Beach for life และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนร่วมกันจัดเวทีเสวนา ครั้งที่ 10 เพื่อร่วมพูดคุยในประเด็น “มุมมอง และบทวิเคราะห์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวศาลปกครองกรณี หาดม่วงงาม จ.สงขลา” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ทั้งหมด 5 ท่าน ได้แก่ ท่านแรก ทนาย ส. รัตนมณี พลกล้า จากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ท่านที่สอง อาจารย์ธีรวัฒน์ ขวัญใจ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านที่สาม คุณสุรชัย ตรงงาม จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ท่านที่สี่ คุณเปรมชนัน บำรุงวงศ์ ประชาชนผู้ฟ้องคดีหาดม่วงงาม จ.สงขลา และคุณอภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for life ทั้ง 5 ท่านจะได้พูดคุยถึงค่ำสั่งวิธีการชั่วคราวดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ศาลปกครองจะสั่งคุ้มครองชั่วคราว ดังนั้น การสั่งคุ้มครองชั่วคราวจึงมีนัยยะที่สำคัญ ซึ่งอาจชวนทุกท่านๆพูดคุยเพื่อร่วมวิเคราะห์ปรากฎการณ์ในครั้งนี้ร่วมกัน

อยากเริ่มต้นให้ ทนาย ส.รัตนมณี พลกล้า ได้พูดคุยถึงความเป็นมาของกรณีหาดม่วงงามก่อนที่จะไปถึงผู้ฟ้องคดีว่าเป็นมาอย่างไร ?
คุณ ส. รัตนมณี พลกล้า : คดีหาดม่วงงามเริ่มมาจากการที่มีโครงการที่ตำบลม่วงงาม ในพื้นที่ หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 9 ซึ่งโครงการนี้เรียกว่า “โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาด” โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง อ้างว่าทางเทศบาลตำบลม่วงงามแจ้งว่าพื้นที่บริเวณหาดม่วงงามมีการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งจะทำให้ทำลายที่ดินและทรัพย์สินของราชการ จึงได้มีการขอไปยังกรมโยธาฯเพื่อที่จะป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทำเป็นกำแพงกันคลื่นลงไปบนหาดในลักษณะเป็นอัฒจันทร์หรือขั้นบันไดจากพื้นที่ชายฝั่งลงไปบนพื้นที่หาดและปรับภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งเป็นทางราบ ตัวแทนชาวบ้านจึงรวมตัวกัน 5 คนยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา ขอให้มีคำสั่งยกเลิกโครงการ โดยชาวบ้านยกเหตุผล ดังนี้
ประเด็นแรก หาดม่วงงามไม่เคยมีปัญหาการกัดเซาะ โดยได้ส่งข้อมูลยื่นต่อศาลว่าได้มีการศึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั่วประเทศไทยประกอบกับความเห็นของนักวิชาการไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง และผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง นักวิชาการที่ติดตามปัญหาของการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ได้ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่าพื้นที่ม่วงงามไม่มีการกัดเซาะ ประเด็นที่สอง ความเหมาะสมของวิธีการแก้ไขปัญหา เพราะโครงการกำแพงกันคลื่นจะส่งผลกระทบที่ร้ายแรงในตอนเหนือแบบโดมิโนไปเรื่อยๆ และกรณีมีตัวอย่างให้เห็นเป็นประจักษ์ในหลายๆพื้นที่ เช่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีการสร้างกำแพงกันคลื่นก็มีการกัดเซาะมากขึ้นในตอนเหนือ ประเด็นที่สาม ไม่มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยชาวบ้านหมู่ที่ 7 อ้างว่าไม่เคยทราบหรือรู้มาก่อนว่าได้มีการจัดให้มีโครงการนี้ขึ้นมาอย่างที่กรมโยธาฯอ้างว่ามีการจัดประชุมการรับฟังความเห็นไปแล้วหลายครั้ง และประเด็นสุดท้าย เกี่ยวกับข้อกฎหมายอ้างอิงของการปรับสภาพพื้นที่ชายหาดจากหาดทรายให้เป็นหาดคอนกรีต ตามประมวลกฎหมายที่ดินเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่จากพื้นที่หาดให้กลายเป็นพื้นที่ถนนหรือพื้นที่ทาง รวมทั้งลักษณะของการใช้ประโยชน์ที่มีความแตกต่างกันไป จะต้องมีการขออนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงหากเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันอยู่ก็ต้องขอออกเป็นพระราชกำหนดหรือพระราชกฤษฎีกาเป็นในลักษณะมีการแลกพื้นที่ หากไม่มีเช่นนั้นก็ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ต้องขออนุญาตก่อน
หลังจากที่ได้มีการยื่นคำฟ้องเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ไปยังศาลปกครอง โดย 2 หน่วยงานที่ถูกฟ้องคือกรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะเจ้าของโครงการ และกรมเจ้าท่าในฐานะผู้ออกใบอนุญาตให้มีการก่อสร้าง เนื่องจากว่ามีข้อโต้แย้งอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของการที่จะต้องมีมติของสภาเทศบาล ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีมติดังกล่าวออกมา จึงได้มีการยื่นคำร้องขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้มีการพิจารณาคำร้องขอให้ศาลมีกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนศาลมีคำสั่ง จนกระทั่งในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ศาลปกครองสงขลา มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวออกมาโดยสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ซึ่งมีความน่าสนใจ ดังนี้
ประเด็นแรก ศาลมีความเห็นว่าพื้นที่หาดม่วงงามยังมีข้อถกเถียงตามข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าพื้นที่หาดม่วงงามไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่ง ประเด็นที่สอง ความเหมาะสมของการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น และประเด็นสุดท้าย เกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ศาลชี้ถึงประเด็นนี้ว่า ถึงแม้ว่าสำนักงานนโยบายและแผนฯได้ถอนกำแพงกันคลื่นออกจากรายการที่จะต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA แต่กรมโยธาฯเองเป็นผู้ยื่นขอให้ถอนออกโดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ในการก่อสร้างได้เร็วและเพื่อสนองตอบต่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งศาลเห็นว่าการขอถอนดังกล่าวไม่ได้มาจากเหตุผลการกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ศาลจึงสั่งชะลอโครงการดังกล่าวผ่านคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษานั่นเอง

คุณอภิศักดิ์ ทัศนี : ทนาย ส. รัตนมณีที่ได้พูดถึงความเป็นมาของคดีและคำสั่งวิธีการชั่วคราวแล้ว ในฝั่งของตัวแทนผู้ฟ้องคดี คุณเปรมชนัน บำรุงวงศ์ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชายหาดม่วงงาม อยากทราบว่า ณ วันนี้ที่ได้มีคำสั่งวิธีการชั่วคราวออกมา คนในพื้นที่ต้องการอะไรจากการฟ้องคดี ประชาชนมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง ?
