รื้อรอดักทราย พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ

ที่ผ่านมามีข่าวกำแพงกันคลื่นระบาดไปตามชายหาดต่างๆ
เหมือนจะหมดหวัง กับการฟื้นฟูชายหาดของประเทศไทย เพราะกำแพงกันคลื่นระบาดหนักเหลือเกิน
แต่คอนเทนต์นี้น่าจะช่วยทำให้คนที่รักชายหาด รักทะเลได้ใจชื้นขึ้นมาหน่อย
กับการรื้อรอดักทรายหน้าพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี

การรื้อรอดักทรายนี้จะเป็นตัวอย่างของการรื้อโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง เพื่อฟื้นคืนสมดุลชายฝั่ง ถือเป็นที่เเรกๆที่มีการใช้มาตรการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เเทนการสร้างต่อไปเรื่อยๆ

ก่อนจะเข้าเรื่องการรื้อรอดักทราย ต้องอธิบายลักษณะชายหาดแถบนี้กันหน่อย ชายหาดบริเวณนี้มีการเคลื่อนที่ของตะกอนทรายโดยสุทธิจากด้านใต้ไปทางด้านเหนือ(คลองบังตราใหญ่ ไป คลองบังตราน้อย) บริเวณปากคลองบังตราใหญ่มีการสร้างเขื่อนกันทรายปากคลองบังตราใหญ่ ทำให้ตะกอนทรายที่เคลื่อนจากด้านใต้ไปเหนือ ทับถมฝั่งด้านใต้ของเขื่อนกันทรายปากคลองบังตราใหญ่ ส่วนด้านเหนือเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้มีการก่อสร้างรอดักทรายเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จำนวน 8 ตัว ต่อเนื่องจนถึง ปากคลองบังตราน้อย ซึ่งมีเขื่อนกันทรายและคลื่นปากคลองบังตราน้อยตั้งอยู่ โครงสร้างทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก่อสร้างโดยกรมเจ้าท่า และยังมีโครงสร้างอื่นๆด้วย ซึ่งทำให้ชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงไป

ภาพ เเสดงโครงสร้างปากร่องน้ำเเละรอดักทราย จากคลองบังตราใหญ่ถึงคลองบังตราน้อย

การมีมติให้รื้อรอดักทราย หน้าพระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 คณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ได้ประชุม และมีมติที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดในพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ ให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ โดยรื้อรอดักทรายจำนวน 3 ตัว คือ ตัวที่ 3 ตัวที่ 4 และ ตัวที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ ร่วมกับใช้มาตรการเสริมอื่นๆที่จำเป็น

ภาพ เเสดงรอดักทรายที่จะมีการรื้อ

ก่อนหน้านี้ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดในพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยได้มีข้อเสนอให้รื้อรอดักทรายตั้งแต่คลองบังตราน้อยลงไปทางใต้จนถึงคลองบังตราใหญ่ จำนวน 8 ตัวของกรมเจ้าท่า ให้มีการถ่ายเททรายจากด้านใต้ของเขื่อนกันทรายปากร่องคลองบังตราใหญ่ เพื่อให้ตะกอนทรายสามารถไหลได้ตามสมดุลชายหาด และยังมีมาตรการอื่นๆอีกในรายการศึกษา แต่อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 ได้มีมติให้รื้อรอดักทรายจำนวน 3 ตัว ของกรมเจ้าท่า และได้มีการตั้งบประมาณในการรื้อรอดักทรายตามมติตั้งกล่าว ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระการพิจารณางบประมาณรายงานประจำปี 2566

ภาพมุมสูงจากโดรนเเสดงให้เห็นรอดักทราย
ภาพ รอดักทรายที่จะถูกรื้อ

การมีมติให้รื้อโครงสร้างรอดักทรายที่บริเวณหน้าพระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ นั้น นับได้ว่าเป็นการรื้อถอนโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่แรกๆ ของประเทศไทย
ที่ผ่านมาทางเครือข่ายที่ติดตามปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ได้เรียกร้องต่อหน่วยงานให้รื้อถอนโครงสร้างที่ไม่จำเป็น ไม่มีประสิทธิภาพบริเวณชายฝั่งทะเล เช่น สะพานปลา รอดักทราย หรือ กำแพงกันคลื่นที่ชำรุด เพื่อคืนสมดุลชายฝั่ง แต่มาตรการการรื้อถอนโครงสร้างเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น การรื้อถอนรอดักทรายครั้งนี้จะเป็นกรณีแรกที่สำคัญและน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

เรื่อง : อภิศักดิ์ ทัศนี, Beach for life

Published by Beach for life

บรรณาธิการกลุ่ม Beach for life

One thought on “รื้อรอดักทราย พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s