สถานการณ์ชายฝั่งในภาคใต้ของประเทศไทย

แนวชายฝั่งทะเลประเทศไทยมีความยาวประมาณ 3,151 กิโลเมตร ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยมีความยาวประมาณ 2,040 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด คิดเป็น 64.74 %  ส่วนชายฝั่งทะเลอันดามันมีความยาวประมาณ 1,111 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด คิดเป็น 35.26% พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ทอดยาวครอบคลุม 23 จังหวัดนั้น มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต การใช้ประโยชน์ของผู้คน และชุมชนชายฝั่ง เช่น การพักผ่อนหย่อนใจ การประกอบอาชีพประมง การเป็นแหล่งเรียนรู้และพื้นที่นันทนาการ พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ จึงพื้นที่ชีวิตของผู้คนริมชายฝั่ง เป็นพื้นที่แห่งความสุขของผู้คน

ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งทะเลในประเทศไทยประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 830 กิโลเมตร โดย  ฝั่งอ่าวไทย  730 กิโลเมตร  อัตรากัดเซาะมากกว่า 5 เมตรต่อปี 228 กิโลเมตร ส่วนฝั่งอันดามัน 100 กิโลเมตร อัตรากัดเซาะมากกว่า 5 เมตรต่อปี  25 กิโลเมตร(ข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปี 2560) ทำให้สูญเสียพื้นที่หาดทราย ซึ่งมนุษย์เคยได้ใช้ประโยชน์ในการนันทนาการ เป็นพื้นที่แห่งความสุขและที่สำคัญ หาดทราย คือพื้นที่แนวกันชนตามธรรมชาติ การเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง คือการสูญหาดทรายซึ่งเป็นแนวกันชนตามธรรมชาติไป

ทั้งนี้การทำความเข้าใจปัญหาการกัดเซาะชาฝั่งที่เกิดขึ้นนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า หาดทราย นั้นมีภัยคุกคามหาดทราย ซึ่งภัยคุกคาม คือ สิ่งที่จะกระตุ้น หรือกระทำให้หาดทรายนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง ภัยคุกคามหาดทราย แบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้  ภัยคุกคามจากธรรมชาติ และ ภัยคุกคามจากฝีมือมนุษย์

ภัยคุกคามจากธรรมชาติ

มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชายหาด เช่น

          คลื่นลมมรสุม เป็นภัยที่ใกล้ตัวเรามาก และเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีและรุนแรงขึ้นทุกปี มรสุมรุนแรงขึ้น วิวทิวทัศน์ของชายหาดที่สวยงามหายไป ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเป็นช่วงฤดูกาลเราอาจสามารถคาดการได้ แต่ไม่สามารถควบคุมความรุนแรงได้ พายุ  ตัวอย่าง คลื่นลมมรสุมที่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชายหาด บริเวณเก้าเส้ง จ.สงขลาเกิดการกัดเซาะของชายหาดอย่างรุนแรง ในช่วงปี 2544 ซึ่งทำให้หาดทรายเกิดการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งหาดสมิหลา-ชลาทัศน์อย่างรุนแรง กรณีตัวอย่างต่อมา ริมถนนปากพนังหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบจากความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีน ระดับน้ำมีความสูงมากกว่าถนน ทำให้คลื่นสามารถซัดข้ามกำแพงมายังถนนได้ และท่วมบ้านเรือนของชาวบ้าน ความเสียหายไม่ได้เกิดจากน้ำแค่อย่างเดียว แต่ยังเกิดจากทรายที่คลื่น ลม พัดเข้ามา และความเค็มของน้ำที่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเสียหาย ถนนถูกตัดคาดไปครึ่งเลนไม่สามารถใช้งานได้ 

ภาพ ภัยคุกคามชายหาดจากคลื่นลมมรสุม

ภาวะโลกร้อน และการเพิ่มขึ้นของระดับระดับน้ำทะเล

เป็นภัยคุกคามทางธรรมชาติที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาด การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากการที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้ปริมาตรน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงของหาดทราย จากภัยคุกคามการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ไม่อาจสร้างความเสียหายได้มากนัก แต่เป็นตัวการทำให้มรสุมและพายุมีความแรงมากขึ้น

                   การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลนั้น จะมีผลกระทบต่อชายหาดที่มีความลาดชันน้อย เนื่องจากชายหาดที่มีความลาดชันน้อยนั้น ทำให้ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นสูงหนึ่งเมตรสามารถเข้าสู่พื้นที่ดินได้มากกว่าชายหาดที่มีความชันสูง

          สึนามิ เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพชายฝั่งอย่างยิ่ง การเกิดสึนามิ ในบางพื้นที่กวาดเอาปลายแหลม ทรายหน้าหาดออกไปจนหมด จนสภาพพื้นที่นั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลัน

ภัยคุกคามจากมนุษย์

          มนุษย์พยายามป้องกันตัวเองจากภัยธรรมชาติ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยโครงสร้างป้องกันชายฝั่งรูปแบบต่างๆ ในขณะที่ธรรมชาติของหาดทราย ตะกอนทรายมีการเติมหล่อเลี้ยงหาดทรายอยู่ตลอดเวลา เมื่อมนุษย์เข้าไปแทรกแซงระบบธรรมชาติหาดทราย ที่นำเอาโครงสร้างวางขวางทางเดินของตะกอนทราย ทำให้หาดทรายขาดมวลตะกอนทรายมาหล่อเลี้ยงชายหาดและเกิดการกัดเซาะชายฝั่งในที่สุด

          ธรรมชาติของหาดทราย มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและมีการรักษาสมดุลภาพใต้สภาพวะการเปลี่ยนแปลง มีความสามารถในการเยียวยาหรือฟื้นคืนสภาพได้ แต่ชายหาดจะเกิดการเสียสมดุล หรือขาดความสามารถในการเยียวยาตนเอง ก่อนต่อเมื่อมีการแทรกแทรกแซง กระบวนการทางธรรมชาติของหาดทรายโดยมนุษย์

การแทรกแซงของมนุษย์ที่มีผลทำให้หาดทรายเกิดการเปลี่ยนแปลง เสียสมดุล และขาดความสามารถในการเยียวยาหรือฟื้นฟูสภาพได้นั้น มีดังนี้

          กำแพงกันคลื่น (SEA Wall)

                   กำแพงกันคลื่น เป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่สร้างติดประชิดชายหาด มีหน้าที่รับแรงปะทะของคลื่นที่วิ่งเข้ามาสู่ชายหาด ซึ่งกำแพงกันคลื่น อาจมีได้หลายรูปแบบ เช่น กำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้ง แบบเข็มพืด แบบตุ๊กตาญี่ปุ่น แบบเกเบี้ยน เป็นต้น แต่ผลกระทบจากกำแพงกันคลื่นนั้นจะก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงเมื่อสิ้นสุดกำแพงกันคลื่น อาจเกิดการสะท้อนกลับของคลื่นที่วิ่งเข้ามาปะทะหน้ากำแพงกันคลื่น ทำให้คลื่นที่สะท้อนกลับหอบนำทรายหน้ากำแพงกันคลื่นออกไปในทะเล กำแพงกันคลื่นยังมีผลกระทบต่อการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดด้วย

                   ในพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันชายฝั่งในหลายพื้นที่ แต่การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเหล่านั้นได้ส่งผลกระทบทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงกับชายหาดบริเวณสิ้นสุดโครงสร้างกำแพงกันคลื่น มีกรณีตัวอย่างดังนี้

กรณีที่ 1  กำแพงกันคลื่นแบบกระสอบทราย บริเวณหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ซึ่งทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงเมื่อสิ้นสุดการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ตลอดแนวชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ มีกำแพงกันคลื่นแบบกระสอบทรายขนาดใหญ่วางป้องกันชายฝั่งระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตรตามแนวชายฝั่ง กำแพงกันคลื่นเหล่านี้ปัจจุบันมีสภาพเสื่อมโทรม มีการทรุดตัวของกำแพงกันคลื่น มีตะไคร่น้ำมาเกาะกำแพงกันคลื่น ทำให้กำแพงกันคลื่นเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อทัศนยภาพ และผู้ใช้ประโยชน์ชายหาด 

ภาพ กำแพงกันคลื่นแบบกระสอบทราย บริเวณชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
(ที่มาภาพ : www.BWN.PSU.ac.th)

