10 ปี คดีชายหาดสะกอม ถึง คดีอ่าวน้อย สังคมไทยเรียนรู้อะไร ?

10 ปีผ่านไปสังคมไทยได้บรรทัดฐานทางกฎหมายมากมาย เเต่คดีสะกอมยังไม่ได้รับการพิพากษา ความยุติธรรมที่ล้าช้านี้มีผลต่อผู้ฟ้องคดี เเละชายหาด มิใช่เพียงเเค่หาดสะกอม เเต่เป็นชายหาดทั่วประเทศไทย

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ณ ชายหาดสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ชุมชนได้ใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฟ้องคดีสะกอมต่อศาลปกครองสงขลา เนื่องจากชายหาดสะกอมเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง อันเป็นผลจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม และเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงริมชายหาดสะกอมที่ใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาด การฟ้องคดีต่อศาลปกครองของชุมชนสะกอม ณ ชายหาดสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ชุมชนได้ใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฟ้องคดีสะกอมต่อศาลปกครองสงขลา เนื่องจากชายหาดสะกอมเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง อันเป็นผลจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม และเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงริมชายหาดสะกอมที่ใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาด การฟ้องคดีต่อศาลปกครองของชุมชนสะกอม นับได้ว่าเป็นหมุดหมายแรกของการฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของรัฐที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง 

อย่างไรก็ตาม 10 ปีผ่านไป คดีสะกอมยังคงค้างอยู่ในศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้รับการพิพากษาให้ถึงที่สุด ความเดือดร้อนเสียหายต่อชุมชนและชายหาด ยังคงเกิดขึ้นจากวันนับตั้งเเต่มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม มาจนถึงปัจจุบันนี้ 

หลังจากการฟ้องคดีสะกอม เมื่อปี 2551 เกิดการฟ้องร้องอันเนื่องจากการกระทำหน่วยงานของรัฐที่ก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอีกหลายคดี คดีที่สำคัญๆ ได้แก่ คดีคลองวาฬ จังหวัดประขวบคีรีขันธ์ คดีชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา และคดีอ่าวน้อย จังหวัดประขวบคีรีขันธ์ ทั้ง 3 คดีที่กล่าวมานั้นเป็นคดีทางปกครอง ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการของหน่วยงานรัฐทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อวิถีชิวิตของชุมชน และทรัพยากรหาดทราย การฟ้องคดีต่างๆข้างต้นได้ส่งผลให้สังคมไทยเริ่มหันมาสนใจปัญหาผลกระทบที่เกิดการการใช้โครงสร้างแข็งและสิทธิชุมชนในการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐในกรณีการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้น 

คณะทำงาน 10 ปีคดีสะกอมถึงคดีอ่าวน้อยสังคมไทยเรียนรู้อะไร ? มองเห็นว่าช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาจากการฟ้องคดีสะกอม จนถึงคดีอ่าวน้อยนั้น มีบทเรียน ข้อค้นพบ บรรทัดฐานที่สำคัญ ที่สังคมไทยควรค่าแก่การเรียนรู้ และร่วมกันแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างเป็นมิตรระหว่างประชาชน และหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ ฟื้นฟูชายหาดประเทศไทยอย่างยั่งยืน 

ทำความเข้าใจ 4 คดี ในเชิงวิศวกรรม และ กฎหมาย 

คดีสะกอม (พิพากษาศาลปกครองสงขลา คดีหมายเลขแดงที่ 130/2554 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2554) 

คดีสะกอม เป็นคดีพิพาทที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายหาดสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเกิดขึ้นจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปการอ่งน้ำสะกอม พร้อมด้วยเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง รวม 6 ตัว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อไม่ให้ตะกอนทรายตกลงปากร่องน้ำสะกอม และเพื่อความสะดวกในการดินเรือเข้าออก โครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและคลื่น ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2541 

การก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอมนั้น เป็นโครงสร้างชายฝั่งทะเลที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียงที่สุด ด้วยขนาดที่ใหญ่และยาวยืนออกไปนอกชายฝั่ง ทำให้รบกวน การเคลื่อนตัวของตะกอนทรายชายฝั่ง ส่วนการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง 4 ตัว เป็นการโครงสร้างป้องกันชายฝั่งจากการกัดเซาะอันเป็นผลจากการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม การดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น พร้อมด้วยเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง เป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร ส่งผลให้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมบริเวณชายหาดถูกทำลายลง 

