การพังทลายของหาดทรายประเทศไทย ภาพสะท้อนการบริหารจัดการของรัฐที่ล้มเหลว

การกัดเซาะชายฝั่งและการพังทลายของหาดทรายในประเทศไทย เป็นภาพสะท้อนการบริหารจัดการของรัฐที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบันการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยมีการกัดเซาะอย่างเพิ่มขึ้นและรุกลามอย่างต่อเนื่อง ปัญหานี้หากมองให้ลึกลงไปเราจะเห็นองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรหาดทรายที่ล้มเหลว จนนำไปสู่วิกฤตการณ์สูญเสียหาดทราย ดังนี้

  1. การขาดการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจแก่ชุมชนชายฝั่งและสาธารณะ ในประเด็นระบบนิเวศหาดทราย การจัดการชายฝั่งที่ยั่งยืน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหาดทราย

                   กระบวนการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจแก่ชุมชนที่ติดชายฝั่งทะเล และสาธารณะในประเด็นหาดทราย การจัดการชายฝั่งและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นหัวใจของบริหารจัดการชายฝั่ง ปัญหาการพังทลายชายหาดที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็น เสียงของสาธารณะที่เข้าใจเรื่องหาดทรายที่ต่ำมาก แม้แต่ธรรมชาติของหาดทราย และการภัยคุกคามชายหาด ที่ผู้เขียนได้กล่าวมาในบทแล้วสาธารณะยังคงรับรู้ เข้าใจน้อยมาก กระบวนทัศน์ที่คนไทยมีต่อเรื่องหาดทราย คือ “หาดกัดเซาะต้องสร้างโครงสร้างแข็ง โลกร้อนเป็นปัจจัยทำให้หาดทรายกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง” นี่คือกระบวนทัศน์ที่คนไทยมีต่อหาดทราย ในอดีตเราอาจได้ยินว่า การกัดเซาะชายฝั่งเกิดจากภาวะโลกร้อนและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล แต่จริงแล้วการกัดเซาะชายฝั่งมีปัจจัยหลักที่เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงคือการแทรกแซงของมนุษย์ ด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ เช่น การสร้างกำแพงกันคลื่น การบุกรุกพื้นที่ชายฝั่ง เป็นต้น รวมถึงการทำการให้ข้อมูลแก่ประชาชนในการดำเนินโครงการต่างๆที่ไม่ครอบคลุมผลกระทบโครงสร้างทั้งหมด การให้ข้อมูลที่เป็นเพียงการให้ข้อมูลแค่ทางเดียว ทำให้การเข้าใจธรรมชาติหาดทรายและการพังทลายของหาดทราย รวมถึงผลกระทบของโครงสร้างป้องกันชายฝั่งประเภทต่างๆนั้นไม่ได้ถูกอธิบาย ทำความเข้าใจต่อสาธารณะอย่างลึกซึ้งและแท้จริง และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระบวนทัศน์ ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนี้ ทำให้หาดทรายต้องกัดเซาะพังทลายไป

          ดังนั้นการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ความเข้าใจใหม่ของคนไทย เพื่อให้เข้าใจหาดทรายและรับรู้ วิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นของโครงสร้างต่างๆที่จะมาสู่ชายหาดหน้าบ้านตน การส่งเสริมความรู้ เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้คนไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนจะต้องผนึกกำลังกันในการส่งเสริมความรู้ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน และชุมชนชายฝั่ง

2.การบริหารจัดการชายหาดที่ขาดการมองภาพหาดทรายเชิงระบบ

          การบริหารจัดการหาดทรายของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด มีการกัดเซาะชายฝั่งที่ใด ก็จะแก้ไขปัญหาที่นั้น ซึ่งไม่ได้มองผลกระทบต่อหาดทรายทั้งระบบ ซึ่งทำให้หาดทรายเกิดการพังทลายแบบโดมิโน่ทั้งระบบชายหาด และไม่สามารถควบคุมการกัดเซาะชายฝั่งให้อยู่ในวงที่จำกัดได้

          กรณีการพังทลายชายหาดบริเวณหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ที่มีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำเสียบริเวณชายหาดในปี 2545 จนทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงจนถนนชลาทัศน์ได้รับความเสียหาย ต่อมาปี 2545 มีการก่อสร้างรอดักทรายรูปตัว T จำนวน 3 ตัว เพื่อป้องกันการกัดเซาะถนนชลาทัศน์ แต่รอดักทรายได้ทำให้ชายหาดบริเวณด้านเหนือกัดเซาะ ทำให้ปี 2546 – 2555 ต้องมีการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งทุกๆ ทั้งหินทิ้ง กระสอบทราย จนทำให้สูญเสียชายหาดกว่า 2 กิโลเมตรตลอดแนวชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ หรือ กรณีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น 2 ตัว บริเวณปากร่องน้ำ และสร้างเขื่อนกันคลื่นจำนวน 4 ตัว เพื่อป้องกันผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ไม่เป็นผล โครงสร้างทั้งหมดได้ทำให้เกิดการกัดเซาะต่อเนื่องแบบโดมิโน่ จนต้องมีการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง จำนวน 14 ตัวตลอดแนวชายหาด

