เส้นทางการต่อสู้เพื่อปกป้องหาดดอนทะเล

ชายหาดดอนทะเล อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชายหาดของชุมชนที่เผชิญกับโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น โดยกรมโยธาธิการเเละผังเมือง ชายหาดดอนทะเล เป็นชายหาดที่ชุมชนใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน มีตลาดริมชายหาด มีการทำประมงริมชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะการหาหอยริมชายหาด ด้วยลักษณะทางกายภาพที่เป็นหาดทราย เเละเป็นดินทรายโคลนบริเวณหน้าหาด จึงเหมาะเเก่การเป็นเเหล่งอนุบาลของหอยนานาชนิด โดยเฉพาะ หอยขาว หอยเเครง เเละหอยตาควาย ในช่วงฤดูหอยเกิด คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน จะเป็นช่วงที่ผู้คนจากทั่วสารทิศมาหาลูกหอยที่ชายหาดตลอดเเนวชายฝั่งของตำบลท่าชนะ เเละตำบลคันธุลี จึงถือได้ว่าผืนทรายชายหาดเเถบนี้เป็นเเหล่งที่อยู่สำคัญของหอยนานาชนิด

ช่วงปี 2558-2559 ร่องความกดอากาศต่ำกำลังเเรงพัดผ่านจากจีนลงมาทำให้ชายฝั่งทะเลในพื้นที่อ่าวไทยนั้นมีคลื่นลมเเรง เเละปีปลาย 2561-2562 เป็นช่วงที่พายุปาบึกพัดผ่านหาดทั่วทั้งอ่าวไทยตอนล่าง หาดดอนทะเล ก็ได้รับผลกระทบบางส่วนด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง หาดบริเวณดอนทะเล ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลคันธุลี ร้องขอการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ไปยังกรมโยธาธิการ เเละทำให้เกิดการออกเเบบโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดดอนทะเล ตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยกรมโยธาธิการฯ

กำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล !

การกัดเซาะชายฝั่งชั่วคราวในปีปลาย 2558 นำมาซึ่งกำเเพงกันคลื่น เพื่อป้องกันชายฝั่งชั่วโคตรที่หาดดอนทะเล

โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดดอนทะเล ตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยกรมโยธาธิการเเละผังเมือง ความยาว ระยะทาง 1,291 เมตร ลักษณะกำเเพงกันคลื่นเเบบเรียงหิน งบประมาณ 70,230,000 บาท ตั้งของบประมาณปี 2563 ผูกพัน 4 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2566

พื้นที่ตั้งโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล ตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี : ที่มาภาพ กรมโยธาธิการฯ
รูปเเบบการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นเเบบหินเรียงหาดดอนทะเล อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี : ที่มา กรมโยธาธิการฯ

การเกิดขึ้นโครงการกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล มีที่มาจากการอ้างปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้น ซึ่งท้องถิ่นได้ส่งภาพการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดดอนทะเล ไปยังกรมโยธาฯ

สภาพชายหาดดอนทะเลที่องค์การบริหารส่วนตำบลคันธุลีส่งไปยังกรมโยธาฯ เพื่อร้องขอโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

เเต่เมื่อเวลาผ่านไป Beach for life ได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพชายหาดดอนทะเล ในปี 2564 กลับพบว่า สภาพชายหาดดอนทะเล นั้นไร้ร่องรอยการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนเเรง เเละเห็นได้ชัดว่าการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดนั้น เป็นเพียงการกัดเซาะชายฝั่งในลักษระชั่วคราว เมื่อผ่านพ้นช่วงมรสุมไปเเล้ว ชายหาดสามารถฟื้นฟูสภาพกลับมาได้

