หาดสะกอม ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นชายหาดที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม และเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง จำนวน 4 ตัว โดยกรมเจ้าท่า ในปี 2541 ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงบริเวณจุดสิ้นสุดของการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกจากฝั่ง จนทำให้ที่ดินของรีสอร์ทบริเวณนั้นได้รับความเสียหาย และเกิดการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา ในปี 2551
หลังจากการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครอง สภาพชายหาดบริเวณนั้นยังคงเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง อันเป็นผลจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำและเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในปี 2558-2559 กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนการกัดเซาะชายฝั่งทะเล บริเวณหาดสะกอม โดยใช้ชื่อโครงการงานซ่อมบำรุงรักษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณหาดสะกอม ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ดังภาพที่ 1

เมื่อพิจารณาลักษณะโครงการนั้น เป็นการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล หรือ กำแพงกันคลื่น ลักษณะการเรียงหินใหญ่รูปตัว L ความยาวประมาณ 500 เมตร ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ มีข้อสังเกตและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชายหาดและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ดังนี้
1. การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนการกัดเซาะชายฝั่งทะเล บริเวณหาดสะกอม โดยใช้ชื่อโครงการงานซ่อมบำรุงรักษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณหาดสะกอม ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่านั้น ไม่ใช่โครงการซ่อมบำรุงเขื่อนป้องกันตลิ่ง แต่เป็นการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นใหม่ ในพื้นที่ชายหาดซึ่งเดิมไม่มีกำแพงกันคลื่นหรือโครงสร้างป้องกันชายฝั่งแต่อย่างใด การดำเนินโครงการนี้ ถือเป็นงานก่อสร้างใหม่ทั้งหมด ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการซ่อมแซม บำรุงรักษาเขื่อนตามชื่อโครงการที่กรมเจ้าท่ากล่าวอ้างเพื่อดำเนินโครงการแต่อย่างใด โดยสังเกตจากภาพที่ 2 และ 3


2. งานซ่อมบำรุงรักษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณหาดสะกอม ตำบลสะกอม ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นใหม่ทั้งหมดบนพื้นที่ชายหาดสะกอมนั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งในบริเวณด้านท้ายน้ำของโครงการ จากภาพถ่ายดาวเทียมในปี 2013 , 2015 , 2017 และ 2020 พบว่า ปี 2013 ถึง ปี2015 (ภาพที 4-5) ซึ่งเป็นเป็นปีที่ยังไม่มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบนว่าเส้นชายฝั่งนั้นอยู่ในแนวเดียวกัน(เส้นสีแดง) ซึ่งสะท้อนว่าชายหาดบริเวณนี้ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากโครงสร้างบริเวณปากร่องน้ำสะกอม ภาพถ่ายดาวเทียม ปี 2017 (ภาพที่ 6) ยืนยันว่าบริเวณนี้ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพจากชายหาดกลายเป็นกำแพงกันคลื่น และทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง หากเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียมก่อนสร้างกำแพงกันคลื่น จนถึงปี 2020 (ภาพที่ 7) นั้นจะพบว่า หลังจากสร้างกำแพงกันคลื่นผ่านไปเพียง 5 ปี ชายหาดเกิดการกัดเซาะชายฝั่งลึกเข้ามาในแผ่นดินลึกสุด 50-60 เมตร และกัดเซาะชายฝั่งต่อเนื่องยาวกว่า 1 กิโลเมตร ดังภาพที่ 8 สะท้อนให้เห็นว่า การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นการทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา



3. การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้น มีลักษณะเป็นการดำเนินการก่อสร้างด้วยวิธีการเรียงหินใหญ่ ซึ่งทำให้ชายหาด กับ ทะเล ถูกตัดกระบวนการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ทำให้การไม่เกิดการแลกเปลี่ยนสาร และพรรณพืชที่พัดพามากับน้ำทะเล เพราะกำแพงกันคลื่นได้ตัดความสัมพันธ์ของหาดทราย แผ่นดิน และทะเล ไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งทำให้กระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบ และเป็นทำให้สัตว์น้ำบางชนิด เช่น กุ้งเคย หอยเสียบ ปลากระบอก จักจั่นทะเล เป็นต้น ลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เนื่องจากสัตว์น้ำบางชนิด เช่น หอยเสียบ กุ้งเคย นั้น เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของชุมชน
เมื่อพิจารณาโดยสรุปแล้วนั้น พบว่า การดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายหาดสะกอมนั้นถือเป็นโครงสร้างใหม่ที่เกิดขึ้นบนชายหาดไม่ใช่การซ่อมบำรุงโครงสร้างเดิมแต่อย่างใด นอกจากนั้นแล้วการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในพื้นที่ด้านท้ายน้ำของโครงสร้าง ซึ่งเป็นการซ้ำเติมเพิ่มปัญหาทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ถัดไป และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ในระบบนิเวศและการใช้ประโยชน์ของประชาชนริมชายหาดอีกด้วย