โครงสร้างป้องกันชายฝั่งจากปากร่องน้ำนาทับ ถึง บ้านบ่ออิฐ

และกำแพงกันคลื่นในพื้นที่อีกหลายจุด ตลอดแนวชายหาด 7.5 กิโลเมตรจนปัจจุบันชายหาดบริเวณดังกล่าวยังไม่สามารถยุติปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นได้ ยังคงมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในจุดที่มีการกัดเซาะชายฝั่ง

ทั้งสองกรณีที่กล่าวมานี้ คือ การบริหารจัดการชายฝั่งที่ไม่ได้มองระบบชายหาดที่เชื่อมโยงกันด้วยการเคลื่อนตัวของตะกอนทราย และแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด ทำให้เกิดการกัดเซาะต่อเนื่องและไม่สามารถจำกัดความเสียหายได้

3.การขาดการบูรณาการหน่วยงาน องค์กรเข้ามาร่วมกันจัดการหาดทราย

การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งหมายรวมถึงหาดทรายในประเทศไทยมีหน่วยงานภาครัฐที่หลากหลายที่มีบทบาทในการจัดการชายหาด เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานท้องถิ่น  สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา หากเกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่ติดถนน ก็อาจจะมีกรมทางหลวงเข้ามามีบทบาทด้วย และแต่ละหน่วยงานมีกฎหมายและอำนาจหน้าที่หรือแนวทางในการทำงานของตนเอง ประเด็นที่สำคัญคือ การบริหารจัดการชายฝั่งในปัจจุบันนั้นขาดเจ้าภาพหลักในการจัดการทรัพยากร มีหลากหลายหน่วยงานที่มีแผนในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แต่หน่วยงาน ขาดการเชื่อมประสานแผนทำให้ต่างคนต่างทำ ขาดความเป็นเอกภาพในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับประเด็นนี้ เช่น กรณีบ้านเกาะฝ้าย จังหวัดนครศรีธรรมราช มีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งในพื้นที่เดียวกันทั้งหมด 4 รูปแบบและหลากหลายหน่วยงานที่ดำเนินการก่อสร้าง ดังภาพ

ภาพ โครงสร้างป้องกันชายฝั่งหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายหน่วยงาน ที่ดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่บ้านเกาะฝ้าย จังหวัดนครศรีธรรมราช
(ที่มาภาพ : ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง)
ภาพจาก ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง

คำถามที่สำคัญของการที่เห็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งหลากหลายเกิดขึ้นริมชายหาดในพื้นที่เดียวกัน และมีหน่วยงานที่หลากหลายเข้ามาจัดการ ป้องกันชายหาดนั้น คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการบูรณาการ พูดคุย และจัดการชายหาดร่วมกันหรือ ?

          คำตอบสำหรับ คำถามนี้ คือ ในอดีตมีหลากหลายหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการชายฝั่ง ทำให้การจัดการชายหาดนั้นไม่มีความเป็นเอกภาพ ขาดการบูรณาการกัน แต่เมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีสาระสำคัญคือการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมจัดการชายหาด เพื่อสร้างคามเป็นเอกภาพในการจัดการ และให้ประชาชน และชุมชนชายฝั่งได้มีส่วนร่วมในการจัดการ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างสมดุลและยั่งยืน ถึงอย่างไรก็ตามชุมชนชายฝั่งและสังคมไทยต้องติดตามว่าการบริหารจัดการชายฝั่งประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะสร้างความเป็นเอกภาพ ให้เกิดการบูรณาการและมีส่วนร่วมได้จริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้หรือไม่ หรือ ภาพการบริหารจัดการที่ต่างคนต่างทำ อย่างเช่นบ้านเกาะฝ้าย จังหวัดนครศรีธรรมราชและที่ชายหาดอื่นๆในประเทศไทยจะเป็นภาพที่ถูกผลิตและกระทำซ้ำต่อชายหาดไทย

4.การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ครอบคลุม โครงสร้างป้องกันชายฝั่งทุกโครงสร้าง (กำแพงกันคลื่น – เติมทราย)