ภาพ โครงการที่เกิดขึ้น : ภาพประกอบโดย ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง จากเอกสารการประชุม 10 ปี คดีสะกอม ถึง คดีอ่าวน้อย วงการณ์นิติศาสตร์ไทยเรียนรู้อะไร
ภาพผลกระทบจากโครงการ : ภาพประกอบโดย ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง จากเอกสารการประชุม 10 ปี คดีสะกอม ถึง คดีอ่าวน้อย วงการณ์นิติศาสตร์ไทยเรียนรู้อะไร

ผลจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าว คดีสะกอมผู้ฟ้องร้องคดีเป็นชาวบ้านโคกสักและบ่อโซน ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นผู้เดือนร้อนเสียหายจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอมและเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง จำนวน 6 ตัว ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งหาดสะกอมอย่างรุนแรงและการกัดเซาะชายฝั่งยังคงลุกลามต่อไปไม่สิ้นสุดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหาดสะกอมเป็นหาดที่ผู้ฟ้องงคดีใช้ประโยชน์ในการทำประมงริมชายฝั่ง ทำให้ผู้ฟ้องคดีสะกอมต้องนำคดีมาสู่ศาล โดยมีสาระสำคัญในการฟ้องคดี 3 ประเด็นดังนี้

  •  ประเด็นที่ 1 การก่อสร้างเขื่อนกันทรายเละคลื่นปากร่องน้ำสะกอม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน เป็นมาตรการที่ไม่ได้สัดส่วน ผู้ฟ้องคดีจึงมีคำขอให้ศาลปกครองพิพากษาว่าการก่อสร้างเขื่อนทรายและคลื่นไม่ชอบด้วยกฎหมาย   
  • ประเด็นที่ 2 การก่อสร้างเขื่อนกันทรายเละคลื่นปากร่องน้ำสะกอมเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ฟ้องคดี ทำให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากขาดรายได้และไม่สามารถใช้ประโยชน์จากชายหาดได้ตามปกติ จึงขอให้ศาลสั่งให้กรมเจ้าท่าชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดรายได้และประโยชน์จากการใช้หาดสะกอมแก่ผู้ฟ้องคดี  
  • ประเด็นที่ 3 การสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นทำให้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมบริเวณหาดสะกอมถูกทำลาย จึงขอให้ศาลปกครองสั่งกรมเจ้าท่าชดใช้ค่าเสียหายเพื่อฟื้นฟูแก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
การกัดเซาะทิศตะวันตกของโครงการ : ภาพประกอบโดย ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง จากเอกสารการประชุม 10 ปี คดีสะกอม ถึง คดีอ่าวน้อย วงการณ์นิติศาสตร์ไทยเรียนรู้อะไร

คดีคลองวาฬ (คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ส.748/2559 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2559)

หาดคลองวาฬ เป็นชายหาดที่ติดต่อกับอ่าวมะนาว มีคลองวาฬเชื่อมต่อกับทะเล สองฝั่งคลองเป็นป่าชายเลย บริเวณหาดคลองวาฬเป็นที่ตั้งขอหมู่บ้านประมง มีความยาวชายหาดประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นหาดทรายผสมเลน โครงการก่อสร้างในพื้นที่ชายหาดคลองวาฬ ประกอบไปด้วย 1) เขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กป้องกันตลิ่งยาว 300 เมตร บนชายหาด สร้างเมื่อปี 2547 2) สวนสาธารณะบนชายหาดคลองวาฬ และเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งแบบหินทิ้ง จำนวน 11 ตัว ตลอดแนวชายฝั่ง 1.3 กิโลเมตร สร้างเมื่อ 2548 

 เมื่อการสร้างกำแพงป้องกันชายฝั่งชายหาดด้านหน้ากำแพงจะค่อยๆหดหายได้ เนื่องจากมาจากแรงปะทะของคลื่นที่วิ่งเข้ากระทบกำแพงแล้วสะท้อนออก ในส่วนของเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งนั้น ได้ส่งผลให้คลื่นที่เข้ามาปะทะอ่อนกำลังลงด้านหลังเขื่อนกันคลื่นและเกิดการทับถมของตะกอนทรายด้านหลัง ซึ่งทำให้ชายหาดระหว่างช่องเปิดของเขื่อนแต่ละตัวนั้นเกิดการเซาะเว้าโค้งเป็นวงเสี้ยวพระจันทร์ 

