Beach for life ชวนสำรวจ 5 ชายหาดในประเทศไทย ที่เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงหลังจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยทฤษฎีแล้วเมื่อมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจุดหนึ่งนั้น บริเวณด้านท้ายน้ำของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นจะเกิดการเลี้ยงเบนของคลื่นที่เข้ามาปะทะ ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงบริเวณด้านท้ายน้ำของกำแพงกันคลื่น ซึ่งที่ผ่านมารัฐมักบอกกับประชาชนว่า การกัดเซาะชายฝั่งนั้นเกิดขึ้นจากโลกร้อน และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล แต่ ชายหาดทั้ง 5 แห่งที่ Beach for life พามาสำรวจนี้ชัดเจนว่าการกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโดยไม่อาจปฏิเสธได้ เราจึงให้ชื่อว่า “หาดกัดเซาะ เพราะรัฐสร้างกำแพงกันคลื่น”
1. หาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบลาดเอียง ซึ่งท้ายสุดของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ซึ่งบริเวณดังกล่าวนั้นที่ผ่านมาไม่กัดเซาะชายฝั่งมาก่อนถึงแม้จะมีการปักไม้เพื่อสลายพลังงานคลื่นด้านท้ายน้ำของกำแพงกันคลื่น แต่ก็ไม่เป็นผล

2. หาดหน้าสตน จังหวัดนครศรีธรรมราช มหากาฬแห่งการกัดเซาะชายฝั่งจากปากระวะ จังหวัดสงขลา โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นตลอดแนวชายหาด จนท้ายสุดกำแพงกันคลื่นนี้มาหยุดบริเวณหมู่ที่ 5 ตำบลหน้าสตน ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง และปัจจุบันกรมโยธาธิการได้สร้างกำแพงกันคลื่นต่อจากเกิดไปสิ้นสุดหมู่ที่ 6 และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งต่อเนื่องในพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านเรือน สวนมะพร้าวของประชาชนพังเสียหายจำนวนมาก

3. หาดเกาะแต้ว จังหวัดสงขลา กรณีนี้ชัดเจนมากกว่าหาดกัดเซาะชายฝั่งเพราะรัฐสร้างกำแพงกันคลื่น โดยกรมเจ้าท่า บริเวณจุดสิ้นสุดของกำแพงกันคลื่นหาดเกาะแต้วทำให้ชายหาดในตำบลเขารูปช้าง จังหวัดสงขลา กัดเซาะชายฝั่งจนต้นสนล้มหลายสิบต้น กรมเจ้าท่าได้มีการใช้ตาข่ายดักตะกอนมาดักไว้ แต่ไม่เป็นเท่าที่ควร และกำลังจะมีการปักไม้ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการเติมทรายโดยกรมเจ้าท่าเสริมบริเวณนี้เพื่อลดการกัดเซาะชายฝั่งอันเป็นผลจากกำแพงกันคลื่นโดยกรมเจ้าท่า

4. หาดสำเร็จ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อสร้างกำแพงกันคลื่นเสร็จสิ้นในปี 2563 โดยกรมเจ้าท่า ชายหาดแห่งนี้บริเวณท้ายกำแพงกันคลื่นก็เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง โชคดีที่บริเวณดังกล่าวไม่มีบ้านเรือนประชาชนอาศัยหนาแน่น มีเพียงอาคารของชุมชนเล็กๆที่ตั้งอยู่ริมชายหาด ซึ่งปัจจุบันกำแพงกันคลื่นได้ทำให้เกิดการเลี้ยวเบนของคลื่นจนกัดเซาะใกล้ถึงอาคารดังกล่าวแล้ว

5. หาดสะกอม จังหวัดสงขลา กำแพงกันคลื่นที่หาดสะกอม ภายใต้โครงการซ่อมบำรุงเขื่อนกันคลื่นปากร่องน้ำสะกอม โดยกรมเจ้าท่า กำแพงกันคลื่นจุดนี้คือหายนะใหม่ของหาดสะกอมเพราะหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้นทำให้ชายหาดที่กัดเซาะชายฝั่งอยู่แล้วกัดเซาะหนักกว่าเดิมยาวตลอดแนวชายหาดกว่า 1 กิโลเมตร ชายหาดตัดเป็นหน้าผาลึกกว่า 8 เมตร ในบางจุด

นี่คือ 5 ชายหาดที่กัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงเพราะรัฐสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันชายฝั่ง มาถึงจุดนี้แล้วคงปฏิเสธยากแล้วว่าโครงสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นไม่ได้ทำให้หาดเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง และกลับมีคำถามสำคัญเกิดขึ้นว่า โครงสร้างอย่างกำแพงกันคลื่นจริงๆแล้วมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่กลับสร้างผลกระทบทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญเช่นนี้ โครงการเหล่านี้บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจริงๆใช่ไหม ? หรือ จริงแล้วกลับกลายเป็นการซ้ำเติมเพิ่มปัญหาทำให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะชายฝั่งต่อเนื่อง
และที่สำคัญไปกว่านั้น โครงสร้างกำแพงกันคลื่นนั้น ปัจจุบันมีสถานะไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ทั้งๆที่ชัดเจนมากกว่าโครงสร้างกำแพงกันคลื่นเหล่านี้มีผลกระทบต่อชายหาดอย่างรุนแรง และกระทบต่อวิถีชีวิต และการท่องเที่ยวริมชายฝั่ง ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่า “หาดกัดเซาะชายฝั่ง เพราะรัฐสร้างกำแพงกันคลื่น”
