บทเรียน การกัดเซาะหาดชลาทัศน์ ยิ่งเเก้ยิ่งพัง !!

ชายฝั่งทะเลจังหวัดสงขลา ยาวประมาณ 160 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอระโนด สทิงพระ สิงหนคร จะนะ เทพา และอำเภอเมืองสงขลา  เมื่อพูดถึงชายหาดที่สำคัญของจังหวัดสงขลา หลายคนมักจะนึกถึง “หาดสมิหลา-ชลาทัศน์” อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยมีระยะทางตามแนวชายฝั่งประมาณ 7.8 กิโลเมตร หาดชลาทัศน์ มีลักษณะเป็นหาดทรายกว้าง มีหัวหาดที่เป็นหินอยู่สองจุดคือที่หัวนายแรง และที่กองหินใกล้แหลมสมิหลา โดยที่ขอบเขตด้านเหนือของแหลมสนอ่อนจรดโครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลา (Jetty)

ภาพ เเผนที่เเสดงหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ระยะทางรวม 7.8 กิโลเมตร

หาดสมิหลา – ชลาทัศน์ ถือเป็นทั้งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แหล่งทำมาหากินของชาวประมงชายฝั่ง แหล่งท่องเที่ยว และที่ตั้งชุมชน ที่ตั้งอยู่ใจกลางอำเภอเมืองสงขลา นับเป็นจังหวัดหนึ่งในไม่กี่จังหวัดที่มีชายหาดอยู่ใกล้ย่านชุมชนของเมืองมาก 

หาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงระหว่าง พฤศจิกายนถึงต้นเดือนมกราคม โดยที่อาจมีพายุจรพายุช่วงเปลี่ยนฤดูกาลในปลายเดือนตุลาคมและกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ซึ่งจะทำให้ทะเลมีคลื่นลมรุนแรงและน้ำทะเลขุ่น ชายหาดลงเล่นน้ำไม่ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

ชายหาดต่างๆทั่วโลกล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการธรรมชาติ นอกเหนือจากการปรับสมดุลตามฤดูกาลอันเนื่องมาจากลมมรสุมและลมพายุดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น การกระทำของมนุษย์นั้นเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง หาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ก็เช่นกันได้รับผลกระทบจากการเเทรกเเซงกระบวนการทางธรรมชาติของหาด ซึ่งส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะทางรวมกว่า 2 กิโลเมตร ตั้งเเต่ปี 2545-2555 โดยมีลำดับเหตุการณ์ต่างๆดังนี้