คุณเปรมชนัน บำรุงวงศ์ : ความรู้สึกคือได้ผ่อนคลายขึ้นบ้างจากตลอดระยะเวลา 3 เดือน ที่พี่น้องชาวม่วงงามได้ร่วมกันคัดค้านโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม มีเวลาพักผ่อนและมีเวลาได้ศึกษาข้อมูลเพื่อไปสู้กันในชั้นศาล ถามว่าต้องการอะไรจากการฟ้องคดี เกิดจากคำถามว่า “เขามาทำอะไร? เมื่อเห็นเขาตอกเสาเข็มลงไปในทะเลก็เริ่มไปศึกษาว่าเขาทำอะไร ตรงไหน เพราะโดยปกติชีวิตประจำวันหรืออาชีพของชาวบ้านคือทำประมงริมฝั่ง มีการลากอวนปลา หรือกิจกรรมอื่นๆริมฝั่ง ริมหาดมากมาย มันทำให้เรามองไปว่าถ้าหากสิ่งนี้สร้างเสร็จหาดม่วงงามจะเป็นอย่างไร มีผลกระทบอะไรบ้าง เราก็หาข้อมูลมาอธิบายแก่พี่น้องชาวม่วงงาม เมื่อทุกคนเริ่มเข้าใจและกระบวนการมันเริ่มมาเรื่อยๆกลายเป็นว่าเมื่อชาวบ้านมีความรู้มากขึ้นว่ามีแต่ผลเสียมากกว่าก็เลยรวมกันออกมาคัดค้าน ถ้าถามว่ามันมีความจำเป็นไหมต่อหาดม่วงงามที่จะต้องมีกำแพงกันคลื่น ตอบว่าไม่จำเป็นเลย เพราะหาดมันยังไม่มีการกัดเซาะเลย แม้ช่วงปลายปี 2-3 เดือนจะเป็นหน้ามรสุม คลื่นมีขนาดใหญ่และแรงจริง แต่เมื่อหมดหน้ามรสุมทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม บางปีก็กลับมาเยอะกว่าที่เคยเห็นเพราะพี่ก็ไปทะเลเกือบทุกอาทิตย์ บางปีมันหายไปบ้างแต่ก็ไม่ถึงกับต้องมีสิ่งก่อสร้างใหญ่โตมโหฬารแบบนั้น”
คุณเปรมชนัน บำรุงวงศ์ : มีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะเริ่มแรกจะมีไม่มาก ถ้าเปรียบเป็นทหารก็เรียกได้ว่าเป็นกองกำลัง เพราะทุกคนพร้อมที่จะสู้ แต่ก็มีการคุยกันหากมีเรื่องที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นทุกคนก็ยังพร้อมที่จะคัดค้าน เพราะเราไม่อยากได้กำแพงกันคลื่น!

คุณอภิศักดิ ทัศนี : ณ ตอนนี้เข้าใจว่าโครงการที่หาดม่วงงามกำลังอยู่ในเฟส 1 แต่ฟ้องศาลทั้งเฟส 1 และเฟส 2 และตอนนี้งบประมาณกำลังผ่านสภาในเฟส 3 และเฟส 4 โดยเฟส 3 มีความยาว 950 เมตรและเฟส 4 มีความยาว 550 เมตรอยู่ที่หมู่ 9 และหมู่ที่ 7 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในขณะที่คำสั่งวิธีการชั่วคราวของศาลระงับโครงการเฟส 1 และเฟส 2 เท่านั้น แต่เราจะกลับมาคุยกับคุณเปรมชนันอีกครั้งหนึ่ง
มาต่อที่อาจารย์ธีรวัฒน์ ขวัญใจ ซึ่งในฐานะอาจารย์สอนกฎหมาย การที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฯดังกล่าวนั้นไม่ง่ายเลยที่คดีสิ่งแวดล้อมคดีหนึ่งจะได้รับการคุ้มครองชั่วคราวฯ อยากทราบว่าการที่ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวฯโดยหลักการแล้วศาลต้องพิจารณาอะไรบ้าง และคดีม่วงงามเมื่อมีคำสั่งแบบนี้แล้วทำให้มองเห็นอะไรบ้าง
อาจารย์ธีรวัฒน์ ขวัญใจ : ก่อนอื่นต้องชื่นชมพี่น้องชาวม่วงงามทั้งผู้ฟ้องคดีและผู้สนับสนุนฝ่ายต่างๆที่สามารถจะนำคดีไปสู่ศาลและสามารถที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่มีน้ำหนัก หนักแน่นเพียงพอจนถึงขนาดที่ศาลปกครองเห็นคล้อยตามออกคำสั่งในการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเพื่อสั่งชะลอการดำเนินการโครงการไว้ก่อน อย่างที่คุณอภิศักดิ์กล่าว ไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟ้องคดีที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องอาศัยหลักวิชาการที่ค่อนข้างสูงมาอธิบาย คดีหาดม่วงงามจึงอาจจะไม่ใช่คดีแรกที่เราฟ้องคดีที่เกี่ยวกับกำแพงกันคลื่นหรือโครงสร้างแข็งที่ล่วงล้ำไปในบริเวณชายหาด แต่นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่การฟ้องคดีลักษณะนี้ก่อให้เกิดความสนใจต่อสาธารณะชนอย่างมหาศาล ไม่ใช่เพียงความสนใจของนักกฎหมายหรือผู้ที่ทำงานด้านสิทธิหรือด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่รวมไปถึงสาธารณะชนทั่วไปด้วย อย่าง “#Saveม่วงงาม” ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก
ถามว่าหลักเกณฑ์ในการพิจารณาของศาลเป็นอย่างไร ทุกคดีเลยหรือไม่ที่ศาลจะสั่งให้มีการคุ้มครองชั่วคราวหรือมีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาพิพากษา การที่ศาลใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาแทรกเข้ามา เพื่อเปิดโอกาสให้ศาลสามารถดำเนินการสั่งให้ชะลอสิ่งนั้นไว้ก่อนหรือแช่แข็งไว้ก่อนให้ทุกอย่างหยุดอยู่กับที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนั้น หรือศาลอาจจะมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยกรณีของหาดม่วงงามเป็นการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว มันก็อาจแตกต่างกับอีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีนี้แต่มันจะมีบางอย่างที่เชื่อมโยงกันไป

แนวคิดเรื่องหลักการเบื้องต้นในการฟ้องคดีศาลปกครองและการที่ศาลเข้ามาแทรกแซง อย่างในกรณีหาดม่วงงามกรมโยธาธิการและผังเมืองกับกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานที่สังกัดอยู่ในราชการส่วนกลางทั้งคู่และอีกองค์กรที่จะพูดถึงคือ องค์กรตุลาการซึ่งใช้อำนาจตุลาการ ในกรณีนี้คือ ศาลปกครอง โดยอำนาจหน้าที่แล้วฝ่ายตุลาการถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ตามหลักการ Check and Balance ไม่ว่าจะสังกัดอำนาจใดก็ตามแต่สิ่งที่จะต้องเคารพคือกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญแต่ศาลจะมีอำนาจตรวจสอบได้แค่ไหน ก็จะสั่งได้เฉพาะกรณีที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น ในแนวคิดที่ว่าศาลไม่ใช่เจ้านายของฝ่ายปกครอง ประเทศที่ถือหลักการนี้อย่างเข้มข้นก็คือ ประเทศฝรั่งเศสโดยการปกครองไทยได้ตั้งตามแนวความคิดของการจัดตั้งศาลปกครองแม้จะได้รับอิทธิพลมาค่อนข้างมาก แต่แนวความคิดหลักเกณฑ์ หลักกฎหมาย ซึ่งใช้อยู่ในประเทศฝรั่งเศสนั้นได้ถูกนำมาใช้กับศาลปกครองไทยด้วย ยังรวมทั้งคำพิพากษา ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าศาลในฝรั่งเศสจะระมัดระวังอย่างมากในการที่จะเข้าไปก้าวล่วงการทำงานของฝ่ายปกครอง ตัวอย่าง หน่วยงานของรัฐกำลังทำโครงการกำแพงกันคลื่นที่หาดม่วงงามประชาชนไม่เห็นด้วยนำไปยื่นต่อศาลปกครองการปกครองจะบอกตนเองก่อนว่าฉันจะไม่เข้าไปก้าวล่วงเว้นแต่ฉันจะตรวจพบว่ามันไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือศาลจะไม่เข้าไปก้าวล่วงจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าฝ่ายปกครองกระทำผิดหรือไม่ ศาลปกครองจะต้องแน่ใจว่าถ้าสั่งระงับการทำงานของฝ่ายปกครองไปแล้วศาลปกครองจะไม่เสียหายในภายหลัง คือศาลจะต้องมีความมั่นใจพอสมควรก่อนตัดสินนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง(ยกตัวอย่างกรณีอื่น) เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับกฎและคำสั่งทางกฎหมายแล้วตัวผู้ฟ้องคดีต้องพิสูจน์ให้ศาลมั่นใจว่า “คดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง มีคำพิพากษาเถิด มีความคุ้มครองเถิด ไม่เสียหน้าแน่นอน” เพราะฉะนั้นในการฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งศาลจะสั่งให้การทุเลาบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองถือว่ายากมาก คดีไหนศาลสั่งให้คดีนั้นผู้ฟ้องคดีเหมือนเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เริ่มเกิดความมั่นใจได้แล้วเริ่มยิ้มออก แม้คำพิพากษาจะยังไม่ออกมา
แต่ว่าเรื่องที่เรากำลังพูดเกี่ยวกับม่วงงามอยู่นี้ไม่ใช่เรื่องการทุเลาบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองแต่เป็นเรื่องของการออกวิธีมาตรการการทุเลาเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวส่วนหนึ่งนำหลักการที่ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อีกส่วนหนึ่งปรากฏอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์มาใช้ เพราะฉะนั้นถ้าเทียบกันแล้วระหว่างการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองกับการออกวิธีมาตรการการทุเลาเพื่อการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยหลักการศาลควรจะใช้มาตรฐานที่ต่ำลงมานิดนึงไม่ต้องถึงขนาดการสั่งหยุดกฎหรือคำสั่งทางปกครองแต่ในทางปฏิบัติเท่าที่สังเกตมาในหลายๆคดีศาลปกครองการจะนำเอาการออกคำสั่งการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองมาใช้เป็นเบื้องหลังการออกคำสั่งการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวด้วยทำให้การออกคำสั่งของคดีปกครอง ก็ออกมาค่อนข้างยากเหมือนกัน (ถ้าเราดูตามตัวบทการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวน่าจะออกให้ไม่ยากแต่ถ้าเราดูตามวัฒนธรรมของการใช้กฎหมายของศาลที่ได้กล่าวถึงไปคือหลักการแบ่งแยกอำนาจบริหาร ตุลาการ คือหลักการ Check and Balance โดยตุลาการต้องไม่เข้าไปก้าวล่วงบริหารเกินกว่าเหตุในการออกคำสั่งชั่วคราว ซึ่งมันอาจมีอะไรที่จะพูดมากไปกว่านั้น) ผมสังเกต อันหนึ่งซึ่งมันไม่ปรากฏอยู่ในหลักเกณฑ์ทางกฎหมายและปรากฏอยู่ในคำสั่งของศาลฉบับนี้ถ้าเราจะดูเรื่องตัวคำสั่งของการกำหนดการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของคดีม่วงงามในหน้า 24 (หน้ารองสุดท้าย) จะเห็นได้ว่าจะมีเหตุผลอันหนึ่ง ซึ่งทนาย ส.รัตนมณีได้พูดแล้วคือถ้าปล่อยให้มีการสร้างหรือดำเนินโครงการต่อไปอาจจะเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชนและหาดม่วงงามซึ่งอาจไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพเดิม หลักเกณฑ์นี้ในเรื่องการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวไม่ได้กำหนดไว้แต่เป็นหลักเกณฑ์ที่ศาลจะนำมาใช้ในคดีทุเลาการบังคับตามกฏหรือคำสั่งทางปกครอง อันเป็นวิธีการชั่วคราวอีกแบบหนึ่งซึ่งมีมาตรฐานสูง เพราะฉะนั้นวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามพระราชบัญญัติศาลปกครองอาจจะมีอยู่ 2 อย่างใหญ่ๆคือ
1.การทุเลาการบังคับตามกฎระเบียบคำสั่งทางปกครองหรือ
2.การบรรเทาทุกข์ชั่วคราวซึ่ง มาตรการอาจจะแตกต่างกันชัดเจนในแง่ของการใช้จริงๆ แต่เราอาจจะเห็นว่ามันไม่แตกต่างกันมากนัก
คราวนี้ หลักเกณฑ์ที่ศาลจะนำมาใช้มีอะไรบ้างในส่วนนี้ศาลตอบไว้แล้วในหน้า 17-18 ซึ่งจะเห็นว่า ศาลบอกก่อนว่าในคดีที่ผู้ฟ้องจะขอให้ศาลออกคำสั่งเพื่อมาตรการการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวศาลก็อ้างบทกฎหมายต่างๆมาตั้งแต่มาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองศาลอ้างตัวข้อกำหนด ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดข้อ 75,77 ซึ่งโยงไปถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 254 และมาตรา 255 อันนี้อาจจะเป็นในทางกฎหมายเชิงเทคนิคสักหน่อย แต่ศาลสรุปหลักเกณฑ์เอาไว้ดังนี้ ซึ่งในการจะสั่งเพื่อกำหนดมาตรการหรือพฤติการณ์บรรเทาทุกข์ชั่วคราว ศาลจะพิจารณา 3 ประการ
1 คำฟ้องในคดีเรื่องนั้นมีมูลหรือไม่
2 มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองเอามาใช้ได้หรือไม่
3 การสั่งเรื่องนั้นจะต้องคำนึงถึงการรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและปัญหาหรืออุปสรรคเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐประกอบด้วย
