เสวนาเหลียวหลัง เเลหน้า : โครงสร้างกำเเพงกันคลื่นในประเทศไทย

คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า : ทาง Beach for life และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาขึ้น เพื่อร่วมพูดคุยในประเด็น ‘เหลียวหลังแลหน้า โครงการกำแพงกันคลื่นในประเทศไทย’ ที่มาที่ไปของเวทีนี้เกิดการที่ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา สื่อสาธารณะได้มีการพูดถึงการสร้างกำแพงกันคลื่นบริเวณหาดม่วงงามขึ้น เราก็เลยคิดว่าในฐานะมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และ Beach for life ได้ทำงานเกี่ยวกับเรื่องกำแพงกันคลื่นในหลายพื้นที่ ก็คิดว่าเราควรจะมีการพูดคุยในเรื่องนี้และนำมาเป็นตัวอย่าง หรือ เป็นบทเรียนที่จะนำไปใช้ สำหรับกรณีหาดม่วงงามได้

ในวันนี้เราก็มีผู้เข้าร่วมในการสัมมนาทั้งหมด 4 ท่าน ท่านแรก คุณอภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach for life ท่านที่สอง คุณบรรจง นะแส ที่ปรึกษาของสมาคมรักทะเลไทย ซึ่งเป็นตัวแทนที่จะมาพูดถึงผลกระทบสำหรับประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ท่านที่สาม ดร.อารยา สุขสม อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และท่านสุดท้าย ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งสี่ท่านก็จะมีประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันกับพวกเราในวันนี้

อยากเริ่มต้นให้ทางคุณอภิศักดิ์ ได้ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อย ว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราทำงานในประเด็นเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ในประเด็นเรื่องหาดมาอย่างยาวนานเรามีพื้นที่ไหนบ้าง ติดตามกันอย่างไร แล้วจากอดีตถึงปัจจุบันสถานการณ์เรื่องหาดเป็นอย่างไรบ้าง ?

ตั้งแต่ปี 2557-2562 พบว่ามีโครงการกำแพงกันคลื่นบนชายหาดประเทศไทยทั้งหมด 74 โครงการ
ระยะทางรวม 34,875 เมตร งบประมาณรวม 6,967,853,620 บาท เเละพบว่าเมื่อปี 2534 ราคากำแพงกันคลื่น กิโลเมตรละ 10 ล้านบาท ต่อมาในปี 2561เพิ่มขึ้นเป็น 117 ล้านบาทต่อกิโลเมตร และล่าสุด โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่หาดมหาราช 121 ล้านบาทต่อกิโลเมตร

อภิศักดิ์ ทัศนี : ผู้ประสานงาน Beach for life

คุณอภิศักดิ์ ทัศนี : Beach for life เราติดตามกำแพงกันคลื่นและโครงสร้างป้องกันชายฝั่งในพื้นที่ชายหาดต่างๆ โดย Beach for life มีงานประจำเรียกว่างานติดตามสภาพชายหาด เรามีกลุ่มเยาวชนได้ทำการสำรวจติดตามสภาพชายหาดเป็นประจำทุกเดือน ในพื้นที่จังหวัดสตูล จังหวัดปัตตานี เเละจังหวัดสงขลา รวม 6 พื้นที่ชายหาด เราก็ติดตามเรื่องของกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ต่างๆ ถ้าวันนี้เราจะพูดถึงประเด็นกำแพงกันคลื่นก็ควรพูดถึงด้วยภาพของกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ชายฝั่งต่างๆ ที่เราพบเห็น อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างที่เราพบเห็น น่าจะประมาณ 12 ที่ ตั้งแต่ หาดอ่าวน้อย หาดมหาราชอีกโครงการ หาดสุกร จังหวัดตรัง หาดมหาราช หาดทรายแก้ว หาดม่วงงาม หาดคลองแดน จังหวัดสงขลา อันนี้เป็นภาพพื้นที่ที่มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 เราก็จะพบว่ามันมีหลายที่มาก

ภาพ โครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นในพื้นที่ชายหาดต่างๆทั่วประเทศไทย

หากลองขยายภาพใหญ่ที่ทาง Beach for life ได้รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมโยธาธิการและเว็บไซต์ของกรมเจ้าท่าตั้งแต่ปี 2557-2562 ที่เราต้องรวบรวมในช่วงปีนี้ เพราะว่าเป็นปีที่มีการถอดกำแพงกันคลื่นออกจากการทำ EIA เรารวบรวมข้อมูลจากการประกาศจัดซื้อจัดจ้างในเว็บไซต์ของกรมโยธาธิการฯ เเละกรมเจ้าท่า พบว่ามีโครงการกำแพงกันคลื่นบนชายหาดประเทศไทยทั้งหมด 74 โครงการ ระยะทางการก่อสร้างรวม 34,875 เมตร ตลอดแนวชายฝั่งในประเทศไทย งบประมาณรวม 6,967,853,620 บาท เป็นงบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557-2562 และภาพจากข้อมูลของเว็บไซต์ Beach lover ซึ่งเป็นการรวบรวมสถิติราคากำแพงกันคลื่นต่อกิโลเมตร เราพบว่าเมื่อปี 2534 ราคากำแพงกันคลื่น อยู่ที่กิโลเมตรละ 10 ล้านบาท ต่อมาในปี 2561 ราคากำแพงกันคลื่นเพิ่มขึ้นเป็น 117 ล้านบาทต่อกิโลเมตร และล่าสุดโครงการที่มีมูลค่ามากที่สุดก็คือโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่หาดมหาราช 121 ล้านบาทต่อกิโลเมตร

ภาพ กราฟเเสดงการเพิ่มขึ้นของงบประมาณในการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นต่อกิโลเมตร

นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลังมีการถอดถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA ประมาณช่วงปลายปี 2556 มีการยกเลิกโครงการในลำดับที่ 25 ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างในทะเล ซึ่งเมื่อก่อนมี 3 โครงการ 1) กำแพงกันคลื่นติดแนวชายฝั่ง 200 เมตรขึ้นไป 2) รอดักทราย เขื่อนกันทรายและคลื่นรอบังคับกระแสน้ำ 3)เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง ทั้งสามอย่างนี้เดิมเคยทำ EIA แต่เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ก็ได้เอากำแพงกันคลื่นออก หลังจากนั้นก็เกิดการระบาดของกำแพงกันคลื่นในหลายๆ พื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทย มีทั้งการก่อสร้างแบบคอนกรีตที่ยื่นลงไปเป็นขั้นบันได การเรียงหินต่างๆนานา โดยเจ้าโครงการของหลักๆ จะเป็นกรมโยธาธิการฯและกรมเจ้าท่า

คำถาม คือ ทำไมต้องถอดถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA ? ทาง Beach for life ได้ทำหนังสือไปถามสำนักงานนโยบายและแผนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลังจากมีการถอดถอนกำแพงกันคลื่น ทำไมถึงมีการถอดถอนกำแพงกันคลื่นทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อชายฝั่ง

เราได้รับเหตุผลจากสำนักงานนโยบายและแผนฯ ว่า เราได้รับเหตุผลจากสำนักงานนโยบายและแผนฯ ว่า “เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เช่น กรมโยธา กรมเจ้าท่า ซึ่งมีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาการตกตะกอนของปากร่องน้ำ ปัญหาการปิดปากร่องน้ำในการเดินเรือ หน่วยงานเหล่านี้มีความจำเป็นในการที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหา แต่มันมีปัญหาเรื่องการจัดทำรายงานเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนการพิจารณาจนกว่าจะแล้วเสร็จ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในวาระการประชุมครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เห็นชอบให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างในลำดับที่ 21 นั้นก็คือกำแพงกันคลื่นความยาว 200 เมตรขึ้นไปไม่ต้องทำ EIA” นี่เป็นเหตุผลที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนตอบเรากลับมา

หลังจากที่มีการถอดถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้อง EIA สิ่งที่เราพบเห็นจากโครงการก่อสร้างเหล่านี้ก็คือการที่มีการกำแพงกันคลื่นหลายพื้นที่ในชายฝั่งในประเทศไทย ทาง Beach for life เรายืนยันว่าโครงสร้างกำแพงกันคลื่นซึ่งเป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่มีผลกระทบต่อชายหาดอย่างร้ายแรงจะต้องทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดเราทราบว่าเพื่อให้มีมาตรการในการศึกษาผลกระทบของกำเเพงกันคลื่นก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการก่อสร้าง โดยกรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่งได้ทำ Environmental checklist เพื่อเป็นมาตรการในการควบคุมเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากกำแพงกันคลื่น ซึ่งในรายละเอียดว่า Environmental checklist คืออะไร เเละเป็นประโยชน์หรือไม่นั้น คงได้รบกวนอาจารย์สมปรารถนา เเละอาจารย์อารยาได้อธิบายในโอกาสต่อไป

หากถ้าพูดในเชิงคดีก็พบว่ามีคดีที่เกิดขึ้นที่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นอย่างน้อย 2 คดี ในประเทศไทย คือ คดีอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น และล่าสุดที่มีการฟ้องคดีกันและเป็นกระแสอยู่ในสังคมปัจจุบัน คือ หาดม่วงงาม นี่ก็เป็นสถานการณ์ทั้งหมดของโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในประเทศไทย

คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า : คุณอภิศักดิ์ ได้เปิดภาพให้เราเห็นว่าสถานการณ์ประเทศไทยตอนนี้ ถ้าเราพูดกันแล้วชายหาดของประเทศไทยเป็นเหมือนปลอกด้ามขวานของประเทศไทย แต่ปัจจุบันนี้ก็มีสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องของการกัดเซาะชายฝั่งก็พยายามที่จะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพ และมีการนำมาใช้โครงการ ตอนนี้น่าจะมีเฉพาะกำแพงกันคลื่นที่มีการสร้างขึ้นมา ไปต่อกันที่อาจารย์สมปรารถนา ว่าในทางหลักการทางวิชาการที่อาจารย์ศึกษามา ทั้งทางวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านชายฝั่งทะเล กำแพงกันคลื่นตัวนี้เมื่อสร้างลงบนชายหาดเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง กรณีลักษณะอย่างนี้เป็นการแก้ไขปัญหาไปตามหลักวิชาการที่มันสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ สามารถปกป้องชายหาดได้จริงหรือไม่ ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

การที่รัฐนำเงินมาป้องกันชายฝั่งนั้น เเปลว่าเราจะต้องเสียประโยชน์ เสียโอกาสในการนำเงินก้อนนี้ ไปพัฒนาประเทศในเรื่องอื่นๆ เเสดงว่าการนำงบประมาณ มาป้องกันชายฝั่งต้องมีความคุ้มค่ามากเพียงพอ

ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง : อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง : ตัวกำแพงกันคลื่น ในเชิงเทคนิคเรา เรียกว่า sea wall หน้าที่ของกำเเพงกันคลื่น คือ การตรึงชายหาดให้อยู่กับที่ ความหมายคือว่า ปกติเวลาที่เราไปเดินชายหาดเราจะเห็นว่าเวลาน้ำขึ้นชายหาดก็จะอยู่ที่หนึ่ง อาจจะแคบหน่อย ในขณะที่น้ำลงชายหาดอาจจะอ้วนหน่อย มีพื้นที่ชายหาดมากขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่มีตัวกำแพงกันคลื่นอยู่บริเวณชายหาด คือ การตรึงแนวชายฝั่งให้อยู่กับที่ เพราะฉะนั้นระดับน้ำกับแผ่นดินบรรจบตรงไหนที่มันเคยเคลื่อนไปเคลื่อนมาตามฤดูการน้ำขึ้น น้ำลง มันจะไม่เกิดขึ้นอีก ถ้ามีตัวกำแพงกันคลื่น อย่างไรก็ตามกำแพงกันคลื่นเป็นเพียงแค่มาตรการเดียว

อยากจะชวนคุยโดยใช้สไลด์ประกอบเนื่องจากว่ามีภาพประกอบความเข้าใจค่อนข้างเยอะ เมื่อสักครู่ทาง Beach for life ได้พูดถึงเรื่องงบประมาณต่างๆ ที่เราใช้สำหรับตัวโครงสร้างป้องกันที่เราใช้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้เรากำลังจะดูในปีนี้ งบประมาณ ปี 2563 สิ้นสุดเดือนกันยายน 2563 ซึ่งไม่รู้จะใช้ทันหรือไม่ ในประเทศไทยหลักๆมี 2 หน่วยงาน คือ กรมเจ้าท่ากับกรมโยธาธิการและผังเมือง สีแดงคือกรมโยธาธิการและผังเมือง สีเขียวคือพิกัดของโครงการที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณปี 2563 ของกรมเจ้าท่า ทั้งหมดทั้งประเทศ 1,447 ล้านบาทสำหรับโครงสร้างป้องกันชายฝั่งกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า สัดส่วนของการแบ่ง 39% (559.142 ล้านบาท) เป็นของกรมเจ้าท่า ซึ่งกรมเจ้าท่ามักจะใช้ชื่อเรียกของโครงการลักษณะนี้ว่า เขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง นี่เป็นชื่อที่อยู่ในเอกสารทั่วไปในการของบประมาณ ในขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมือง มักจะใช้เรียกตัวมาตรการนี้ว่า เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล 61 % (888.283 ล้านบาท) เป็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง เงินจำนวนเกือบๆ 1,500 ล้านบาททำอะไรได้บ้าง ?

