พลังการมีส่วนร่วมของพลเมืองสงขลา ในการกำหนดทิศบ้านทางเมือง

อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ นักวิชาการผังเมืองอิสระ บรรยายใน งาน The World Beach Day เเลเล เเลหาด ครั้งที่ 8 วันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องประชุมสกายรูม โรงเเรมวีว่า จังหวัดสงขลา

สวัสดีพี่น้องชาวสงขลา ทางสงขลาฟอรั่ม กลุ่ม Beach for life ชวนมาจุดประกายความคิดในงาน The World Beach Day แลเล แลหาด ครั้งที่ 8 แต่ก่อนจุดประกายความคิด ผมอาจต้องถามก่อนว่า “ใครจะมาจุด” พื้นเพผมเป็นลูกผู้พิพากษา แล้วไปเรียนเมืองนอกจบสถาปัตยกรรม และมาเป็นอาจารย์สอน ตลอดช่วงที่เป็นอาจารย์ก็ยุ่งกับเรื่องราวของบ้านเมือง เรื่องที่พลเมืองจะลุกขึ้นมากำหนดอนาคตตนเอง สร้างเรื่องราวของตนเอง ขอขยายความนิดหนึ่ง ก่อนหน้าที่เขาจะมีการสร้างตึก 12 ชั้นที่หน้าวัดสุทัศน์ผมก็คิดว่าถ้าเป็นแบบนั้นคงไม่ดีแน่ เลยชวนเพื่อนทำกิจกรรมต่างๆปลุกกระแสสังคมขึ้นมา และก็มีเรื่องที่อีสานที่ผมเข้าไปยุ่งเข้าไปเกี่ยว ก็เคลื่อนไหวทำนองนี้มาตลอด ก็ถือว่ามีความคิดที่จะชวนคิดชวนคุยได้ 

คำถามว่าจุดประกายความคิดนะ “จุดอะไร ?” เล่าย้อนกลับไปที่เกิดเหตุการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง เมื่อปี 2554 แล้วอีกหลายปีที่เกิดความเคลื่อนไหวของลูกหลานพวกท่าน ที่เอาธุระ มาดู แล้วทุ่มตัว ทุ่มใจเข้าไปแก้ไข เห็นเป็นภาระของตัว จนเข้าพบกับการจัดการ เข้าพบกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง เริ่มขบคิด เอาวิชาการมาใช้ จนสุดท้ายวันนี้เราก็พบกับผลงานที่จะช่วยกันทำงานต่อ ตั้งแต่หาดสมิหลา เริ่มมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในปี 2545 พอ 2554-2555 เห็นปัญหาจนทนไม่ไหว ช่วง 2555-2561 ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น และต่อเนื่องจนตอนนี้ได้ข้อเสนอในการจัดการชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ โดยภาคพลเมือง ทั้งหมดกระบวนการที่เคลื่อนไหวมา คือ สิ่งที่ผมอยากถอดออกมาและแสดงความคิดเห็น 

ความเคลื่อนไหวของพลเมืองสงขลา เพื่อร่วมกันอนุรักษ์เเละพัฒนาชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์

อย่างแรกที่ผมจะกล่าวคือ “คิดถูก ทำชอบ ทิศทางใช่” ไปตรงไหนถูกเลย อันนี้สนับสนุนเต็มที มันเชียร์กันเฉยได้อย่างไร ผมรู้สึกว่าท้องถิ่นทุกแห่งมีความเป็นมา มีปัจจุบัน และไปข้างหน้า ที่คิด ที่ทำ แล้วไปข้างหน้า ผมคิดว่าที่ลุกคิดมาคิด ลุกขึ้นมาทำ อันนี้ชอบหมด ถูกหมด ไม่ใช่ว่ารักษาความสงบแล้วก็อยู่กับไปตลอด เหมือนที่รัฐบาลเขาบอก ความสงบผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน มันจะอยู่นิ่งๆกันใช่ไหม แต่บ้านเมืองมันมีธุระ มันต้องไปข้างหน้า บ้านเมืองต้องขับเคลื่อน เดินหน้า 

