติดตามประเด็นการกัดเซาะชายฝั่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การก่อตั้งกลุ่ม และเห็นว่าการกำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการนำของรัฐมนตรีวราวุธ ศิลปอาชา นั้น มีล้าช้า และ แตะถ่วงไม่ให้โครงการประเภทกำแพงกันคลื่นนั้น กลับไปเป็นโครงการที่ต้องทำ EIA ดังเดิม ทั้งๆ ที่การนำโครงการประเภทกำแพงกันคลื่นกลับไปเป็นโครงการที่ต้องทำ EIA นั้น เป็นอำนาจโดยตรงของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานภายใต้กการกำกับดูแลของรัฐมนตรี แต่กลับปล่อยปะละเลยให้เกิดความล้าช้า และพยายามแตะถ่วง สร้างมาตรการใหม่ขึ้นมาทดแทน คือ Environmental Checklist For Seawall and Revetment และไม่สามารถประกาศใช้ได้นั้น ได้เปิดช่องให้เกิดการทำลายชายหาดด้วยการสร้างกำแพงกันคลื่นอย่างต่อเนื่อง และทำให้หลักประกันสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้นหายไป
หากรัฐมนตรีวราวุธ ศิลปอาชา ได้อ่านบทความฉบับนี้ ในฐานะประชาชนที่ห่วงใยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากท่านยังคงปล่อยให้โครงการกำแพงกันคลื่น ไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นเหมือนที่เป็นอยู่ ก็ไม่อาจไว้วางใจให้ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อดูแลทรัพยากรหาดทรายซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของประชาชนได้ แต่หากท่านตระหนักและเห็นความสำคัญ มีความจริงใจต่อประชาชนและมีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ขอให้ท่านกล้าหาญและใช้โอกาสในช่วงสุดท้ายของการการเป็นรัฐมนตรี ก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ พิจารณาบรรจุกำแพงกันคลื่นให้เป็นโครงการที่ต้องทำ EIA ดังเดิมโดยเร็ว
Beach for life
และประชาชนผู้รักทรัพยากรหาดทราย