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โครงการก่อสร้างป้องกันชายฝั่ง

การที่รัฐนำเงินจำนวนนี้มาป้องกันชายฝั่ง นั้นแปลว่าเราจะต้องเสียประโยชน์ มันมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ค่าเสียโอกาสที่จะนำเงินก้อนนี้ไปพัฒนาประเทศในเรื่องอื่นๆ แสดงว่าการนำงบประมาณก้อนนี้มาป้องกันชายฝั่งต้องมีความคุ้มค่ามากเพียงพอ ลองเอาตัวเลขมาเป็นตุ๊กตาง่ายๆ ว่าเงินจำนวนนี้ทำอะไรได้บ้าง การส่งเด็กคนนึ่งเรียนตั้งแต่อนุบาลจนจบปริญญาตรีของสถาบันการศึกษาของรัฐถึง 904 คน พูดซ้ำอีกครั้งว่ามันจะต้องคุ้มค่ามากๆ กว่าการเอางบก้อนนี้ไปใช้เรื่องอื่น แล้วงบก้อนนี้อยู่ที่ไหนเป็นหลัก ยินดีกับอีก 4 ท่านด้วยว่างบก้อนนี้อยู่ที่สงขลาถึง 1 ใน 3 ไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีหรือน่าภาคภูมิใจหรือเปล่า ? 1 ใน 3 ของเกือบๆ 1,500 ล้านบาท อยู่ที่สงขลาในปีนี้ สีแดงๆ คือพิกัดของโครงสร้างต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ของกรมเจ้าท่า 4 โครงการ ของกรมโยธาธิการ 10 โครงการ 400 กว่าล้านบาท ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลา

ลองดูกำแพงกันคลื่นที่เป็นโครงสร้างที่เราพูดกันวันนี้ เราจะไม่พูดโครงสร้างอื่น เราอาจจะพูดในเวทีต่อๆ ไป แต่วันนี้ โครงสร้างกำแพงกันคลื่นที่เกิดขึ้น รูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน เมื่อสักครู่ทางคุณอภิศักดิ์ได้เปิดภาพให้ดูแล้ว อันนั้นจะเป็นกำแพงคลื่นซึ่งส่วนมากก็จะเป็นแบบถาวร เป็นพวกคอนกรีต แต่ยังมีอีก มีรูปร่างหลากหลายรูปร่าง วัสดุหลากหลายวัสดุ เหล่านี้ถ้าหน้าที่ของมันคือตรึงชายฝั่งให้อยู่กับที่ รักษาชายหาดด้านใน ก็คือด้านหลังกำแพงเอาไว้ ไม่ว่ามันจะเป็นวัสดุอะไรก็ตามมันคือกำแพงกันคลื่นทั้งหมด ผลกระทบของกำแพงกันคลื่นที่พูดถึงกันก่อนหน้านี้คืออะไรบ้าง ให้ดูภาพว่าทางด้านขวาบน เมื่อไหร่ที่คลื่นเข้ามากระทบกำแพงกันคลื่นมันจะม้วนตีกลับแล้วเอาชายหาดด้านหน้ากำแพงพัดกลับเข้าสู่ทะเล ไม่ว่ามันจะเป็นกำแพงแบบแนวตั้งหรือแบบแนว slope หรือเป็นกำแพงแบบขั้นขับได แบบไหนคลื่นก็มาปะทะและชะเอาทรายด้านหน้าออกไปทั้งสิ้น อันนี้คือเรามองมุมมองด้านหน้า เรามองด้านข้าง ภาพขวาล่าง เมื่อชายหาดมันตรงโดยเฉพาะชายหาดที่ตรงอย่างจังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ลากไม้บรรทัดลงมาสามารถตีเส้นตรงได้เลย เมื่อไหร่ที่มีโครงสร้างล้ำลงไปในทะเล เมื่อนั้นชายหาดส่วนถัดไปจะเกิดการกัดเซาะอย่างแน่นอน ให้ดูกลมๆสีแดงข้างล่างที่เขียนว่ากัดเซาะคือผลกระทบของกำแพงกันคลื่นเราเห็นชัดเจนเป็นประจักษ์ไม่ต้องเอาหลักวิชาก็ได้ ด้านหน้าของกำแพงกันคลื่นมันไม่มีหาดอยู่เลย

ภาพ ผลกระทบของกำเเพงกันคลื่น

นี้คือที่เกาะพยามที่เป็นหาดเป็นรีสอร์ทอันดับ 1 ของเกาะพยาม ไม่มีหน้าหาดแล้ว กำแพงกันคลื่นที่อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำแพงกันคลื่นที่ปรานบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พอด้านข้างเราจะเห็นภาพซ้ายทั้งบนทั้งล่าง เเนวเส้นประคือแนวชายหาดเดิม แต่หลังจากสร้างกำแพงกันคลื่นไปการที่คลื่นมันเลี้ยวเบนด้านข้างด้านถัดไปของกำแพงกันคลื่นเกิดการกัดเซาะชายหาดเว้าไปเป็นสีแดงแบบนี้ นี่คือข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนกับหลักวิชา เมื่อไหร่ที่มีกำแพงกันคลื่นถ้าเราสร้างเราต้องสร้างให้ตลอดรอดฝั่ง คือเราต้องปิดชายหาดทั้งหมด มิเช่นนั้นบริเวณไหนที่ไม่มีโครงสร้างกำแพงกันคลื่นอยู่ชายหาดก็จะเว้าแหว่งไปเหมือนภาพนี้ ถ้าเกิดเราสร้างทั้งหมดแน่นอนมันจะไม่มีชายหาดด้านหน้า แต่เราต้องสร้างทั้งหมด แต่ถ้าเกิดว่าสร้างเป็นหย่อมๆ สร้างบ้านเราแต่บ้านเพื่อนก็จะถูกการกัดเซาะไปด้วย กำแพงกันคลื่นแม้แต่แค่กระสอบทรายภาพนี้ที่หน้า มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย กระสอบทรายสุดที่หน้ามหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย ชายหาดเดิมซึ่งเคยเป็นเส้นประสีแดงเว้าแหว่งไป ก็เลยเว้ากัดเข้ามาด้านใน แม้เป็นกำแพงที่เกิดจากกระสอบก็ตาม หรือแม้แต่หาดพยูนที่ระยอง แนวสันของโครงสร้างตรงๆ แบบนี้มันก็เว้าไปตามที่เราเห็นตามตำราเลย การที่เราสร้างกำแพงแล้วเราจะต้องสร้างต่ออยากจะยกกำแพงกันคลื่นที่สงขลาเหมือนกัน ภาพขวาในกรอบสีน้ำเงินคือกำแพงกันคลื่นที่สร้าง ภาพด้านซ้ายกรอบสีน้ำเงินคือก่อนที่จะสร้าง เราจะเห็นว่าหลังจากที่สร้างแล้ว ดูในกรอบสีน้ำเงินเป็นหลัก ในกรอบสีน้ำเงินมีพื้นที่ชายหาดมากขึ้นเพราะว่าสร้างกำแพงออกไปแล้วถมทรายด้านบนกำแพง ดูในวงกลมเส้นประสีแดงทางซ้ายก่อนการสร้างหาดยังสมบูรณ์และกว้าง แต่หลังก่อสร้างแล้วชายหาดหายไปอย่างเห็นได้ชัด

ภาพกำเเพงกันคลื่นเเบบกระสอบทรายทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านท้ายน้ำของกระสอบทราย บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา

นี้คือชายหาดส่วนถัดไปทางตอนเหนือของกำแพงกันคลื่น และชายหาดตรงนั้นคือชายหาดของหาดแก้วรีสอร์ท ซึ่งตอนนี้ไม่ได้มีลักษณะอย่างนี้แล้วเนื่องจากการกัดเซาะจากกำแพงกันคลื่นในกรอบสีน้ำเงิน ซึ่งทำให้ตอนนี้หน้าโรงแรมหาดแก้วรีสอร์ทก็มีกำแพงกันคลื่นชุดต่อไปเกิดขึ้นแล้ว กำแพงกันคลื่นในช่วงน้ำลงมันอาจจะเผยให้เห็นขายหาดอยู่บ้าง

ภาพ เปรียบเทียบบริเวณรีสอร์ทหาดทรายเเก้ว อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ก่อนเเละหลังสร้างกำเเพงกันคลื่น

ดูจากภาพอ่าวน้อยภาพล่างซ้ายมือ แต่ขณะที่น้ำขึ้น คลื่นวิ่งปะทะแล้วกระโจนข้ามสันของโครงสร้างกำแพงอาจจะไปด้านหลังของเขื่อนก็ได้หรือว่าทางอ่าวคั่นกระไดซึ่งติดกับอ่าวน้อยที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อน้ำลงจะเผยให้เห็นส่วนหนึ่งของชายหาดแต่พอน้ำขึ้นชายหาดจะหายไปเลย หรือที่หาดปราณบุรีเราสังเกตเห็นเสากับป้ายสีฟ้า อันนี้จะเป็นภาพจากเฟสบุ๊ค เป็นภาพที่ไม่ว่าใครจะพูดถึงหาดปราณบุรี ไม่ว่าใครจะพูดถึงอิทธิผลของโครงสร้างกำแพงก็จะยกสองภาพนี่ซึ่งมีอายุต่างกัน 10 ปี ก่อนและหลังสร้างกำแพง หรือว่าที่อ่าวน้อยก่อนที่จะมีกำแพงและหลังจากที่สร้างกำแพงไปแล้ว 140 เมตร ตอนนี้ที่อ่าวน้อยซึ่งเป็นคดีที่ 4 ก่อนที่จะมีคดีม่วงงามเกิดขึ้นมี่การหยุดกำแพงอยู่ที่ 140 เมตร ซึ่งเป็นกำแพงรูปร่างเป็นขั้นบันไดเหมือนที่หลายๆ ที่ เหมือนที่ปราณบุรี เหมือนที่ประจวบคีรีขันธ์ เหมือนที่อ่าวประจวบ แล้วก็เหมือนที่หาดม่วงงาม เมื่อไหร่ที่มีโครงสร้างป้องกันที่เป็นกำแพง ถ้ามันเอาไม่อยู่แล้วถ้าด้านหน้ามันหายไปหมดแล้ว มันจะนำมาซึ่งโครงสร้างอื่นๆ อีกในอนาคต เป็นต้น ว่าดูพัฒนาการของชายหาดบ้านหน้าศาลของหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ข้างบนเป็นภาพสามภาพก่อนและหลังสร้างกำแพง จะเห็นชายหาดยังคงมีความสมบูรณ์มีความกว้าง แต่พอสร้างกำแพงชายหาดด้านหน้าคลื่นวิ่งมาปะทะแล้วม้วนเอาทรายด้านหน้าออกไป พอผ่านไปหลายปีเมื่อไม่มีทรายด้านหน้าเป็นแหล่งสลายพลังงานของคลื่น คลื่นจะปะทะกับกำแพงโดยตรงแล้วกระโจนข้าม สุดท้ายบริเวณนั้นก็ไม่สามารถรับมือกับคลื่นได้จนเกิดโครงสร้างอีกโครงสร้างด้านนอก

ภาพชายหาดคั่นกระได เเละหาดอ่าวน้อย ในช่วงน้ำขึ้นเเละน้ำลง

นี่ก็คือ Breakwater หรือเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง ประเด็นชวนคิดของผลกระทบของกำแพงกันคลื่นก็คือว่าเมื่อไหร่ที่เราสร้างเราต้องสร้างถัดไปเรื่อยๆ ดูในภาพนี้ จริงๆ แล้วกำแพงกันคลื่นมันสุดแค่นี้ เราจะเห็นพอสุดบริเวณนี้ บริเวณนี้กัดเซาะ พอกัดเซาะก็มีการถมหินถัดไป พอถมหินถัดไปบริเวณนี้กัดอีก เมื่อไหร่ที่มีการสร้าง เราจะต้องสร้างไปเรื่องๆ มันคือผลกระทบที่เป็นโดมิโน ดูภาพสองภาพนี้ ดูจุดอ้างอิงในวงกลมสีแดงแล้วดูลูกศรสีแดง ชายหาดของบ่ออิฐเดือนตุลาคม 2562 ด้านหน้าของจุดอ้างอิง จะเห็นลูกศรค่อนข้างยาว จะเห็นว่ามีต้นสน จะว่าพอมีชายหาดเหลืออยู่บ้าง ในขณะที่ดูภาพขวาที่เป็นเดือนธันวาคม 2562 ต่างกันเพียงสองเดือน จะเห็นว่าต้นไม้ที่เคยมีมันไม่มีแล้ว สันทรายชายหาดที่เคยเห็นอยู่ประมาณ 10 เมตร มันหายไปหมดกลายเป็นหินมาถม นี้คือผลกระทบของกำแพงกันคลื่นที่สร้างทางด้านทิศใต้ จนกระทบไปทางทิศเหนือซึ่งต่างกันเพียงสองเดือน ถัดไปที่ชิงโคจังหวัดสงขลาอีกเช่นเดียวกัน เดือนพฤศจิกายนเราเห็นมีโครงสร้างบางส่วนเสร็จแล้ว เราเห็นชายหาดที่ถูกกัดเซาะไป เราเห็นต้นไม้ที่ยังพออยู่ได้บ้างในขณะที่บริเวณนี้ตอนนี้สภาพไม่ได้เป็นแบบนี้แล้ว ถนนไม่มีแล้ว Beach for life ก็เคยไปติดตามการกัดเซาะของบริเวณนี้อยู่ เดี๋ยวก็คงจะเล่าต่อไปได้ว่าตอนนี้พื้นที่นี้ที่เราปักหมุดเพื่อที่จะวัดข้อมูลมันปักไม่ได้แล้ว มันวัดไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันหายไปหมดแล้ว มันโดนหินถมไปหมดถนนถูกกัดเซาะไปแล้ว ตรงนี้การตั้งงบประมาณก่อสร้างต่อไปเรื่อยๆ อีก เมื่อไหร่ที่โครงสร้างนี้ไปหยุดที่หัวหาด เช่น ไปเจอเขื่อนปากร่อง เจอภูเขาหินแข็งมันถึงจะหยุด แต่เมื่อไหร่ที่มันยังเป็นหาดที่สามารถใช้ไม้บรรทัดลากเป็นเส้นตรงได้อย่างที่ชายหาดตั้งแต่แหลมตะลุมพุกจนถึงสะกอม เมื่อไหร่ที่มีโครงสร้างล้ำออกไปมันจะกัดไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะไม่มีวันจบสิ้น

