เสวนา “ทางออก การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งระดับนโยบาย” ในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเสวนามาจากหลายฝ่ายด้วยกัน ได้แก่ หน่วยงานราชการที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ผู้แทนจากกรมเจ้าท่า และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งฯ จากพรรคก้าวไกล ฝ่ายต่อมาจากตัวแทนชุมชนชายฝั่งต่างๆในจังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ และฝ่ายสุดท้ายโดยผู้นำเสนอสถานการณ์และปัญหาเชิงนโยบาย โดยอาจารย์สมปรารถนา ฤทธ์พริ้ง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ คุณอภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach for life และทนายส.รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ที่จะร่วมเสวนาและร่วมกันนำเสนอข้อมูลหรือการหาทางออกร่วมกัน
ก็จะเริ่มเข้าสู่การนำเสนอโดยอาจารย์สมปรารถนา ฤทธ์พริ้ง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ถึงสถานการณ์และปัญหาเชิงนโยบายว่าจะมีประเด็นเกี่ยวกับการกัดเซาะชายฝั่งเรื่องอะไรบ้าง

อาจารย์สมปรารถนา ฤทธ์พริ้ง : วันนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับ 5 ประเด็น “การกัดเซาะชายฝั่ง” ปัญหาและประเด็นชวนคิดประเด็นปัญหาที่พัวพันทำให้มีงบประมาณแผ่นดินกว่า 1,700 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งที่แก้ไปแบบเรื่อยๆ เพราะโครงสร้างที่ทำไว้ก่อนส่งผลให้เกิดการกัดเซาะเป็นบาดแผลต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นเราควรจะปักหมุดการแก้ไขปัญหาเสียใหม่จะได้ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณตั้ง 1,700 ล้านไปเพื่อปิดบาดแผลไปเรื่อยๆ
ประเด็นแรก การมีเขื่อนกันทรายปากร่องน้ำหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เจ็ตตี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะดวกในการเดินเรือเข้าออกปากร่องน้ำได้สะดวก โดยวิธีการแก้ปัญหาของกรมเจ้าท่าคือการสร้างเขื่อน ป้องกันทรายปากร่องน้ำ แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือ จากกรณีตัวอย่างปากร่องน้ำสะกอม กลายเป็นว่าฝั่งหน้าเขื่อนเกิดตะกอนทรายทับถมเป็นจำนวนมากในขณะที่อีกฝั่งถูกกัดเซาะจนเว้าแหว่ง ทำให้หน่วยงานก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะขึ้นมา หรือที่ปากร่องน้ำเทพา ก็จะพบตะกอนของทรายที่ทับถมและมีการกัดเซาะเช่นเดียวกับลักษณะที่ปากร่องน้ำสะกอม หรือจะเป็นที่ปากน้ำพนัง ก็ทำให้เห็นการกัดเซาะแบบ Domino ไปเรื่อยๆที่ปลายสุดกำแพงเสมอ
จากการแก้ปัญหาโดยการก่อสร้างโครงสร้างการกัดเซาะ เราได้เห็นว่างบประมาณถูกใช้ไปมาก ดังนั้นเราควรจะหาวิธีการถ่ายเททรายตะกอนทรายไปอีกฝั่งหนึ่งอาจจะลดปัญหาได้มากกว่า โดยการถ่ายตะกอนทรายจากฝั่งที่มีมากเกินความจำเป็นมายังอีกฝั่งที่ไม่มีตะกอนทรายข้ามปากร่องน้ำแทนที่จะเอาตะกอนจากตรงนั้นไปเททิ้งในทะเล เราก็จะได้ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณไปกับการขนย้ายทรายลงทะเลและก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เราควรจะมีการศึกษานโยบายที่เป็นทางเลือกอื่น ให้มีการพูดคุยกันอย่างจริงจังจากทุกๆหน่วยงานกันได้แล้ว
