Beach for life ชวนคุยกับลูกสาวทะเลจะนะ
ทวงคืนทะเล ชายหาด ชุมชนจากนายทุน

เริ่มต้น ก่อน Saveจะนะ
ความเป็นมาจาก รัฐบาลมีมติ ครม.ผลักดันนิคมอุตสาหกรรมจะนะเมืองก้าวหน้าเเห่งอนาคต หลังจากนั้นประชาชนจะนะ โดยกลุ่ม จะนะรักษ์ถิ่น ปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อ เดือนธันวาคม 2563 เพื่อให้ทบทวนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทำให้ รตอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรเเละสหกรณ์ ในสมัยนั้นในนามตัวเเทนรัฐบาลมาเจรจากับพี่น้องจะนะ เเละ มีการทำ MOU ระหว่างกัน โดยสาระสำคัญ คือ รัฐบาล ต้องยุติการผลักดันนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เเละให้มีการทำ SEA ภาคประชาชน หลังจากที่ MOU 1 ปีผ่านไป
ล่าสุด บริษัท TPIPP ประกาศจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อโครงการจะนะเมืองต้นเเบบอุตสาหกรรม 4 โครงการ ตั้งเเต่วันที่ 13-23 ธันวาคม 2564 เเละมีการผลักดันเเก้ไขผังเมือง จากพื้นที่เกษตรกรรม(สีเขียว) เป็นเขตอุตสาหกรรม(สีม่วง) จากท่าทีรัฐบาลที่เกิดขึ้น กับความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนนั้น ทำให้เห็นว่า รัฐบาลได้ฉีกข้อตกลงทีาสัญญาไว้กับประชาชน รวมถึง เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเร่งรัดดำเนินโครงการโดยไม่สนใจข้อตกลงทีาให้สัญญาไว้กับประชาชน
สลายหมู่บ้านลูกทะเลจะนะ ทวงสัญญารัฐบาล
วันที่ 6 ธันวาคม 2564 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ประกาศปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล เเต่ไม่ถึง 3 ชั่วโมงหลังจากการปักหลักหน้าทำเนียบ เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ได้เข้าทำการสลายการชุมนุม หมู่บ้านลูกทะเล จะนะรักษ์ถิ่น ประชาชนที่ร่วมชุมนุม ถูกจับไปยังสโมสรตำรวจ ขำนวน 37 คน หนึ่งในนั้นเป็นนักศึกษาที่เข้ามาร่วมให้กำลังใจพี่น้องจะนะรักษ์ถิ่น ภายหลังการจับกุม ประชาชนชาวจะนะได้รับการปล่อยตัว โดยมีเงื่อนไขห้ามมิให้ดำเนินการเคลื่อนไหวในลักษณะเดิมอีก
เเต่ความมุ่งมั่น ปกป้องบ้านเกิด พี่น้องจะนะรักษ์ถิ่นประกาศตั้งหมู่บ้าน จะนะรักษ์ถิ่น หน้า UN อีกครั้ง ก่อนเตรียมตัวบุกทำเนียบรัฐบาล 13 ธันวาคมนี้ เพื่อทวงสัญญาที่รัฐบาลให้ไว้กับประชาชน
Beach for life ชวนคุยกับไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวทะเลจะนะ ที่ยืนหยัดต่อสู้ปกป้องทะเลและบ้านเกิด และ ชัยฟุลเลาะห์ ยะโกะ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เยาวชนที่ร่วมปักหลักกับพี่น้องจะนะรักษ์ถิ่นหน้าทำเยียบรัฐบาล และเป็นผู้ประสานงานกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเด็นฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ไครียะห์ เล่าว่า การมาของพี่น้องจะนะรักษ์ถิ่น นั้นเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่มาทวงคืนสัญญาที่รัฐบาลให้ไว้กับประชาชน รัฐบาลได้สัญญา MOU กับพี่น้องจะนะให้หยุดดำเนินการผลักดันนิคมอุตสาหกรรมไว้ก่อน แล้วทำการศึกษา SEA โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่ง SEA นั้นคือข้อเรียกร้องที่สำคัญของพี่น้องจะนะที่มา SEA คือ การประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ เป็นประเมินศักยภาพพื้นที่จะนะว่ามีศักยภาพเป็นอย่างไร ซึ่งเราเชื่อว่า จะนะนั้นมีศักยภาพในการทำเกษตร ประมงมากกว่าการเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะ อำเภอจะนะมีทรัพยากรที่หลากหลายทั้ง ควน พื้นที่ราบ นา ทะเล ซึ่งเพียงแค่อาหารทะเลจากท้องทะเลจะนะ นั้นสามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาคได้ เช่น ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งสะท้อนความสมบูรณ์และศักยภาพของทะเลจะนะในการเป็นแหล่งโปรตีนของอาเซียน หรือแม้พื้นที่ทะเลในทางวิชาการยังยืนยันว่าสามารถกักเก็บคาร์บอนไดร์ออกไซต์ ได้มากกว่า ป่าบนบกมากกว่า 5 เท่า นั้นหมายความว่าการคงรักษาพื้นที่ทะเลไว้ คือ การลดโลกร้อนไปด้วย

หากมีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งจะประกอบไปด้วยท่าเรือขนาดใหญ่ 3 ท่าที่ยื่นยาวลงไปในทะเลกว่า 13 กิโลเมตร เพราะเรือที่เข้ามาในท่ากินน้ำลึก นั้นหมายความว่าต้องมีการะบวนการในการขุดทะเล ให้ลึกเพื่อรองรับเรือเหล่านั้น ชาวประมงจะได้รับผลกระทบจากตะกอน รวมไปถึงเรือขนาดใหญ่ที่วิ่งเข้ามาสัตว์น้ำคงไม่มีเหลือ ชาวประมงก็ไม่สามารถออกทะเลได้ พื้นที่ชายหาด และสันดอนทรายจะกลายเป็นคลังสินค้า และมีอุตสาหกรรมเชื่อมต่อที่ต่อยอดจากนิคมอีกมากมาย ชุมชนตั้งเดิมที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รายล้อมด้วยโรงงาน และไม่เพียงแค่จะนะที่จะเปลี่ยนไป การเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ นำมาซึ่งรถไฟรางคู่ และท่าเรือที่จะเชื่อมจากฝั่งอันดามันมาอ่าวไทย นั้นหมายความว่าจะนะจะไม่หายนะแค่ที่เดียว แต่หมายรวมที่อื่นๆด้วย ไม่มีใครสามารถกั้นฟ้า กั้นอากาศ กั้นน้ำได้ ผลกระทบมันโยงใยสัมพันธ์กันไปหมด นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเผชิญจากเกิดนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
Saveจะนะ คือ วาระร่วมของปาตานี
หากจะนะไม่ชนะ ปาตานีก็ไร้ชีวิต
ชัยฟุลเลาะห์ ยะโกะ
เช่นเดียวกับ ฟู (ชัยฟุลเลาะห์) ที่กล่าวว่าตนเองนั้น อยู่ในพื้นที่ปัตตานี จะนะห่างจากปัตตานีไม่ถึง 100 กิโลเมตร ผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มาถึงปัตตานีแน่นอน เพราะระบบนิเวศทางทะเล และอากาศเชื่อมโยงกัน ในมุมมองของตนที่เป็นนักศึกษาและประสานงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในปัตตานีนั้น มองว่า จริงแล้วไม่ใช่แค่จะนะที่จะถูกเปลี่ยนไป จะนะคือผลพวงจาก พื้นที่สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน เป็นเขตนิคมที่ 4 ที่ต่อเนื่องจากอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่กำลังถูกกำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรม และกำลังมีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง เช่นเดียวกับจะนะ และภายใต้การอำนวยความสะดวกรวมถึงการผลักดันของ ศอ.บต. ปาตานีก็กำลังเผชิญหน้ากับหายนะเช่นเดียวกับจะนะ Saveจะนะ คือ วาระร่วมของปาตานี หากจะนะไม่ชนะ ปาตานีก็ไร้ชีวิต

ไครียะห์ เล่าเสริมว่า การเคลื่อนไหวของพี่น้องจะนะรักษ์ถิ่น เป็นการทวงสัญญาที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้กับประชาชน ที่จริงพวกเขาควรรักษาสัจจะ แต่เขากลับตระบัดสัตย์กับประชาชน พวกเขาสัญญาเช่นนี้ไปทั่วกับพี่น้องประชาชนที่อื่นๆ เราอยากให้เขารู้ว่า เขาจะสามารถสามารถสัญญาแล้วไม่รักษาคำพูดแบบที่ทำกับพี่น้องจะนะได้อีกแล้ว พี่น้องจะนะจะให้บทเรียนกับรัฐบาลที่ไม่รักษาสัญญา เราไม่อยากเห็นการโกหกแบบนี้เกิดขึ้นอีก

ในวันนี้ขบวนการพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ตั้งแต่ P-move ชาวเล เกษตรกร ขบวนการชายหาด ขบวนของประชาชนที่ทุกข์ทนกับการพัฒนาของรัฐกำลังลุกขึ้นมายืนเคียงข้างพี่น้องจะนะ ทุกๆขบวนการของคนที่ได้รับผลกระทบกำลังมุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 13 ธันวาคม นี้ หากรัฐบาลยังไม่ได้ยินเสียงของประชาชนอีก พวกเขาจะได้รับบทเรียนจาก Save จะนะ