นี่เป็นตัวอย่างจากเอกสารการตั้งงบประมาณจากกรมเจ้าท่าและกรมโยธาธิการและผังเมือง ในวงกลมสีแดงภาพด้านบนที่เป็นภาพถ่ายจากเครื่องบินจะพบว่าตรงนี้เป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะในปีงบประมาณ 2563 ของกรมเจ้าท่า ซึ่งทั้งหมดตั้งไว้ 290.7 ล้านบาท เมื่อสร้างเสร็จแน่นอนว่าโครงสร้างขนาดใหญ่และล้ำลงไปในที่ชายหาดค่อนข้างเยอะแบบนี้ แน่นอนว่าทางทิศเหนือจะมีการกัดเซาะแน่นอน ลองดูกรอบข้างล่างนี้คืองบประมาณปี 2563 ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งตั้งสอดรับกับกรมเจ้าท่าไว้อีก 109.6 ล้านบาท สำหรับการป้องกันการกัดเซาะ ซึ่งกัดเซาะมาจากโครงการข้างบน ประเด็นคือประเทศเราไม่ได้ร่ำรวยพอที่ตะสร้างโครงสร้างแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดของการสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ต้องตอบคำถาม 3 ข้อก่อนการสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง 1) ความจำเป็นทีจะวางโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง มีหรือไม่ ถ้าจำเป็น 2) ต้องตอบให้ได้ถึงแนวทางเลือกทั้งหมดที่มี 3) แนวทางเลือกไหนที่สามารถอยู่กับธรรมชาติ ที่สามารถรักษาธรรมชาติของชายหาดไว้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความขัดแย้งน้อยที่สุด ประสานทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าด้วยกัน และส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน แต่จะตอบคำถามนี้ได้ทั้งหมดต้องทำอย่างไร ต้องศึกษาให้รอบด้าน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร สังคม เศรษฐกิจ วิศวกรรมเป็นอย่างไร รับฟังปัญหาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ และรับฟังอย่างถูกต้องรอบด้านหรือเปล่า แนวทางเลือกที่เอาไปให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเลือกนั้น สอดรับเหมาะสมกับหลักวิชาอย่างไร ทั้งหมดนี้ตอบได้โดยกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นถ้าเราถอดกระบวนการนี้ออกจากกำแพงกันคลื่น นั้นแปลว่าคำถามเหล่านี้จะไม่ถูกตอบ จะขอส่งคำถามเหล่านี้และประเด็นเหล่านี้ไปในมิติเชิงกฎหมายต่อไปว่า ถ้าเกิดว่าเราถอดออกจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ด้วยวิธีการใด

คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า : อาจารย์สมปรารถนาได้พูดให้เห็นสภาพว่าพอถึงที่สุดแล้วพอสร้างกำแพงลงไปหนึ่งจุด จุดที่อยู่ทางทิศเหนือก็จะโดนกัดเซาะทำให้ต้องสร้างไปเรื่อยๆ เราเห็นภาพที่อาจารย์เอามาแชร์ให้เห็นว่ามีจุดการกำหนดโครงการไว้ มีงบประมาณจำนวนเท่าไหร่ เราก็จะเห็นสภาพว่าทำไมโครงการมันมีได้เรื่อยๆ ไม่ได้มองว่าจริงๆ แล้วหน่วยงานต่างๆ มีขึ้นมาเพื่อที่จะนำงบประมาณมาใช้สร้างแบบนี้ แต่จากภาพและของเท็จจริงมันมีปรากฏการณ์เช่นนั้น ที่สำคัญไปกว่านั้นรวมกันระหว่างข้อเท็จจริงของคุณอภิศักดิ์กับอาจารย์สมปรารถนาก็คือว่าก่อนหน้านี้เคยมี EIA สำหรับกำแพงกันคลื่น แต่จู่ๆ ก็ถูกถอดออกไป และหลังจากที่มีการถอดกำแพงกันคลื่นออกจากการต้องทำ EIA ปรากฎว่ามีโครงการกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย จนถึงปัจจุบันและมีต่อเนื่องไปในอนาคตด้วย เพราะมีโครงการในอนาคตอยู่แล้วด้วย ต่อไปเรามาฟังว่าในมุมกฎหมายกับเรื่องกำแพงกันคลื่นมันเกี่ยวโยงกันอย่างไร จริงๆ เวลาเราพูดเรื่อง EIA มันมี 2 มิติ คือ เรื่องของหลักวิชาทางด้านสิ่งแวดล้อม อีกมิติหนึ่งก็คือด้านกฎหมาย เราอยากฟังทางอาจารย์อารยา สุขสม ว่าในประเด็นเหล่านี้ที่อาจารย์ศึกษามา แล้วก็เข้าใจว่าอาจารย์ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่เรื่องหาดสะกอม อยากให้อาจารย์เล่าให้ฟังว่าเหลียวหลังแลหน้าของเราเรื่องกำแพงกันคลื่น เป็นอย่างไรในมุมกฎหมาย

EIA มีแนวคิดมาจากการที่ทั่วโลกยอมรับตรงกันว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องสร้างหลักประกันให้
บุคคลทุกคนในประเทศ
อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

ดร.อารยา สุขสม อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์เเละสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา

ดร.อารายา สุมสม : ในมุมกฎหมายอาจมีข้อมูลบ้างอย่างที่ทับซ้อนกับของคุณอภิศักดิ์อยู่นิดหน่อย อยากให้ทุกท่านได้ดูสไลด์ด้วยกัน เป็นการสรุปในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกำแพงกันคลื่นว่าเริ่มเข้ามาในกฎหมายไทยเมื่อไหร่ อย่างไร เราจะพบว่าโครงการพัฒนาบริเวณชายฝั่งกับกฎหมายเริ่มมีการรับเข้ามาในประเทศไทย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประเมินโครงการที่สร้างอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งว่ามีผลกระทบกับระบบนิเวศหรือไม่ ครั้งแรกเข้ามาในประทศไทยคือช่วงปี 2535 ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ซึ่งให้อำนาจกับฝ่ายบริหารในการที่จะออกกฎหมายของตัวเอง คือ ออกกฎกระทรวงหรือประกาศกระทรวงในการที่จะกำหนดกิจการต่างๆ ที่จะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าเราดูโครงการที่ได้ทำในพื้นที่ชายฝั่งเราจะพบว่ากฎหมาย กฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการกำกับโครงการเหล่านี้อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ช่วงแรกในปี 2535 มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดเอาไว้เพียงกิจการเดียวก็คือโครงการใดก็ตามที่มีการถมที่ดินในทะเลต้องทำ EIA ซึ่งเขียนไว้กว้างมากในช่วงปี 2535 ใช้เรื่อยมาจนถึงปี 2552-2555 ในระหว่างนี้จะอธิบายไปพร้อมกับการฟ้องร้องคดีที่เกิดขึ้น ในปี 2535 การถมที่ดินในทะเลต้องมีการทำ EIA ปรากฎว่าก็มีการฟ้องคดีต่อศาลว่าการดำเนินการของรัฐ ดำเนินการไม่ถูกต้องเนื่องจากไม่ทำ EIA อย่างน้อย 2 คดีใหญ่ที่เราคุยกันไปแล้วในปีที่แล้วในเวทีของ 10 ปีคดีสะกอม ในคดีสะกอมมีการฟ้องว่า เขื่อนกันทรายและคลื่นไม่ได้ทำ EIA ซึ่งในเวลานั้นศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองสงขลาได้ตีความว่า เขื่อนกันทรายและคลื่นนั้นถือเป็นกิจการที่ต้องทำ EIA เพราะถือว่าเป็นการถมที่ดินในทะเล เป็นการสร้างเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ ลำน้ำ ซึ่งอาจจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นเขื่อนกันทรายและคลื่นจึงต้องทำ EIA เพราะถือว่าเป็นการถมที่ดินในทะเล พอมีการวางหลักแบบนี้ต่อมาในปี 2547-2550 มีการฟ้องคดีคลองวาฬซึ่งมีการฟ้องโต้แย้งไปยังศาลปกครองว่าโครงการของรัฐอย่างน้อย 2 เรื่องไม่ได้ทำ EIA หนึ่งในนั้นก็คือกำแพงกันคลื่น กำแพงกันคลื่นเริ่มมีการโต้แย้งกันในศาลปกครองในคดีคลองวาฬ โดยโต้ว่าไม่ได้ทำ EIA ซึ่งผิดตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศาลปกครองก็ได้วางหลักเอาไว้ว่าในกรณีของกำแพงกันคลื่น ไม่ถือว่าเป็นการถมที่ดินในทะเล เพราะฉะนั้นไม่ต้องทำ EIA ในปีช่วง 2547-2550 ศาลปกครองได้วางหลักเอาไว้แบบนี้ มันก็เลยเกิดปัญหาว่า กำแพงกันคลื่นเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่พอสมควร เพราะฉะนั้นอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้หน่วยงานของรัฐเริ่มกลับมาทบทวนว่าการกำหนดในประกาศกระทรวงว่าการถมที่ดินในทะเลเพียงอย่างเดียวพอหรือไม่ที่จะต้องกำหนดไว้เป็นกิจการที่ต้องทำ EIA เพียงกิจการเดียว มันควรจะมีโครงการอย่างอื่นหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตีความว่าแบบนี้เป็นการถมที่ดินในทะเลหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ในปี 2552 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้มีประกาศออกมาอีก 1 ฉบับซึ่งกำหนดรายการที่จะต้องทำ EIA แบบละเอียด คือ มีทั้งการถมที่ดินในทะเลต้องทำ EIA หลังจากนั้นบวกกับโครงการที่ต้องทำ EIA แจกแจงรายละเอียดชัดเจน 1) กำแพงริมชายฝั่ง 2) รอดักทราย เขื่อนกันทรายกันคลื่น 3) แนวเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง

ในปี 2552 มีการจำแนกรายการอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา การตีความ เราก็จะเห็นว่ากำแพงริมชายฝั่งเริ่มมีที่ทางในกฎหมายไทยอย่างชัดเจน นั้นหมายความว่า ถ้าหากรัฐต้องการสร้างกำแพงริมชายฝั่งจะต้องทำ EIA มีการใช้เรื่อยมาจนกระทั่งปี 2555 ได้มีการยกเลิกประกาศฉบับปี 2552 แต่อย่างไรก็แล้วแต่ปี 2555 ก็ยังคงความอย่างเดิมเอาไว้ ก็คือมี 3 รายการนี้ยังเหมือนเดิม กำแพงริมชายฝั่งต้องมีขนาดตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไปที่ต้องทำ EIA เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า กำแพงริมชายฝั่งยังมีพื้นที่ในกฎหมายไทยจนถึงปี 2555 จนกระทั่งในปี 2556 ฝ่ายบริหารเริ่มมีการปรับปรุงกฎหมาย และมองเห็นว่ากำแพงริมชายฝั่ง เป็นกิจการที่ไม่ต้องทำ EIA ก็ได้ และได้มีการถอดออกไปในปี 2556 และหลังจากนั้นได้มีการฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวข้องกับกำแพงกันคลื่นอีกครั้งดังจะเห็นได้จากกรณีอ่าวน้อย