ประเด็นที่สอง การกัดเซาะชั่วคราวกับชั่วโคตรแตกต่างกันอย่างไร การกัดเซาะชั่วคราวคือ การที่ ชายหาดถูกกัดเซาะในเวลาหนึ่งและต่อมาชายหาดนั้นกลับคืน รูปแบบของการแก้ปัญหาแบบชั่วคราว ได้แก่ รอดักทราย เอาไม้ปัก วางกระสอบ เป็นต้น มักจะพบเห็นได้ตามฤดูกาล หรือเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น พายุปลาบึก เป็นต้น แต่เมื่อหมดหน้ามรสุมไปทรายก็จะกลับมาเป็นดังเดิม
การกัดเซาะแบบชั่วโคตรคือ การสร้างกำแพงกันคลื่น เพราะการสร้างกำแพงกันคลื่นจะเป็นโครงสร้างแข็งที่อยู่ตลอดไป การมีกำแพงกันคลื่นทำให้ทรายไม่กลับมา รูปแบบชั่วโคตรได้แก่ การทำกำแพงกันคลื่นหรือ Sea wall เป็นต้น เพราะผลกระทบจากกำแพงกันคลื่นทำให้การปกป้องสามารถที่จะป้องกันได้เพียงพื้นที่ข้างในเท่านั้น ในขณะที่พื้นที่ถัดไปหรือปลายสุดของกำแพงถูกกัดเซาะ เช่น บริเวณโรงแรมหาดแก้ว จะเห็นได้ว่าก่อนมีการสร้างกำแพงกันคลื่นหาดทรายแก้วยังคงมีอยู่แต่ท้ายที่สุดหาดทรายแก้วก็หายไปและหน่วยงานก็ได้เข้ามาทำโครงการใหม่ โดยจะกล่าวต่อไปว่าเป็นอย่างไร
ปัญหาคือเราเห็นการกัดเซาะแบบชั่วคราวแต่เราแก้ปัญหาแบบชั่วโคตร แต่การใช้รูปแบบชั่วคราวแล้วไม่ถอนออกมันก็กลายเป็นแบบชั่วโคตร เราควรจะหาวิธีการวางโครงสร้างชั่วคราว ว่าจะวางเมื่อไหร่ ถอนออกเมื่อไหร่ ทำงานกันอย่างจริงจัง ถ้าเราปรับวิธีคิดให้เป็นกัดเซาะชั่วคราวก็ใช้วิธีแก้แบบชั่วคราว กัดเซาะแบบไหนก็หาวิธีให้เหมาะกับปัญหา แต่เพราะหน่วยงานมักจะพูดว่าเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงถาวรยั่งยืน คงทนยาวนานกว่า หากเราจะตีงบประมาณโดยประมาณอยู่ที่ 100 ล้านบาท ต่อ 1 โครงการ
ข้อเสนอแนะที่อยากจะเสนอก็คือ ผลักดันให้มีบทบัญญัติการกัดเซาะชายฝั่ง แบบชั่วคราวก็ให้ใช้มาตรการแบบชั่วคราว เช่น การวางข้อกำหนดแบบย่อโดยการใช้มาตรการแบบชั่วคราวอย่างการปักไม้ วางกระสอบ เติมทราย เป็นต้น โดยการต้องศึกษาว่าจะวางองศาเท่าไหร่ เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ ต้องรื้อถอนออกทันทีหรือไม่ ภาครัฐควรที่จะให้มีการศึกษาข้อกำหนดแบบนี้ต้องการการศึกษาอย่างจริงจังและหาแนววิธีการแก้ไขปัญหาแบบอื่นบ้าง

ประเด็นที่สาม กำหนดมาตรการระยะถอยร่นชายฝั่งทะเล ในช่วงมรสุมปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทะเลต้องการพื้นที่ในการ Exercise พลังงาน แต่มนุษย์ไปกระชับพื้นที่โดยการรุกล้ำพื้นที่ชายหาดโดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานประชิดชายฝั่ง มันก็จะทำให้เกิดการกัดเซาะเพราะคลื่นปะทะเข้ากับโครงสร้างแข็งทำให้การสะท้อนกลับของคลื่นรุนแรงกว่าเดิม เช่น การสร้างถนนที่หาดชุมพร ถนนที่หาดดวงตะวัน เป็นต้น
ดังนั้นเราควรจะมีนโยบายกำหนดระยะถอยร่น ควรจะมีกฎหมายที่ให้อำนาจว่าควรจะมีมาตรการเหมือนกันทั่วประเทศหรือไม่ เช่น หาดชลาทัศน์ในกรณีปกติ ควรจะห่าง 30 เมตรและในกรณีร้ายแรงที่สุดที่ 90 เมตร หากมันจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตหรือจากกรณีที่หาดทรายแก้ว ชิงโคที่มีโครงสร้างพื้นฐานประชิดชายฝั่ง สังเกตได้จากการลงพื้นที่สำรวจพร้อมกับ ThaiPBS เมื่อสิงหาคม 2558 จะเห็นได้ว่ายังมีศาลาประชิดชายฝั่งอยู่ ต่อมามกราคม 2559 ศาลาหายไป ต่อมามกราคม 2560 ถนนหายไป และมกราคม 2561 หน่วยงานมีโครงการก่อสร้างเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ตอนนี้เราได้คำตอบแล้วว่าหาดทรายแก้วกลายเป็นตำนาน ที่ไม่มีชายหาดอีกต่อไปแล้ว ได้ถูกแปรสภาพมาเป็นพื้นคอนกรีต มีลานจอดรถและถูกโปรโมทเรียบร้อย นั่นแปลว่า เมื่อเราอนุญาตให้มีโครงสร้างพื้นฐานประชิดชายฝั่งก็เท่ากับว่าเรายินยอมให้ชายหาดหายไปชั่วโคตร