ชายหาดคลองวาฬยังมีโครงสร้างอื่นๆที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในคดีอีกคือ (1) ท่าเทียบเรือ (2) เขื่อนกันคลื่นท่าเทียบเรือ (3) สะพานปลา (4) เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำคลองวาฬ (5) กำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้งตลอดทั้งแนวชายหาด ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ อยู่บริเวณเดียวกันกับโครงการที่กล่าวถึงในคดี ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อลักษณะกายภาพของพื้นที่ชายฝั่งคลองวาฬทั้งสิ้น

พื้นที่ชายหาดด้านหน้าบริเวณที่มีการปรับภูมิทัศน์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสร้างกำแพงคอนกรีตป้องกันคลื่นนั้น สามารถมองเห็นหาดได้ยามน้ำลงบางครั้ง การขึ้นลงชายหาดเป็นไปได้ยากยิ่งเพราะต้องปีนข้ามสันและแนวลาดของกำแพงซึ่งอยู่สูงกว่าชายหาดมาก ส่วนในฤดูมรสุมคลื่นที่วิ่งเข้ามาปะทะกำแพงแนวดิ่งส่งผลให้น้ำทะเลกระเซ็นข้ามสันกำแพงขึ้นมาบนทางเดินริมกำแพงบ้างแสดงดังรูปที่ 2

เพราะการมีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งมากมายบริเวณนี้ ทั้งที่กล่าวถึงในคดีและไม่ได้กล่าวถึง ส่งผลให้กระแสน้ำเปลี่ยนแปลงทิศทางและไหลช้าลงเนื่องจากการวางตัวกีดขว้างการไหลของน้ำและตะกอนชายฝั่งของโครงสร้างต่างๆ ส่งผลให้ชายหาดทรายบางส่วนกลายสภาพเป็นเลน จอดเรือลำบาก ไม่สวยงามและไม่สามารถเล่นน้ำได้เหมือนในอดีต 

การฟ้องคดีคลองวาฬ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 คนเป็นประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตำบลคลองวาฬ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการดำเนินโครงการ 3 โครงการที่เกิดขึ้นบนชายหาดคลองวาฬ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ชายหาดคลองวาฬเปลี่ยนแปลงสภาพไป เป็นลานจอดรถ ถนน และสวนสาธารณะ และทำให้น้ำทะเลซัดเข้ากำแพงกันคลื่น ก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง จึงนำคดีมาสู่ศาลปกครองกลางรวม 3 ประเด็น ดังนี้ 

ประเด็นที่ 1 การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งชายหาดคลองวาฬ ความยาว 300 เมตร โครงการก่อสร้างสวนสาธารณะบนชายหาดคลองวาฬ และโครงการก่อสร้างเขื่อนหินกั้นน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งในทะเล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลปกครองสั่งให้โครงการทั้งหมดเป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

        ประเด็นที่ 2 ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเทศบาลตำบลคลองวาฬและกรมเจ้าท่าต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำทั้ง 2 กรณี จึงขอให้เทศบาลคลองวาฬและกรมเจ้าท่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามโครงการพร้อมปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้ใกล้เคียงดังเดิม โดยใช้งบประมาณของตนเอง หากไม่ดำเนินการและประชาชนดำเนินการไปแล้วให้เทศบาลคลองวาฬและกรมเจ้าท่าชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ได้มีการออกค่าใช้จ่ายไปก่อน 

        ประเด็นที่ 3 ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเทศบาลคลองวาฬและกรมเจ้าท่าต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงขอให้ศาลปกครองสั่งให้กรมเจ้าท่าและเทศบาลคลองวาฬ จัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หาดคลองวาฬในวงเงิน 10 ล้านบาท โดยให้ประชาชนในชุมชคลองวาฬมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ 

ภาพโครงการที่เกิดขึ้น : ภาพประกอบโดย ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง จากเอกสารการประชุม 10 ปี คดีสะกอม ถึง คดีอ่าวน้อย วงการณ์นิติศาสตร์ไทยเรียนรู้อะไร

คดีชลาทัศน์ (คำพิพากษาศาลปกครองสงขลา คดีหมายเลขเเดงที่ ส.6/2559 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2559) 

ชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา เป็นชายหาดทรายยาวประมาณ 7.8กิโลเมตร ตั้งแต่หัวนายแรงถึงแหลมสนอ่อน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสงขลาและละแวกใกล้เคียง พื้นที่นี้มีจุดเริ่มต้นการกัดเซาะชายฝั่งมาตั้งแต่ปลายปี 2545 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีความพยายามใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมรูปแบบต่างๆเพื่อป้องกันชายฝั่งมาตลอด แต่ยิ่งส่งผลให้การกัดเซาะขยายตัวลุกลามไปทางพื้นที่ด้านทิศเหนือของชายหาด จากระยะกัดเซาะเพียงไม่กี่สิบเมตร ปัจจุบันมีโครงสร้างป้องกันแบบกำแพงหินทิ้งและกำแพงกระสอบทรายยาวประมาณ 2 กิโลเมตร