บ้านเมือง คำโบราณคำนี้ดีนะครับ คำว่า “บ้าน” คือ ส่วนตัว เมือง คือ ทั้งหมด ดังนั้น เมื่อพูดถึงบ้านเมือง คือ การพูดถึงส่วนตัวและส่วนร่วมที่มีเราอยู่ด้วย เมื่อเอ่ยถึงบ้านเมือง คือการอยู่ด้วยกัน มันมีเราอยู่ด้วย เมื่อคิดถึงอย่างนี้ถึงมีการเมือง เมื่อมีการเมืองถึงมีการเลือกตั้ง เเล้วเอาตัวแทนเข้าไปเพื่อจะขับเคลื่อน ฝรั่งเขาไม่เรียก “ปกครอง” แต่เขาเรียกว่า “ผู้ที่จะขับเคลื่อน” จะขับกันไปทางไหน เขาไม่ได้จะมาปกครอง 

วันนี้ที่ผมจะพูด ช่วยตั้งเสาอากาศกันดีๆ การที่จะขับเคลื่อนมีทั้งประเทศ ภูมิภาค จังหวัด และเมือง มีรัฐบาล แม้กระทั่งเทศบาล และนักการเมือง คือคนที่จะอาสามาขับเคลื่อน มีกลไกรัฐ และมีประชาชนคนสงขลา นี่คือกลไกซึ่งยอมรับ และพาบ้านพาเมืองไป พลเมืองไม่ได้ปฏิเสธหรือเป็นศัตรูกับภาครัฐ ไม่ใช่แน่ !! ช่วยลบคำพูดที่ทำให้ต่างกัน ภาครัฐบอกจงมีส่วนร่วม ประชาชนของเรามีส่วนร่วม มันไม่ใช่ ที่จริงมันเพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกัน

บ้านเมือง คือ การพูดถึงส่วนตัวและส่วนร่วมที่มีเราอยู่ด้วยมีอีกเรื่องหนึ่งคือ ชีวิตจิตใจ ความมุ่งมั่นซึ่งเป็นเรื่องของพลเมือง เขาถือว่าบ้านเมืองเป็นเรื่องของเรา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ไม่ใช่คำโฆษณา มันเป็นความมุ่งมั่น อยากจะบอกนิดว่า วิญญาณความรู้สึกมันกลายเป็นเรื่องปกครอง เรื่องการบริหารมันมีความหลัง ในเมืองยุคกลางของฝรั่ง เขาอยู่กันเป็นเมืองแล้วในเมือง มีผู้ประกอบการ ซึ่งคนเหล่านี้เองที่เปลี่ยนบ้านเปลี่ยนแผ่นดิน ประกอบการหนัก ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่นิ่ง ได้เสีย ถือสิทธิแล้วลุยไปข้างหน้า แล้วเขาฝักตัวอยู่ในเมือง แล้วเอาธุระ ตัวอย่างเมือง Augsburg เมื่อ 500 กว่าปีก่อนที่เยอรมันนี แล้วเขาก็เขาธุระ มีสภาเมืองดูแลตัวเอง แล้วเขาก็ทำมาหากิน ได้เสียกันที่นี้ ตรงนี้เองถึงมีคำว่า “พลเมือง : Citizen” ฝรั่งเศสเรียกว่า Buerer เยอรมัน : Bourgeoise คนที่อยู่เมือง คนไทยเอามาใช้ว่า พลเมือง อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ท่านว่าน่าจะใช้ บุรีชน พูดง่ายว่ามันเป็นคำเฉพาะในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเขาซึ่งเกิดคนแบบนั้นขึ้น งั้นเราเรียกพลเมือง แต่มันไม่ได้เข้าไปในจิตใจ ขนเราไม่ลุก บ้านเมืองเขาเป็นอย่างนั้น แม้แต่ตอนนี้ในเมืองของฝรั่งจิตวิญญาณยังคงอยู่ เขายังประชุมเมืองกันอยู่ คนสงขลาที่ออกมาทำเรื่องหาด เขาไม่ใช่ฝรั่ง แต่เขามีจิตวิญญาณที่คิดว่าบ้านเมืองเรื่องของเรา หาดเป็นธุระของคนอยู่เมืองด้วย 

ผมไม่ได้ต้องการวิชาการ แต่ต้องการตั้งหลักคิด !!