จากตรงภาพนี้สื่อให้เราเห็นว่ากำแพงกันคลื่นในระบบกฎหมายไทย มีทั้งการเติมเข้าและชักออก แสดงว่ามันมีนัยยะสำคัญทางกฎหมาย ที่นี้อยากให้ทุกคนได้ดูว่ากำแพงกันคลื่นมันมีนัยยะอย่างไร สำคัญอย่างไรกฎหมายไทยถึงเอามาทำเป็นกิจการที่ต้องทำ EIA จากการที่อาจารย์เองได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชาดหาดมาสักระยะ ตั้งแต่ปี 2553 ก็ได้พยายามที่จะค้นหาว่าการที่กฎหมายกำหนดไว้ว่ากำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA มันเชื่อมโยงอะไรกับกฎหมายไทยฉบับอื่น ปรากฎว่าการทำ EIA หรือการทำกำแพงกันคลื่นแล้วกำหนดให้ต้องทำ EIA มันมีแนวคิดมาจากการที่ทั่วโลกยอมรับตรงกันว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องสร้างหลักประกันให้บุคคลทุกคนในประเทศอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิตัวนี้มาจากหลักการที่สำคัญอย่างหนึ่ง หลักการตัวนี้ก็คือหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งคิดว่าทุกคนพอจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว หลักการตัวนี้เรียกร้องว่าการดำเนินของรัฐ โครงการของรัฐไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็แล้วแต่ ต้องคำนึงให้เกิดความสมดุลระหว่างมุมมองในทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม คุณต้องชั่งน้ำหนักกันให้ดีให้เกิดความสมดุลกันใน 3 ปัจจัยนี้ ถึงจะดำเนินโครงการได้ โครงการพัฒนาชายฝั่งก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นโครงการที่รัฐจะต้องนำหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้เป็นกรอบในการคิดก่อนที่ดำเนินการ เพราะฉะนั้นหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนมันจึงถูกบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมีหลักการย่อยๆ เต็มไปหมดเพื่อที่จะเป็นตัวกรองว่าต่อไปว่าเมื่อรัฐจะทำโครงการอะไรก็แล้วแต่รัฐต้องตั้งอยู่บนหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน หมายถึงต้องคำนึงถึงมุมในทางหลักเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หลักการย่อยซึ่งเป็นหลักการลูกของการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกอย่างหนึ่ง คือ หลักการพึงระวังเอาไว้ก่อน หมายความว่ารัฐจะทำโครงการอะไรก็แล้วแต่ที่มันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รัฐจะต้องทำการศึกษา ศึกษาในที่นี้ก็คือศึกษาทั้ง 3 ด้านด้วย หมายถึงมุมมองความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ในเรื่องของผลกระทบความเป็นอยู่ของคนในชุมชนบริเวณนั้น รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นถ้าเรามองในแง่นั้นเราจะเห็นว่า EIA เป็นสิ่งที่รองรับหลักการพึงระวังเอาไว้ก่อน ถามว่ารัฐต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตอนไหน ? ขีดเส้นใต้ไว้เลย 500 เส้น ว่าคือ ก่อนดำเนินโครงการ หมายความว่ารัฐธรรมนูญบล็อกเอาไว้เลยว่าคุณจะต้องศึกษาก่อนเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับรัฐเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นรัฐจะดำเนินโครงการอะไรก็แล้วแต่ไม่ใช่เพียงว่ารัฐอยากจะทำ แต่รัฐต้องมีเหตุผลในการทำซึ่งจะสอดคล้องกับที่อาจารย์สมปรารถนาได้ตั้งประเด็นเอาไว้ในประเด็นสุดท้ายเอาไว้ว่ามันมีความจำเป็นหรือไม่ มีความจำเป็นหรือไม่ในที่นี้มีเอกสารชุดหนึ่งที่จะบอกรัฐได้อย่างดีเลย คือ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อรัฐมีข้อมูลแล้ว รัฐต้องชั่งน้ำหนัก ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชั่งน้ำหนักแล้วดูว่าเมื่อชั่งแล้ว ความเสียหายกับประโยชน์อะไรมันมากกว่ากันแล้วค่อยตัดสินใจในการสร้าง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ส่ามันมีเหตุมีผลอยู่ในเรืองของ EIA ว่าทำไมกำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA เพราะฉะนั้นจากหลักการตัวนี้มันบังคับให้รัฐต้องทำ EIA มันจึงก็ให้เกิดสิทธิต่างๆ ตามมามากมายเต็มไปหมด เพื่อให้สมบูรณ์เรื่องของหลักการพึงระวัง หนึ่งในนั้นก็คือ สิทธิที่ประชาชนจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารกับทางราชการ หมายความว่าราชการต้องการที่จะสร้างโครงการอะไรต้องแจ้งให้กับประชาชนในพื้นที่ในบริเวณนั้นได้ทราบว่าโครงการเหล่านั้นมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง แจ้งแล้วไม่พอท่านจะต้องรับฟังด้วย รับฟังเพื่อให้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการกลั่นกรองใช้ในการตอบคำตอบท่านว่าตกลงแล้วจะสร้างหรือไม่ เพราะฉะนั้นสิทธิพวกนี้ สิทธิในการที่จะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารทางราชการ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งคัดค้าน 3 สิทธินี้ เป็นสิทธิที่เปรียบเสมือนรากไม้ที่ค้ำยันหลักการพึงระวังเอาไว้ก่อน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำแพงกันคลื่น นี่คือเหตุผลที่รัฐธรรมนูญมองเห็น ในปี 2552-2555 ประกาศกระทรวงก็ได้รับรองนำหลักการนี้มาไว้ในประกาศของตัวเองอย่างชัดเจนซึ่งถือว่าได้ดำเนินการสดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ณ วันนี้การที่รัฐได้ทำลาย หลักประกันสิทธิที่อยู่ในรัฐธรรมนูญไปหมดแล้วโดยเหตุที่ว่ามีการนำกำแพงกันคลื่นออกจาก EIA

ดร.อารยา สุขสม อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์เเละสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ตอนนี้เราสามารถตั้งคำถามได้แล้วว่าในปี 2556 ถอดออกไป ถอดทำไมคุณอภิศักดิ์ก็ได้ตอบไปแล้วว่าเป็นเรื่องของความรีบเร่งในการำเนินโครงการ ความรีบเร่งของการแก้ปัญหาภัยพิบัติให้ประชาชนในพื้นที่ได้แก้ไขอย่างทันท่วงที อยากจะชวนคิดมากกว่าว่า ณ วันนี้การที่รัฐได้ทำลายหลักประกันสิทธิที่อยู่ในรัฐธรรมนูญไปหมดแล้วโดยเหตุที่ว่ามีการนำกำแพงกันคลื่นออกจาก EIA อยากตั้งคำถามว่าความล่าช้าของกระบวนการทำ EIA ที่เป็นผลที่ทำให้ต้องเอาออกมันได้สัดส่วนหรือมันเพียงพอหรือไม่กับความเสียหายที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ที่เป็นเชิงประจักษ์ เราก็จะพบว่าภาพที่เราเห็นกันทั้งของอาจารย์สมปรารถนาและของคุณอภิศักดิ์ สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมมหาศาล ซึ่งสมควรที่จะต้องได้รับการศึกษาก่อนหรือไม่ก่อนจะดำเนินโครงการ

คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า : จะเห็นได้ว่า EIA เป็นเรื่องสำคัญเวลาเราคุยกันเรื่อง EIA พวกโครงการพัฒนาต่างๆ เราก็จะรู้ว่าการศึกษา EIA มันจะต้องไปศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ว่าพอเราพูดเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมมันไม่สามารแยกออกไปจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้ด้วย เวลาเราพูดถึงโครงการต่างๆ ที่เกิด เราไม่ได้พูดเพียงแค่ต้นไม้ที่หายไป หาดทรายที่หายไป แต่ต้นไม้หรือหาดทรายที่หายไป มันส่งผลอะไรกับประชาชน หรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ ประเด็นเรื่องหาดทราย จะไม่พูดไม่ได้เลยว่ามันเกี่ยวข้องกับพี่น้องที่ต้องอาศัยทะเลในการดำรงชีพ คือ ประมงชายฝั่ง พอดีได้เห็นคุณบรรจง นะเเส โพสเอาภาพของกำแพงกันคลื่น แล้วก็มีช่องของการขึ้นเรือ แล้วก็ถามกันว่า อย่างนี้เรือมันจะขึ้นได้จริงเหรอ ? จริงๆแล้วพี่น้องประมงปัจจุบันถ้าหากมีกำแพงกันคลื่นขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะมีผลกระทบอะไรบ้างเพราะเท่าที่ทราบในพื้นที่หลายพื้นที่ก็ไปสร้างในบริเวณที่มีชาวประมงพื้นบ้างอาศัยอยู่ด้วย

ลำดับต่อไปขอเชิญคุณบรรจง ที่ปรึกษาสมาคมรักทะเลไทย อยากให้คุณบรรจง ได้ช่วยเล่าให้ฟังว่าจากประสบการณ์ เข้าใจว่าบ้านอยู่ใกล้กับชายหาดผลกระทบ เล่าให้ฟังหน่อยว่ามีประเด็นปัญหาที่ตั้งข้อสังเกต หรือว่ามีประเด็นปัญหาที่กระทบต่อพี่น้องประมงชายฝั่งอย่างไรบ้าง ?

ผมคิดว่าวันนี้จบเเล้วเรื่องทางวิชาการไม่ต้องถกเถียงกันแล้ว ประเด็น คือ วันนี้เราจะรักษาชายหาดให้ลูกหลานได้อย่างไร
จะให้ชุมชนได้มีชายหาดของเขาได้อย่างไร ?

บรรจง นะเเส : นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

คุณบรรจง นะแส : ก่อนอื่นขอแสดงความชื่นชมอาจารย์ทั้งสองท่านที่ได้ให้ข้อมูลที่หมดข้อกังขาสำหรับประเด็นเรื่องหาดในบ้านเราในทางวิชาการ ประเด็นที่สองขอให้กำลังใจ พี่น้องที่ม่วงงามที่หน้าศาลากลาง คืนนี้ยุงอาจจะเยอะหน่อย พี่น้องในจังหวัดสงขลาใครอยู่ใกล้ๆ ก็เอามุ้งเข้าไปให้หน่อย

คิดว่าวันนี้มันถึงจุดที่ควรยุติได้แล้วเรื่องกรณีเรื่องความขัดแย้งเรื่อง การสร้างเขื่อนกันคลื่นทั้งหลาย ที่นี้ประเด็นที่ทนายสอ ได้ถามเรื่องประเด็นเรื่องประมง ผมทำงานกับชาวประมงชายฝั่งมาสามสิบกว่าปี ลักษณะพื้นที่ประมงชายฝั่งมี 2 แบบ คือประมงมีชุมชนอยู่ 2 แบบที่เกี่ยวข้องกับชายฝั่ง คือ อยู่ในลำคลอง เช่น คลอนาทับ คลองสะกอม จะมีคลองและชุมชนยู่ในนั้นและมีเรือไปจอดในลำคลอง อีกลักษณะก็คือชุมชนชายฝั่งที่มีบ้านเรือนติดอยู่กับชายฝั่ง เช่น หัวไทร ระโนด สิงหนคร ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนกันคลื่น ถ้าผมจำได้ก็คือ เรื่องนี้จริงๆ ผมก็มีส่วนร่วมและรู้สึกผิดมาจนถึงปัจจุบัน ประมาณปี 2524 ตั้งแต่ลงไปทำงานชุมชนชายฝั่งที่ตำบลจะนะ ที่ปากบางนาทับ ปัญหาหนึ่งของพี่น้องประมงชายฝั่ง คือ เวลาจะขับเรือไปนอกชายฝั่งในช่วงที่มีคลื่นมาปิดร่องน้ำ ทำให้เรือไม่สามารถออกทะเลได้ นี่เป็นปัญหาที่เราพบทั่วไปที่เจอกับประมงชายฝั่งที่มีชุมชนอยู่ในลำคลอง เวลาชาวบ้านจะเอาเรือออกก็ต้องใช้เสียม ใช้กะละมังขุดทรายเพื่อที่จะเอาเรือออก

ช่วงนั้นท่านไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็น สส.ของอำเภอจะนะ ทำโครงการกั้นปากนาทับปี 2524 หลังจากนั้นรู้สึกบาปเลย พี่น้องที่บ่ออิฐ ก็เริ่มได้รับผลกระทบ ที่สะกอมก็เช่นเดียวกัน สุดท้ายที่เราเห็นชัดที่สงขลา คือ หาดชลาทัศน์ ที่เทศบาลจัดตั้งเครื่องสูบน้ำเสีย นี่คือบทเรียนที่เราได้เรียนรู้ และหลังจากนั้นก็เจอกับอาจารย์สมบูรณ์ ต้องให้เครดิตท่านเพราะที่ผ่านมาท่านเป็นคนหนึ่งที่พูดเรือนี้มานาน พูดเป็นคนแรก ผมไปกับท่านไปเจอกับนายกเทศมนตรีสงขลาในยุคนั้น บอกว่าอย่าสร้าง ต่อไปตรงนี้หาดพังแน่ๆ แนวต้นสนไปแน่ๆ แต่ไม่มีใครเชื่อ และวันนี้ก็เป็นอย่างที่บอก เพราะฉะนั้นวิถีประมงชายฝั่ง การแก้ปัญหาประมงชายฝั่งในอดีตเราก็มีปัญหาออกทะเลไม่ได้เพราะอยู่ในคลอง อย่างที่นาทับ 200 กว่าลำ สะกอม 80 กว่าลำ เทพา 60 กว่าลำ ถ้าย้อนกลับไปได้เราลงทุนเรือดูดสร้างลำนึงไม่เกิน 20 ล้าน เราจะไม่เสียหายเป็นพันๆ ล้านเหมือนในปัจจุบัน อย่างที่อาจารย์สมปรารถนาพูดไว้เมื่อสักครู่ แค่กระสอบทรายที่บางคนที ที่หัวไทรใช้งบประมาณแค่ 30,000 บาท เพื่อจะให้ชาวบ้านเอาเรือออกไป 10 กว่าลำ หลังจากนั้นใช้เงินเป็นพันล้านแก้ปัญหาชายฝั่งหัวไทร วันนี้ก็ยังแก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้เรื่องข้อมูลทางวิชาการเรื่องสาเหตุของการจัดการกับทรัพยากรชายฝั่งไม่ให้รุกล้ำเข้ามามันต้องแก้ที่ต้นเหตุ