จะเห็นได้ว่า ต้องครบ 3 ประการนี้ศาลจึงจะสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ส่วนในการให้เหตุผลของศาล ว่าศาลจะพิจารณาเหตุอะไรบ้าง ซึ่งจะปรากฏอยู่ในหน้า 18 จนถึงหน้าสุดท้าย โดยหลักๆแล้วเท่าที่พบ ศาลจะยกเหตุผลของผู้ฟ้องคดีขึ้นมาตั้ง แล้วก็พิจารณาข้อโต้แย้งของฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี จะทำให้เห็นว่าศาลจะนำพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงอย่างอื่นประกอบด้วย โดยตั้งแต่หน้า 21 ศาลจะยกเอาการศึกษาการวิเคราะห์ การรวบรวมข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง ในประเด็นแรก ซึ่งแน่นอนจากการศึกษาของ กรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง ผลการศึกษาการประมวลข้อมูลสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง ปี 2560 มีแนวโน้มไปในทางที่ไม่มีการกัดเซาะอย่างเป็นนัยสำคัญ ศาลก็พิจารณาไปถึงแผนมาตรการแนวทางการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งทาง ทช. กำลังดำเนินการร่างแผนตัวนี้ ก็จัดว่าหาดม่วงงามไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาจนจะต้องมีการก่อสร้าง ประเด็นที่สอง ที่ศาลยกมาก็คือความเห็นทางวิชาการของอาจารย์สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้งหรืออาจารย์เป้ จะเห็นได้ว่าในหน้า 22 เป็นเหตุผลทางวิชาการว่ากำแพงกันคลื่นจะส่งผลอย่างไร สร้างแล้วแม้ว่าจะมีทรายมาถมแต่สุดท้ายทรายนั้นจะหายไปแล้วจะก่อให้เกิดการกัดเซาะต่อไปอย่างไรและประเด็นที่สาม ที่ศาลยกมาสนับสนุน ผลการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการที่สุ่มตรวจ โดยโครงการ 36 % เป็นโครงการที่ไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ เพราะฉะนั้นเมื่อศาลเอาน้ำหนักของข้ออ้างของฝ่ายผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีเหตุผลหรือข้อเท็จจริงที่ได้มาจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาจารย์สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง หรือจาก สตง. เข้ามา สนับสนุนจึงมีน้ำหนักมากกว่าข้ออ้างของฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งศาลบอกว่าเหมือนเป็นการอ้างข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีการพิสูจน์ใดๆ
เพราะฉะนั้นหลักการใหญ่ๆที่ทำให้เห็นว่า ศาลพิจารณา ว่าเมื่อเทียบกันแล้วระหว่างข้ออ้างของผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง เห็นว่า ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีมีน้ำหนักมีเหตุผลมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนมากกว่า เพราะอย่างนั้นศาลจึงมองว่าคดีนี้จึงมีเหตุสมควรที่จะสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวได้ ส่วนความเห็นของศาลที่เป็นเนื้อหาจริงๆจะอยู่ในหน้า 24 ตั้งแต่คำว่า “ในชั้นนี้ จึง เห็นว่า การก่อสร้างเขื่อนนี้ไม่สามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่ สูญเสียงบประมาณไปโดยไม่สมเหตุสมผล อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุมชน ในลักษณะที่ไม่อาจฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมได้” อันนี้แหละที่จะเห็นได้ว่าแทรกเข้ามาไม่มีอยู่ในหลักเกณฑ์ 3 ประการที่ศาลตั้งไว้ตั้งแต่แรก แต่เป็นเหตุผลอัน หนึ่ง ซึ่งศาลไปยืมมาจากแนวคิดเรื่องการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง กล่าวโดยสรุปในความเห็นของผมในกรณีนี้ ต้องถือว่าการที่ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราและศาลมีความเห็นซึ่งค่อนข้างจะมีความมั่นใจ ทำให้เราเห็นว่าในชั้นนี้ศาลเชื่อผู้ฟ้องคดีมากกว่า เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องให้เครดิตแก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งอาจจะทำการบ้านมาอย่างหนัก และทางทีมงาน ที่มีส่วนช่วยในทางกฎหมาย ขอแสดงความชื่นชมพี่ ส. รัตนมณี แล้วก็นักวิชาการซึ่งตรงนี้ก็เป็นความเห็นที่เป็นกลางแต่ว่าเมื่อศาลเห็นว่าเป็นความเห็นที่รับฟังได้ในทางวิชาการก็เอามาสนับสนุนนั่นเอง

คุณอภิศักดิ์ ทัศนี : ขอขยับไปที่คุณสุรชัย ตรงงาม หรือ พี่ทอม พี่ทอมทำงานที่ เอ็น ลอว์ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ก็ทำคดีเกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อมมาหลายคดีมากก็อยากฟังมุมมองของพี่ทอมจากที่พี่ ส.รัตนมณี เล่า เรื่องคดีม่วงงามตั้งแต่เริ่ม มาจนคำสั่งศาลที่อาจารย์ธีรวัฒน์วิเคราะห์ให้เห็นในฐานะที่พี่ทอมเป็นนักกฎหมายที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม พี่ทอมมีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เห็นอะไรที่เป็นความก้าวหน้า เป็นพัฒนาการที่ประชาชนที่นำคดีไปสู่ศาลปกครองแล้ว เกิดความก้าวหน้าในบรรทัดฐานใหม่ๆในทางกฎหมายและทางสังคมอย่างไรบ้าง
คุณสุรชัย ดรงงาม : ก่อนอื่นก็ขอแสดงความชื่นชมกับทางชุมชนและทีมงานที่สนับสนุนทั้งทางกฎหมายและทางวิชาการทำให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คือศาลปกครองจากประสบการณ์ที่ทำงานมา มักจะคุยกันเล่นๆว่า “ฟ้องง่าย ชนะยาก คุ้มครองยิ่งยากยิ่งกว่า” ยื่นฟ้องอะไรศาลรับหมดแต่การจะชนะนั้นไม่ง่ายเลย เรื่องสั่งคุ้มครองยิ่งยากที่สุด แต่คิดว่าเราเห็นการดำเนินการของชุมชนร่วมกับเครือข่ายพัฒนาสังคมต่างๆและนักวิชาการ (ซึ่งอาจารย์ธีรวัฒน์ก็ได้อธิบายไปโดยพิสดารซึ่งพิจารณาภาษากฎหมายก็แปลว่าโดยละเอียด) หรือในส่วนของคุณเปรมชนัน ซึ่งชื่นชมมากเพราะมันเห็นความเปลี่ยนแปลงของการขับเคลื่อนของภาคประชาชน