ประเด็นที่สี่ นำกำแพงกันคลื่นกลับเข้าสู่โครงการที่ต้องทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA สาเหตุที่ถูกนำออกเพราะกรมโยธาธิการและผังเมืองบอกว่าเสียเวลา การทำรายงานดังกล่าวใช้เวลาเป็นปีๆไม่ทันต่อการทุเลาบรรเทาผลกระทบ หน่วยงานมักจะอ้างว่าไม่ทันต่อการทุเลาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ถ้าอย่างนั้นเราก็ใช้วิธีการแบบชั่วคราวสิ ทำทันที ไม่ใช้การสร้างโครงสร้างแบบชั่วโคตร เพราะสุดท้ายหลังจากที่สร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อปิดบาดแผลนิดเดียวผลกระทบที่ตามมาคือ ปลายสุดของกำแพงเกิดการกัดเซาะอีก แล้วก็สร้างอีกต่อไปเรื่อยๆ คือผลจากการไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม มันเลยสร้างง่าย ระบาดไปทั่ว
ผลกระทบของการสร้างกำแพงกันคลื่น
– ชายหาดด้านหน้าหายไป เช่น ที่ปราณบุรี ที่ประจวบคีรีขันธ์
– ทำให้พื้นที่ชายหาดถัดไปจากกำแพงกันคลื่นเกิดการกัดเซาะ เพราะเมื่อคลื่นปะทะกำแพงทำให้คลื่น เกิดการเลี้ยวเบนด้านข้างส่งผลให้ชายหาดเกิดการเว้าโค้ง เป็นการกัดเซาะแบบชั่วโคตรเพราะทรายจะไม่กลับมา เช่น จากตัวอย่างโครงการครึ่งปีหลังของปี 2563 โครงการใหญ่ๆกว่า 8 โครงการ เช่น ที่บ่ออิฐเกาะแต้ว สวนสน จ.ระยอง ชิงโค จ.สงขลา ปากน้ำแขมหนู จังหวัดจันทบุรี ปากแตระ บ่อตรุ หาดมหาราช หาดชะอำ เป็นต้น นี่คือการระบาดของกำแพงกันคลื่น ถ้าเราสามารถหยุดยั้งการระบาดของกำแพงกันคลื่นได้ก็จะลดผลกระทบได้
ประเด็นที่ห้า การก่อสร้างโครงสร้างป้องกันไปเรื่อยๆโดยใช้มาตรการอื่นเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการสร้างโครงสร้างป้องกัน เช่น ที่นาทับเกาะแต้ว จากหมุดแรกคือ การทำเขื่อนกันทรายปากร่องน้ำนาทับหลังจากนั้นมีการสร้างกำแพงกันคลื่นนอกชายฝั่ง 4 ตัว เกิดการกัดเซาะ ต่อมาสร้างกำแพงกันคลื่นเพิ่มสร้างยาว 14 ตัวเป็นระยะทางกว่า 5 กิโลเมตรเพื่อบรรเทาผลกระทบของการกัดเซาะที่ปลายสุดของกำแพงกันคลื่นตัวสุดท้ายมีรอดักทราย 3 ตัว(ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ยังเกิดการกัดเซาะอีก ต่อมาวางหินทิ้งหินเรียงตรงปลายสุดท้ายของชายหาด ก็ถูกกัดเซาะอีก ก็มีการแก้ปัญหาอีกโดยทำโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นอีกเป็นระยะทาง 3.4 กิโลเมตร งบประมาณกว่า 219 ล้านบาทจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนปี 2560 ทำให้เห็นว่าเราสร้างไปเรื่อยๆแทนที่จะหาวิธีการอื่นในการแก้ปัญหา
อีกหนึ่งกรณีที่หาดบ้านหัวหิน อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีการสร้างกำแพง 1 กิโลเมตรเพื่อป้องกันหาดที่ถูกกัดเซาะไปไม่ถึง 10 เมตร เปรียบเทียบกับการรื้อหลังคาทั้งหลังเพื่อซ่อมกระเบื้องเพียงแผ่นเดียว ถัดมากรณีปากร่องน้ำปะนาเระ มีโครงการก่อสร้างถนนและสร้างโครงสร้างป้องกันถนนพร้อมกับปรับภูมิทัศน์ ซึ่งไม่มีบ้านเรือนของประชาชนอาศัยอยู่ ด้วยระยะทาง 2.4 กม. งบประมาณกว่า 280 ล้านบาท เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานประชิดชายฝั่ง