ช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแส #Saveหาดม่วงงาม เป็นกระแสการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ออกมาสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ และในพื้นที่ชายหาด เพื่อทวงคืนหาดทรายจากกำแพงกันคลื่น ซึ่งโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลม่วงงาม นั้นเป็นโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระแสการคัดค้านการดำเนินการโรงการดังกล่าเกิดจากความกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชายฝั่งทะเล และวิถีชีวิตดังเดิมของประชาชนที่จะถูกทำให้เปลี่ยนไปจากการสูญเสียหาดทราย เนื่องจากโครงสร้างกำแพงกันคลื่น

การเคลื่อนไหวของประชาชนในการแสดงออกเพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น เริ่มต้นจากโลกออนไลน์ นำไปสู่การร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านศูนย์ดำรงธรรม และได้มีการยืนฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา เพื่อให้ยุติการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ การร้องเรียนนั้น ทำให้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 นายอำเภอสิงหนคร และตัวแทนจากกรมโยธาธิการฯ เทศบาลม่วงงาม และผู้คัดค้านโครงการเปิดเวทีในการให้ข้อมูลแก่ประชาชนที่คัดค้านโครงการ ซึ่งจากเวทีนั้น ประชาชนไม่ได้รับการไขข้อข้องใจตามที่สงสัยถึงรายละเอียดโครงการ รวมถึงผลกระทบจากการดำเนินโครงการ และในขณะเดียวกันผู้รับเหมายังคงเร่งการดำเนินโครงการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตอกเสาเข็ม การขุดทรายเปิดหน้าหาด ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับชายหาดเป็นอย่างมาก

การร้องเรียน และการเคลื่อนไหวของประชาชนม่วงงามเพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการนั้นดูเหมือน จะไม่ได้รับการตอบรับ ตอบสนองเพื่อคลายความห่วงกังวล หรือให้ยุติโครงการไปก่อน แต่ออย่างใด ทำให้ประชาชนเริ่มยกระดับการเคลื่อนไหว โดยการประกาศรวมพลครั้งใหญ่ริมชายหาดในวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 เพื่อแสดงพลังของประชาชนในการคัดค้านการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง และได้มีการแจ้งความประสงค์ในการจัดกิจกรรมดังกล่าวกับทางผู้กับกับสถานีตำรวจภูธรม่วงงามในวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 เวลา แต่ทางผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรม่วงงามได้ตอบกลับ
“- ทราบ
– ไม่อนุญาตเนื่องจากเนื่องจากอยู่ระหว่าง พรก.บริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกอบกับสุ่มเสี่ยงต่อการเฝ้าระวังของโรคโควิด 19”
จากนั้นวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 เวลา 14.30 น. ทางผู้จัดกิจกรรมแสดงพลังได้ประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรม โดยการออกแถลงการณ์ประกาศยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว มีสาระสำคัญว่า “ผมในฐานะผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ เห็นว่า เมื่อเจ้าหน้าที่มีคำสั่งดังกล่าวแม้จะไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว แต่เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายและเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ร่วมทำกิจกรรมจากเหตุอื่นที่ไม่ใช่การสุ่มเสี่ยงต่อโรค จึงขอยกเลิกการดำเนินกิจกรรมไปก่อน และขออภัยพี่น้องประชาชนชาวม่วงงามเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้แสดงพลังในการปกป้องหาดทรายครั้งนี้ได้
แต่อย่างไรก็ตาม ผมขอยืนยันต่อสาธารณชน ว่า การแสดงออกในการปกป้องฐานทรัพยากรหาดทราย เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้ได้ร่วมกันแสดงพลังผ่านสื่อออนไลน์เพื่อแสดงเจตจำนงในการรักษาหาดทรายม่วงงาม”
แต่อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของประชาชนในการยกระดับการแสดงพลังนั้น ได้ทำให้รัฐนั้น เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าตรึงกำลังเต็มพื้นที่ชายหาดม่วงงาม มีการตรวจเช็คประชาชนผู้มาใช้ประโยชน์ชายหาดม่วงงาม ประกอบกับวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 นั้นเป็นวันฮารีรายอ ซึ่งประชาชนมุสลิมจะมาพักผ่อนหย่อนใจริมชายหาด ทำให้พื้นที่ชายหาดม่วงงามนั้นเต็มไปด้วยผู้คนที่เข้ามาใช้ประโยชน์ชายหาดในช่วงวันสำคัญ
หลังจากประชาชนม่วงงามประกาศยกเลิกกิจกรรมแสดงพลังไปแล้วนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ได้ตรึงกำลังต่อไป และมีรถขยายเสียงประกาศเตือนให้มีการเว้นระยะห่าง ห้ามชุมนุมมั่วสุมกัน เพื่อลดระบาดของโรคโควิด 19 และเป็นไปตาม พรก.บริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ 2548
ในขณะที่ประชาชนที่มาพักผ่อนริมชายหาดม่วงงามได้ทำกิจกรรมตามปกติ มีการฝั่งทรายริมชายหาด การหาหอยเสียบ จับสัตว์น้ำริมชายหาด ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญของหาดม่วงงามกับชีวิตของคนม่วงงาม
และมีการ ตัวแทน กอ.รมน.จังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตรึงกำลังอยู่มาชี้แจงอธิบายโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้ยินนั้น ไม่พอใจต่างกับการดำเนินโครงการของหน่วยงานภาครัฐ