ในการดำเนินการโครงการที่เกิดขึ้นบนชายหาดจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษา ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนการดำเนินการ เพื่อความเหมาะสมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันไม่ครอบคลุมทุกโครงสร้างป้องกันชายฝั่งทุกโครงสร้าง ในประกาศกระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า มีระบุให้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพียงแค่ การก่อสร้างรอดักทราย เขื่อนกันทราย รอบังคับกระแสน้ำ และเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง

                   เดิมก่อนหน้านี้ โครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบกำแพงกันคลื่น(Sea wall) ได้ถูกถอดถอนออกจากบัญชีรายชื่อโครงสร้างที่ต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม  โดยมีการให้เหตุผลของการถอดถอนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า “การเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สำนักนโยบายฯ ส่วนใหญ่เป็นโครงการของรัฐ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กรมเจ้าท่า เป็นต้น โดยการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐดังกล่าวเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาการตกตะกอนปากร่องน้ำปิดร่องหลักในการเดือนเรือเล็กเข้าเฝ้า โดยหน่วยงานดังกล่าวมีความจำเป็นดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา มิให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งลุกลาม ตลอดจนหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณในการดำเนินการแล้ว แต่มีอุปสรรคเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขั้นตอนการพิจารณาจนกว่าจะแล้วเสร็จ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในคราวการประชุมครั้งที่ 6 /2556 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เห็นชอบยกเลิกโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมลงวันที่ 24 เมษายน 2561 ลำดับที่ 21 การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล : กำแพงกันคลื่นริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ความยาว 200 เมตรขึ้นไป”

เอกสารแนบท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่  24  เมษายน พ.ศ. 2555
เอกสารแนบท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่  20  ธันวาคม พ.ศ. 2556

เมื่อประกาศให้มีการยกเลิกกำแพงกันคลื่นออกจากบัญชีรายชื่อโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้การดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นได้ง่ายและเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ชายหาดของประเทศไทยภายหลังจากการประกาศยกเลิก จนกำแพงกันคลื่น กลายเป็นโรคระบาดในประเทศไทย และส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้น

หาดมหาราช อำเภอสทิ้งพระ จังหวัดสงขลา

หาดอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการฯ (กรณีพิพาทในศาลปกครอง)

หาดทรายแก้ว ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการฯ

หาดม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาดำเนินการโดยกรมโยธิการฯ (อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นของประชาชน)

หาดคลองแดน ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า

หาดเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)

หาดทรายแก้ว อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ดำเนินการโดยกรมโยธิการฯ

หาดบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า

หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โดยกรมโยธาธิการฯ

ภาพ พื้นที่ที่มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหลังปี 2556 โดยไม่มีการดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)

(ที่มาภาพ : Beach for life และเครือข่าย Beach Monitoring)

ภาพการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นทั้ง 6 ภาพ 6 พื้นที่นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการระบาดของกำแพงกันคลื่นหลังจากที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ถอดกำแพงกันคลื่นออกจากประกาศแทบท้ายโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ชายหาดในประเทศอีกหลายพื้นที่ที่กำลังมีการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นและอาจส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง

5. กระบวนการมีส่วนร่วมที่เป็นเพียงพิธีกรรม

                    การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการ บำรุงรักษา ใช้ประโยชน์ทรัพยากรหาดทรายที่ผ่านมานั้น รูปแบบและวิธีการที่พบเห็นการเปิดให้ประชาชน ชุมชนชายฝั่งได้มีส่วนร่วม คือ การประชาสัมพันธ์

โครงการ ด้วยการติดป้ายประกาศ และ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับชายหาด รูปแบบ และวิธีการทั้งสองนี้ คือ กระบวนการมีส่วนร่วมที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในการดำเนินโครงการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับหาดทราย แต่หากวิเคราะห์ระดับการมีส่วนร่วมที่จะเกิดขึ้นจากรูปแบบและวิธีการทั้งสองนั้น อยู่ในระดับการรับรู้ข้อมูล และการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น