ภาพ การนั่งปักหลักที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลาของประชาชนชาวม่วงงาม เพื่อให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล โดยกรมโยธาธิการเเละผังเมือง

กรณีของม่วงงามวันนี้ชัดเจนว่าท่าเรือที่สร้างไว้เป็นสาเหตุหลัก เพราะฉะนั้นการดันทุรังปักเสาเข็มเพื่อที่จะสู้กับชายหาดเหมือนที่อาจารย์สมปรารถนาและอาจารย์อารยาบอกว่ามันจะไม่มีทางหยุดได้ วันนี้ได้ข้อสรุปแล้ว เหลืออย่างเดียวกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองหรือผลประโยชน์ ใครเป็นนายก อบต. ก็ต้องวิ่งหาโครงการ แล้วก็มีเงินทอนกันโครงการมาแล้วจะได้เปอร์เซ็นต์ต่างๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้นวันนี้กระบวนการแก้ปัญหาชายหาด แก้ปัญหาการกัดเซาะมันไม่ได้อิงวิชาการเลย มันอิงผลประโยชน์ทางการเมือง อิงผลประโยชน์ทางการก่อสร้าง กรมโยธาธิการและผังเมือง วันนี้คุณไม่ได้เอาข้อมูลที่คณาจารย์ทั้งหลายได้พยายามจะบอกว่าถ้าทำเช่นนี้ เราจะสูญเสียงบประมาณไปมโหฬาร และเราจะไม่สามารถจบเรื่องป้องกันชายหาดได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมคิดว่าในทางวิชาการจบแล้วเหลืออย่างเดียวคือต่อสู้กับนโยบาย เราจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ ผมเห็นใจพี่น้องม่วงงามมาก หาดม่วงงามเป็นหาดของชุมชน เมื่อก่อนหาดชลาทัศน์ สงขลา ก็เป็นคล้ายหาดทั่วไป ใครไปก็ได้ ไม่มีคนรู้สึกเป็นเจ้าของ แต่ม่วงงามเข้ามีความเป็นเจ้าของ ส่วนทางเทศบาลก็รู้ๆ กันอยู่ว่านักการเมืองท้องถิ่นพอเข้ามามีอำนาจก็ต้องทำอย่างนี้ในขณะที่ไม่ได้สนใจงานวิชาการ ผมคิดว่าวันนี้ต้องหยุด ถ้าไม่หยุดประเทศชาติจะเสียหายมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องชุมชนประมงชายฝั่งลักษณะชายฝั่งแบบม่วงงาม หัวไทร การเอาเรือขึ้นฝั่งเอาขึ้นทางชายหาด คุณจะทำขั้นบันได้ หรือคุณจะทำแบบ slpoe หรือแบบใดก็แล้วแต่มันไม่ใช่ของวิถีประมงชายฝั่ง แล้วเราก็มีตัวอย่างมากมายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ตากใบ นราธิวาส มาถึง สงขลา ผมคิดว่าวันนี้เราจบเเล้วเรื่องทางวิชาการไม่ต้องถกเถียงกันแล้ว หรือใครจะถกเถียงก็ได้ แต่ประเด็นก็คือว่าวันนี้เราจะรักษาชายหาดให้ลูกหลานได้อย่างไร จะให้ชุมชนได้มีชายหาดของเขาได้อย่างไร ?

ภาพ การอ่านเเถลงการณ์ของประชาชนชาวม่วงงาม หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา ให้ยกเลิกกการดำเนินโครงการฯ

วันนี้ต้องให้เครดิตพี่น้องม่วงงามว่ากล้าลุกขึ้นมาทั่งๆ ที่มีแรงกดดันเยอะมาก ผมก็รู้เรื่องม่วงงามตลอดทั้งตำรวจ ผู้ว่า ผู้กำกับไปกดดันชาวบ้าน แทนที่จะเอาความจริงมาพูดกันวันนี้ไม่ได้ใช้หลักวิชาการแต่ใช้อำนาจใช้อิทธิพลเพื่อกดดันไม่ให้พี่น้องมาสู้เพื่อชายหาดของพวกเขา ก็ขอขอบคุณทางอาจารย์สมปรารถนาและอาจารย์อารยา ที่มีส่วนในการช่วยเหลือชาวบ้าน เพราะเรื่องนี้มันจบแล้วในทางวิชาการ เหลืออย่างเดียวคือการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย วันนี้พี่น้องนั่งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลาพี่น้องมาวงงาม พรุ่งนี้ผมคิดว่าพี่น้องในสงขลาก็คงไม่ละเลย เพราะว่า หาดม่วงงามก็เป็นหาดของทุกคน ประเด็นที่ทนายสอถามมาเมื่อสักครู่ก็จบแล้วในแง่ที่ว่าถ้าเราจะรักษาชายหาดไว้วิธีการแก้ปัญหาโดยการสร้างเขื่อนกันคลื่นคงไม่ใช่ทางออก

คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า : ในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่ด้วยและมีประสบการณ์ตรง

คุณบรรจง นะแส : ที่อาจารย์สมปรารถนาบอกว่าสงขลาได้งบประมาณจากกรมโยธาธิการมากที่สุดไม่ได้ภูมิใจเลย รู้สึกอายด้วยซ้ำ

คุณอภิศักดิ์ ทัศนี : ผมคนสงขลาก็อายเหมือนกัน

คุณ ส.รัตมณี พลกล้า : อย่างที่ได้มีการพูดคุยกันมาทั้ง 4 ท่านเราจะเห็นได้ว่ามันมีทั้งข้อเท็จจริง หลักวิชาการ แล้วก็งานทางกฎหมาย ชี้ชัดว่ากำแพงกันคลื่นไม่มีความเหมาะสมอีกต่อไปสำหรับโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เวลามีโครงการกำแพงกันคลื่น เราจะไม่ได้ยินว่าโครงการนั้นเป็นโครงการสร้างกำแพงกันคลื่นแต่เราจะได้ยินว่าเป็นโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและเรื่องการปรับภูมิทัศน์

คุณบรรจง นะแส : คุณ ส. รัตนมณี คงจำได้ช่วงอาจารย์เสน่ห์ เราก็มีอนุกรรมการเรื่องทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ผมก็มีโอกาสเป็นอนุกรรมการ เราไปดูทั้งฝั่งอันดามัน ฝั่งอ่าวไทยทั้งหัวไทรที่ชายบ้านร้องเรียนมา มีข้อสรุปชัดเจนว่าทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทยมีความแตกต่างกันการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะฉะนั้นวันนี้ที่กรมโยธาธิการพยายามจะดันทุรังทำเรื่องนี้โดยไม่สนใจเรื่องวิชาการ ทำเพื่ออะไร ตอนนี้ในทางโครงสร้างของการเมืองคิดว่าเรื่องนี้ต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ใครเป็น นายกอบต. ก็ต้องวิ่งหาโครงการได้เงินทอน วันนี้มันเกิดอะไรขึ้น ในทุก อบต. ที่ติดชายฝั่ง 74 โครงการ จนยกเลิก EIA กรมโยธาธิการและฝั่งเมืองร่วมกับ อบต.ในท้องถิ่นไม่เห็นหัวชาวบ้าน ไม่สนใจงานวิชาการ นี่คือโจทย์ใหญ่ ถ้ารัฐบาลจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ยึดความยั่งยืนกฎกติกาที่จะเอาชายหาดกลับมาให้ชุมชน พูดถึงเรื่องอนาคตของลูกหลานว่าอยากจะให้มีชายหาดเป็นอย่างไร ในฝรั่งเศส ต้องซื้อทรายไปถมให้มีชายหาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวแต่เรามีชายหาดอยู่แล้วไปพังมันทำไม คนในสังคมไทยไม่ควรจะละเลย พรุ่งนี้อยากจะเรียกร้องพี่น้องคนสงขลาว่าให้กำลังใจพี่น้องม่วงงามและเราจะไม่ยอมให้หาดม่วงงามสูหายไปอีกแล้ว ถ้าผู้ว่ายังไม่ให้คำตอบโยนกันไปโยนกันมา บอกว่ามาชุมนุมทำให้คนสงขลาอายคน คนที่ควรจะอายคือผู้ว่าปล่อยให้เกิดเรื่องนี้ในสงขลาได้อย่างไรและไม่ได้เกิดที่เดียวมีความภูมิคนใจที่กรมโยธาธิการเอางบมาให้เยอะแต่คุณทำลายเกือบทุกชายหาดที่มีอยู่ในสงขลา พรุ่งนี้ตอนเที่ยงเจอกันที่ศาลากลางจังหวัดสงขลาอยากจะเชิญชวนทุกคนไปให้กำลังใจพี่น้องม่วงงาม

คุณ ส.รัตมณี พลกล้า : เราก็จะพบว่าสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นเวลาเราพูดถึงชายหาด เราเองก็เป็นอดีตหนึ่งในอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนซึ่งมีการร้องเรียนเรื่องกัดเซาะชายฝั่งมาเยอะมาก อย่างที่คุณบรรจงพูดสถานการณ์เราดูแล้วยังไงก็ต้องคุ้มครองหาดให้มันอยู่แต่การการคุ้มครองหาดให้มันอยู่มันคงไม่ใช้เรื่องของการมาสร้างโครงสร้างแข็ง รอบนี้จะขอเป็นคนละ 5 นาที เพื่อเพิ่มประเด็นที่เราคิดว่าจะต้องถามถึงกัน อย่าคุณอภิศักดิ์ติดตามสถานการณ์ฟังทุกๆ พูดมามีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของชายหาดเกี่ยวกับเรื่องของEIAหรือว่าตอนนี้มีเรื่องที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งออก checklist เรื่องกำแพงกันคลื่นมันแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพราะเท่าที่ฟังดู EIA ยังจำเป็นเป็น แล้วแค่ checklist จะพอหรือไม่ ?

เมื่ออ่าน Environmental checklist เราตั้งคำถามว่าประชาชน อยู่ตรงไหน ? ประชาชนจะได้เข้าไป
แสดงความคิดเห็นตอนไหน ?
ใช้อะไรในการวิเคราะห์ เราไม่เห็นขั้นตอนรายละเอียดพวกนี้
จนถึงตอนนี้ แต่ถ้าเป็น EIA มันมีหลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าต้องเรียกร้องให้เอา EIA กำแพงกันคลื่น กลับมาแล้วยกระดับกระบวนการทำ EIA

อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงาน Beach for life

คุณอภิศักดิ์ ทัศนี : ผมคิดว่าตอนนี้แนวโน้มจากข้อมูลที่เราเก็บรวบรวมมา 74 โครงการตั้งแต่ปี 2557 ผมยืนยันเหมือนคุณบรรจงว่าผมไม่ได้ภูมิใจเลย แค่หาดแก้ว ก็มี 3-4 โครงการต่อเนื่องกัน โครงการแรกหน้าบ้านป๋าเปรม ต่อมาเป็นหาดทรายแก้ว หลังจากนั้นก็มีโครงการต่ออีก 900 กว่าเมตร เป็นกำแพงกันคลื่นในลักษณะแนวดิ่งของกรมโยธาธิการและผังเมือง แล้วเราก็คาดต่อไปว่าหลังสิ้นสุดมรสุมหลังการก่อสร้างหาดก็โดนกัดเซาะอีก เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเมื่อสิ้นสุดการก่อสร้างเมื่อไหร่ก็จะเกิดการกัดเซาะอีกที่ด้านท้ายของโครงการแล้วเราก็จะสร้างต่อ สุดท้ายแล้วชายหาดตั้งแต่ท่าเรือน้ำลึกสงขลาไล่ไปจนถึงหัวไทรคงมีกำแพงคลอดทั้งแนว ตอนนี้สร้างอยู่มี่หัวไทร หาดมหาราช ขึ้นไปทางระโนดก็มี เราคงเห็นภาพการสร้างกำแพงกันคลื่นตลอดแนวชายหาด สุดท้ายแล้วเราจะไม่เหลือชายหาดให้กับลูกหลานของเราได้อยู่ต่อไป ที่อาจารย์สมปรารถนาถามน่าสนใจคือเราต้องสร้างเยอะขนาดนั้นหรือไม่ เราร่ำรวยขนาดนั้นเลยหรือ ? ในการที่จะก่อสร้างโครงการเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทั้งๆ ที่บางพื้นที่ไม่มีความจำเป็นในการก่อสร้าง อย่างเช่นชายหาดม่วงงามมีการกัดเซาะไม่กี่เมตรต่อปี ไม่ได้รุนแรง ไม่เคยมีถนนพังเหมือนนาทับ บ่ออิฐ หรือเกาะแต้ว หาดปกติมาก ผมไปสำรวจชายหาดหลังพายุปลาบึก ชายหาดแถบไม่เปลี่ยนแปลงต้นสนไม่ล้มแม้แต่ต้นเดียว มีจุดกัดเซาะจุดเดียวคือตรงกำแพงกันคลื่นที่ทรุดตัวลงไปเพราะคลื่นกระโจนข้ามมาเพราะแกลเบียนทรุดทำให้คลื่นทีพลังงานมากขึ้น ชายหาดแบบนี้เราต้องสร้างกำแพงไปตลอดหรือไม่ เราสร้าง 710 เมตรในโครงการ ณ ปัจจุบันที่ชาวม่วงงามกำลังคัดค้านอยู่ แล้วก็มีต่อเฟส 2 ต่อไปอีก 1,995 เมตร ซึ่งอยู่ในระหว่างจัดซื้อจัดจ้างโดยกรมโยธาธิการในลักษณะเดียวกัน คำถามคือมันมีความจำเป็นขนาดนั้นหรือไม่ ?