สภาพชายหาดดอนทะเล บริเวณจุดเริ่มต้นโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น ไม่พบการกัดเซาะชายฝั่งรุนเเรง : ที่มา Beach for life กรกฎาคม 2564
สภาพชายหาดดอนทะเล บริเวณโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น ไม่พบการกัดเซาะชายฝั่งรุนเเรง : ที่มา Beach for life กรกฎาคม 2564
สภาพชายหาดดอนทะเล บริเวณจุดสิ้นสุดโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น ไม่พบการกัดเซาะชายฝั่งรุนเเรง : ที่มา Beach for life กรกฎาคม 2564

ข้อมูลการวิเคราะห์การเปลี่ยนเเปลงชายฝั่ง โดย http://www.Beachlover.net ระบุว่า เมื่อวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งของหาดดอนทะเลโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม Google earth ที่นำไปผ่านการปรับพิกัดภูมิศาสตร์แล้ว และใช้แนวพืชพรรณถาวรบริเวณชายฝั่ง (Permanent vegetation line) เป็นแนวชายฝั่งตามนิยาม พบว่ามีแนวชายฝั่งเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการทับถมและการกัดเซาะสลับไปมาตาม

การเปรียบเทียบเส้นเเนวชายฝั่งในปี 2557-2563 ที่มา http://www.Beachlover.net

เมื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงรายปี พบว่า หาดดอนทะเลเกิดการกัดเซาะในช่วงปี 2557-2558 ในอัตรา -0.415 เมตร/ปี, ช่วงปี 2558-2559 ในอัตรา -4.67 เมตร/ปี, ช่วงปี 2560-2561 ในอัตรา -2.84 เมตร/ปี, และ ช่วงปี 2562-2563 ในอัตรา -1.06 เมตร/ปี ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรง ที่เกิดขึ้นสองช่วงเวลาคือ ประมาณวันที่ 25-26 มกราคม 2559  และ  7-8  กุมภาพันธ์ 2559 ที่ส่งผลให้ชายหาดภาคใต้ตอนล่างเกิดการกัดเซาะหลายพื้นที่ สำหรับหาดดอนทะเลพบว่าเกิดการกัดเซาะไปบ้างดังรูปที่ 8 โดยเมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่ามีอัตราการกัดเซาะในช่วงเวลานี้ 4.67 เมตร/ปี ผลจากเหตุการณ์นี้เองทำให้เกิดการริเริ่มโครงการป้องกันชายฝั่งหาดดอนทะเลแห่งนี้ตลอดแนว

อัตราการกัดเซาะชายฝั่งเเละการทับถมของชายหาดดอนทะเล ระหว่างปี 2557-2563 : ที่มา http://www.Beachlover.net

เมื่อการสำรวจสภาพชายฝั่งหาดดอนทะเล เเละข้อมูลวิเคราะห์ผลการกัดเซาะชายฝั่งในเเต่ละปี กลับพบว่า ไม่สอดคล้องกับข้อมูลการกัดเซาะชายฝั่งที่กรมโยธาฯ อ้างว่ามีความจำเป็นต้องก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล ประกอบการ การที่ชุมชนเห็นตัวอย่างของกำเเพงกันคลื่นหาดสำเร็จ อำเภอท่าชนะ ซึ่งอยู่ห่างจากหาดดอนทะเลเพียง 10 กิโลเมตร มีการสร้างกำเเพงกันคลื่นเเละทำให้สภาพชายหาดนั้นเปลี่ยนจากหาดทรายกลายเป็นกองหิน ไม่สามารถหาหอยเเละทำกิจกรรมริมชายหาดได้ดังเดิม ชุมชนดอนทะเล จึงเริ่มคัดค้านโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น