ควรที่จะต้องมีมาตรการระยะถอยร่นหรือไม่ แต่เมื่อปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงอย่างไรก็ต้องสร้าง จะทำอย่างไรได้บ้าง กรณีแรก เป็นกรณีที่ยังไม่มีโครงการแต่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต ใช้วิธีเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างกำแพงกันคลื่นให้อยู่พ้นน้ำจะทำให้การเคลื่อนตัวของกระแสน้ำ คลื่น ตะกอนน้อยลงได้ หรือปรับรูปแบบที่ปลายกำแพงให้ค่อยๆเล็กลง หรือปรับความลาดชันหน้ากำแพงกันคลื่นให้คล้ายคลึงกับชายหาดธรรมชาติให้ใกล้เคียงมากที่สุด กรณีที่สอง ในกรณีที่ไม่สร้างโครงสร้างทางวิศวกรรม ใช้วิธีกำหนดระยะถอยร่นหรือปรับพื้นที่ให้ใช้สอยให้เหมาะสมกับสภาพที่เปลี่ยนไป อย่างในต่างประเทศพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะจนเป็นเว้าแหว่งก็ปรับเป็นลากูน เป็นต้น แต่หากมีผลกระทบต่อโครงสร้างของเอกชน จะมีการเวนคืนได้หรือไม่ ย้ายถนนให้ห่างจากชายฝั่งหรือทำเป็นสะพานข้ามแทนได้หรือไม่ เป็นต้น
งบประมาณปี 2564 เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจาก 3 กลุ่มหน่วยงานหลักๆ คือ กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นงบประมาณกว่า 1,700 ล้านบาท

สรุปประเด็นหลักๆจาก 5 ประเด็นได้เป็น 2 ประเด็น ดังนี้
– มาตรการ ที่เหมาะสมกับปัญหานั้นๆ มีความจำเป็นหรือไม่จำเป็นเพียงใด
– กระบวนการ การรับฟังความคิดเห็น
ถ้าเราปักหมุดการแก้ไขปัญหาเสียใหม่ เราจะไม่ใช้วิธีการเดิมๆสร้างไปเรื่อยๆ เราต้องให้ความสำคัญกับการยั่งยืนของธรรมชาติ ไม่ใช่โครงสร้างพื้นฐาน เราอยากให้ลูกหลานได้เห็นหาดทรายในสมุดภาพหรือหาดทรายของจริง ต้องเลือกเอา
คุณอภิศักดิ์ ทัศนี : ในส่วนของกลุ่ม Beach for life ต่อไปจะเป็นประเด็นต่อเนื่องจากของอาจารย์สมปรารถนา โดยประเด็นที่จะนำเสนอเป็นปัญหาโครงสร้างและการดำเนินนโยบายของภาครัฐต่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งใน
ประเด็นแรก การเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทํารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA นำมาซึ่งการระบาดของกำแพงกันคลื่น จากการรวบรวมข้อมูลโดยกลุ่ม Beach for life ทำให้ได้ข้อมูลโครงการที่มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจากเว็บไซต์ประกาศการจัดซื้อจัดจ้างของกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่าตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2562 พบว่ามีโครงการกว่า 74 โครงการ ระยะทางรวม 34.875 กิโลเมตร งบประมาณกว่า 6,967 ล้านบาท และทางกลุ่ม Beach for life ยังมีการเชิญชวนกลุ่มประชาชนที่เป็นเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศในการปักหมุดบริเวณที่มีกำแพงกันคลื่นลงบน Application ชื่อว่า C-Site ร่วมกันกับ ThaiPBS พบว่าตั้งแต่จังหวัดจันทบุรีจนถึงจังหวัดนราธิวาสมีกำแพงกันขึ้นอยู่มาก สะท้อนให้เห็นการระบาดได้อย่างเด่นชัด เช่น ที่หาดชุมพรเป็นกำแพงแนวดิ่ง เป็นต้น ซึ่ง Beach for life และเครือข่ายเราเรียกร้องให้มีการทบทวนนำเอากำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า EIA นั้นคือหลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเป็นกระบวนการที่ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการของรัฐ เกิดความรอบครอบ และมีประสิทธิภาพ เมื่อโครงการประเภทกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA ก็หมายความว่า โครงการเหล่านี้อาจไม่มีความรอบครอบเพียงพอ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการไม่ได้รับรู้ รับทราบข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา
ประเด็นของกำแพงกันคลื่นเมื่อมีการถอดออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA จะเห็นได้ว่า ตัวเลข 74 โครงการ ที่เกิดขึ้นนั้น คือ อาการกำแพงกันคลื่นระบาดบนหาดทรายของประเทศไทย และเรามีโอกาสที่จะสูญเสียชายหาด หรือหาดถูกทำลายจากกำแพงกันคลื่น

ประเด็นที่สอง การขาดการส่งเสริมความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ประเด็นที่ 2 นี้สำคัญอย่างยิ่งเพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกพื้นที่ชายฝั่งทะเลมีประชาชน ชุมชนอาศัยอยู่ และพวกเขาเหล่านั้นอาศัย ใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากรเพื่อให้พวกเขามีความรู้ในการจัดการ ใช้ประโยชน์บำรุงรักษาทรัพยากรจึงจำเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิชุมชน เพื่อให้พวกเขามีพลังในการปกป้องทรัพยากรของตนเอง
ประเด็นที่สาม การกำหนดมาตรการป้องกันชายฝั่งที่ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม แยกเป็นประเด็นได้ดังนี้
3.1 จะเห็นได้จากหลายๆพื้นที่ โดยทั่วไปการกัดเซาะจะเป็นแบบชั่วคราวแต่เราใช้มาตรการในการแก้ปัญหาชายฝั่งแบบชั่วโคตรหรือใช้แบบชั่วคราวแต่ไม่ได้รื้อถอนออกทำให้ถูกกัดเซาะอย่างถาวรเพราะติดปัญหาว่าเป็นครุภัณฑ์ทำให้มีปัญหาในการรื้อถอน เช่น กรณีที่หาดมหาราชกัดเซาะนิดเดียวทั้งที่ซ่อมแซมถนนก็เพียงพอแต่กลับสร้างโครงสร้างใหญ่โตเพื่อป้องกันถนนทำให้เกิดผลกระทบกัดเซาะต่อไปเรื่อยๆ
3.2 มาตรการป้องกันไม่สอดคล้องกับปัญหาเช่นเดียวกันกับกรณีที่หาดมหาราชถนนถูกกัดเซาะเพียงนิดเดียวเพราะบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่น้ำจากแผ่นดินไหลลงสู่ทะเลในช่วงมรสุมหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า”วะแตก” อาจจะด้วยช่องทางระบายน้ำดังกล่าวมีขนาดเล็ก ดังนั้นวิธีการแก้ไขควรจะเป็นการขยายทางระบายน้ำมากกว่าการสร้างโครงสร้างป้องกันถนนเป็นกำแพงกันคลื่นมากกว่า
ข้อสังเกตในประเด็นนี้คือ การกำหนดมาตรการขาว เขียว เทา ของกรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง เพื่อกำหนดความรุนแรงในการบ่งชี้ว่าพื้นที่ไหนมีความจำเป็นมากน้อยอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแต่ เราจะพบปัญหา เช่น ที่หาดม่วงงาม ทั้งที่หาดไม่ได้กัดเซาะอย่างรุนแรงแต่ก็ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเทาทำให้มีการสร้างกำแพงกันคลื่น เป็นต้น ซึ่งมันควรถูกตรวจสอบมากกว่านี้หรือไม่ ในการกำหนดมาตรการดังกล่าว