ในส่วนของความเห็นเกี่ยวกับ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมีความเห็นในทำนองเดียวกับอาจารธีรวัฒน์ประมาณ 3 ประเด็น ในประเด็นที่แรก ความสนใจของประชาชนทั่วไปที่เกิดขึ้นกับคดีนี้เพราะว่าได้เห็นถึงการขับเคลื่อนของชุมชนไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปฟ้องคดี มีการชุมนุม ทั้งๆที่ก็อยู่ในสภาวะในช่วงของสถานการณ์ฉุกเฉิน คิดว่าชุมชนได้มีการตัดสินใจและมีการปฏิบัติการในการชุมนุมเรื่องรวมถึงมีการ ฟ้องคดี สุดท้ายไปถึงขั้นการยื่นหนังสือกับนายกแล้วบอกว่าถ้าไม่ยกเลิก ก็จะอยู่กันแถวนั้นแหละ ที่ผมดูตามข่าว ซึ่งกลไกแบบนี้ต้องสรุปบทเรียนผมคิดว่า บทเรียนเกี่ยวกับคำสั่งทำให้เห็นว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองถอยตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน โดยประมาณ แต่คำสั่งศาลนี้ออกวันที่ 30 มิถุนายน พูดง่ายๆว่ากรมโยธาหยุดไปตั้ง 25 วันคำสั่งศาลพึ่งออกมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการขับเคลื่อนของประชาชนในรูปแบบต่างๆอย่างมีพลังอย่างที่อาจารย์ธีรวัฒน์พูดว่าเป็นที่สนใจต่อสาธารณะนั้นมีพลังที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงบางประการได้ก่อนคำสั่งศาล คำสั่งศาลเหมือนมายืนยัน ว่าสิ่งที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้องจนกระทั่งมีการหยุดโครงการ เป็นสิ่งที่ถูกต้องและชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ประเด็นที่สอง กระบวนการการขอคุ้มครองชั่วคราวก็เป็นกระบวนการปกป้องด้านสิ่งแวดล้อมก่อนมีการพิพากษาที่สำคัญ และในประเด็นที่สาม เมื่อศาลได้ชั่งน้ำหนักผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่าสิ่งที่กรมโยธาธิการและผังเมืองและกรมเจ้าท่าอ้างว่าตัวเองมีอำนาจในการตรวจสอบ ทั้ง 2 หน่วยงานก็มีการอ้างถึงการก่อสร้างกรมโยธาธิการบอกว่ามีผลดี ส่วนกรมเจ้าท่าก็อ้างว่าเป็นไปตามกลไกของกฎหมายถูกต้องแล้ว ก็รับรองกันไปแต่ว่า คิดว่าการที่เราสามารถรวบรวมประเด็นทางวิชาการ 1) จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือว่าความเห็นของนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญที่เกี่ยวข้องอย่างอาจารย์สมปรารถนา รวมถึงสตง. อันนี้ก็น่าสนใจ ทำให้เห็นว่าในความสัมฤทธิ์ผลหลายครั้งแล้วอาจจะควรไปตรวจสอบจากสตง.ด้วย มันจะต้องไปตรวจสอบโครงการต่างๆในทำนองเดียวกันว่าวิธีการแบบนั้นมันบรรลุหรือไม่ คดีนี้ก็เป็นการตอกย้ำทำให้เห็นเงื่อนไขแบบนั้นซึ่งหมายความว่าการที่ศาลชั่งน้ำหนักนั่นเอง
ข้อสังเกตว่าคดีนี้มีข้อดีซึ่งในทางคดีจะต้องทำต่อ เพราะว่าปัญหาหลายคดีในทางด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนมักจะไม่มีข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนเพียงพออาจจะเข้าไม่ถึง ไม่รู้ว่ามีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญบ้าง หรือไม่มีแม้แต่หน่วยงานอื่นๆที่จะเข้ามาตรวจสอบข้อมูลของกรมโยธาธิการและผังเมือง ก็จะไม่มีข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในความเห็นเรื่องนี้ค่อนข้างจะเป็นเงื่อนไขอันดี ถ้าอะไรที่เป็นผลกระทบทางด้านทรัพยากรชายฝั่ง เราจะมีหน่วยงานหนึ่งที่เขาทำการศึกษา สามารถที่จะนำมาเป็นข้อมูลทางวิชาการในการสนับสนุน ความเห็นของเราได้ซึ่งผมคิดว่ามันมีน้ำหนัก ล่าสุดมีหนังสือที่ส่งมาถามความเห็นเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมซึ่งผมก็ให้ความเห็นไปว่า ถ้าเกี่ยวกับเรื่องการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เรื่องทางเทคนิคด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ยาก บางทีศาลควรที่จะต้องทำข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีขึ้นไปยังผู้เชี่ยวชาญต่างๆรวมถึงอาจจะต้องมีกลไกในการสนับสนุนในการเข้าถึงมากกว่านี้ ซึ่งในคดีนี้ผมคิดว่ามีเงื่อนไขอันดีที่ มีทั้งข้อมูลของหน่วยงานและข้อมูลของนักวิชาการมาสนับสนุน แต่ในคดีอื่นอาจจะไม่ได้โชคดีอะไรแบบนี้ เราไม่ต้องการประสบความโชคดีเป็นเฉพาะราย เราคิดว่าจะต้องมีกลไกอะไรที่จะทำให้ประชาชน ที่ไม่รู้ก็จะได้มีกลไกบางอย่างเข้ามาสนับสนุนให้ข้อมูลทางเทคนิคต่างๆ ส่วนในคำวินิจฉัยของศาลอยากจะเพิ่มอีกนิดนึงว่า ศาลได้พูดถึงประเด็นเรื่อง “ไม่บรรลุวัตถุประสงค์” มีการแก้ไขการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแล้วก็มีการใช้คำว่า “ถาวรและยั่งยืน” ในความเห็นคิดว่า ศาลได้วางหลักยืนยันคืออาจจะไม่ได้เขียนชัดเจนแต่ผมตีความเอาว่าศาลกำลังพูดถึง หลักทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม แม้แต่หลักในรัฐธรรมนูญมาตรา 43 (2) บุคคลและชุมชนมีสิทธิจัดการบำรุงรักษาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ผมคิดว่าสอนกำลังพูดเรื่องนี้ จริงๆแล้วมันก็คือหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีคนเคยพูดสรุปสั้นๆว่า “อย่าใช้ให้มันสิ้นเปลือง เหลือให้ลูกหลาน” ซึ่งศาลกำลังพูดหลักการแบบนี้ว่า ในการทำเขื่อนกันคลื่นในรูปแบบของกรมโยธาธิการและผังเมือง มีความสมบูรณ์และยั่งยืนหรือไม่ ขัดต่อการหลักการใช้สิทธิของประชาชนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือไม่ เรื่องนี้เราต้องขยายความเพราะมันอาจจะเป็นหลักการที่สำคัญต่อไปในการวินิจฉัยอีก ก็โดยสรุปก็จะมี 3 ประเด็นใหญ่ๆ