เส้นทางการต่อสู้เพื่อหาดดอนทะเล

บทเรียนที่หาดใกล้บ้าน เเละการตื่นตัวของชุมชน เป็นพลังปกป้องหาดดอนทะเลได้สำเร็จ

การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อปกป้องหาดดอนทะเล มีชนวนสำคัญมาจากการที่กรมโยธาธิการฯ ไม่เปิดเผยผลกระทบของกำเเพงกันคลื่นอย่างตรงไปตรงมา เเละการดำเนินการก่อสร้างนั้นจำเป็นต้องตัดสนไม้ชายหาดในพื้นที่โครงการ ทำให้ชุมชนเริ่มต้นที่จะคัดค้านโครงการ โดยการขึ้นป้ายตามพื้นที่ต่างๆของชุมชน เเละการจัดเวทีให้ความรู้เเก่คนในชุมชน รวมถึงการเคลื่อนไหวต่างๆจนนำมาสู่การปกป้องชายหาดดอนทะเลไว้ได้สำเร็จ ในช่วงการเคลื่อนไหวเพียง 4 เดือน กรมโยธาธิการฯ ยอมถอนโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นออกจากพื้นที่เเละคืนงบประมาณโครงการดังกล่าวไปยังสำนักงาบประมาณ เส้นทางการต่อสู้เพื่อหาดดอนทะเลเริ่มต้น ดังนี้

  • เดือนมิถุนายน 2564 ชาวบ้านดอนทะเล พบเห็นการตัดต้นสนเเละการเตรียมการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น จึงได้ขึ้นป้ายคัดค้านโครงการตามพื้นที่ต่างๆของหมู่บ้าน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวคัดค้านกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล
  • เดือนมิถุนายน 2564 ชาวบ้านดอนทะเล กลุ่ม Beach for life มูลนิธิภาคใต้สีเขียว เเละมูลนิธิป่าทะเล เพื่อชีวิต เริ่มพูดคุยเรียนรู้ ทำความเข้าใจผลกระทบของกำเเพงกันคลื่น
  • 22 มิถุนายน 2564 ประชาชนในพื้นที่ตำบลคันธุลี รวมตัวกันเคลื่อนไหว อ่านเเถลงการณ์ปกป้องชายหาดดอนทะเล จากกำเเพงกันคลื่น ประกาศไม่ให้มีการดำเนินการก่อสร้างริมชายหาดโดยเด็ดขาด
  • 2 กรกฎาคม 2564 ประชาชนดอนทะเล ยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี เเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ระงับเเละตรวจสอบการดำเนินโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล รวมถึงการให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของโครงการต่อประชาชนอย่างตรงไปตรงมา
  • กรกฎาคม – สิงหาคม 2564 ประชาชนดอนทะเล เเละกลุ่ม Beach for life เปิดเเคมเปญรณรงค์ “ปกป้องหาดดอนทะเล” โดยการชวนประชาชนที่รักชายหาดร่วมกันชูป้ายพร้อม ติดเเฮกเเท็กใน Facebook ร่วมกันเพื่อส่งเสียงถึงกรมโยธาธิการให้ทบทวนโครงการกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล
  • 4 กรกฎาคม 2564 นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ สมาชิกสภาผู้เเทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่ชายหาดดอนทะเล รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน เเละอภิปรายในรัฐสภา เพื่อให้กรมโยธาธิการทบทวนโครงการ โดย สส.ธีรภัทร กล่าวว่า “กำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล คือ มรดกบาปของชุมชน ที่กรมโยธาธิการจะฝากไว้ที่ชายหาดเเละชุมชนดอนทะเลเเห่งนี้”
  • 9 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมการธรรมภิบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล โดยมีตัวเเทนชุมชนนำเสนอประเด็นข้อห่วงกังวลต่างของกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล เเละระบุว่า “สำนักงานตรวจเงินเเผ่นดินได้สำรวจข้อมูลโครงการป้องกันชายฝั่งของรัฐ พบว่า ไม่มีความคุ้มทุนถึง 30 % ของจำนวนโครงการทั้งหมดที่ได้ดำเนินการไปในการก่อสร้างโครงการป้องกันชายฝั่ง รวมถึงชายหาดดอนทะเลไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนเเรงจึงไม่มีเหตุผลให้ต้องสร้างกำเเพงกันคลื่น”
  • 16 กรกฎาคม 2564 ชุมชนดอนทะเลร่วมกันทำกิจกรรมทำบุญ บวชชายหาดดอนทะเล เพื่อเเสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการปกป้องชายหาดดอนทะเล
  • 13 สิงหาคม 2564 ตัวเเทนชุมชนดอนทะเล เข้าชี้เเจงต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคันธุลี ขอให้สภามีมติยกเลิกโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล
  • 17 สิงหาคม 2564 ประชาชนในพื้นที่ตำบลคันธุลี เเละใกล้เคียง รวมตัวริมชายหาดจัดกิจกรรมณรงค์เพื่อส่งเสียงถึงกรมโยธาธิการฯ ต้องยกเลิกโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเลโดยเร็วที่สุด เเละในช่วงเวลานั้น ทางท้องถิ่นได้ทำเเบบสำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อโครงการฯ พบว่า สำรวจความเห็นประชาชน 195 คน เห็นด้วยกับโครงการ 40 คน เเละไม่เห็นด้วยกับโครงการ 155 คน หลังจากนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลคันธุลี ได้ทำหนังสือถึงกรมโยธาฯ เพื่อเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เพื่อขอยกเลิกโครงการกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล
  • 20 สิงหาคม 2564 นายกัญจพงศ์ จงสุทธนามณี พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายของตัดงบประมาณโครงการกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล ในปีงบประมาณ 2564 เเละสมาชิกพรรคก้าวไกลได้ชูป้ายพร้อมข้อความ “กำเเพงกันคลื่นต้องทำEIA เเละปกป้องหาดดอนทะเล” กลางที่ประชุมสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎร
  • 28 กันยายน 2564 กรมโยธาธิการเเละผังเมือง ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อขอคืนงบประมาณโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีเหตุผลในการคืนงบประมาณโครงการดังกล่าวต่อสำนักงบฯว่า “เพื่อไม่ให้เกิดความขัดเเยงในพื้นที่ดำเนินโครงการ เเละสภาพชายหาดดอนทะเลได้มีสภาพเปลี่ยนเเปลงไป จึงขอคืนงบประมาณโครงการดังกล่าว” เท่ากับว่าโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเลได้ถูกยกเลิกโครงการไปอย่างถาวร หลังจากนั้นประชาชนดอนทะเลได้ประกาศชัยชนะในการต่อสู้เพื่อปกป้องหาดดอนทะเล