ประเด็นที่สี่ โครงสร้างอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่ทับซ้อนกันไม่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและไม่มีความเป็นเอกภาพ จะเห็นได้ว่าปัญหาคือมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องชายฝั่งอยู่หลายหน่วยงานมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นกรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหากเป็นกรณีที่ถนนอยู่ติดกับชายหาดก็จะมีกรมทางบกหรือแม้แต่ส่วนท้องถิ่นที่เข้ามามีหน้าที่รับผิดชอบด้วย ทำให้ในพื้นที่ที่ นึงมีโครงสร้างซ้อนทับจากหลายหน่วยงานกันอยู่ เช่น ที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ มีการวางไส้กรอกทรายของกรมเจ้าท่า มีกำแพงไม้ไผ่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และมีกำแพงหินของกรมโยธาธิการและผังเมืองและกำแพงหินของส่วนท้องถิ่นด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้สะท้อนการซ้อนทับกันของหน่วยงานและการขาดการบูรณาการร่วมกัน ทำให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดิน และเกิดค่าเสียโอกาสในการนำงบประมาณมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น
ในประเด็นนี้ถึงแม้จะมีการออกกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในปี 2558 ซึ่งระบุเจตนารมณ์ของกฎหมายในตอนท้ายว่า เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ เกิดการบูรณาการในการจัดการ บำรุงรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงตรากฎหมายนี้มา จนถึงตอนนี้ในหลายพื้นที่เรายังเห็นความซ้อนทับกันของหน่วยงานต่างๆในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งวันนี้หน่วยงานที่ถือกฎหมายนี้ คือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาร่วมเสวนาด้วย จะได้ให้ข้อมูลว่าปัญหาเหล่านี้ยังเกิดขึ้นอยู่หรือไม่ หรือมีกลไกอะไรในการจัดการปัญหาเหล่านี้
ประเด็นที่ห้า การไม่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ประชาชน ชุมชน ได้มีส่วนร่วมตัดสินใจอย่างแท้จริง เช่น กรณีหาดม่วงงาม หาดมหาราช เป็นต้น ทั้งๆที่การกัดเซาะควรจะเป็นเรื่องของท้องถิ่น กลับกลายเป็นว่าการตัดสินใจต่างๆที่จะมีหรือไม่มีโครงสร้างป้องกันอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้ไม่เกิดความรู้สึกยึดโยงกับประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆอย่างแท้จริงและไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ปัญหาคือ เมื่อไม่เกิดความยึดโยงกันทำให้เขาไม่รู้ปัญหาที่เเท้จริง ไม่เข้าใจความต้องการอย่างเเท้จริง เเละเราให้คุณให้โทษไม่ได้ เเละเมื่อมีปัญหาเช่นไม่เห็นด้วยกับโครงการ เมื่อเป็นโครงการจากส่วนกลางประชาชนต้องไป กรุงเทพ เพื่อให้ยกเลิกโครงการ ซึ่งมันกลายเป็นภาระเเละต้อนทุนของประชาชนที่ต้องเสียไปเพื่อปกป้องทรัพยากร หากเป็นรัฐท้องถิ่นที่มีอำนาจเขาจะเห็นกัน คุยกันได้ง่ายขึ้น เเละตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างจรงจุด จะเป็นอย่างไรหากเกิดการกระจายอำนาจให้เป็นการตัดสินใจของท้องถิ่นที่สามารถจะจัดสรรกันเองจะเกิดประโยชน์มากกว่านั้นหรือไม่ ? ซึ่งโจทย์ในเรื่องนี้อาจไม่สามารถเเก้ไขได้ในเวทีนี้ เเต่การทำให้กติกาของสังคม นั้นคือ รัฐธรรมนูญ มีการกระจายอำนาจให้เเก่ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกับประชาชน การให้อำนาจกับประชาชนในการมีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษาทรัพยากรมากขึ้น น่าจะเป็นภารกิจต่อไปในอนาคต ในการทำให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นสู่ประชาชน ไม่ใช่การกระจุกอำนาจไว้กับรัฐราชการส่วนกลาง