  • พ.ศ. 2537 พายุหนักซัดเรือ Genar-II สัญชาติปานามา เข้ามาเกยตื้นที่ด้านเหนือชุมชนเก้าเส้ง หลังจากนั้น พื้นที่ด้านทิศเหนือของซากเรือเกิดการกัดเซาะเนื่องจากลำเรือไปขวางทิศทางของตะกอนชายฝั่ง ในขณะที่ทางทิศใต้นั้นเกิดการทับถมของตะกอนทราย ดังภาพ เเต่เมื่อมีการเคลื่อนย้ายเรือออกจากชายหาด พื้นที่ชายหาดที่เคยมีการทับถมเเละการกัดเซาะชายฝั่งก็กลับเข้าสู่สภาพดังเดิม
ภาพ การเปลี่ยนเเปลงชายหาดชลาทัศน์ ซึ่งเป็นผลจากการเกยตื้นของเรือปานามาที่ขัดขวางการเคลื่อนตัวของตะกอนทรายชายฝั่ง ที่เคลื่อนที่สุทธิจากทิศใต้ไปสู่ทิศเหนือ ทำให้เห็นการทับถมตัวของตะกอนทรายบริเวณด้านใต้ของเรือเเละการกัดเซาะชายฝั่งด้านเหนือของเรือ
  • ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 เทศบาลนครสงขลาได้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำเสียรุกล้ำพื้นที่ชายหาดที่ยังอยู่ในเขตอิทธิพลของคลื่น บริเวณชุมชนเก้าเส้ง ในช่วงมรสุมคลื่นจึงซัดสถานีสูบรวมถึงระบบท่อพังเสียหาย เเละเกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านเหนือของสถานีสูบน้ำเสีย มีระยะทางกัดเซาะประมาณ 100 เมตร การก่อสร้างสถานีสูบน้ำเสีย โดยเทศบาลนครสงขลานั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นหายนะของชายหาดชลาทัศน์ ที่ทำให้เกิดการก่อสร้างต่างๆตามมาเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
ภาพ สถานีสูบน้ำเสียที่ถูกกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากสร้างอยู่ในเขตอิทธิพลของคลื่น
ภาพ สถานีสูบน้ำเสียเเละผลของการกัดเซาะชายฝั่งอันเป็นอิทธิพลของสถานีสูบน้ำเสีย โดยระยะการกัดเซาะชายฝั่งประมาณ 100 เมตร หลังจากสิ้นุสดเเนวอิทธิพลของการกัดเซาะชายฝั่ง ชายหาดมีสภาพเป็นธรรมชาติ โดยสังเกตจากเเนวชายหาดสีขาวเเละต้นสน
  • พ.ศ. 2545 เทศบาลนครสงขลาสร้างรอดักทรายรูปตัวที (T-Groin) จำนวน 3 ตัว ทางด้านเหนือของสถานีสูบน้ำเสีย บริเวณถนนที่มีการกัดเซาะชายฝั่ง ในช่วงเริ่มต้นของการก่อสร้างนั้นสังเกตได้ว่า ชายหาดด้านเหนือของรอดักทรายตัวที่ 3 สภาพชายหาดยังคงเป็นธรรมชาติ หาดทรายกว้างยาว เเต่เมื่อสร้างเสร็จรอดักทรายได้สร้างผลกระทบทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านท้ายน้ำของโครงสร้างรอดักทราย จนเป็นเหตุให้ต้องก่อสร้างโครงสร้างต่อ
ภาพ การก่อสร้างรอดกัดทราย 3 ตัว ด้านเหนือของสถานีสูบน้ำเสีย ภาพนี้มีจุดสังเกตคือระหว่างการก่อสร้างสภาพชายหาดด้านเหนือของโครงสร้างรอดักทรายนั้นมีสภาพตามธรรมชาติ หาดไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง
ภาพ รอดักทราย 3 ตัวบริเวณชายหาดชลาทัศน์ สังเกตได้ว่าด้านหนือของรอดักทรายเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนเเรงหลังจากก่อสร้างเสร็จสิ้น
  • พ.ศ. 2546 เทศบาลนครสงขลาได้ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้ง (Riprap) บริเวณด้านเหนือของรอดักทราย ซึ่งส่งผลให้ด้านเหนือของหินทิ้งที่ไม่มีการป้องกันใดๆเกิดการกัดเซาะชายฝั่งต่อเนื่อง
ภาพ กำเเพงกันคลื่นเบบหินทิ้ง
ภาพ การกัดเซาะชายฝั่งด้านท้ายน้ำของโครงสร้างกำเเพงกันคลื่นเเบบหินทิ้ง
  • หลังจากโครงสร้างหินทิ้ง หาดชลาทัศน์บริเวณด้านหนือของหินทิ้ง เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทุกปี ซึ่งเป็นผลจากการเลี้ยวเบนของคลื่นที่กระทบโครงสร้างหินทิ้ง ต่อมาในปี 2548 มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบตาข่ายห่อหุ้มหิน (Gabion)
  • พ.ศ. 2550 กรมโยธาธิการเเละผังเมือง เเละ เทศบาลนครสงขลา ได้วางกำเเพงกันคลื่นในลักษณะกระสอบทราย โดยดำเนินการดังเเต่บริเวณหน้าสนามมวยสงขลา ถนนชลาทัศน์ มาจนถึงบริเวณหน้าค่ายกรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งด้านเหนือบริเวณจุดสิเนสุดการวางกระสอบทรายเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้มีการวางไม้ใส่ยางรถยนต์ เเละกระสอบทรายขนาดเล็กเพื่อป้องการการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นผลจากการวางกระสอบทราย ต่อมาในปี พ.ศ. 2552-2555 กรมโยธาธิการและผังเมืองวางกระสอบทรายกันคลื่นที่หาดชลาทัศน์ต่ออีกรอบหนึ่ง จนมาถึงบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย
ภาพ บริเวณด้านท้ายของการวางกระสอบทราย สังเกตได้วางมีการกัดเซาะชายฝั่ง อันเป็นผลจากการเลี้ยวเบนของคลื่นที่มาปะทะกระสอบทราย ทำให้มีการป้องกันชายฝั่งด้วยการปักไม้ใส่ยางรถยนต์
ภาพ โครงสร้างกระสอบทราย หาดชลาทัศน์
  • พ.ศ. 2555 ได้มีการยุติการวางกระสอบทรายโดยเทศบาลนครสงขลา ไว้บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย และได้มีการเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อหาทางออกในการฟื้นฟูหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ โดยใช้โครงสร้างอ่อน เช่น การเติมทราย
ภาพ เวทีสาธารณะที่มีการประกาศให้ยุติการใช้โครงสร้างเเข็งทุกรูปเเบบริมหาดชลาทัศน์ เเละ ให้มีการเติมทรายชายฝั่ง

หากย้อนมองสิ่งที่เกิดขึ้นกับชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์นั้น เสมือนกับว่าชายหาดเป็นสนามทดลองโครงสร้างรูปเเบบต่างๆของหน่วยงานภาครัฐ ที่ยิ่งสร้างยิ่งกัดเซาะชายฝั่ง จนสุดท้ายทำให้เราสูญเสียพื้นที่ชายหาดยาวกว่า 2.5 กิโลเมตรที่มีการวางโครงสร้างเเข็ง ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้โครงสร้างเเข็ง เเต่ในความโชคร้ายของการลองผิดลองถูกของหน่วยงาน ท้ายที่สุดก็เกิดการทบทวนเเละยุติการใช้โครงสร้างเเข็งกับชายหาดชลาทัศน์

เหมือนกับว่าหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ จะรอดพ้นจากโครงสร้างเเข็งที่มาทำลายชายหาดไปเเล้ว เเต่อย่างไรก็ความพยามของหน่วยงานภาครัฐในการนำเอาโครงสร้างเเข็งมาใช้กับชายหาดชลาทัศน์ อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีการวางกระสอบทรายเพิ่มเติมในปี 2557 กรณีการก่อสร้างรอดักทราย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในปี 2558 เป็นต้น เเต่โครงการเหล่านั้นกลับถูกภาคประชาชน เยาวชน นักวิชาการในพื้นที่ เคลื่อนไหว เรียกร้อง เเละมีการฟ้องร้องคดี ทำให้โครงสร้างเเข็งไม่เกิดขึ้นกับชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์อีก

รวบรวมเเละบันทึกข้อมูลโดย : อภิศักดิ์ ทัศนี Beach for life

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s