บทเรียนของหาดดอนทะเล สะท้อนให้เห็นว่าประเด็นสำคัญ คือ การกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นจากพายุ หรือในช่วงมรสุม นั้นในพื้นที่หาดดอนทะเล เป็นเพียงการกัดเซาะชายฝั่งในลักษณะชั่วคราว เเต่หน่วยงานที่ไม่เข้าใจกระบวนการทางธรรมชาตินี้กลับมองว่าเพื่อการป้องกันอย่างมั่นคงถาวรจึงควรต้องมีการขอโครงการกำเเพงกันคลื่น ในขณะเดียวกัน การต่อสู้ของประชาชน ทำให้เห็นความตัวอย่างเเละบทเรียนของการพังทลายของชายหาดจากการสร้างกำเเพงกันคลื่น คือ ตัวอย่างที่สำคัญที่ทำให้ชุมชนเห็นบทเรียนเชิงประจักษ์ว่าหากพวกเขายินยอมให้เกิดกำเเพงกันคลื่นนั้น ชุมชนชายฝั่งของเขาจะเป็นอย่างไร เเละจะต้องรับผลกระทบอย่างไรบ้าง

ประการสุดท้าย สิ่งที่เห็นเป็นบทเรียนสำคัญคือการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน บนข้อมูลข้อเท็จจริง เเละสื่อสารอย่างต่อเนื่องในวงกว้างจนสร้างองค์คาพยบของการเคลื่อนไหวปกป้องสิ่งเเวดล้อมชุมชนที่มีหลายภาคส่วนทำให้สามารถป้องชายหาดไว้ได้

Published by Beach for life

บรรณาธิการกลุ่ม Beach for life

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s