หาดแตงโม เกาะสุกร ไม่กัดเซาะชายฝั่งเเต่กลับมีมีกำแพงกันคลื่น ถึง 4 โครงการ +1โครงการซ่อมเเซม
หลายคนติดตามการระบาดของกำแพงกันคลื่น และคิดว่ากำแพงกันคลื่นระบาดเฉพาะบนแผ่นดิน แต่ล่าสุดกำแพงกันคลื่นระบาดไปบนเกาะด้วย !!
หาดเเตงโม ตั้งอยู่เกาะสุกร จังหวัดตรัง เป็นเกาะเล็กๆไม่ใหญ่มาก บริเวณชายหาดที่เรียกว่าหาดเเตงโมนั้น เนื่องจากบริเวณพื้นที่ชายหาดบริเวณนี้มีการปลูกเเตงโมหลายร้อยไร่ ทำให้ ชาวบ้านในพื้นที่เรียกหาดแห่งนี้ว่าหาดแตงโม
หาดแตงโมแห่งนี้มีการร้องขอโครงการจากท้องถิ่นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ทำให้กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อเนื่องกันเพื่อป้องกันชายฝั่ง ดังนี้
โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมเจ้าท่า ก่อสร้างเสร็จ ปี 2544 ความยาว 1,100 เมตร

และมีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการ จำนวน 3 เฟส คือ
– เฟสที่ 1 ความยาว 800 เมตร (ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว)
– เฟสที่ 2 ความยาว 603 เมตร (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) งบประมาณ 49,430,000 บาท
– และเฟสที่ 3 ความยาว 300 เมตร งบประมาณ 42,870,000 บาท

นอกจากนั้นเเล้วภายใต้งบประมาณปี 2566 ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้เเทนราษฎรในช่วงกลางปีนี้ มีงบประมาณซ่อมเเซมกำเเพงกันคลื่นของกรมเจ้าท่าที่ก่อสร้างเมื่อปี 2544 โดยกรมเจ้าท่า เหตุผลคือเนื่องจากกำเเพงกันคลื่นเดิมชำรุดเสียหาย กรมเจ้าท่าจึงของบประมาณซ่อมเเซมกำเเพงกันคลื่น จำนวน 112,000,000 บาท ความยาว 1.5 กิโลเมตร

จากภาพถ่ายที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ทำให้มีข้อสังเกตว่า จริงแล้วหาดแตงโมแห่งนี้กัดเซาะชายฝั่งจริงหรือ ทำไมหน่วยงานถึงทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บนชายหาดแห่งนี้
จากข้อมูลการกัดเซาะชายฝั่ง ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ตรวจสอบเส้นแนวชายฝั่ง จากภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth ปี พ.ศ. 2549 เทียบเคียงกับเส้นแนวชายฝั่งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2561 และจากการสำรวจเส้นแนวชายฝั่ง ปี พ.ศ. 2562 ในปัจจุบันชายหาดบริเวณหาดแตงโม มีทรายสะสมเป็นชายหาดงอก ถ้านับจากเส้นแนวชายฝั่งปี พ.ศ. 2549 อกไปในทะเล ถึงปีปัจจุบันระยะทางความกว้างของหน้าหาดที่มีทรายสะสมประมาณ 50 เมตร โดยเฉลี่ยตามความยาวของชายหาด ซึ่งแสดงว่าชายหาดไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งแต่อย่างใด

คำถามใหญ่ของการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดแตงโม บนเกาะสุกรแห่งนี้ คือ อะไรคือเหตุผลที่หน่วยงานอย่างกรมโยธาธิการและผังเมืองให้อ้างเพื่อก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่มีมูลค่าสูง และป้องกันบนชายหาดที่ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งแบบนี้
หากยังคงปล่อยให้กรมโยธาฯ สร้างกำแพงกันคลื่นบนชายหาดที่ไม่กัดเซาะชายฝั่งต่อไป เราจะสูญเสียงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลให้กับการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น
และนี่คือตัวอย่างภาพสะท้อนว่าทำไม โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นควรต้องทำ EIA ก่อนการดำเนินการ เพื่อให้โครงการเหล่านี้ถูกตรวจสอบอย่างรอบครอบ รอบด้านมากที่สุด ไม่ใช่คิดจะทำก็ทำ !!