โครงการป้องกันชายหาดฯได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงประมาณ มิถุนายน 2558 โดยใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งเป็นแท่งคอนกรีตต่อกันเป็นแนวยาวรวม 48 เมตรต่อ 1 แถว รวม 17 แถว ตลอดความยาวชายหาด 1.1 กิโลเมตร พร้อมการถมทรายเสริมเพื่อเพิ่มความกว้างชายหาดไปอีก 30-50 เมตร ตลอดแนว รวมใช้ทรายประมาณ 144,000 ลูกบาศก์เมตร งบประมาณรวม 17.5 ล้านบาท โดยแยกการดำเนินงานเป็น 2 เฟส ตามรูปที่ 1 มีกำหนดแล้วเสร็จปลายตุลาคม 2558 

โครงสร้างป้องกันชายฝั่งในโครงการนี้เป็นรูปแบบที่ไม่ปรากฏว่ามีการใช้งานทั้งในไทยและต่างประเทศ วัสดุที่ใช้มีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมสำหรับโครงสร้างที่ต้องทนรับแรงคลื่นและน้ำทะเล อีกทั้งการวางตัวของโครงสร้างตั้งฉากกับชายฝั่งในลักษณะนี้เรียกว่า “รอดักทราย” หรือ “Groin” ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ชายทางทิศของงโครงสร้างตัวสุดท้ายเกิดการกัดเซาะลุกลามไปเรื่อยๆ และที่สำคัญ โครงสร้างป้องกันลักษณะนี้จำเป็นต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสรุปแล้วเชิงกายภาพมีข้อห่วงกังวลดัง

แม้มีการฟ้องคดี แต่โครงการนี้มิได้ยุติการดำเนินงาน ยังคงเดินต่อเรื่อยๆแต่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากแท่งคอนกรีตในรูปแบบตัว i ตามที่กล่าวไว้ในหัวข้อข้อเท็จจริง เป็นตัว T และปรับเป็นการเติมทรายอย่างเดียว โดยนำทรายมาจากแหลมส่นอ่อนโดยขนถ่ายผ่านรถบรรทุกและนำมาเทลงที่หน้าชายหาด และใช้รถเกลี่ยให้เสมอกับสันชายหาดเดิม ส่งผลให้ชายหาดที่แหลมสนอ่อนเสียหายอย่างหนักเนื่องจากมีการนำดินลูกรังเททับบนชายหาดเพื่อทำถนนรองรับการขนถ่ายทราย และยังส่งผลให้เกิดหลุมขนาดใหญ่จากการขุดทรายหน้าชายหาดอีกด้วย ส่วนบริเวณที่นำทรายมาเติมมิได้มีการปรับชายหาดให้มีความลาดชันตามเดิม ชายหาดเกิดเป็นหน้าผาชันและน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีแดงจากทรายที่ผสมกับดินลูกรัง

หลังจากนั้นไม่นาน ทรายที่ได้เติมไว้หน้าหาด ซึ่งไม่ทราบจำนวนและไม่ได้แล้วเสร็จตามที่ตั้งโครงการไว้ ก็ถูกน้ำทะเลเซาะหายไปในที่สุด ส่วนพื้นที่แหลมสนอ่อนแม้ธรรมชาติจะค่อยๆเยียวยาตัวเองได้ แต่ถนนลูกรังยังคงทับอยู่บนสันทรายยาวเกือบตลอดแนว ส่งผลให้ภูมิทัศน์ของแหลมสนอ่อนเสียหายบางส่วน 

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 เป็นตัวแทนกลุ่มประชาคมเละในฐานะประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการดำเนินโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ในปี 2558 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลเป็นการรบกวนระบบสมดุลและการปรับตัวของชายหาดตามกระบวนการทางธรรมชาติ ผู้ฟ้องจึงนำคดีมาฟ้องศาลปกครอง 3 ประเด็นดังนี้ 