กรณีที่ 2 กำแพงกันคลื่นบริเวณบ้านหน้าศาล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีลักษณะเป็นการสร้างเป็นกำแพงคอนกรีต หลังจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นขึ้นทำให้ไม่มีมวลทรายมาสะสมด้านหน้ากำแพงกันคลื่น ซึ่งเป็นการสูญเสียพื้นที่หาดทรายอย่างถาวร และผลกระทบที่สำคัญ คือ การสะท้อนของคลื่นที่มาปะทะกำแพงกันคลื่นทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ในช่วงมรสุม ส่งผลให้ทรัพย์สินด้านหลังกำแพงกันคลื่นได้รับความเสียหายจากละออง และไอน้ำเค็ม

ภาพ กำแพงกันคลื่นชายหาดบ้านหน้าศาล อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

กรณีที่ 3 กำแพงกันคลื่นชายหาดเกาะแต้ว ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบริเวณชายหาดเกาะแต้ว ตำบลเกาะแต้ว ทำให้เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงบริเวณปลายสุดของกำแพงกันคลื่น ทำให้ช่วงเดือนมิถุนายน 2561 มีการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเพิ่มเติมในบริเวณที่กัดเซาะ ความยาวประมาณ 200 เมตร(ภาพที่ 2)

ภาพ กำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้ง บริเวณชายหาดเกาะแต้ว ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
(ที่มาภาพ กลุ่ม Beach for life)

กรณีที่ 4 กำแพงกันคลื่น แบบตุ๊กตาญี่ปุ่น บริเวณบ้านบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

ภาพ กำแพงกันคลื่นแบบตุ๊กตาญี่ปุ่น ที่ชายหาดบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
(ที่มาภาพ : กลุ่ม Beach for life)

เขื่อนกันคลื่น (Beak water) 

          เขื่อนกันคลื่น เป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่สร้างขนานชายฝั่ง ช่วยลดความรุนแรงของคลื่นที่เข้ามาปะทะชายฝั่ง ซึ่งด้านหลังเขื่อนกันทรายและคลื่นจะเกิดจุดอับคลื่น ทำให้เกิดการสะสมสมตัวของตะกอนทรายชายฝั่งด้านหลังเขื่อนกันคลื่น(Tombolo) เขื่อนกันคลื่นอาจมีได้หลายรูปแบบ เช่น โครงสร้างหินทิ้ง หรือแบบโปร่งโดยการใช้เสาไฟหรือเสาเข็มมาวางเรียงแทนหิน โดยมีได้ทั้งแบบจมน้ำและโผล่พ้นน้ำ เขื่อนกันคลื่นมีผลกระทบให้เกิดการสะสมตัวของตะกอนทรายด้านหลังเขื่อน เกิดการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งที่มีลักษณะเสี้ยวพระจันทร์ผิดเพี้ยนไปจากหาดธรรมชาติ และสิ้นสุดโครงสร้างเขื่อนกันคลื่นจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง

กรณีที่ 1 ชายหาดที่มีการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงชายหาดลักษณะเสี้ยวพระจันทร์ คือ หาดแสงจันทร์ จังหวัดระยอง ดังภาพ

ภาพชายหาดแสงจันทร์ จังหวัดระยอง
(ที่มาภาพ : http://oknation.nationtv.tv และ http://www.paknamschool.com )

กรณีที่ 2 ชายหาดนาทับ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณชายฝั่ง จำนวน 14 ตัว ซึ่งบริเวณชายหาดนาทับนั้นชายหาดไม่เกิดลักษณะพระจันทร์เสี้ยวด้านหลังเขื่อนกันคลื่นทุก ๆ ตัว แต่เกิดการกัดเซาะระหว่างช่องวางของเขื่อนกันคลื่น ทำให้ต้องมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นป้องกันไว้อีกชั้นหนึ่ง ในขณะเดียวกันปลายสุดของเขื่อนกันคลื่นเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงทำให้ต้องดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อเนื่องตลอดแนวชายฝั่ง

ภาพถ่ายดาวเทียม เขื่อนกันคลื่นบริเวณปากร่องน้ำนาทับ ถึง ชายหาดบ้านบ่ออิฐ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พบว่ามีเขื่อนกันคลื่นวางตลอดแนวชายหาด 18 ตัว
ภาพ เขื่อนกันคลื่น และกำแพงกันคลื่น บริเวณชายหาดบ่ออิฐ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
(ที่มาภาพ : Beach for life)