Juergen Habermas พยายามมองการอยู่ร่วมกันว่ามี 4 ปริมณฑล คือ 1.ภาครัฐ 2.ภาคเศรษฐกิจ 3.ปัจเจก 4.สาธารณะ ภาครัฐ ไม่ใช่แค่ กรุงเทพ แต่มี อบต อบจ ด้วย ส่วนกลุ่ม องค์กร ที่ทำงานสาธารณะ มีภาคเศรษฐกิจที่ทำมาหากิน ตอนนี้คนสงขลาก็ออกมาทำงานภาคสาธารณะ แต่พอกลับไปบ้านก็พูดเรื่องส่วนตัวต่อ เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนไหลไปมา ร่วมกัน ช่วยงานกัน คุยกันมันได้ทั้งสิ้น อันนี้ทำเลยนะครับ ชาวบ้านทำเลย แล้วร่วมมือทำกับเทศบาล เพราะฉะนั้นบ้านเราจมอยู่กับการปกครอง และไม่เห็นด้วย แต่ที่ทำเพราะมันเป็นธุระของเรา ที่เรามาพบกันนี้ไม่ใช่เราจะไปเอาเรื่องกับใคร แต่เรามีสิทธิที่จะทำบ้านทำเมือง คิดให้มันแม่นๆ สร้างความสุขได้ในที่สุด หาดสงขลานี้เรื่องเดียวกัน 

4 ปริมณฑลชีวิตในสังคมสมัยใหม่

ปริมณฑล ทั้ง 4 เคลื่อนไหว ลื่นไหลหากันได้มีหลายเรื่องที่รัฐและพลเมืองทำมากทำน้อยต่างกัน หรือร่วมกันทำ ตอนนี้เราทำเรื่องสภาพแวดล้อม เรื่องหาดสงขลา ตอนนี้เราทำอะไรได้เยอะพอสมควร เราจะทำหนังสือทำหลักสูตรเรื่องหาดทราย เรื่องสิ่งแวดล้อมให้ลูกหลานเราเรียนและอีกหลายเรื่อง เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องค้าน ดูดีๆนะครับ ผมว่าสงขลาเรากำลังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่เอาธุระกันเต็มที่เลยในวันนี้ วันนี้ตอนนี้เรามีความสัมพันธ์ระดับเมือง เรามีเทศบาล กลไกภาครัฐ มีผู้ประกอบการ นักวิชาการ นักวิชาชีพ และพลเมืองสงขลา ที่จะพาบ้านพาเมืองไปในวันนี้ ความคิดเหล่านี้เราเอามาผูกรวมกัน นี่คือความเคลื่อนไหวของพลเมืองในสงขลาที่เอาธุระ ออกมาจัดการพบกับภาครัฐ ไม่ใช่เพื่อจะค้านกัน แต่เพื่อจะพาไปสู่ความสุขร่วมกันให้ได้ 

อีกประเด็นหนึ่งคือ ความสลับซับซ้อน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมทรัพยากร วัฒนธรรม และกายภาพ หาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ก็เจอทุกเรื่องเหมือนกัน ทุกมิติทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกัน ที่กลุ่ม Beach for life พากันไตร่ตรองว่าจะใช้อะไรหลายๆอย่าง ใช้ที่ดิน สิ่งแวดล้อม อื่นๆ เอามาซ้อนกันแล้วจัดการกันหลายๆเรื่อง และทำมาแล้ว ทุกวันนี้เราเจอความซับซ้อนที่กลุ่ม Beach for life พบกับความซับซ้อนของหาดสมิหลา เขาไตร่ตรองถึงการใช้ต่างๆ แล้วพยายามจะแชร์ ผมอยากยกตัวอย่างที่บาหลี ประเทศอินโดนีเชีย ที่นั่นเขาแบ่งกันใช้หาด ที่สำคัญคือเขาแบ่งแม้กระทั่งให้เต่า ให้ป่าสน ให้นก ให้กล้วยไม้อยู่ด้วย ไม่ใช่แบ่งให้เฉพาะคน ถ้าแบ่งกว้างพอมันกระจายไปทุกอย่าง 