         ประเด็นที่ 1 การดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากบกพร่องในการให้ข้อมูลข่าวสารและขาดการมีส่วนร่วมของในการตัดสินใจของประชาชน การไม่ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไม่ขออนุญาตเจ้าท่าตามกฎหมาย เลือกใช้วิธรการที่ไม่เหมาะสมและไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และขัดแย้งกับผลการศึกษาวิจัยรวมถึงความต้องการของประชาชนชาวสงขลา จึงขอให้ศาลปกครองพิพากษาให้โครงการนี่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมิให้มีการดำเนินการโครงการทั้งหมด รวมถึงให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและปรับสภาพพื้นที่ให้คืนสู่สภาพเดิมด้วยงบประมาณของผู้ถูกฟ้องคดี 

         ประเด็นที่ 2 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า และเทศบาลนครสงขลา ได้กระทำการอันเป็นการละเลยหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด

         ประเด็นที่ 3 การกระทำของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม อันเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิของผู้ฟ้งคดี จึงขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยใช้งบของผู้ถูกฟ้องคดี จำนวน 20 ล้านบาท 

ภาพ โครงการที่จะเกิดขึ้น ณ หาดสมิหลา-ชลาทัศน์ : ภาพประกอบโดย ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง จากเอกสารการประชุม 10 ปี คดีสะกอม ถึง คดีอ่าวน้อย วงการณ์นิติศาสตร์ไทยเรียนรู้อะไร

คดีอ่าวน้อย (คำสั่งเกี่ยวกับมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองเพชรบุรี คดีหมายเลยดำที่ ส.6/2559 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2559

ชายหาดบริเวณอ่าวน้อยมีลักษณะเป็นหาดกระเปาะ (pocket beach) ขนาดเล็กยาวประมาณ 1.1 กิโลเมตรวางแนวเหนือใต้อยู่ระหว่างเขาคั่นกระไดและเขาตาม่องลาย ซึ่งมีหน้าทที่เป็นปราการป้องกันคลื่นลมตามธรรมชาติได้ส่วนหนึ่ง ชายหาดค่อนข้างมีความสมดุลในตัวเอง หากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพจะเป็นไปเพียงช่วงเวลาสั้นๆในฤดูมรสุมเท่านั้น หลังจากนั้นจะกลับเข้าสู่สมดุลเดิมตราบเท่าที่ไม่มีการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก สภาพของชายหาดแสดง

ด้านทิศใต้เป็นชุมชนและสะพานปลา ชาวบ้านใช้ชายหาดเพื่อการจอดเรือและเป็นท่าขึ้นลงสัตว์น้ำ มีกำแพงกันคลื่นสูง 1 เมตรของเดิมอยู่ โซนกลางของหาดเป็นพื้นที่เอกชนทั้งที่ยังรกร้างและมีการปลูกสร้างบ้านเรือนและรีสอร์ทแล้ว และส่วนเหนือสุดที่เป็นเอกชนแต่ยังรกร้างและปลายสุดเป็นวัดอ่าวน้อยซึ่งอยู่ติดกับวัดหัวเขาคั่นกระได

ข้อเท็จจริงของโครงการที่เกิดขึ้น กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดยาวตลอดแนว 1.1 กิโลเมตร โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส มีลักษณะแสดงดังรูปที่ 2 โดยมีการปรับภูมิทัศน์ด้านหลังกำแพงเพื่อทำสันกำแพงและพื้นที่เอนกประสงค์รองรับการท่องเที่ยว

จากรายงานการศึกษาของเจ้าของงานเองพบว่าแม้ไม่มีโครงการนี้ในอีก 25 ปี ชายหาดทางตอนใต้ที่เป็นชุมชนนั้นจะไม่มีการกัดเซาะใดๆ ส่วนทางทิศเหนือติดกับวัดอ่าวน้อยนั้นจะมีการกัดเซาะเพียง 0.8ม./ปี เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากจัดเป็นชายหาดที่ยังคงมีเสถียรภาพ ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวพบว่าโครงการนี้แทบไม่มีความจำเป็นในการก่อสร้างเลย

เมื่อพิจารณารูปแบบโครงสร้างที่นำมาใช้ นับว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับความของชายหาดอ่าวน้อยเนื่องจากว่าโครงสร้างกำแพงนี้ จะวางทับไปบนชายหาดโดยกินพื้นที่ความกว้างชายหาดเกือบทั้งหมด จากแบบรายละเอียดโครงสร้างกำแพงพบว่ามีการถมทะเลบางส่วนเนื่องจากโครงสร้างยื่นล้ำลงไปในทะเล และเมื่อระดับน้ำลงต่ำสุดก็ยังพบว่ามีบางส่วนของโครงสร้างอยู่ใต้น้ำ นั้นหมายความว่ายามน้ำขึ้นโครงสร้างบางส่วนจะจมอยู่ใต้น้ำและจะไม่สามารถเดินบนชายหาด หรือแม้กระทั้งมองเห็นชายหาดได้ โดยจะสามารถเดินและมองเห็นหาดทรายเฉพาะยามน้ำลงเท่านั้น ทั้งที่ก่อนจะมีการก่อสร้างชายหาดอาจหดสั้นลงบ้างในบางฤดูกาล แต่ในทุกฤดูกาล ยังมีหาดทรายให้เห็นและเดินเล่นได้