เขื่อนกันทรายและคลื่น

                             เขื่อนกันทรายและคลื่น (Jetty) เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่วางยืนไปในทะเล สร้างขึ้นบริเวณปากร่องน้ำ เพื่อป้องกันการตกตะกอนอย่างรวดเร็วอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ปากร่องน้ำตื่นเขิน การก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นจะส่งผลให้เกิดการทับถมตัวของตะกอนทรายที่เคลื่อนที่ขนานชายฝั่ง บริเวณด้านเหนือน้ำ และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านท้ายน้ำอย่างรุนแรง ทำให้เปลี่ยนแปลงสภาพชายฝั่งมากที่สุด อันเนื่องจากการขวางการเคลื่อนตัวของตะกอนทรายเลียบชายฝั่งของเขื่อนกันทรายและคลื่น เมื่อมีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำแล้วนั้น มักจำเป็นต้องมีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งอื่นๆบริเวณด้านท้ายน้ำควบคู่เสมอ เช่น เขื่อนกันคลื่น หรือ กำแพงกันคลื่น เป็นต้น

                             ชายฝั่งในภาคใต้มีปากแม่น้ำสำคัญๆจำนวนมากที่ไหลลงสู่ทะเล และปากแม่น้ำเหล่านั้นมีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ กรณีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำแล้วส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงมีหลายพื้นที่ เช่น ปากร่องน้ำหัวไทร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลา อำเภอเมืองสงขลา ปากร่องน้ำนาทับ ปากร่องน้ำสะกอม อำเภอจะนะ  ปากร่องน้ำเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

กรณีที่ 1 การก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ถือเป็นกรณีที่สำคัญ เนื่องจากประชาชนและชุมชนท้องถิ่นได้ใช้สิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา เนื่องจากการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม โดยกรมเจ้าท่านั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ไม่มีการดำเนินการรับฟังความเห็นประชาชน การไม่ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการอื่นๆตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการดำเนินโครงการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายหาด ทำให้หาดสะกอมเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและชาวประมงในพื้นที่  การนำคดีสู่ศาลปกครองสงขลาในการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นถือเป็นคดีพิพาทแรกของประเทศไทยที่ว่าด้วยการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งได้มีการฟ้องโดยประชาชนและชุมชนในปี 2551 ปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของศาลปกครองสูงสุด

กรณีที่ 2 ปากร่องน้ำนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ 2 ตัว พร้อมเขื่อนกันคลื่น  จำนวน 4 ตัว ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในด้านท้ายน้ำของเขื่อนกันคลื่นตัวที่ 4 ทำให้มีการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นอย่างต่อเนื่อง จำนวน 14 ตัว  และกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันชายฝั่งตลอดแนวชายฝั่ง ซึ่งทำให้มีพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งและปัจจุบันถูกป้องกันด้วยเขื่อนกันคลื่นจำนวน 14 ตัว  ซึ่งสูญเสียพื้นที่หาดทรายที่ทอดยาวตลอดแนวชายหาดเป็นระยะทาง 7.5 กิโลเมตร

ภาพถ่ายดาวเทียม เขื่อนกันคลื่นบริเวณปากร่องน้ำนาทับ ถึง ชายหาดบ้านบ่ออิฐ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

กรณีที่ 3 การสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา บริเวณปากร่องน้ำสงขลา มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลา ในช่วงปี ……ทำให้เกิดการสะสมตัวของตะกอนทรายบริเวณแหลมสนอ่อน อำเภอเมืองสงขลา พัฒนาการแหลมสนอ่อนเริ่มต้นจากการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำเดินเรือของทะเลสาบ ในปี พ.ศ.2511 ความยาวประมาณ 700 เมตร ส่งผลให้ทรายที่เคลื่อนที่จากทิศใต้มาทับถมทางด้านใต้โครงสร้างนี้ แหลมสนอ่อนเริ่มขยายพื้นที่เนื่องจากการสะสมตัวของตะกอนทราย ต่อมาได้มีการต่อขยายความยาวของเขื่อนกันทรายและคลื่นออกไปอีก 200 เมตร ทำให้มีความกว้างของแหลมสนเพิ่มขึ้นปัจจุบันมีพื้นที่กว่า 600 ไร่ แต่ในขณะเดียวกันการที่ตะกอนทรายสะสมอยู่ฝั่งอำเภอเมืองสงขลา ทำให้ฝั่งสิงหนครขาดตะกอนทรายไปหล่อเลี้ยงจนทำให้เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง

ภาพ พัฒนาการแหลมสนอ่อนสงขลา อ้างอิงจาก เอกสารบทความของ ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ในเอกสารประกอบกิจกรรม กอดสนรับขวัญปีใหม่ 2556

รอดักทราย หรือ คันดักทราย

                   รอดักทราย หรือ คันดักทราย มีลักษณะคล้ายกำแพงกันคลื่นริมชายฝั่งทะเลแต่สร้างตั้งฉากกับแนวชายฝั่งทะเล เพื่อดักตะกอนทรายที่เคลื่อนที่ตามแนวขนาดกับชายฝั่งทะเล ทำให้เกิดการสะสมตัวของตะกอนทราย อาจมีรูปร่างแตกต่างกันออกไป เช่น รูปตัวที รูปตัว I ตัว Y โดยสามารถใช้วัสดุได้หลายประเภท เช่นไม้ หินทิ้ง คอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นต้น แต่ผลกระทบของรอดักทรายนั้น จะทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านท้ายน้ำและเกิดการทับถมของตะกอนทรายในด้านเหนือน้ำ ทำให้ชายหาดมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป (ดังภาพ) อาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ระโยชน์หาดและเกิดอันตรายกับเรือประมงขนาดเล็กเนื่องจากกระแสน้ำปั่นป่วนบริเวณใกล้โครงสร้าง

                   ตัวอย่างรอดักทราย บริเวณหาดชลาทัศน์ ก่อสร้างเมื่อปี 2545 ลักษณะเป็นรอดักทรายรูปตัวที จำนวน 3 ตัว เพื่อป้องกันการกัดเซาะถนนชลาทัศน์ ดังภาพที่ 1 เมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นรอดักทรายได้ส่งผลให้พื้นที่ถนนและชายฝั่งด้านหลังรอดกัทรายทั้งสามตัวถูกป้องกันไว้ แต่พื้นที่ด้านเหนือของรอดักทรายตัวที่สามเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ทำให้มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นด้านเหนือของรอดักทรายต่อไป

(ที่มาภาพ : http://www.BWN.PSU.ac.th)

การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชายฝั่ง

          การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่อันเนื่องจากความต้องการในการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาด เช่น กรณีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่หาดเลน ให้เป็นป่าชายเลนโดยการปลูกต้นโกงกาง บริเวณพื้นที่หาดเลนด้านหลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่หาดเลนและป่าชายเลนบางส่วน โดยมีการนำเอารถแบ็คโฮเข้ามาดำเนินการขุดเป็นร่องน้ำ และหลุมสำหรับการปลูกต้นโกงกางเพียงชนิดเดียว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่จากหาดเลนและป่าชายเลนดังเดิมเปลี่ยนเป็นป่าโกงกาง

ภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่หาดเลนและป่าเลนดังเดิมเป็นป่าโกงกาง บริเวณหลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
(ที่มาภาพ : ชมรมอนุรักษ์ มอ.ปัตตานี)

 กรณีการเปลี่ยนสันทรายเป็นถนน บ้านวังหนาว ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 2560 โดยมีการไถ่สันทรายชายหาดเพื่อทำถนนที่ติดประชิดชายหาด ซึ่งการดำเนินการถนนนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่จากสันทรายชายหาดธรรมชาติเป็นถนน และตัวถนนนั้นก่อสร้างติดประชิดชายหาด ซึ่งอาจทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเสียหายได้ในช่วงมรสุม 

ภาพชายหาดวังหนาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
ที่มาภาพ : กลุ่มเด็กรักหาดสวนกง

กรณี การขุดสันทรายชายหาดบางหลิง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เพื่อให้เป็นทางระบายวัสดุขุดลอกปากร่องน้ำ ทำให้เกิดการทำลายสันทรายชายหาดกว่า 2 ไร่ 

ภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชายหาด บริเวณปากร่องน้ำเทพาด้านทิศตะวันออก โดยมีการขุดสันทราย เพื่อเป็นร่องระบายน้ำและวัสดุที่ขุดลอกจากแม่น้ำเทพา

โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล

                    ภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดสงขลานั้นมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อาจเกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต สุขภาพ และระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างร้ายแรง  ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ซึ่งโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ทั้งสองโครงการนี้จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดอย่างรุนแรง ซึ่งในแต่ละโครงการนั้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน

                             ซึ่งสองโครงการนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณบ้านคลองประดู่ ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งมีลักษณะโครงการ 2 ส่วนคือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังการผลิต 2,200 เมกกะวัตถ์ โดยการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีโครงสร้างที่ยืนลงสู่ทะเล คือ ท่อรับน้ำ ซึ่งจะต้องมีคันดักทรายยืนลงไปในทะเล และการดำเนินการสร้างท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน ซึ่งมีความยาว 3 กิโลเมตรลงไปในทะเล ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการรบกวนสมดลของตะกอนทราย 

ภาพ มาสเตอร์แปลนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนถ่ายถ่านหินเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
(ที่มาภาพ : http://whitechannel.tv/tag/ehia)
  • โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2  ซึ่งตั้งอยู่บริเวณบ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

                                      โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ซึ่งหากมีการดำเนินการจะทำให้เกิดการรบกวนสมดุลตะกอนทรายชายฝั่งตลอดแนวชายหาดตั้งแต่สงขลาถึงนครศรีธรรมราช เนื่องจากชายหาดตั้งแต่จังหวัดนราธิวาส ถึง แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นระบบชายหาดเดียวกัน ส่วนประกอบสำคัญของโครงการท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ได้แก่ เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งลักษณะรูปตัว L ความยาว 1,600 เมตร และเขื่อนกันคลื่น 1 ตัว ยาว 600 เมตร พื้นที่ท่าเรือใช้สำหรับเรือ 2 ลำเทียบท่าได้ มีสะพานเชื่อมท่าเรือกับพื้นที่หลังท่าเรือ และพื้นที่หลังท่าเรือประมาณ 900 ไร่ (ข้อมูลจากแผนพับประชาสัมพันธ์ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 โดยกรมเจ้าท่า)

                                      การดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 จะไม่ส่งผลกระทบเพียงแค่พื้นที่ในทะเลและชายหาดเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อป่าชายหาดและสันทรายโบราณ(Sand Dune) ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการ ประเทศไทยนั้นมีสันทรายโบราณที่มีความเก่าแก่และสวยงาม เพียง 2 แห่ง คือ ชายหาดบางเบิด จังหวัดชุมพร และชายหาดบ้านสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พื้นที่โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2  รวมถึงวิถีชีวิตของชุมชนประมงพื้นบ้านตลอดแนวชายฝั่งสะกอมถึงนาทับที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการนี้

ภาพ องค์ประกอบท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
(ที่มาภาพ : กรมเจ้าท่า)

การแทรกแซงหาดทรายโดยมนุษย์ด้วยรูปแบบ วิธีการต่างๆนั้น ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทางธรรมชาติของหาดทราย ถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชายหาดอย่างต่อเนื่องทุกพื้นที่ และส่งกระทบอย่างรุนแรง มิใช่เพียงทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอื่นๆ เช่น สันทราย ป่าชายหาด หรือส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต การดำเนินชีวิตของประชาชนและผู้ใช้ประโยชน์ชายหาดทราย การแทรกแซงหาดทรายด้วยความไม่เข้าใจในระบบธรรมชาติและการป้องกันชายฝั่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการนั้นได้ทำให้ชายหาดกัดเซาะอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามโครงสร้างป้องกันชายฝั่งบางจำพวกเป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งเพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล เช่น ท่าเทียบเรือเพื่อการทำประมงหรือการท่องเที่ยว โครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ป้องกันพื้นที่ในช่วงวิกฤติ ซึ่งโครงสร้างป้องกันชายฝั่งเหล่านี้อาจมีความจำเป็น แต่การดำเนินการใดๆบนพื้นที่ชายหาดและทะเลต้องเคารพธรรมชาติหาดทรายและต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน มีมาตรการในการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นตามหลักวิชาการ ทั้งนี้การเลือกที่จะดำเนินการวิธีการใดๆ ต้องก่อสร้างเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อยู่บนหลักความได้สัดส่วน และก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะสูงสุด 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s