ย้อนมองความเคลื่อนไหว
หากย้อนมองกระบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนม่วงงามในการปกป้องหาดทราย ตั้งแต่การเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ การเรียกร้อง และการรวมตัวเพื่อแสดงพลังในหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ การที่ประชาชนออกมาแสดงความไม่พอใจกับโครงการ การแสดงออกว่าตนไม่ได้เข้ามีส่วนร่วมในโครงของรัฐผ่านสื่อออนไลน์ การรวมตัวคัดค้านโครงการหลายต่อหลายครั้งนั้น คือ ภาพสะท้อนของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินโครงการของรัฐที่บกพร่อง ทั้งในแง่ของการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของประชาชนอย่างรอบด้าน
ประการต่อมา เราจะเห็นว่า รัฐ ซึ่งอาจหมายถึง กรมโยธาธิการและผังเมืองซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ไม่สนใจให้ความสำคัญกับความห่วงกังวลและความเดือนเนื้อร้อนใจของประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งกระบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นและการที่ภาครัฐนิ่งและเพิกเฉย ไม่พยายามสร้างพื้นที่กลางในการพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนที่เกี่ยวข้องนั้น หรือพยายามแล้วแต่เพียงครั้งเดียว ซึ่งอาจไม่เพียงพอ ยิ่งตอกซ้ำความนิ่งดูดายและเพิกเฉยไม่รับฟังเสียงความเดือดร้อนของประชาชน
ประการสุดท้าย สถานการณ์ในวันนี้ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ซึ่งเป็นฝ่ายความมั่นคงเข้าตรึงกำลังเต็มพื้นที่ ไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็น ความห่วงกังวลของประชาชนต่อการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง โดยอ้างการประกาศ พรก. บริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ 2548 และการแพร่กระจายเชื้อโรควิด 19 เป็นความชอบธรรมในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความห่วงกังวล ทั้งๆที่ประชาชนนั้นประกาศชัดเจนว่า การจัดกิจกรรมจะมีการปฏิบัติตนเพื่อการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น การใส่แมส การเว้นระยะห่าง เป็นต้น แต่กิจกรรมนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ริมชายหาด และกองมีกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าตรึงพื้นที่ชายหาดม่วงงาม ภาพเหล่านี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่า “การแสดงออกในสิทธิและเสรีภาพในการจัดการ บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้ไว้แก่ประชาชน นั้นกำลังทำให้พังครือลง โดยการอ้างความชอบธรรมของฝ่ายความมั่นคงในการควบคุมโรคระบาด”

การเคลื่อนไหวของประชาชนม่วงงามบนสิทธิและเสรีภาพในการปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอิงอาศัยใช้ประโยชน์อยู่นั้น แล้วภาครัฐมีท่าทีที่แข็งกราว ไม่เปิดใจรับฟัง ไม่สร้างพื้นที่แห่งการสนทนาเพื่อแสวงหาทางออก รวมถึงความพยายามจำกัดสิทธิเสรีของประชาชน ทั้งการห้ามจัดกิจกรรม การตรึงกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาริมชายหาด โดยอ้างความชอบธรรมว่า อยู่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 และการประกาศใช้ พรก.บริหารราชการในภาวะฉุกเฉินนั้น เป็นการเจตนารมณ์ในการให้ประชาชน ชุมชน และรัฐได้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญถอยหลังเข้าคลอง และเป็นการซ้ำเติมความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในการจัดการทรัพยากร ทางที่ดีในสถานการณ์เช่นนี้ คือรัฐต้องปรับท่าที ไม่มองประชาชนเป็นคู่ตรงข้ามและเปิดพื้นที่กลางในการพูดคุยร่วมกัน