ในระยะแรกๆของการก่อสร้างกำแพงป้องกันชายฝั่ง อาจยังพอให้เห็นทรายด้านหน้าโครงสร้างอยู่บ้างยามน้ำลง เพราะมีการนำทรายมาถมทับด้านหน้าหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป หาดทรายด้านหน้ากำแพงจะหายไปจากอิทธิพลของคลื่นที่วิ่งเข้าปะทะโครงสร้างและดึงเอาทรายด้านหน้ากำแพงออกไปนอกฝั่ง คลื่นขนาดเล็กที่เคยพาทรายมาทับถมบนหาดตามกระบวนการธรรมชาติจะไม่เกิดขึ้นอีก แม้ว่ายามน้ำลงคลื่นอาจวิ่งไม่ถึงที่จะปะทะโครงสร้าง แต่เมื่อยามน้ำขึ้นก็จะส่งผลกระทบลักษณะนี้สะสมไปเรื่อยๆ จนชายหาดด้านหน้ากำแพงค่อยๆหายไปอย่างถาวร น้ำหน้ากำแพงลึกขึ้น ชายหาดที่เคยมีลักษณะลาดเอียงตามธรรมชาติเสียสมดุลไป ลักษณะนี้มีให้เห็นแล้วจากผลกระทบของกำแพงกันตลื่งลักษณะเดียวกันที่บริเวณอ่าวประจวบฯ หาดเขากะโหลก หาดปากน้ำปราณ และอีกหลายที่ใน จ.ประจวบฯ ที่สร้างกำแพงในลักษณะเช่นเดียวกัน

หากนับถึงวันที่ศาลปกครองเพชรบุรีสั่งคุ้มครองชั่วคราว (ตุลาคม 2559) โครงการนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปส่วนหนึ่ง คือกำแพงกันคลื่นแบบขันบันไดยาว 140 เมตร ทางทิศใต้ของชายหาดติดกับกำแพงกันคลื่นเดิมที่สร้างโดยท้องถิ่น แสดงดังรูปที่ 3 โดยในส่วนนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่มีต่อพื้นที่ถัดไปนัก เนื่องจากในช่วงก่อสร้างทางผู้รับจ้างได้มีการถมทรายและดินลูกรังทำถนนเพื่อขนถ่ายวัสดุด้านหลังแนวที่จะสร้างกำแพง ทำให้พื้นที่ชายหาดถูกขยายให้กว้างขึ้นบางส่วน จึงยังคงไม่พบร่องรอยของการกัดเซาะด้านทิศเหนือของโครงสร้างมากนัก ส่วนชายหาดด้านหน้ากำแพงที่สร้างเสร็จแล้วนั้นจะสามารถมองเห็นได้เฉพาะช่วงน้ำลงเท่านั้นช่วงน้ำขึ้นเต็มที่คลื่นจะซัดมาปะทะและมีบางส่วนกระเซ็นขึ้นมาบนสันของกำแพง

ภาพ เเบบจำลองโครงการ โดยกรมโยธาธิการเเละผังเมือง : ภาพประกอบโดย ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง จากเอกสารการประชุม 10 ปี คดีสะกอม ถึง คดีอ่าวน้อย วงการณ์นิติศาสตร์ไทยเรียนรู้อะไร


 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 9 เป็นประชาชนที่มีที่ดินและบ้านพักอาศัยอยู่บริเวณชายหาดอ่าวน้อย ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการดเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันการกัดเซาะชายทะเลพื้นที่ชายฝั่งอ่าวน้อยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลทำให้การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายหาด กระทบต่อประชาชนที่จะเข้าใช้ประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจ ทำลายทัศนียภาพของหาด ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองดังนี้ 

ประเด็นในการฟ้องร้องคดี การก่อสร้างก่อสร้างเขื่อนกันการกัดเซาะชายทะเลพื้นที่ชายฝั่งอ่าวน้อยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งหน่วยงานของรัฐยังละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการแก่ชุมชนผู้ได้รับผมกระทบทราบ/ ไม่จัดรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติโครงการ แต่มารับฟังความคิดเห็นภายหลังดำเนินโครงการแล้ว /ไม่ทำการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) /ไม่ขอนุญาตก่อสร้างจากกรมเจ้าท่าผู้ฟ้องคดีจึงขอศาลปกครองเพชรบุรี 