ปัญหา คือ บ้านเรามีการกัดเซาะจริงแต่มันเป็นการกัดเซาะแค่ช่วงมรสุมเพียงไม่กี่วัน ชาวประมงริมชายฝั่งรู้ดีว่าการกัดเซาะในพื้นที่ภาคใต้แค่ 2-3 จากนั้นคลื่นสงบก็ฟื้นคืนสภาพกลับมา เราสามารถใช้มาตรการชั่วคราวในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ ที่สำคัญคือเราไม่เห็นมาตรการป้องกันชายฝั่งแบบชั่วคราวเลย เห็นแต่ที่เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ชายหาดรัฐบาลไม่เคยคิดที่จะหามาตรการในการป้องกันแบบชั่วคราวในช่วงที่มรสุมเข้ามาเพียงไม่กี่วันม่วงงามมี แต่ผมคิดว่าไม่ได้ทำเป็นกิจลักษณะแต่ในภาพใหญ่ไม่เห็นการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในลักษณะที่เป็นโครงสร้างชั่วคราว เราพึ่งแต่โครงสร้างป้องกันชายฝั่งเป็นโครงสร้างแข็งและเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ถูกต้อง

ภาพ การปักไม้เพื่อชะลอคลื่นในช่วงมรสุม ริมชายหาดม่วงงาม

การที่สำนักงานนโยบายและแผนถอดกำแพงกันคลื่นออก ผมเห็นด้วยกับอาจารย์อารยา ว่าเป็นการทำลายหลักประกันสิทธิในรัฐธรรมนูญแถบทั้งสิ้น ตั้งแต่การรับฟังความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นของประชาชนโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่เห็นบางที่รับฟังความคิดเห็นแค่ 2 ครั้ง รับฟังครั้งใหญ่กับรับฟังวงย่อย บางที่ก็รับฟังแค่ครั้งเดียว เพราะไม่มี EIA กำหนด ซึ่ง EIA มีการกำหนดไว้ว่าจะต้องจัดอย่างไร มีการศึกษาอย่างไร พอถอด EIA ออกไป มันทำลายกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าไปแสดงความคิดเห็นรับรู้ของมูลข่าวสารของโครงการ ซึ่งถ้าเราจะเริ่มกันใหม่ต้องเอา EIA กลับมาให้กำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA เพราะว่าสุดท้ายแล้วมันพิสูจน์ในทางวิชาการชัดเจนแล้วว่ากำแพงกันคลื่นมีผลกระทบต่อชายหาดอย่างร้ายแรง มี checklist มันดี แต่สำหรับเรามันยังอ่อน เมื่ออ่าน Environmental checklist เราก็ตั้งคำถามว่าแล้วประชาชนอยู่ตรงไหนใน Environmental checklist ในแง่ของการมีส่วนร่วม ประชาชนจะได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นตอนไหน เพื่อที่จะได้ดูว่าโครงการนี้ควรทำหรือไม่ควรทำหรือว่าจะใช้ข้อมูลอะไรในการบอกว่าโครงการนี้ควรทำ มีความจำเป็นสมเหตุสมผล ทำแล้วมีผลกระทบอย่างไร ใช้ข้อมูลตัวไหน ใช้อะไรในการวิเคราะห์ เราไม่เห็นขั้นตอนรายละเอียดพวกนี้จนถึงตอนนี้ หรืออาจจะมีแล้วแต่เรายังไม่ได้เห็นละเอียดแบบนี้ แต่ถ้าเป็น EIA มันมี 3 หลักสำคัญที่อาจารย์อารยาบอกก็คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ต้องยั่งยืน มันคือหลักประกัน ผมคิดว่าต้องเรียกร้องให้เอา EIA กำแพงกันคลื่นกลับมาแล้วยกระดับกระบวนการทำ EIA การทำ EIA บ้านเราก็มีปัญหาแต่ว่าเราจะถอด EIA แล้วมาทำ checklist มันก็ไม่ใช่ มันทำลายหลักประกันตามรัฐธรรมนูญหมดแล้ว สุดท้ายเราเห็นว่ามันต้องเดินต่อไม่ใช่ลดระดับมันลง ที่สำคัญเราต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการป้องกันชายฝั่ง เราสร้างโครงสร้างหลายพื้นที่สุดท้ายชายหาดพังเพราะเราสร้างโครงสร้างแข็งมาตลอด เราต้องปรับวิธีคิดในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เราอาจจะต้องใช้โครงสร้างชั่วคราวมากขึ้นในการป้องกันชายฝั่ง เราอาจจะต้องไม่เข้าไปยุ่งในพื้นที่ธรรมชาติมากขั้น มีแนวถอยร่น หรือหามาตรการทางสังคมมาช่วยในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ใช่ใช้โครงสร้างแข็งเพียงอย่างเดียวตลอดเยอะแยะขนาดนี้ เราไม่ได้ร่ำรวยขนาดนั้น ระบบการศึกษาเราก็ไม่ได้ดีเอาเงินไปพัฒนาส่วนอื่นดีกว่า

หาดถูกกัดเซาะชายฝั่งเพียง 5 เมตร หรือกัดเซาะเพียง 1 เมตรต่อปีวางโครงสร้างป้องกัน 10 กิโลเมตร กระเบื้องที่บ้านรั่วแผ่นเดียวในช่วงหน้าฝน เเต่กลับรื้อทั้งบ้านตั้งแต่หน้าแล้ง แล้วไม่ได้รั่วทุกปี4-5 ปีรั่วครั้งหนึ่ง
ถามว่ามาตรการแบบนี้ได้ดุลกับผลกระทบหรือไม่ ? ได้ดุลกับเงินในกระเป๋าที่ต้องจ่ายหรือเปล่า ?

ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง : จากปัญหาต่างๆ มันมาจากนิยามการกัดเซาะที่ไม่ตรงกัน ดูตัวอย่างใกล้ตัวที่สงขลาขณะที่ฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ได้กัดเซาะ คลื่นวิ่งมาทักทายถนน แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่ามันกัดเซาะดูภาพช่วงมรสุม ทั้งสองฝ่ายมีนิยามของคำว่ากัดเซาะไม่ตรงกันฝั่งหนึ่งบอกว่ากัดเซาะชั่วคร่าวก็คือกัดเซาะในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งบอกว่าแค่มาทักทายถนน อย่างนี้ไม่เรียกกัดเซาะ ถ้าตราบใดที่นิยามนี้ไม่ตรงกัน ไม่มีทางที่จะไม่ทะเลาะกัน และนี่คือต้นเหตุของความขัดแย้งของทุกโครงสร้างป้องกันชายฝั่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 5 คดีที่อยู่ในศาลเป็นแบนี้ทั้งนั้น แล้วการกัดเซาะเพียงชั่วคราว โครงสร้างที่จะต้องลงไปก็ต้องเป็นโครงสร้างชั่วคราวไม่ใช่ชั่วโคตร แต่โครงสร้างที่เรากำลังเห็นอยู่ในปัจจุบันของรัฐ เป็นโครงสร้างชั่วโคตรทั้งสิ้น เมื่อไหร่เราเอาโครงสร้างชั่วโคตรมาแก้ไขปัญหาการกัดเซาะเพียงชั่วคราว มันจะทำให้การกัดเซาะชั่วคราวนั้นเกิดการกัดเซาะเปลี่ยนเป็นชั่วโคตรทันที และพื้นที่ถัดๆ ไปก็จะเกิดการกัดเซาะชั่วโคตรเช่นเดียวกัน

อีกข้อสังเกต คือ มาตรการที่ลงไปดุลกับผลกระทบหรือไม่ การกัดเซาะเพียง 5 เมตร หรือกัดเซาะเพียง 1 เมตรต่อปี วางโครงสร้างป้องกัน 10 กิโลเมตร กระเบื้องที่บ้านรั่วแผ่นเดียวในช่วงหน้าฝนรื้อทั้งบ้านตั้งแต่หน้าแล้ง แล้วไม่ได้รั่วทุกปี 4-5 ปีรั่วครั้งหนึ่ง ถามว่ามาตรการแบบนี้ได้ดุลกับผลกระทบหรือไม่ ได้ดุลกับเงินในกระเป๋าที่ต้องจ่ายหรือเปล่า

อย่างที่สาม ตอนนี้สิ่งแวดล้อมทรัพยากรไม่อาจคาดเดาได้เลย โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก พายุซัดฝั่งเข้ามาเปลี่ยนแปลงฤดูกาลไปหมด คลื่นมีความสูงมากกว่าเดิม มรสุมอาจจะผิดแปลกไปด้วยจากในอดีต แต่มาตรการของรัฐไม่สามารถจัดการความเป็นพลวัตอันนี้ได้ คลื่นมาทักทายเพียงชั่วคราวแต่มาตรการของรัฐไม่ได้ชั่วคราวตามนั้น ถ้ามาตรการรัฐสามารถปรับเปลี่ยนสามารถปรับเปลี่ยน มีความเป็นพลวัตตามธรรมชาติได้ความขัดแย้งเหล่านี้ก็จะเบาบางลง ชาวบ้านก็จะสมประโยชน์ บ้านไม่ได้ไหลลงทะเลเพราะมีโครงป้องกันชายฝั่งช่วงมรสุม รัฐก็จะสมประโยชน์ไม่ได้ทะเลาะกับชาวบ้าน และได้ใช้เงินภาษีไปป้องกันสวัสดิภาพสาธารณะ ทั้งสองฝ่ายสมประโยชน์หมดและขจัดข้อขัดแย้ง

ตัวประเด็น Environmental checklist มันมีทั้งหมด 5 ส่วน ข้อมูลทั่วไปของพื้นที่ ข้อมูลสิ่งแวดล้อม ผลกระทบ การแก้ไขผลกระทบ บทสรุป ทั้ง 5 ส่วนนี้เป็น checklist ที่ถ้าเกิดว่าโครงการใดจะทำ ภาษาไทยคือ รายการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล Environmental Checklist of Seawall and Revetment ทั้ง 5 ส่วนเหล่านี้ คนที่จะสร้างกำแพงกันคลื่นจะต้องทำ กลับไปที่ตอนที่พูดไว้เมื่อตอนต้น ตอบคำถามได้หรือไม่ แนวทางเลือกให้เลือกหลากหลายหรือไม่ แล้วแนวทางเลือกนั้น ทางเลือกไหนที่มีผลกระทบน้อยที่สุด ถามว่า Checklist นี้ตอบคำถามหรือไม่ ไม่เลย เพราะนี้คือเลือกมาแล้วว่าจะทำกำแพง คุณจึงต้องทำ EIA เพื่อให้มีแนวทางเลือกแล้วชาวบ้านจะเอาทางเลือกไหนก็เอาไปศึกษาในรายละเอียด แต่อันนี้คือเคาะแล้ว เพราะฉะนั้นจะตอบคำถามได้อย่างไรว่าทางเลือกไหนเป็นทางเลือกที่สอดคล้องเหมาะสม ขจัดความขัดแย้งในพื้นที่ สมประโยชน์ทีสุดทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุดข้อขัดแย้งน้อยที่สุดและทำให้เกิดความยั่งยืน Checklist นี้ไม่ได้ตอบเพราะถูกเคาะแนวทางแล้ว จะบอกว่าแข็งหรืออ่อนไปขึ้นอยู่กับมุมมอง ในขณะที่หน่วยงานบอกว่า Checklist นี้เขาทำโครงการไม่ได้เลย ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า Checklist มันอ่อนไป แต่ที่เห็นตรงกันอย่างหนึ่งและไม่มีใครเบี่ยงประเด็นได้คือมันไม่ได้เสนอแนวทางเลือก มันจะตอบคำถามเหล่านั้นได้อย่างไร ตอบได้ต้องใช้กระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า : มันก็จะเชื่อมโยงไปในส่วนที่อาจารย์อารยาอาจะได้เพิ่มเติมเพราะถึงที่สุดเวลามีโครงการแล้วมีผลกระทบ สิ่งที่เราอยากเห็นก็คือว่ามาตรที่จะต้องมีการศึกษาก่อนเพื่อที่จะป้องกัน แต่เดิม EIA จะเป็นตัวช่วยกรองว่าโครงการนี้เหมาะสมที่จะทำหรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเป็นรายงานทีทำไว้เพื่อที่จะดูว่ามันจะแก้ปัญหาผลกรระทบอย่างไรเท่านั้น แต่พอ EIA ถูกถอดออกไปจากกำแพงกันคลื่นก็มีการสร้าง Checklist โดยทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งปัจจุบันตามกฎหมายมีหน้าที่ดูแลชายฝั่งดูแลทรัพยากรชายฝั่งมีหน้าที่ต้องปกป้องและคุ้มครองไม่ให้เกิดการทำลาย อยากจะให้อาจารย์อารยานำเสนอในช่วงสุดท้ายว่าประเด็นเหล่านี้มันจะย้อนกลับไปอย่างไร ในฐานะที่อาจารย์เป็นอาจารย์ทางนิติศาสตร์ กรณีม่วงงามมีผลกระทบมีโครงการที่กำลังก่อสร้างกันอยู่ และมีการฟ้องศาลปกครองไว้แล้วด้วย มันจะส่งผลอย่างไรบ้างทั้งเรื่องของ Checklist และ EIA ที่มีการดำเนินการกันอยู่มันจะเกิดผลกระทบอย่างไรกับหาดม่วงงามบ้าง ?