คุณอภิศักดิ์ ทัศนี : ขอบคุณมากเลยครับพี่ทอม ประเด็นตอนท้ายนี้น่าสนใจมากเลย คือพอพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เห็นด้วยว่าเราอาจจะต้องขยายความเรื่องนี้ เพราะว่าการทำโครงการที่มันไม่เกิดผลอย่างยั่งยืน ตอนนี้กรณีเรื่องชายหาดเกี่ยวกับกำแพงกันคลื่นระบาดเยอะมาก งบประมาณปี 2564 ล่าสุด ที่กำลังจะผ่านสภาของกรมโยธาธิการและผังเมืองก็ 64 โครงการแล้วยังไม่รวมของกรมเจ้าท่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอีกอันนี้ก็อาจจะต้องตั้งคำถามว่า โครงการเหล่านี้มีความยั่งยืนและถาวรหรือเปล่า ผมอยากกลับมาที่พี่ ส. ว่าจากประสบการณ์ที่ทำคดีเรื่องชายหาดมาหลายคดีมากแต่ว่ามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว อยู่ 2 คดีคือคดีอ่าวน้อยกับคดีม่วงงาม คดีอ่าวน้อยศาลก็มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้วก็มีคำพิพากษาแล้ว แล้วก็มาล่าสุดก็มันเป็นคดีม่วงงาม พี่ ส. มองเห็นพัฒนาการของ 2 คดีนี้อย่างไรบ้าง จากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว อยากชวนคุยประเด็นนี้เพราะว่าอยากให้เห็นว่ามันมีพัฒนาการ แล้วก็เป็นพัฒนาการที่น่าสนใจมากด้วย
คุณ ส. รัตนมณี : คงต้องเล่า Background ของคดีอ่าวน้อย คือคดีที่มีการฟ้องร้องเรื่องกำแพงกันคลื่นมีที่มาจากคดีสะกอม ซึ่งตอนนั้นทางมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนไม่ได้ทำในเบื้องต้นแต่จะเป็นทางทีมงานอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และม.ราชภัฏสงขลาช่วยทำ ก็คือ อาจารย์จันทร์จิรา เอี่ยมมยุรา กับอาจารย์อารยา สุขสม ช่วยกันทำคำฟ้องคดีสะกอม ต่อมาก็จะเป็นคดีที่เราฟ้องก็คือคดีคลองวาฬ ซึ่งทั้งคดีสะกอมและคดีคลองวาฬ โดยคดีสะกอมเป็นโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว แต่เนื่องจากว่ามันมีผลกระทบต่อชายหาดถัดไปก็เลยมีการฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนและรื้อถอน ส่วนกรณีคลองวาฬเป็นกรณีที่มีการสร้างไปแล้วบางส่วน มีโครงการพวกเขื่อนหินทิ้งป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ว่าหลังจากนั้นมีโครงการที่เป็นกำแพงกันคลื่นเลยแล้วก็ปรับภูมิทัศน์ ช่วงนี้ก็มีการฟ้องคดีแต่ว่าศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทางเราขอเหมือนกันแต่ศาลไม่ให้ ศาลมองว่ายังไม่มีองค์ความรู้และข้อมูลต่างๆมาสนับสนุน มากนักซึ่งคดีคลองวาฬมีการฟ้องเมื่อประมาณปี 59 หลังจากนั้นก็มาเป็นคดีชลาทัศน์ แต่ คดีชลาทัศน์ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเพราะเราก็มีการขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเช่นกัน คดีนี้มีการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ได้มีการพูดถึงกันถึงเรื่องชลาทัศน์ไม่ได้มีเพียงกำแพงกันคลื่นแต่ยังมีส่วนของรอดักทรายด้วย ซึ่งมีการวางตัวเสาขวางทางของทราย ซึ่งจะต้องมีการทำ EIA และถือเป็นการวางโครงสร้างแข็งบนพื้นที่ชายหาด เมื่อเรายื่นคำร้องในวันแรก ก็ยื่นคำฟ้องด้วยศาลก็นัดไต่สวนในวันรุ่งขึ้น โดยมีการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก็ได้มีการเรียกหน่วยงานตอนนั้นเรียกเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดและกรมเจ้าท่ามาไต่สวน ในวันที่ไต่สวนจากเดิมที่มีการคุยกันเรื่องตัวพื้นที่ที่มีระยะทางที่ยาวเป็นกิโลเมตรและมีการวางเสาเป็นหลายร้อยต้นบนพื้นที่หาดก็มีการเจรจากันระหว่างไต่สวน เมื่อมีการเจรจาก็ได้ความว่าตัวเสาสามารถที่จะยกได้ คือเคลื่อนย้ายได้ไม่ใช่โครงสร้างแข็งที่ถาวร ศาลก็เลยตัดสินใจว่าจะลงไปดูพื้นที่กันในวันรุ่งขึ้น คือเนื่องจากมันมีข้อโต้แย้งกันในห้องไต่สวนว่ามีการวางเสาลงไปในพื้นที่หรือยัง ตัวชาวบ้าน ตัวสงขลาฟอรั่มและตัว Beach for life ตอนนั้นก็มี คุณอภิศักดิ์ เป็นผู้ฟ้องด้วย ก็ได้ยืนยันว่าได้เอาเสาลงไปฝังแล้ว แต่ทางหน่วยงานบอกว่ายังไม่มีการนำเสาลงไปฝัง ศาลก็เลยสั่งให้เดินเผชิญสืบในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าในคืนนั้นเองก็มีการยกเสาออกมาจากหาดที่ฝัง วันรุ่งขึ้นศาลก็ลงพื้นที่เพื่อที่จะไปตรวจสอบ ก็พบว่ามีการฝังแล้วเอาเสาขึ้นมาก็มีการสอบถามข้อเท็จจริงและมีการบันทึกข้อเท็จจริงกันที่นั่นเลย ว่าสภาพเป็นอย่างไรแล้วก็มีการเจรจาไกล่เกลี่ยกัน ซึ่งศาลยังไม่มีคำสั่งเรื่องคุ้มครองชั่วคราว จนในวันเจรจาไกล่เกลี่ยหลังจากนั้นประมาณ 2 อาทิตย์ ก็มีการดำเนินการไกล่เกลี่ย จนท้ายที่สุดทางหน่วยงานบอกว่าถ้าไม่ให้ทำเลยไม่ได้ ขอเป็นการทดสอบเอาโครงสร้างแข็งที่เป็นเสาลงไปประมาณ 80 ต้น ทางสงขลาฟอรั่มก็ไม่ยอม บอกว่าจะเอาทรัพยากรธรรมชาติมาทดลองแบบนี้ไม่ได้ เจรจาไปก็เหลือเสาประมาณ 20 ต้น สุดท้ายในที่สุดทางท่านผู้ว่าก็เคาะว่าถ้าย่างนั้นไม่เอาโครงสร้างแข็งก็ได้ เติมทรายอย่างเดียวเพราะตอนนั้นมีข้อเสนอให้มีการเติมทราย แล้วก็มีถ้อยคำนึงบอกว่าถ้าเกิดผลเสีย สงขลาฟอรั่มและ Beach for life จะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากข้อเสนอดังกล่าว