คำถามคือ แล้วไง ? ในที่ประชุมวันนี้ เราต้องเอา 3 อย่าง คือ การบริหาร การมีส่วนร่วม และความซับซ้อน ออกมาเป็นงาน The World Beach Day แลเล แลหาด ครั้งที่ 8 มันพร้อมแล้ว วันนี้ผมเข้าใจว่า มีเทศบาล มีนักการเมือง มีเจ้าหน้าที่ มีนักวิชาการที่มีความรู้ มีพลเมืองสงขลา นี่คือการบริหารจัดการ และการมีส่วนร่วม ส่วนความซับซ้อน คือ แผนที่การใช้ประโยชน์หาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ที่ทำออกมา ผมพูดมาเนิ่นนานเพื่อให้เราตั้งหลักให้ได้ เรากำลังพบกับ 3 เรื่องนี้ แล้วเราจะหลอมกันอย่างไร ลบภูมิประเทศบนจิตใจเสียก่อน ว่านี่ไม่ใช่เรื่องการคัดค้าน แต่คือเรื่องที่เราต้องหลอมกัน มาทำร่วมกัน เรามี 3 เรื่องที่ละลาย ที่เอาหลอมกันให้ได้ ได้โปรดเข้าใจว่าเรากำลังทำเรื่องใหม่ และต้องลบความคิดเก่าๆให้ได้ อันนี้สำคัญนะไม่งั้นไปยาก ถ้าหลอมกันได้มันจะมาช่วยกัน ไม่ใช่มาตั้งป้อมเสียก่อน ถ้าละลายป้อมได้คนจากหลายหลากจะเข้ามาเอง เรื่องสำคัญที่ผมกำลังจุดประกายคือ ล้างความคิดเดิมๆให้ได้ ไม่ใช่เรื่องค้าน เป็นสิทธิ เป็นชีวิตใกล้ตัว เป็นเรื่องน่ารัก ถ้าคิดอย่างนี้ได้จะไปไกลมาก ช่วยกันเถอะครับ !! 

ทิ้งท้าย เราได้ทำ เราได้ชิม การลุกขึ้นมาเอาธุระพลเมืองของแท้ไปแล้ว ท่านทำไปแล้ว ที่ฝรั่งบอกว่าคนอยู่เมืองลุกขึ้นมาเอาธุระ อย่าลืม..คำว่าชุมชน..มาจากคำว่า..COMMUNITY คือเรื่องการมีส่วนกลาง หรือส่วนร่วม การที่ศาลปกครองเขายอมรับชุมชนที่นี่ใช่ เพราะเรื่องนี้ได้พิสูจน์ต่อสาธารณะให้เห็นแล้วมายุ่งกับเรื่องส่วนรวมจริงๆ เรากำลังพูดถึงการก่อตัวที่มีคุณภาพ เราไม่คุ้นชินกับเรื่องนี้ พอใครลุกขึ้นมาก่อตัวไม่เห็นด้วยกับรัฐ กลายเป็นคู่อริของทางการ คือ คนไทยเราไปติดว่าเราต้องเป็นผู้รับฟัง ต้องทำตาม พอใครยกมือขึ้นก็กลายเป็นค้าน แท้ที่จริงแล้วเรากำลังไปสู่อนาคตไปสู่บ้านเมืองเขา ผมถามเพื่อนในต่างประเทศว่า NGO มีไหม เพื่อนบอกมีกว่าสองแสนกว่าองค์กร เทศบาลเขาทำงานร่วมกับ NGO สารพัดเลย ไม่ใช่เรื่องค้านกันที่ไหนเลย ในอนาคตจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ สงขลาก็ต้องมี ถ้าเราล้างสวะคิด สวะใจได้ แล้วมีงานส่วนรวมที่ทำมาแล้ว ซึ่งผู้ที่จะขับเคลื่อนงานส่วนรวมงานของสงขลากับพลเมืองสงขลา มาช่วยกันทำเลย ไม่มีด่านอะไรเลย คิดแบบนี้สิ ไปลื่นเลย แต่ถ้าต่างคนต่างทำ ทิ้งภาคการจัดการไว้ มันไปไม่ได้ เราต้องทิ้งอคติเดิมๆไว้ นี้ผมเชียร์เต็มทีเลยนะครับ 

เราไม่ได้เริ่มจากการจะค้านใคร..!!

ยกที่หนึ่ง ปี 2555…เกิดวิกฤติกับหาดสมิหลาของเราขึ้นต่อหน้าต่อตา COMMUNITY BY CRISISออกมาอย่างจริงใจ เอาธุระ อยากแก้ไข เข้าศึกษาทำความเข้าใจ ใช้วิชาการมีเหตุมีผล ลงสนามสร้างฐานข้อมูล สร้างเราที่เอาธุระ เกิดการเห็นต่างกับผู้ว่าในการใช้งบสาธารณะแก้ปัญหาสาธารณะนี้ ชุมชนพลเมืองกับทางการยังมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะเหมือนกัน

สังคมไทยเราจิตสำนึกถูกกักขัง ชินที่จะเป็นราษฎรที่ถูกทำให้และต้องเชื่อฟัง ทางการชินที่จะทำให้และสั่งการ การลุกขึ้นมาเอาธุระบ้านเมืองของชุมชนพลเมืองจึงยากจะเข้าใจ การก่อตัวสร้างกลุ่มขยายพวกขึ้นมาด้วยการร่วมกันทำความเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงและจริงใจทำให้เกิด “ชุมชน” ที่ทรงสิทธิ์ พิสูจน์ได้ ศาลปกครองยอมรับ ไม่ใช่อยู่ดีๆยกมือ มันต้องนัว เกาะติด การมีเรื่องเกิดการเอาธุระของชุมชนพลเมืองด้วยเรื่องที่สร้างสรรค์ในระดับเมืองระดับท้องถิ่นใกล้ตัว ด้วยกระบวนการเช่นนี้ พาให้เกิดการบูรณาการของผู้คน องค์กรและความรู้ได้จริงๆ ทำกันให้จริง การลงมือทำจริง ประสบการณ์จริงมันเปลี่ยนแววตาคน มันเปลี่ยนความสัมพันธ์ เรื่องที่ Beach for life ทำออกมาเป็นผังการใช้ประโยชน์หาด(Beach Zoning) คิดคนเดียวไม่ได้ เทศบาลทำก็ทำไม่ได้ พวกเราทำให้ตายก็ทำให้เป็นจริงไม่ได้ ต้องมาร่วมกันทำ ทำให้โลกเขาเห็น เรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นเรื่องยกที่หนึ่ง 

ยกที่สอง น่าสนใจว่า คราวนี้ฝ่ายชุมชนพลเมืองพากันมุมานะ ใช้กระบวนการระดมสมองระดมความคิดชั่งตรอง เพื่อจะเข้ากำหนดการเข้าใช้ประโยชน์ทรัพยากรสาธารณะของเขาร่วมกันแล้ว ภาคทางการทั้งหลายจะคิดและรู้สึกอย่างไร จะมีปฏิกิริยาอย่างไร นี่เป็นสิทธิ์ เป็นเรื่องไม่มีพิษมีภัย เป็นเรื่องสร้างสรรค์ มุ่งหวังทำเพื่อความสุขอันยั่งยืนของชาวบ้านชาวเมืองเขาเอง มนุษย์ด้วยกันที่เป็นคนทางการจะเข้ามาร่วมกันทำให้เป็นจริงกับภาคพลเมืองหรือไม่ หรือยังจะผูกขาดให้ต้องถูกทำให้ตลอดไป โลก บ้านเมืองทุกวันนี้ไปไกลและสลับซับซ้อน คุณพ่อรัฐ ที่ทำได้ทุกอย่าง ทำถูกทุกอย่าง ทำได้หรือ เห็นแล้วนะครับว่า ภาครัฐก็ทำให้ละเอียดไม่ได้ ประชาชนคิดก็ทำให้เป็นจริงไม่ได้ ต้องร่วมกันทำ ต้องเปลี่ยนความคิด

บ้านเราทันสมัย แต่ความเป็น(To be)มันไม่ทัน ต้องการการจัดการ ต้องการความคิด แต่เสาอากาศมันไม่ให้กัน ตอนนี้เรากำลังเรียนรู้ที่จะลดช่องว่าง เราต้องร่วมกันทำ ไปให้ทันกัน ผมเห็นบ้านเราไม่มีสาธารณะเลย ต่างคนต่างอยู่ เรื่องของส่วนรวมเน่าเละ สงขลามีโอกาสที่จะนิ่ง แล้วทำอะไรร่วมกัน เอาใจช่วยจริงๆว่า ไปให้ได้สาธารณะที่เอาธุระ แล้วร่วมกันเดินในนามของพวกเรา เพื่อชีวิตสมัยใหม่ที่กำลังมาถึง 

บันทึกโดย

นายอภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงาน Beach for life

งาน The World beach Day เเลเล เเลหาด ครั้งที่ 8 วันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ณ โรงเเรมวีว่า จังหวัดสงขลา

จัดโดยกลุ่ม Beach for life สงขลาฟอรั่ม เเละคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนโดย โครงการ SparkU ปลุกใจเมือง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส) เเละสถาบันสื่อเด็กเเละเยาวชน 

Published by Beach for life

บรรณาธิการกลุ่ม Beach for life

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s