เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ ส่งผลต่อชายหาดอย่างไร ?

สำรวจ 3 ปากร่องน้ำสำคัญที่มีโครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง จนต้องมีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งต่อไปเรื่อยๆ
เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำนั้น เป็นโครงสร้างป้องกันการตื้นเขินของปากร่องน้ำ มีหน้าที่ดักตะกอนและล็อกปากร่องน้ำไม่ให้เคลื่อนที่ เพื่อความสะดวกในการเดินเรือเข้าออกปากร่องน้ำ โครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำในประเทศไทยมีทั้งสิ้น จำนวน 64 ตัว ตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทย(www.beachlover.net) โดยเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำที่โด่งดัง และกลายเป็นกรณีพิพาททำให้เกิดการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง คือ เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม จังหวัดสงขลา

ตำเเหน่งเขื่อนกันทรายเเละคลื่นในประเทศไทย Cr.www.beachlover.net

เราก็อยากชวนไปสำรวจ 3 ปากร่องน้ำสำคัญในจังหวัดสงขลา ที่มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำและเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ในกรณีที่เลือกปากร่องน้ำในจังหวัดสงขลาเพื่อให้ง่ายในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง เนื่องจากตะกอนทรายเลียบชายฝั่งนั้น เคลื่อนที่สุทธิจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือ หมายความว่าหากมีก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำในจังหวัดสงขลา การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งที่เกิดขึ้น คือ การทับถมของตะกอนในทางทิศใต้ (ขวามือ) และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งทางทิศเหนือ (ซ้ายมือ)

เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลา

จากภาพถ่ายทางอากาศในปี พ.ศ. 2510 จะพบว่าก่อนมีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสงขลานั้น ชายหาดบริเวณที่เรียกว่าแหลมสนอ่อนในอำเภอเมือง จังหวัดสงขลานั้น มีสภาพเป็นแหลมไม่มีพื้นที่ดินกว้างมากหนัก แต่เมื่อมีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลา ทำให้เกิดการสะสมตัวของตะกอนทรายบริเวณแหลมสนอ่อน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ทำให้พื้นที่แหลมสนอ่อนมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 500 ไร่ (ข้อมูลเทียบเทียบปี พ.ศ. 2556) ส่งผลให้พื้นที่ฝั่งอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในปัจจุบัน และมีการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นในบริเวณชายหาดเนื่องจากไม่มีตะกอนมาหล่อเลี้ยงชายหาด และการเลี้ยวเบนของคลื่นที่ปะทะเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลาทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งขึ้น


เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา


เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ถือเป็นมหากาพย์การต่อสู้ของประชาชน ที่ฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองว่าด้วยโครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอมทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอมก่อสร้างโดยกรมเจ้าท่า แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2541 หลังจากนั้นเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงด้านเหนือของเขื่อนกันคลื่น โดยชายหาดบริเวณนั้นเกิดการกัดเซาะตัดชันเป็นหน้าผาลึกกว่า 10 เมตร ตลอดแนวชายฝั่งกว่า 2 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนมีการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา และศาลชั้นต้นพิพากษาให้กรมเจ้าท่ามีความผิดเนื่องจากไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินโครงการ และให้กรมเจ้าท่าดำเนินการทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมย้อนหลังภายใน 60 วัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายกฟ้องคดีชายหาดสะกอม โดยศาลวินิฉัยว่า การกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากเขื่อนกันทรายเเละคลื่นของกรมเจ้าท่า เเต่เกิดจากพายุ ทำให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีชายหาดสะกอม

โครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำทั้ง 3 ตัวที่กล่าวมานั้น สร้างผลกระทบต่อชายหาดมหาศาล และปัจจุบันผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และดูเหมือนจะลุกลามบานปลาย หลายพื้นที่มีการสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งอย่างต่อเนื่องจากเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำที่สร้างผลกระทบไว้ยาวหลาย 10 กิโลเมตร และในปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงนักวิชาการ ต่างออกมายอมรับว่า การก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำคือต้นตอสำคัญของการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย เนื่องจากเขื่อนกันทรายและคลื่นขัดขวางกระบวนการชายฝั่ง

การอ้างว่า การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นปากร่องน้ำ เพื่อป้องกันการที่ทรายตกปากร่องน้ำจนไม่สามารถเดินเรือเข้าออกได้ จึงต้องสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำดักตะกอนไว้ เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนนั้น จะไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ เนื่องจากปัจจุบันปากร่องน้ำหลายพื้นที่นั้นมีทรายกองด้านหนึ่งของเขื่อนจนล้นปิดปากร่องน้ำทำให้ไม่สามารถเดินเรือได้

Published by Beach for life

บรรณาธิการกลุ่ม Beach for life

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s