คุณอภิศักดิ์ ทัศนี : ขอขอบคุณ ทนาย ส.รัตนมณี ที่ทำให้เห็นแง่มุมที่ว่าแทนที่ศาลจะทำเช็คลิสต์ว่าหน่วยงานรัฐทำงานถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ แต่ศาลกลับมองหลักการซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายปกครองและการดำเนินการของรัฐ ซึ่งเป็นพัฒนาการของศาลที่น่าสนใจ ตอนนี้ก็อยู่ช่วงเกือบสุดท้าย มีคำถามที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผมอยากจะชวนมาคุยในช่วงสุดท้าย โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ได้มีแค่หาดม่วงงามเพียงหาดเดียว หลังจากมีการถอดถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA โครงการเหล่านี้ก็ระบาดไปหลายพื้นที่ชายหาด โดยหลายพื้นที่ไม่มีความจำเป็นในการก่อสร้าง เช่น หาดม่วงงาม เนื่องจากไม่มีการกัดเซาะอย่างรุนแรง คำถามถามคือ เมื่อได้คำสั่งศาลมาแบบนี้จะมีการปกป้องหาดอื่นๆได้อย่างไรบ้าง จากโครงการในลักษณะเดียวกันในหาดอื่นๆที่กำลังจะสร้างหรือมีทางไหนบ้างที่เราจะสามารถปกป้องคุ้มครองชายหาดที่เป็นพื้นที่สาธาราณะไม่ให้กลายเป็นกำแพง
คุณสุรชัย ดรงงาม : การสนับสนุนหรือขับเคลื่อนของชุมชนต่างๆอาจจะต้องสื่อสารในเชิงเครือข่ายมากกว่านี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายให้มีพลังมากขึ้น สำหรับการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายมีในหลายระดับ ระดับแรกคือทำข้อมูลและสรุปบทเรียนของแต่ละพื้นที่ แนะนำให้ทำคู่มือการรับมือรับสิ่งต่างๆ เช่น คู่มือการรับมือเมื่อมีการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อให้ทุกชุมชนสามารถนำไปใช้ได้ ระดับต่อมาคือเสริทการสู้สิทธิ นั่นคือดูว่ามีกฎหมายอะไรที่เราสามารถนำไปสู้ได้ ตัวอย่างเช่นคดีนี้ เรามีการบรรยายว่าการสร้างกำแพงกันคลื่นนั่นไม่ต้องทำ EIA ซึ่ง EIA เป็นสิ่งสำคัญในการประเมินว่าว่าควรจะทำหรือไม่ หากควรจะทำมีมาตราการการป้องกันอย่างไร การที่ไม่ต้องทำ EIA เปรียบเสมือนการตัดมาตราการในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งถ้าเราไปดูอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 48 ของพ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่าด้วยมาตรา 48 ที่ว่า เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมมีอำนาจกระกาศโครงการที่ต้องดำเนินการทำ EIA สรุปง่ายๆถ้าเกิดว่าเหตุผลนั้นเป็นจริงตามที่กรมโยธาได้บอกว่าถอนออกไปเพื่อให้หน่วยงานดำเนินการก่อสร้างได้ง่าย ถามว่าเหตุผลได้เข้าเงื่อนไขของการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ถ้าไม่เข้าผมว่าต้องเสนอให้มีการทบทวน ซึ่งทางกฎหมายบอกว่าสามารถทบทวนได้ทุกๆ 5 ปี หรือมีความจำเป็นในการดำเนินการให้เร็วกว่านั้นก็ได้ในวรรคท้าย ดังนั้นเมื่อสิทธิของเราโดนถอดถอนไปไม่เป็นไปตามเงื่อนไข อ้างความสะดวกของรัฐ ผมคิดว่าเป็นข้ออ้างที่ไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 48 โดยตรง หากเรามีข้อเสนอเชิงหลักการสำหรับทุกพื้นที่ เราต้องรักษาหลักการนี้ไว้กับอีกจุดนึงเราอาจจะต้องไปดูกลไกในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เราอาจจะพูดถึงมาตรการคุ้มครองพื้นที่สิ่งแวดล้อมหรืออะไรต่างๆ แต่ในเรื่องชายฝั่งไปดูตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาตรา 21 เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งรัฐมนตรีสามารถออกกฎกระทรวงกำหนดแนวเขตพื้นที่ที่จะใช้มาตราการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ ซึ่งก็คือห้ามดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลต่อการเกิดการกัดาซาะชายฝั่ง ถ้าเราสามารถยืนยันทางวิชาการที่เห็นว่าไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แต่ยังดื้อดึงกันจะเป็นไปได้ไหมถ้าหากจะให้ทช.ประกาศกำหนดแนวเขตพื้นที่ที่มาตราการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เรามีช่องทางที่จะทำได้หรือจะทำอย่างไรที่เหมาะสม คิดว่าถ้าเราไปเปิดกฎหมายดูเรามีช่องอยู่ เราต้องทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมไม่ใช่ว่าเป็นการมอบอำนาจหนึ่งให้เข้าจัดการแทนชุมชนอีกประการหนึ่ง เราสามารถออกมาตราการในการคุ้มครองการกัดเซาะชายฝั่งได้โดยตรงเลย แบบไหนอย่างไรผมว่าเป็นเรื่องที่เครือข่ายต้องคุยกัน นี่เป็นข้อเสนอเบื้องต้นถ้าเราจะทำอย่างนี้เราต้องเสริมความรู้แล้วก็สู้สิทธิ อันนี้จะแก้ไขได้

คุณอภิศักดิ์ ทัศนี : ขอบคุณ คุณสุรชัยมากครับ อาจารย์ธีรวัฒน์ และ ทนาย ส.รัตนมณี มีประเด็นเพิ่มเติมไหมครับ
อาจารย์ธีรวัฒน์ ขวัญใจ : เรื่องของการมีส่วนร่วม โครงการพัฒนาเดี๋ยวนี้จะมาได้หลายหน่วยงานและมาจากหลายช่องทาง แล้วถามว่าคนในท้องที่จะรู้เมื่อไหร่ ส่วนใหญ่ก็จะรู้เมื่อกำลังจะดำเนินงานแล้ว จริงๆแล้วกระบวนการรับฟังความคิดเห็นมันมีปัญหาอยู่ตามระบบกฎหมายไทย คิดว่ามีปัญหาอยู่มากเพราะว่าเวลารับฟังความคิดเห็นก็ทำในกลุ่มแคบๆ แล้วเวลาประกาศก็ติดไว้แค่ที่ทำการของหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นสำหรับชาวบ้านอาจจะต้องหูตาไว ต้องพยายามให้รู้ว่าเขามีโครงการที่จะทำอะไร แล้วจะได้หาวิธีรับมือได้ อย่านิ่งนอนใจ เพื่อว่าหลายอย่างกว่าจะรู้ก็อาจจะสายเกินกว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมแล้วนะครับ ฝากไว้แค่นั้นครับ