                   ในขณะที่การรับรู้ข้อมูล ซึ่งถือเป็นหัวใจของกระบวนการมีส่วนร่วม เป็นพื้นฐานของการมีส่วนร่วมทั้งหมด เมื่อการรับรู้ข้อมูลอย่างทั่วถึง ครอบด้านจะนำสู่การแสดงความคิดเห็นของประชาชน และตัดสินใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นการ นำเสนอข้อมูลโครงการของภาครัฐนั้นไม่ได้สนับสนุนการตัดสินใจของประชาชน กล่าวคือ การนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ประชาชนรับรู้ ข้อมูลที่นำเสนอนั้นเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น เช่น ชื่อโครงการ วัตถุประสงค์ งบประมาณ ผู้ดำเนินโครงการ ระยะเวลา หรืออาจมีแบบก่อสร้างหรือภาพจำลองติดประกาศไว้ด้วย การให้ข้อมูลเพียงเท่านี้ มิอาจเพียงพอต่อการตัดสินใจ ประชาชนที่สนใจอยากเข้ามีส่วนร่วมต้องรอให้โครงการนั้นๆเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลโครงการโดยละเอียด ทั้งหลักการโครงการ วัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินโครงการ ทางเลือกต่างๆ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทางเลือกต่างๆ และหวังที่จะได้ชักถามข้อสงสัยจากผู้ดำเนินโครงการ อย่างไรก็ตามแต่เมื่อเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในโครงการนั้นๆ ข้อมูลโครงการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากทราบมาที่สุด ก็ไม่ได้ถูกนำเสนอโดยละเอียดในการประชุม ทำให้การตัดสินใจของประชาชนในการเลือกทางเลือกต่างๆไม่ได้เกิดจากการรับรู้ข้อมูลทั้งหมด

          กรณีโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ดำเนินการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการในช่วงปี 2558 มีลักษณะการดำเนินโครงการ 2 ส่วน คือ การเติมทรายและการวางแท่นคอนกรีตลงบนชายหาด โครงการมีการติดป้ายประกาศดำเนินโครงการดังกล่าวจำนวน 2 ป้าย แต่ไม่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใด เมื่อมีการทวงติ่งจากภาคพลเมืองสงขลาทำให้เจ้าของโครงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นแบบลับๆโดยมีตัวแทนจากหน่วยงานราชเท่านั้นที่เข้าร่วม มีการปกปิดข้อมูลในการดำเนินโครงการ และปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการก่อสร้างอยู่ตลอดจนนำไปสู่การฟ้องคดีต่อศาลปกครองของพลเมืองสงขลา

          กรณีการขุดลอกปากร่องน้ำเทพา และขุดสันทรายชายหาด โดยศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 กรมเจ้าท่า ซึ่งได้ดำเนินขุดปากร่องน้ำเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ดำเนินการเมื่อช่วงกุมภาพันธ์ 2561 โดยการดำเนินโครงการนี้มีลักษณะเป็นการขุดลอดร่องน้ำและขุดสันทรายชายหาด ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวนั้นไม่มีการติดประกาศประชาสัมพันธ์โครงการให้แก่ประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบ เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในพื้นที่ ผู้ดำเนินโครงการถึงมีการนำป้ายประชาสัมพันธ์โครงการมาติดประกาศย้อนหลัง และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่โครงการ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการที่ชุมชนเทพา เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

          สำหรับบางกรณีที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับเรื่องหาดทราย เช่น กรณีเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในโครงการท่าเรือขนส่งถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา นั้นมีการแจกข้าวสาร เสื้อโตบมีการลงชื่อรับสิ่งของก่อนการรับฟังความคิด ซึ่งสะท้อนความไม่โปรงใส่ในการรับฟังความคิดเห็น หรือกรณีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 โครงการท่าเรือขนถ่ายถ่านหินและโรงไฟฟ้าเทพา มีการออกประกาศจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดห้ามมิให้คนเห็นต่างเข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ซึ่งสะท้อนการกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนที่โจ่งแจ้งและชัดเจนที่สุด

          กรณีทรัพยากรหาดทรายกับเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมนั้น ผู้เขียนมองว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินการมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา ใช้ประโยชน์ทรัพยากรหาดทรายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นเพียงการดำเนินการในลักษณะที่กระทำเป็นพิธีกรรม มิได้จริงจัง และจริงใจในการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลโครงการ ได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ความห่วงกังวลขอประชาชนต่อการดำเนินโครงการ และไม่มีโอกาสหรือพื้นที่ที่ให้ประชาชนได้เข้าปรึกษาหารือ เสนอแนวทางและตัดสินใจร่วมในการจัดการชายฝั่ง นี้คือภาพเชิงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นของกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรหาดทราย อย่างไรก็ตามสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนได้ถูกบัญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาการรับรองสิทธิของประชาชน ชุมชน ในการมีส่วนร่วมจัดกา บำรุงรักษา ใช้ประโยชน์ทรัพยากรหาดทรายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พุทธศักราช 2558 นั้นพบว่า สิทธิในเชิงเนื้อหามีความสอดคล้องกัน แต่อย่างไรก็ตามสิทธิในเชิงกระบวนการพบว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฯ ยังกำกัด ไม่ได้ถูกรับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษา ใช้ประโยชน์ทรัพยากรหาดทรายไว้อย่างกว้างขวาง ครอบคลุมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สิทธิประชาชนไว้ ซึ่งบัญญัติรับรองไว้เพียง 2 เรื่อง คือ สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐ และสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เมื่อซึ่งถือเป็นระดับการมีส่วนในระดับที่ต่ำ(อรทัย ก๊กผล. 2552) นอกจากนั้นระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นนั้น สิทธิการแสดงความคิดเห็นนั้น ถูกกำหนดให้แสดงความคิดเห็นเพียงเพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดทำนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติและจังหวัด

          การบัญญัติรับรองให้ประชาชนเข้าใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษา ใช้ประโยชน์ทรัพยากรหาดทรายไว้ในระดับแค่ให้สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ในพระราชบัญญัติส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฯนั้น ไม่อาจทำให้เจตนารมณ์ในการตรากฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ เกิดการบูรณาการในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะและชายฝั่ง และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้นจะเป็นจริงได้(อภิศักดิ์ ทัศนีและคณะ,2561)

6. การกำหนดมาตรการชั่วคราวอยู่ชั่วโคตร

การป้องกันชายฝั่งนั้นเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในช่วงมรสุมหรือสถานการณ์ที่วิกฤติ บางครั้งการกำหนดมาตรการณ์ชั่วคราวในการใช้โครงสร้างป้องกันชายฝั่ง เช่น กระสอบทราย ไม้ หรืออื่นๆ เพื่อเบาผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งนั้นอาจมีความจำเป็น เพื่อป้องกันแผ่นดินและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่อยู่ใกล้ชายหาด แต่ที่ผ่านมาการกำหนดมาตรการชั่วคราวในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง กลับกลายเป็นมาตรการถาวร(มาตรการชั่วโคตร) และโครงสร้างป้องกันชายฝั่งชั่วคราวเหล่านั้นกลับส่งผลกระทบต่อเนื่องและสะสมจนกลายเป็นปัญหาทำให้เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงในพื้นที่ใกล้เคียง

          กรณีการกำหนดมาตรชั่วคราวแต่กลับกลายเป็นอยู่บนชายหาดอย่างถาวร เช่น การป้องกันชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ในช่วงมรสุม เมื่อช่วงปี 2552 มีการกัดเซาะชายฝั่งจากวางกระสอบทรายขนาดใหญ่ ทำให้มีการวางนำทรายใส่กระสอบปุ๋ย และการนำไม้ใส่ยางรถยนต์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งชั่วคราวในช่วงมรสุม แต่เมื่อผ่านมรสุมไปโครงสร้างชั่วคราวที่นำมาใช้ ไม่ได้ถูกนำออกทำให้เกิดการกัดเซาะหลังจากการวางโครงสร้างชั่วคราวในมรสุมถัดไป และปัจจุบันโครงสร้างเหล่านั้นก็ยังคงพบเห็นได้ตามแนวชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์

ภาพ การใช้กระสอบปุ๋ย ไม้ และยางรถยนต์
มาเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ปี 2552
(ที่มาภาพ : http://www.BWN.PSU.ac.th)
ภาพ สภาพกระสอบทรายที่เป็นมาตรการณ์ชั่วคราวในปี 2553 ที่ผุพัง และยังคงค้างอยู่บนชายหาด จนถึงปัจจุบัน ภาพถ่ายเมื่อปี 2560
(ที่มาภาพ : Nation)

การพังทลายของหาดทรายประเทศไทย เมื่อวิเคราะห์แล้ว พบว่าเป็นเสมือนภาพสะท้อนการบริหารจัดการของรัฐที่ล้มเหลว ในหลายๆเรื่อง ตั้งแต่การขาดการส่งเสริมความรู้แก่ประชาชน การขาดความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการชายหาด การมองชายหาดเฉพาะจุดไม่มองทั้งระบบ การถอดถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) การมีส่วนร่วมที่เป็นเพียงพิธีกรรม และการกำหนดมาตรการชั่วคราวแต่อยู่อย่างถาวร ทั้งหมดนี้ คือ องค์ประกอบที่ประกอบกันทำให้ชายหาดของประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่วิกฤติ การบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤตินั้น ทางออกและทางรอดเพื่อผ่านพ้นวิกฤติการณ์นี้ ต้องมีการจัดการชายฝั่งทะเลอย่างเป็นระบบ มีมาตรการที่หลากหลายทุกมิติ สร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการชายฝั่งให้ได้และประชาชนต้องเข้ามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s