และในลำดับต่อไปก็จะเป็นประเด็นทางกฎหมายโดยคุณ ส.รัตนมณี พลกล้า จากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า : ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง มีทั้งทางเทคนิคและทางกฎหมายโดยจะยกตัวอย่าง สรุปให้เห็นจากคดีที่ทางมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนได้ทำมา 5 คดีเช่น โครงการที่ 1 หาดคลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะของโครงการจะเป็นการสร้างกำแพงกันคลื่นและส่วนของสวนสาธารณะด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยวัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นไปเพื่อป้องกันชายฝั่ง แต่เป็นไปเพื่อป้องกันประชาชนที่ไปบุกรุกชายฝั่ง โครงการที่ 2 หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา โครงการมีลักษณะของการทำเป็นรอดักทรายโดยวางเสาคอนกรีตลงไปในทะเลซึ่งลักษณะนี้จะต้องทำรายผลกระทบ EIA เพราะเป็นโครงสร้างที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้แต่ถูกบิดเบือนว่าเป็นโครงสร้างที่สามารถย้ายได้ แต่ต้องใช้เครื่องจักขนาดใหญ่ อย่างเครนในการยกเพื่อเคลื่อนย้าย โครงการที่ 3 หาดอ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยความเป็นจริงหาดดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นหาดสมดุล คือ ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งนั่นเอง แต่ด้วยทางใต้มีท่าเรือและมีกำแพงอยู่ด้วย ทำให้กรมเจ้าท่าเข้ามาสานต่อโครงการโดยมีลักษณะเป็นถนนตลอดทั้งแนวชายฝั่ง ในคดีนี้ศาลตัดสินให้ทำต่อไปได้ แต่เป็นไปตามกฎหมายที่ดินเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่สาธารณประโยชน์ โครงการที่ 4 หาดม่วงงามสงขลา เป็นพื้นที่ไม่มีการกัดเซาะเช่นกัน แต่มีความพยายามที่จะสร้างให้มีโครงการดังกล่าวขึ้นมา นับว่าโชคดีที่ในพื้นที่นี้ยังไม่มีการก่อสร้างใดๆและศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวออกมาโดยให้เหตุผลว่า ประโยชน์ที่ได้จากการสร้างกำแพงกันคลื่นในทางวิชาการนั้นยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่ากำแพงกันคลื่นสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ โครงการที่ 5 หาดมหาราช จ.สงขลา มีการก่อสร้างไปแล้วบ้างและยังไม่มีคำสั่งของศาลใดๆออกมาในเวลานี้

คราวนี้จะพูดถึง สิทธิของประชาชนหรือชุมชน มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปจัดการฟ้องคดีตามรัฐธรรมนูญในเรื่องของสิทธิชุมชนในการปกป้องชายฝั่งนั้นสามารถทำได้หรือสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะเข้าไปให้ความเห็น ตรวจสอบโครงการโดยประชาชนและสิทธิในการตัดสินใจในการดำเนินการโครงการและยังมีสิทธิตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 โดยให้อำนาจ ประชาชนมีสิทธิ์ของชุมชนชายฝั่งในการเริ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูชายฝั่งทะเล
ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินโครงการตามรัฐธรรมนูญ มีดังนี้
1 ไม่มีการเผยแพร่และชี้แจงข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนควรรู้ทั้งหมด
2 ไม่มีการจัดการรับฟังความคิดเห็นหรือมีการจัดรับฟังความคิดเห็นแต่ไม่ครอบคลุมประชาชนทุกคนในพื้นที่
3 ไม่มีการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
4 ไม่มีการดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA
นอกจากนี้ยังมี ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินโครงการตามกฎหมายอื่นๆ ดังนี้
1 ไม่มีการขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย คือหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลชายฝั่งไม่ได้ดำเนินการปฏิบัติหน้าที่แห่งตน เช่น กรมเจ้าท่าไม่ดูแลกรณีการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำลงในทะเลและชายฝั่ง อย่างที่เคยมีบางกรณีก่อนจะมีการฟ้องต่อศาล ทางมูลนิธิก็ได้ส่งหนังสือไปยังกรมเจ้าท่าเพื่อตรวจสอบ แต่ก็ได้คำตอบกลับมาว่ากรมเจ้าท่าไม่ทราบถึงรายละเอียดโครงการดังกล่าวและไม่ได้มีการจัดการอะไรต่อหรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไม่ดูแลการก่อสร้างบนชายฝั่งทะเลที่ส่งผลกระทบต่อชายทะเล ทั้งที่มีกฎหมายให้อำนาจแต่กลับไม่เคยถูกนำออกมาใช้
2 ไม่มีการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงสภาพที่สาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน อย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ดูแลที่สาธารณประโยชน์ที่ถูกทำ ให้เปลี่ยนสภาพไป
3 การไม่ปฏิบัติตามกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ข้อเรียกร้องเวลาฟ้องคดี ที่มักจะเป็นประเด็นขอให้ศาลตัดสิน คือ
– ขอให้เพิกถอนโครงการ เช่นในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นเนื่องจากไม่ใช่พื้นที่ที่กัดเซาะหรือเป็นกรณีที่มีความจำเป็นในการก่อสร้างเพื่อป้องกันการกัดเซาะ แต่การสร้างโครงสร้างแข็งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นต่อไป
– ขอให้ฟื้นฟูที่ที่มีการก่อสร้างไปแล้ว เช่น ขอให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่สร้างไปแล้วหรือขอให้ฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับมาดังเดิม
ข้อท้าทาย ที่จะต้องทำให้เกิดผลให้ต่างไปจากเดิมหรือควรพัฒนา ได้แก่
– การมีส่วนร่วมของประชาชน การได้รับข้อมูลข่าวสาร การรับฟังความเห็นประชาชน
– การวิเคราะห์ผลกระทบทางสิทธิมนุษยชน ชุมชนและสังคม เพราะบางครั้งจะกลายเป็นว่า ประชาชนไม่ต้องการ แต่หน่วยงานจะเอา เหล่านี้มักทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้นมา
– ในปัญหาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น ควรจะเป็นการวิเคราะห์แต่ละพื้นที่ ว่ามีความเหมาะสมแบบใดเป็นต้น
ดังนั้นการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งควรจะมีทั้งทางเทคนิคจากนักวิชาการเองและมีทั้งทางออกโดยบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจศาลสามารถบังคับได้อย่างชัดเจน โดยที่ศาลไม่ต้องมานั่งตีความว่าควรจะเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ควรจะศึกษาและทำให้เกิดขึ้นมันจึงมีเวทีนี้ขึ้นมาเพื่อพูดคุยหาทางออกร่วมกันจากทั้งภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ทั้งหมดนี้ คือ ประเด็นสถานการณ์ปัญหาเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชายหาดและการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งใน 3 มุมมอง ทั้งวิศวกรรม ชุมชน และกฎหมาย ซึ่งเมื่อเห็นประเด็นเช่นแล้ว คำถามคือ เราไปต่อกันอย่างไร มีอะไรที่แก้ไขไปแล้วหรือ เป็นความพยามที่เกิดขึ้นจากหน่วยงาน ภาคการเมือง และประชาชน ช่วงบ่ายชวนพูดคุยหาคำตอบกันต่อ