บทเรียน 4 คดี 10 ปีผ่านไป เรียนรู้อะไร 

บทเรียน 4 คดี 10 ปีผ่านไป เรียนรู้อะไร ในคดีทั้ง 4 คดี มีความน่าสนใจในเชิงบรรทัดฐานบางประการในทางกฎหมายที่ถูกวางหลักไว้หลังจากมีการฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับหาดทราย เช่น สถาานนะทางกฎหมายของหาดทราย เหตุผลในการดำเนินการของรัฐ เเละเงื่อนไขในการฟ้องคดี 

สถานะหาดทราย : หาดทรายเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน 

การฟ้องร้องคดีปกครองที่เกี่ยวข้องกับหาดทราย พบว่า ศาลได้ให้สถานะหาดทรายทางกฎหมาย โดยถือว่าหาดทรายเป็นสาธารณะสมบัติที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามมาตรา 1304(2)ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(คำพิพากษาศาลปกครองสงขลา คดีหมายเลขแดงที่ ส.6/2559,น.84) 

เหตุผลในการดำเนินการก่อสร้างโครงการป้องกันชายฝั่งของรัฐ 

มุมมองของรัฐต่อการเลือกใช้มาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พบว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีเหตุผลในการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง เพราะป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ หากไม่มีการป้องกันจะก่อให้เกิดความเสียหายจากการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสในการป้องกัน เหตุผลที่ต้องสร้างเพราะประชาชนเรียกร้อง เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากคลื่นลมในทะเลทำลายที่ดินและทรัพย์สิน เหตุผลการใช้โครงสร้างแข็งเพราะเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับและใช้กันในหลายประเทศ และเหตุผลที่ต้องเลือกมาตรการเติมทรายเพราะเป็นวิธีการที่เห็นตรงกันทุกฝ่ายว่ารบกวนธรรมชาติน้อยที่สุดและมีงานศึกษาวิจัยรองรับสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ 

เงื่อนไขในการฟ้องคดี 

ผู้มีสิทธิฟ้อง พบว่า ศาลได้วางหลังว่า ชุมชนชายฝั่งทะเลมีองค์ประกอบคือต้องเป็นชุมชนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งและตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล สำหรับการใช้สิทธิชุมชนชายฝั่งสามารถใช้ได้ ๒ ลักษณะ คือ ใช้ในฐานะ “คณะบุคคล” และในฐานะ “ปัจเจกบุคคล” ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการใช้สิทธิชุมชนชายฝั่ง

ระยะเวลาในการฟ้องคดี พบว่า การฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมเพื่อตรวจสอบความไม่ชอบด้วยกฎหมายของโครงการบริเวณชายฝั่งทะเลเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่มีอายุความ และการฟ้องคดีละเมิด หากการละเมิดยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาตราบเท่าที่ไม่มีการรื้อถอนและเยียยาความเสียหาย แม้กฎหมายกำหนดให้ต้องฟ้งคดีภายใน 1 ปีนับแต่รู้ และไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุละเมิดก็คาม เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องเสมอมาย่อมถือว่าเป็นการฟ้องในอายุความ

10 ปีผ่านไป ประเด็นในการฟ้องร้องเป็นเรื่องเดิมๆ ! 

นอกจากบรรทัดฐานบางประการที่ศาลวางไว้จากคำพิพากษาในคดีเเล้วนั้น หากพิจารณาคดีทั้ง 4 เราจะพบว่า มี 3 ประเด็นที่มักถูกกล่าวถึง เป็นสาเหตุหลักในการฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับหาดทราย คือ การรับฟังความเห็น การจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อม เเละการขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

การรับฟังความเห็นของประชาชน 

จากการฟ้องร้องในคดีทั้ง 4 คดี เราจะพบว่ามีประเด็นของการที่หน่วยงานของรัฐนั้นไม่มีการรับฟังความคิดเห็น หรือ การรับฟังความคิดเห็นไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เมื่อพิจารณาแล้ว จะพบว่ารัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตไว้ และมีกฎหมาย 2 ฉบับคือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 และ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2458 เป็นระเบียบในการรับฟังความคิดเห็นแต่จะพบว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนั้น บัญญัติว่า “ให้เป็น อำนาจดุลพินิจ ของรัฐมนตรี (โครงการของกระทรวง/กรม) หรือผู้ว่าราชการจังหวัด (โครงการส่วนภูมิภาค/ท้องถิ่น) เป็นผู้พิจารณาโครงการ” ดังนั้นแล้วหน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการ สามารถใช้ดุลพินิจเลือกวิธีการ ในการรับฟังความคิดเห็นได้หลากหลายวิธี ซึ่งอาจทำให้กระบวนการรับฟังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งเเวดล้อม(EIA)

การจัดทำรายงานการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในชุมชน มี 2 แนวทาง แนวทางที่ 1 การก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอม มีลักษณะเป็นการถมที่ดินในทะเล จึงจำเป็นต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหานิยามคำว่า “การถมที่ดินในทะเล” ที่ยังมีความคลุมเครือ แนวทางที่ 2 ศาลปกครองมีความเห็นว่าการก่อสร้างสวนสาธารณะบนชายหาดคลองวาฬไม่เข้าประเทศโครงการที่ต้องทำ EIA และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งคลองวาฬความยาว 300 เมตร เป็นการก่อสร้างบนชายหาด ไม่ได้เป็นการถมที่ดินลงไปในทะเลและไม่ได้อยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ฉบับปี 2552 จึงไม่ต้องทำ EIA

การขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินโครงการ 

พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย 2456 มาตรา 117 “ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำของแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยหรือ บนชายหาด ของทะเลดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า…”

คำถามที่น่าสนใจ คือ กรมเจ้าท่า และ จังหวัด / ท้องถิ่น ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากกรมเจ้าท่า หากหน่วยงานที่กล่าวมานี้ เจ้าของโครงการเหล่านี้สามารถออกใบอนุญาตอนุมัติโครงการตนเองได้หรือไม่ ?

พบว่า การก่อสร้างโครงการลงบนชายหาด การขุดลอกร่องน้ำทางเดินเรือ รวมถึงการดูดทรายนอกชายฝั่ง ต้องได้รับอนุญาตจาก กรมเจ้าท่า หากเป็นจังหวัดหรือท้องถิ่น อาจได้รับมอบอำนาจจากกรมเจ้าท่า ซึ่งการมอบอำนาจอาจจะ ไม่ครอบคลุมกิจกรรม ต่างๆ ในโครงการทั้งหมดก็ได้ หากกรมเจ้าท่า จังหวัด หรือท้องถิ่น เป็นเจ้าของโครงการเสียเอง ต้องให้ “เจ้าท่าอื่น” เป็นผู้พิจารณาอนุญาต 

คำถามที่น่าสนใจ สำหรับประเด็นนี้ คือ การให้เจ้าของโครงการดำเนินการขอใบอนุญาตย้อนหลัง สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายและหลักพื้นฐานของกฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือไม่?

การถอดบทเรียน 10 ปีคดีสะกอม ถึง คคีอ่าวน้อยฯ ในครั้งนี้ ทางคณะทำงานฯ ได้มีการเปิดเวทีสาธารณะ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชน นักวิชาการ ภาคพลเมือง เเละ NGO มาร่วมรับฟังข้อมูล ข้อค้นพบ บทเรียน เเละบรรทัดฐาน เเละร่วมพูดคุยอย่างเป็นมิตรไมตรี เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การถอดบทเรียนครั้งนี้จะสร้างความรู้ ปัญญา เเละพื้นที่สาธารณะในการพูดคุย เรียนรู้ร่วมกัน เเละเเสวงหาทางออกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ประชาชน เเละนักวิชาการเพื่อการฟื้นฟู อนุรักษ์ ใช้ประโยชน์หาดทรายประเทศไทยอย่างยั่งยืน 


อ้างอิงข้อมูล 

สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อารยา สุขสม เเละคณะ, เอกสารประกอบการเสวนาวิชาการ 10 ปี คดีชายฝั่งสะกอม ถึง อ่าวน้อย วงการนิติศาสตร์ไทยเรียนรู้อะไร ? , 15 มิถุนายน 2561 

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อารยา สุขสม เเละสมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง, การฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับการกระทำของหน่วยงานของรัฐที่ก่อให้กิดการกัดเซาะชายหาดในประเทศไทย, มกราคม 2562 



องค์กรสนับสนุนเเละร่วมถอดบทเรียน 

สงขลาฟอรั่ม 

มูลนิธิสยามกัมมาจล

สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS

กลุ่ม Beach for life 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน 

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ 



Published by Beach for life

บรรณาธิการกลุ่ม Beach for life

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s