EIA กำเเพงกันคลื่น
ยังจำเป็นต้องทำ
ต้องผลักดันให้เอากำแพงกันคลื่นกลับไปอยู่ใน EIA ให้ได้
คิดว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต้องทำตรงนี้ นี่คือหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ดร.อารยา สุขสม อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์เเละสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ดร.อารยา สุขสม : อาจจะแยกเป็นสองเรื่อง เรื่องแรก Checklist อาจจะต่อยอดจากทางคุณอภิศักดิ์และอาจารย์สมปรารถนา โดยส่วนตัวไม่ได้ปฏิเสธเรื่องกำแพงเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุผลของมันเอง กำแพงกันคลื่นมันมีฟังก์ชันของมันอยู่ แน่นอนว่าเหตุผลในการสร้างมันต้องหนักแน่นพอ เราต้องประเมินก่อนว่าเอาอยู่ทุกด้านหรือไม่ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ปกป้องทรัพย์สิน ชีวิต ของประชาชนได้จริงหรือไม่ รวมถึงเป็นวิธีการที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดจริงหรือไม่ ถ้าเกิดตอบโจทย์แบบนี้ได้มันก็จำเป็นต้องสร้าง นี่คือในมุมของอาจารย์เอง อย่างไรก็แล้วแต่เราเคยมีแนวคิดในกฎหมายว่ากำแพงกันคลื่นเป็นสิ่งที่เราต้องมีการประเมิน EIA ก่อน เป็นการสร้างหลักประกันสิทธิของประชาชนได้เป็นอย่างดีตั้งแต่ปี 2552จนกระทั่งปี 2556 มาถอดออกต้องตอบคำถามให้ได้ว่าท่านคิดอะไร ณ วันนี้ปี 2563 ตลอด 7 ปี ข้อมูลที่อาจารย์สมปรารถนามี รวมถึงทาง Beach for life มันสะท้อนให้เห็นแล้วว่ามันไม่ได้เป็นในเชิงบวก มันเป็นผลกระทบในเชิงลบและเป็นผลกระทบที่มหาศาลถ้าตีเป็นเงินไม่รูจะคำนวณอย่างไร เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งคือพยายามที่จะทำหน้าที่ตามกฎหมายในการปกป้องคุ้มครองพยายามที่จะสร้าง Checklist ขึ้นมาเช็คว่าถ้ารัฐดำเนินการประเภทนี้ มันต้องดูอะไรบ้าง ถามว่าเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร ก็เพื่อประเมินก่อนว่าโครงการนี้เหมาะสมที่จะสร้างหรือไม่ ถ้าเป็นวัตถุประสงค์เดียวกันกับ EIA ในเมื่อการทำ EIA มันสร้างหลักประกันสิทธิได้ดีกว่าทำไมเราไม่เลือกวิธีการที่มันจะบรรลุวัตถุประสงค์นั้น ทำไมเราถึงไปเลือกมาตรการรองซึ่งมาตรรองก็คือ Checklist มันจะมีปัญหาตามมาหรือไม่ โดยการคาดการณ์มั่นใจอย่างหนึ่งว่าหน่วยงานมีภาระเพิ่มในการทำ Checklist มันจะมีคำถามหลังจากการมี Checklist เต็มไปหมด เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาในทางกฎหมายมันไม่ควรสร้างปัญหาเพิ่ม นี้คือมุมมองส่วนตัว เพราะฉะนั้นหน่วยงานรัฐจะต้องกล้าหาญกล้าทบทวนว่าสิ่งที่ท่านถอดมา 7 ปีมาแล้ว ท่านสมควรนำมาทบทวนใหม่หรือไม่ 7 ปีนี้ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมเพราะพระราชบัญญัติ เราต้องมีการทบทวนทุก 5 ปีด้วยซ้ำเพื่อให้มันสอดคล้องกับสภาวการณ์ การที่จะทบทวนประกาศกระทรวงแน่นอนว่าท่านเพิ่งออกเมื่อปีที่แล้วว่ากำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA อย่าลืมว่าเนื้อหาท่านลอกมาจากปี 2556 ควรจะมีการทบทวนใหม่หรือไม่ ท่านต้องกล้าหาญที่จะยอมรับว่าสิ่งที่ท่านคิดมันมีข้อผิดพลาดหรือไม่คนเรามีการเรียนรู้ได้หน่วยงานก็เช่นเดียวกันถ้าท่านเปิดใจที่จะเรียนรู้ไปกับประชาชน สิ่งแวดล้อมมันคาดการยาก เพราะฉะนั้นท่านจะคิดให้มันง่ายได้ยากเพราะผลกระทบตามมาเยอะมาก โดยส่วนตัวคิดว่าการทำ EIA กำเเพงกันคลื่น ยังจำเป็นต้องทำ ท่านต้องผลักดันให้เอากำแพงกันคลื่นกลับไปอยู่ใน EIA ให้ได้คิดว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต้องทำตรงนี้ นี่คือหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เรื่องประเด็นม่วงงามถ้ามองในมุมของกฎหมายในส่วนของการใช้สิทธิตามกฎหมายประชาชนได้ใช้สิทธิเต็มที่แล้วหน่วยงานรัฐก็ทำงานตามที่ตัวเองได้ตั้งมา ต่างคนต่างก็ทำหน้าที่ ทั้งนี้ถ้าเราเจอปัญหาแล้ว ในมุมมองของกฎหมายคือมันอยู่ในศาล โดยส่วนตัว ณ วันนี้เมื่อเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นท่านจะทำอย่างไรในพื้นที่ ประชาชนมานั่งรอการช่วยเหลือจากหน่วยงานของภาครัฐซึ่งได้ข่าวมาว่าจะมาคุยกันวันรุ่งขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็ได้แต่อวยพรขอให้การพูดคุยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนประเด็นของกฎหมายโดยส่วนตัวมองว่าการฟ้องคดีในครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายอย่างเต็มที่แล้ว เป็นมุมมองของพลเมือง มองว่านี่เป็นทรัพยากรที่เขาจะต้องปกป้องและมองว่าสิ่งที่เขาได้รับจากการกระทำของรัฐมันไม่ถูกต้องอย่างไร ต่างคนต่างทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้วก็ต้องรอฟังผลการพิจารณาของศาลต่อไป แต่ก็ขอให้การจัดการความขัดแย้งไม่นำไปสู่ความรุนแรง

ภาพ ประชาชนม่วงงามนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา

คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า : อยากจะเล่าให้ฟังถึงท่านที่อาจจะยังไม่ได้ทราบว่ากรณีที่หาดม่วงงามมีการฟ้องคดีกันไป มีการไปฟ้องศาลปกครองโดยมีตัวแทนชาวบ้านไปฟ้องกัน ข้อที่เรียกร้องก็คือขอให้มีการยุติโครงการ และในขณะเดียวกันในระหว่างที่พิจารณาคดีก็มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันทราบว่าศาลได้มีหนังสือถึงทางกรมโยธาธิการฯ เพื่อที่จะให้มีการชี้แจงตอบกลับมาเกี่ยวกับเรื่องของการคุ้มครองชั่วคราวและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในโครงการนี้ เราก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าศาลจะมีคำสั่งหรือมีการไต่สวนคำร้องเรื่องของการคุ้มครองชั่วคราวต่อไปอย่างไร ในขณะเดียวกันทางชาวบ้านม่วงงามถึงแม้ว่าได้มีการยื่นฟ้องไว้ต่อศาลแล้วทางชาวบ้านเห็นว่าโครงการก็มีการดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ และอาจจะมีผลกระทบเกิดขึ้นถ้าหากโครงการสร้างไปเสร็จแล้วและศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือมีคำพิพากษามาอย่างไรก็ตามก็เลยมีการไปยื่นหนังสือวันนี้อีกครั้งหนึ่งที่ศาลากลางจังหวัดได้พบผู้ว่าซึ่งท่านเองก็มีการรับปากว่าจะทำหนังสือถึงกรมโยธาธิการฯ เพื่อที่จะสอบถามและมีการติดต่อไปทางกรมโยธาธิการฯ ให้ขี้แจงเข้ามาด้วย

ในช่วงนี้เรามีเวลาอีประมาณ 20 นาทีอยากให้ท่านที่ได้ชมผ่านทางไลฟ์ถ้ามีคำถามกับทางวิทยากรหรือแสดงความเห็นออกมาได้เลย

คำถามและความเห็นจากผู้ชม

Somporn Chuai-Aree : เสนอทุบสะพานหน้าหมู่ 3 ทิ้งแล้วหยุดทุกโครงการบนหาด ทรายก็กลับมาเหมือนเดิมไม่เกิน 5 ปีครับ เอางบไปสร้างความสุขขั้นพื้นฐานให้ในพื้นที่ดีกว่านะครับ กิจกรรมที่ทรงคุณค่าอีกมากมายครับ

ทนายเพรชและครอบครัว รสิตา :ช่วยพูดและให้ประชาชนเข้าใจเรื่องขั้นตอนในการดำเนินคดีของศาลปกครองด้วยก็ดีนะครับ ชาวบ้านจะได้เข้าใจกระบวนการกฎหมายที่เขาต่อสู้ตามกระบวนการและช่วยอธิบายประชาชนเรื่องการออกมาใช้สิทธิคัดค้านกำแพงกันคลื่น กับ พรก ฉุกเฉินตอนนี้ด้วยก็ดีครับว่าชาวบ้านเขามีสิทธิได้แค่ไหนเพียงใด ?

คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า : ส่วนตัวติดตามเรื่อง พรก.ฉุกเฉินอยู่ ได้ระบุเรื่องของการไม่ให้มีการชุมนุม แต่ถ้าชาวบ้านไปยื่นหนังสือเราไม่ได้เรียกว่าเป็นการชุมนุม เพราะว่าการชุมชนมีคำอธิบายของคำว่าชุมนุมอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการกำหนดไว้แบบนี้ ในรัฐธรรมนูญหลักของเราก็มีเรื่องของการรับรองสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่มีการพยายามพูดคุยกันอยู่และมีทางเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาคก็ได้ยื่นหนังสือต่อทางคณะรัฐมนตรีเพื่อขอยกเลิกการใช้ พรก.ฉุกเฉินกับสถานการณ์โควิดเพราะเราคิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันก็คงไม่ต้องใช้ พรก.ฉุกเฉินเพราะว่ามีกฎหมายอื่น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายโรคติดต่อ ก็สามารถใช้ได้

ในส่วนนี้ไม่ทราบว่าเราพอจะมีเวลาอยู่นิดหน่อยสำหรับวิทยากร เพราะข้อความที่ส่งมาส่วนใหญ่เป็นการให้กำลังในพี่น้องม่วงงามที่มายื่นหนังสือ

ท่านวิทยากรมีอะไรที่จะฝากทิ้งท้ายไว้กับกรณีเรื่องกำแพงกันคลื่นอีกหรือไม่ คงไม่ใช่ประเด็นเรื่องของหาดม่วงงามเพราะจริงๆ อย่างที่ทราบที่สงขลาไม่ใช่แค่ที่หาดม่วงงามที่กำลังสร้างกำแพงกันคลื่น ที่มหาราชก็มีการทำอยู่ คุณบรรจงเองก็ติดตามเรื่องนี้อยู่ พื้นที่จังหวัดชุมพรก็มีการสร้างกำแพงกันคลื่นเช่นเดียวกัน อยากจะขอให้ท่านวิทยากรทุกท่านใช้เวลา 2-3 นาทีฝากส่งท้ายไว้