ทนาย ส.รัตนมณี : คุณสุรชัย พูดชัดแล้วค่ะที่ว่าเราอาจจะต้องกลับไปทบทวนว่ากำแพงกันคลื่นที่เอาออกไปเพื่อว่าให้หน่วยงานทำงานได้สะดวกขึ้น ตรงตามกฎหมายกำหนดให้มีการทำ EIA หรือไม่ อันนี้คิดว่าคงต้องกลับไปทบทวนและในปัจจุบันโครงการกำแพงกันคลื่นไม่ได้มีเฉพาะที่ม่วงงาม มีทั่วประเทศที่เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งหมดเลย ซึ่งหน่วยงานหลักคือกรมโยธา รองลงมาคือกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง เราต้องช่วยกันทบทวนว่าการที่มีโครงการเป็นร้อยโครงการในพื้นที่เกิดจากการถอน EIA ไปใช่ไหม ซึ่ง EIA ถูกถอนไปประมาณ 6 ปีแล้ว กรณีแบบนี้จะต้องไปทบทวนและนำเสนอให้กลับมาทำ EIA ก่อนที่จะมีโครงการกำแพงกันคลื่น การที่จะไปมองว่าเพื่อให้หน่วยงานรัฐทำงานได้อย่างรวดเร็วขึ้นแต่ไม่ได้ดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเนี่ยจะเป็นปัญหาใหญ่เลยที่ต้องไปทบทวนและอีกเรื่องคือทช.น่าจะต้องมีบทบาทมากขึ้นทางกฎหมายที่ตัวเองได้รับ ชายหาดก็เป็นหนึ่งในทรัพยากรที่ทางทช.ต้องเข้ามาดูแลเพราะฉะนั้นทช.คงต้องรีบประกาศออกมาเรื่องของพื้นที่คุ้มครองขายหาดหรือพื้นที่ที่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแต่ที่สำคัญคือทช.ต้องตั้งกลุ่มศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนขึ้นว่าโครงการที่ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งควรมาในรูปแบบใด วิธีแก้ปัญหาควรจะเป็นไปได้จริงและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการศึกษาและกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะแต่ละพื้นที่แตกต่างกันจะใช้โครงการเดียวกับหลายพื้นที่ไม่ได้ ชายหาดแต่ละที่ไม่เหมือนกันและมีความสมดุลของมันอยู่แต่ถ้าให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมโดยที่เป็นประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ได้เอาประโยชน์มานำหน้าในการคุย การแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน ฉะนั้นในการทำงานตรงนี้หน่วยงานควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นไม่ควรที่จะจัดสรรมาในการประชุม ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ความคิดเห็นที่แท้จริงนะคะ ซึ่งในส่วนนี้ก็คือคิดว่าข้อเสนอนึงที่จะต้องไปผลักดันต่อคือการทำอย่างไรให้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเขาทบทวนการทำกำแพงกันคลื่นกลับเข้าไปทำ EIA กำแพงกันคลื่นอาจจะมีบางพื้นที่ที่ต้องการและเหมาะสม เราควรที่จะเชื่อมั่นในระบบ EIA อยู่ถึงแม้ว่าจริงๆเรายังมีคำถามระบบ EIA อยู่แต่อย่างน้อยหากมี EIA เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบก็สามารถตอบโจทย์ได้ว่าพื้นที่ไหนควรสร้างและไม่ควรสร้างและสุดท้ายคงฝากถึงทช.ว่าคงต้องมีบทบาทมากขึ้นในปัญหาเรื่องของชายหาดที่เกิดขึ้นทั่วประเทศและทช.ไม่ควรที่จะเป็นผู้ริเริ่มสร้างโครงการเหล่านี้เสียเอง แต่ทช.ควรมีหน้าที่ที่จะต้องมาเป็นวิชาการและส่งเสริมดูแลคุ้มครองพื้นที่ชายหาด ขอบคุณค่ะ
คุณอภิศักดิ์ ทัศนี : ขอบคุณมากครับ จริงๆในตอนนี้ผมคิดว่าในฝั่งของการเมืองเองก็มีการตั้งกรรมาธิการ 2 ชุดและจะนำ EIA กำแพงคลื่นกลับเข้ามา เพื่อไม่ให้ปัญหาแบบนี้อีก ถ้า ณ วันนี้งบประมาณของกำแพงกันคลื่นผ่านสภาได้คงหมดหาดแล้วครับ จากเว็บไซต์ Beach lover มีรายงานว่ามี 19 โครงการที่ไม่มีความจำเป็นในการสร้าง ถ้าหากตัดตอนโครงการพวกนี้ได้จะมี 19 หาดที่จะรอดจากการสร้างกำแพงกันคลื่นโดยไม่มีความจำเป็นนะครับ ดังนั้นควรที่จะให้ EIA กลับเข้ามานะครับ คุณเปรมชนันครับ มีความคิดเห็นและข้อเสนออะไรบ้างที่จะฝากถึงชุมชนที่เผชิญกับกำแพงกันคลื่นเหมือนกันครับ
คุณเปรมชนัน บำรุงวงค์ : ก็ถ้าพูดถึงพื้นที่ชายหาดที่กำลังมีปัญหาอยู่ตอนนี้คือถ้าเริ่มจากชุมชนได้ก็เป็นเรื่องที่ดีนั้นคือเราจะต้องมีความรู้และให้ความรู้ซึ่งกันและกันหรือว่ารับหน่วยงานมาให้ความรู้แก่ชุมชน เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจถึงโครงการที่จะทำว่ามีผลดีและผลเสียอย่างไรและส่วนของหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องมีความโปร่งใสในโครงการที่จะทำและต่อจากนี้อยากให้ประชาสัมพันธ์ให้ดีขึ้นและให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย เพื่อให้ประชาชนได้มีการแสดงความคิดเห็นด้วย ดังนั้นชุมชนต้องเข้มแข็งอย่างเช่นม่วงงามเนี้ย ฝากถึงชุมชนอื่นที่จะมีโครงการแบบนี้คนในชุมชนต้องรับมีส่วนร่วม ฝากไว้ตรงนี้ด้วยครับ
คุณอภิศักดิ์ ทัศนี : ขอขอบคุณ คุณเปรมชนัน คณสุรชัย ทนาย ส.รัตนมณี และอาจารย์ธีรวัฒน์ ขอบคุณทุกท่านมากๆครับที่มาพูดคุยกันนะครับ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นบทสรุปสำคัญก็คือเรื่องที่ว่านำคดีสู่ศาลเนี่ยเป็นการใช้สิทธิของภาคประชาชนยิ่งการที่ประชาชนตื่นตัวเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นก็ทำให้อำนาจในชุมชนก็เข้มแข็งขึ้นด้วยนะครับ ในขณะเดียวกันการยืนหยัดในข้อมูลวิชาการทำให้เห็นว่าพัฒนาการของศาลที่มีต่อสิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้นด้วย ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเหมือนกันว่าประชาชนมีการตื่นตัว ตื่นรู้ขึ้นมาใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่ว่าอย่างไรก็ตามเรื่องนี้เกิดกับทุกหาดสิ่งที่เราเรียกร้องก็คือสามัญสำนึกบางอย่างที่รัฐที่มีต่อประชาชนเพื่อประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ อันนี้คือสิ่งที่อยากจะฝากไว้นะครับ วันนี้ก็เป็นประโยชน์มากๆเลยครับที่ได้ฟังมุมมองกฎหมายและแง่มุมต่างๆมากมาย ถ้ามีโอกาสหน้าจะชวนทุกท่านได้พูดคุยกันอีกนะครับ วันนี้ขอลาไปก่อน ขอขอบคุณทุกๆท่านที่ร่วมเสวนา คุณเปรมชนัน บำรุงวงค์ ผู้ฟ้องคดีหาดม่วงงาม ทนาย ส.รัตนมณี พลกล้า จากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน อาจารย์ธีรวัฒน์ ขวัญใจ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และท่านสุดท้ายคุณสุรชัย ดรงงาม จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมวิเคราะห์และให้มุมมองต่างๆ ขอบคุณมากๆครับ