อาจารย์สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง : ความขัดแย้งของชาวบ้านและรัฐไม่ได้พูดถึงเฉพาะม่วงงามอย่างเดียว รัฐก็จะกอดข้อเท็จจริงบางอย่างไว้ในขณะที่ประชาชนก็กอดข้อเท็จจริงอีกอันหนึ่งไว้แต่สองอันนี้มันไม่เจอกัน จะทำอย่างไรให้มาเจอกันเอาข้อเท็จจริงทั้งหมดมาวางบนโต๊ะแล้วคุยกันอีกสักครั้งให้ข้อเท็จจริงมันตรงกันก่อนถ้ารัฐมั่นใจว่าข้อมูลของเขาถูกต้องตามหลักวิชา จะมีเหตุผลอะไรที่ไม่กล้าเอาข้อมูลเหล่านั้นมาแบให้ชาวบ้านดูอีกรอบ ถ้าชาวบ้านมั่นใจว่าสิ่งที่เห็นมาตลอดชีวิตต้องเป็นแบบนี้ไม่ตรงกับที่รัฐบอก จะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่เอาข้อมูลนั้นมาแชร์ให้รัฐ และในเวทีนั้นถามตัวเองว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รัฐผู้กุมอำนาจ ถามตัวโตๆ ว่าเราอยากส่งต่อหาดแบบไหนให้ลูกหลานในอนาคต เราอยากจะเปิดสมุดภาพแล้วบอกว่านี่ไงชายหาดหน้าบ้าน เม็ดทรายมันมีขนาด 0.25 มิลลิเมตรมันมีสีลักษณะแบบนี้ หรือเราอยากจะจูงมือเขาแล้วเดินไปที่ชายหาดหน้าบ้านไปย่ำ หาดแบบไหนที่เราอยากส่งต่อ การพัฒนาในยุคปฏิเสธไม่ได้เลย แต่การพัฒนาแบบไหนจะมีผลกระทบน้อยที่สุดต่อลูกหลานของเรา การพัฒนาแบบนั้นแหละที่เราเรียกว่าการพัฒนาแบบยั่งยืน และถ้าเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกๆ มิติของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเราจะต้องส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับลูกหลานเราในอนาคตต่อไป

ดร.อารยา สุขสม : มองอย่างที่อาจารย์สมปรารถนามองว่าระหว่างรัฐกับประชาชน ตรงกลางคืออะไร คือ ท้องถิ่น หมายความว่า ท้องถิ่นจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างความต้องการของประชาชนกับโครงการของรัฐที่จะลงมาในพื้นที่ โดยส่วนตัวมองว่าท้องถิ่นมีความสำคัญ ท้องถิ่นจะทำอะไรในบ้านของตัวเองความรู้สำคัญมาก ไม่ใช่ว่าท้องถิ่นไม่มี แต่เนื่องจากความรู้ทางทรัพยากรทะเลและชายฝั่งมันมีลักษณะเป็นพลวัติ หมายความว่าท่านต้องติดตามเกาะติดว่า ณ วันนี้ชายฝั่งมีปัญหาอะไร และมันมีหลายวิธีในการแก้ไขปัญหาเพราะฉะนั้นความรู้ชุดเดิมที่ท่านมี ท่านต้องเปิดใจรับว่ามันอาจจะมีวิธีการอื่นที่คุ้มค่ากว่า ในที่นี้คือคุ้มค่าไม่ใช่แค่เงินแต่ทรัพยากรสูญเสียน้อยกว่าคือต้องไม่มองความคุ้มค่าที่ตัวเงินแต่ต้องมองความคุ้มค่าของคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ก็ฝากความหวังไว้กับท้องถิ่นเพราะคนในท้องถิ่นก็คือคนที่ประชาชน ชุมชนเลือกมาถ้าเกิดว่าท้องถิ่นไหนเข้มแข็งทรัพยากรก็จะได้รับการปกป้องอย่างดีที่สุด

คุณอภิศักดิ์ ทัศนี : ประเด็นสำคัญที่เราอยากจะฝากไว้ก็คือว่า ผมคิดว่าคนตลอด 23 จังหวัดในพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยเขาผูกผัน อิงอาศัยอยู่กับทรัพยากรหาดทราย ดังนั้นทรัพยากรหาดทรายจึงมีคุณค่ากับเขามากในแง่ของการทำประมง เศรษฐกิจ การพักผ่อนหย่อนใจ ใครในประเทศไทยก็อยากจะเห็นหาดทราย ดังนั้น หาดทรายจึงเกี่ยวร้อยสัมพันธ์อยู่ในใจของคนไทยทุกคน ถ้าเราจะมีวิธีที่จะเก็บหาดทรายไว้เพื่อที่จะส่งต่อให้กับลูกหลาน เราควรจะทำอย่างนั้น

ประเด็นที่สอง รัฐต้องปรับกระบวนทัศน์ในการจัดการการดูแลฟื้นฟูชายหาด ตั้งแต่การเอาโครงสร้างลงไปจะต้องเปลี่ยน ไม่ใช่แค่การสร้างโครงสร้างแข็งแต่อย่างเดียว มันมีชุดความรู้ทางวิศวกรรม ชุดความรู้ทางด้านกฎหมายที่จะเอามาบูรณาการหรือแม้กระทั่งทางสังคมเพื่อที่จะจัดการพื้นที่ชายฝั่งให้มันอยู่ได้ เราไม่เห็นเรืองแนวถอยร่นเลยพูดกันมาไม่รู้กี่ปี เราเพิ่งเห็นเติมทรายเมื่อปี 2556 ที่หาดชลาทัศน์ และประสบความสำเร็จที่หาดพัทยาแต่ชลาทัศน์ก็ยังไม่เสร็จจนถึงตอนนี้ คือไม่ยังไม่สุดในการที่จะหาวิธีการที่จะหาแนวทางการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เราควรให้โอกาสมาตรการหรือวิธีการเหล่านี้ได้เติบโตในสังคมไทยบ้าง รัฐควรปรับมายาคติในการที่จะป้องกันชายฝั่ง

ประเด็นสุดท้ายผมทำงานนี้มาเกือบ 9 ปีผมได้รับความรู้จากอาจารย์สมบูรณ์ พรพิเนตรพงศ์ อาจารย์สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์อารยา สุขสม อาจารย์ธีรวัฒน์ ขวัญใจ และคนอื่นๆ ผมคิดว่าสังคมไทยเริ่มตกผลึกในชุดความรู้ที่ว่าเมื่อไหร่เราเอาโครงสร้างแข็งไปวางริมชายหาดมันจะมีผลกระทบต่อชายหาดและประกอบกับความจริงที่ว่าเขาอยู่อาศัยกับชายหาด เขาเห็นว่าชายหาดเป็นอย่างไร ดังนั้นการที่รัฐกุมข้อมูลอยู่อีกฝั่งหนึ่งแล้วบอกว่าข้อมูลของฉันถูกเสมออันนี้ผมคิดว่ามันควรต้องปล่อยวางและทำความเข้าใจกัน อย่าคิดว่าชาวบ้านไม่รู้ กรณีหาดม่วงงามผมคิดว่าเป็นภาพสะท้อนการไม่รับฟังที่ชัดเจนมาก คุณกำลังกุมข้อมูลอยู่ข้างเดียวในฝั่งของรัฐ มันต้องปรับท่าทีเหล่านี้เพราะประชาชนเริ่มมีความรู้แล้วเข้าเริ่มเรียนรู้จากบทเรียนที่อื่น เราควรเปิดโอกาสให้มีพื้นที่ในการพูดคุยกัน จะเปิดโอกาสได้อย่างไร กระบวนการมันต้องดี EIA ต้องกลับมากระบวนการการมีส่วนร่วมต้องกลับมาถูกพัฒนา ไม่เช่นนั้นก็จะทะเลาะกันอยู่แบบนี้ ชาวบ้านก็จะคัดค้าน คือมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเอาคดีไปฟ้องศาลปกครอง มันเป็นเรื่องที่ยากลำบากในฐานะชาวบ้าน แล้วมันไม่ควรเกิดขึ้น มันใช้เวลานาน ทรัพยากรเสียหาย เปลืองทรัพยากรในการที่จะนำคดีไปสู่ศาล แต่ว่ามันเป็นการใช้สิทธิซึ่งถูกต้อง แต่มันไม่ควรเป็นแบบนี้ มันควรทำหลักประกัน ทำขั้นตอนบางอย่างที่ทำให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและเปิดข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเปิดข้อมูลที่เป็นการศึกษาจริงๆ ทำให้ประชาชนได้ถกเถียงกันจริงๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้รัฐต้องวางแนวทาง เป็นหน้าที่ของรัฐในการที่จะทำและต้องกล้าหาญพอที่จะทำ ผมเรียกร้องกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงสำนักงานนโยบายและแผนผมคิดว่ายังไม่สายที่จะเอา EIA กลับเข้าไปและยกระดับในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และยกระดับการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับกำแพงกันคลื่น Checklist ไม่ใช่คำตอบ ต้อง EIA เท่านั้นมันจะทำให้กระบวนการเข้มข้นขึ้น คุณต้องมองว่าประขาชนเขาสามารถมีส่วนร่วมในเรื่องพวกนี้ได้

คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า : จากการอ่านข้อความในไลฟ์ที่ทุกคนส่งมากก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจก็คือว่าทำไมเราจะจัดเวทีให้คนมาพูดคุยกันเอาข้อมูลมาพูดกันเหมือนอย่างที่ท่านวิทยากรทุกท่านได้เสนอกันมา ทำไมเราจะจัดไม่ได้ ในเมื่อชาวบ้านเองก็มีความรู้ที่เขาศึกษา เขาอยู่ตรงนั้นก็ต้องมีความรู้ ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการมีประสบการณ์มันสามารถที่จะมาคุยกันได้และหาข้อสรุป หาข้อเท็จจริงร่วมกัน แต่โครงการก็ต้องชะลอไปก่อน ไม่ควรที่จะต้องเดินไปสร้างไปคุยไป ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วพอสร้างไปเสร็จก็กลับคืนมาไม่ได้ เราอาจะจ้องเสียทรัพยากร เราอาจจะต้องคุยกันว่ากำแพงกันคลื่นไม่เหมาะกับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแล้วต้องมาทุบทิ้ง ก็จะต้องเสียงบประมาณในการทุบทิ้งอีกนอกจากเสียงบประมาณในการก่อสร้างมาแล้ว เรื่องนี้น่าจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานอาจจะต้องเปิดใจรับในการพูดคุย ประชาชนก็พร้อมที่จะเข้ามาพูดคุยอยู่แล้ว ถ้าประชาชนไม่พร้อมพูดคุยประชาชนคงไม่ได้แสดงท่าทีในลักษณะสันติวิธีแบบนี้ ที่ผ่านมาหาดม่วงงามชาวบ้านที่มาต่อสู้เราก็จะเห็นได้ชัดว่าทุกคนก็แสดงท่าที่ทีชัดเจนพร้อมที่จะพูดคุยโดยเอาข้อมูลมาพูดกัน

คุณบรรจง นะแส : ในแง่ของวิชาการคือจบไปแล้ว เหลืออยู่ประเด็นเดียวคือนโยบายของรัฐบาลต่อเรื่องนี้ว่าจัดการอย่างไรให้สมเหตุสมผล ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ วันนี้เรายังอยู่ภายใต้โครงสร้างของเรื่องขอผลประโยชน์เรื่องของเงินทอนมีอยู่จริง น่าจะถึงเวลาที่จะรักษาชายหาดไว้ให้ลูกหลานรักษาทรัพยากรตามทิศทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน วันนี้ก็ขอให้กำลังใจพี่น้องม่วงงามที่จะเป็นกรณีศึกษารวมกันลุกขึ้นสู้เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า : ก่อนหน้านี้เราเคยมีคำว่าจะนะโมเดลจากการที่พี่น้องจะนะร่วมขึ้นต่อสู้กับโครงการที่เกิดขึ้นในอำเภอจะนะ ปัจจุบันเรื่องหาดก็คงต้องให้หาดม่วงงามเป็นหาดม่วงงามโมเดล จะต้องเป็นโมเดลที่สวยงามมีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดสินใจติดตามตรวจสอบโครงการและการตัดสินใจที่จะต้องเดินหน้าต่อหรือต้องยุติไป ราชการเองก็จะต้องเปิดใจรับและมาคุยกันในข้อมูล ถึงแม้ว่ามีการไปยื่นฟ้องศาลปกครองแล้วแต่โครงการยังเดินหน้าต่อยังไม่ได้มีการยุติหรือชะลอไป การเดินหน้าเรียกร้องร้องเรียนของประชาชนก็ยังเป็นสิทธิที่สามารถที่จะทำได้ เราก็ให้กำลังใจกับประชาชนที่กำลังอยู่ในภาวะที่ต่อสู้ปกป้องบ้านเกิดตัวเองปกป้องทรัพยากรชายฝั่งของตัวเอง หวังว่าม่วงงามโมเดลจะเป็นโมเดลที่สวยงาม ในวันพรุ่งนี้ถ้าใครว่างสามารถเดินทางมาให้กำลังใจพี่น้องที่ศาลากลางเพื่อรอฟังผลว่าทางท่านผู้ว่าจะพูดคุยกับกรมโยธาธิการฯได้หรือไม่ ?

วันนี้เราก็พูดคุยมากกว่า 2 ชั่วโมงแล้ว ก็คิดว่าเราคงได้เห็นภาพรวม เห็นมุมมองและประเด็นต่างๆ สำหรับวันนี้ก็ต้องขอจบการพูดคุยไว้เพียงเท่านี้ก่อน ท่านผู้ชมผู้ฟังสามารถติดตาม รายการ Beach Talk ในครั้งต่อไป สำหรับวันนี้ต้องขอบคุณทุกท่านที่ติดตามรับชม รับฟัง สำหรับวันนี้ต้องลาไปก่อน สวัสดีค่ะ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s